ข้อคิดที่ได้จากภาพยนตร์ Amazing Grace


ข้อคิดที่ได้จากภาพยนตร์ Amazing Grace

 

 

 

     Amazing Grace เป็นภาพยนตร์ที่ได้บอกเล่าเรื่องราวในสังคมอังกฤษช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 เป็นยุคที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมและกำลังแผ่ขยายอาณานิคมออกไป ในภาพยนตร์ได้บอกเล่าถึงความพยายามในการออกกฎหมายยกเลิกการค้าทาส โดยมี William Wilberforce ซึ่งเป็นสมาชิกสภาคนหนึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันร่างกฎหมาย โดยมีผู้สนับสนุนที่สำคัญคือWilliam Pitt นายกรัฐมนตรีและเป็นเพื่อนรักของเขา นับเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน จนในที่สุดได้ออกกฎหมายยกเลิกทาสได้สำเร็จ

     สำหรับชาวอังกฤษในยุคนั้นโดยเฉพาะชนชั้นสูงหรือผู้ที่มีฐานะมองเรื่องการค้าทาสว่าเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากเป็นยุคในการแผ่ขยายอาณานิคม ทาสจึงเป็นแรงงานสำคัญในการสร้างผลผลิตให้แก่อังกฤษ ทาสถูกมองว่าไม่ใช่คน แต่เป็นสิ่งของที่สามารถซื้อขายหรือยกให้ใครก็ได้ จึงถูกกดขี่และใช้แรงงานจากนายเงินอย่างทารุณโหดร้าย ซึ่งมีการเกณฑ์คนจากอาณานิคมมาเป็นทาส และยังสะท้อนให้เห็นถึงการเหยียดสีผิว กล่าวคือ การมองคนที่มีสีผิวต่างจากตนเองเป็นพวกที่ต่ำกว่า การค้าทาสและการเคลื่อนย้ายทำโดยทางเรือ มีการตรวนโซ่ที่มือ เท้าและคอ ทาสมักถูกลงโทษอย่างทรมานจนตาย ทาสที่เป็นผู้หญิงก็มักถูกข่มขืน ทาสถูกกระทำจากนายทาสอย่างโหดร้าย

     แต่สำหรับWilberforceและกลุ่มคนที่สนับสนุนเขามองว่าการค้าทาสเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ ทำไมผู้ที่เกิดมาในชาติอื่นต้องถูกกระทำอย่างทารุณจากผู้ที่อยู่ในชาติที่อ้างว่าตนมีความเจริญแล้ว ทาสจึงไม่ควรมีอยู่ในสังคม ไม่ควรถูกปฏิบัติเหมือนเป็นสิ่งของไม่ว่าคนๆนั้นจะเป็นใคร เกิดมาในชนชาติใด แนวความคิดนี้แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่รองรับว่ามนุษย์ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ต้องไม่ถูกละเมิดสิทธิไม่ว่าจากใครก็ตาม

     Wilberforce ได้รับอิทธิพลจากคริสต์ศาสนาไม่น้อย เขาเป็นคนที่ฝักใฝ่และศรัทธาในพระเจ้ามาก ซึ่งปรากฏให้เห็นในภาพยนตร์แทบจะทุกฉาก โดยเฉพาะคำพูดที่สำคัญซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเชื่อมั่นคือ “Remember that god made men equal” (พระเจ้าสร้างคนให้เกิดมาเท่ากัน) John Newton อดีตพ่อค้าทาสที่ถวายตัวเพื่อรับใช้พระเจ้า เป็นอีกบุคคลที่มีความสำคัญต่อWilberforceไม่น้อย จากเหตุการณ์เลวร้ายที่Johnพบเจอรวมถึงความทารุณโหดร้ายที่ทาสถูกกระทำได้ถูกบอกเล่ามายังWilberforceด้วย

     อย่างไรก็ตามการผลักดันร่างกฎหมายยกเลิกการค้าทาสในครั้งแรกได้รับการคัดค้านจากเสียงส่วนใหญ่ในสภา แม้จะมีการยื่นเสนอฎีกาและรวบรวมรายชื่อผู้คนที่คัดค้านการค้าทาสมาเป็นจำนวนมาก โดยมีการอ้างเหตุผลที่ว่าหากมีการยกเลิกระบบทาสจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของอังกฤษล่ม เพราะทาสเป็นแรงงานหลักในกระบวนการผลิต จึงมีการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงชีวิตของทาสในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และได้รับความร่วมมือจากบาทหลวงด้วย ขั้นตอนสุดท้ายได้ใช้วิธีการเสนอกฎหมายให้ตรวจสอบเรือที่ชักธงอเมริกา ซึ่งหากไม่ใช่เรือของอเมริกาจะต้องเสียค่าปรับ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นกุศโลบายที่ใช้ความไม่ลงรอยกันกับฝรั่งเศสมาอ้างว่าเรือฝรั่งเศสมักชักธงอเมริกา ซึ่งเป็นการกำจัดเรือค้าทาสได้จำนวนมาก เนื่องจากเรืออังกฤษที่ค้าทาสมักชักธงอเมริกา ดังนั้นเมื่อมีกฎหมายดังกล่าวออกมาบังคับจึงเกิดความเกรงกลัวแก่พ่อค้าทาส จะสังเกตได้ว่าเรือต้องมีสัญชาติ เพื่อกำหนดว่าเรือลำนั้นต้องผูกพันกับกฎหมายประเทศใด เรือหนึ่งลำจะมีสัญชาติได้เพียงสัญชาติเดียวเท่านั้น โดยสังเกตจากการชักธงบนเรือ

     แม้ในปัจจุบันระบบทาสได้หมดไปจากสังคมแล้ว แต่ในความเป็นจริงนั้นยังคงหลงเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการค้ามนุษย์ ค้าประเวณี หรือในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อถูกกระทำเช่นเดียวกับทาส ทั้งๆที่มีกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมีการออกกฎหมายคุ้มครองจากรัฐ

แหล่งอ้างอิงรูปภาพและข้อมูล

สัญชาติเรือ:ความสำคัญของการมีสัญชาติเรือ. เข้าถึงได้จาก: http://www.tri.chula.ac.th/triresearch

       /nationalityship/nationalityship.html [ออนไลน์].  (วันที่ค้นข้อมูล:1เมษายน 2557).

William Wilberforce and Abolishing the Slave Trad. เข้าถึงได้จาก: http://www.probe.org/

       site/c.fdKEIMNsEoG/b.4218071/k.DC26/William_Wilberforce_and_Abolishing_

       the_Slave_Trade.htm [ออนไลน์]. (วันที่ค้นข้อมูล:1เมษายน 2557).

หมายเลขบันทึก: 565181เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2014 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท