ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๓๑. ทุนและสินทรัพย์สำหรับทำงานเพื่อสังคม


 

          เช้าวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๗ มีการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๗   มูลนิธินี้เราเรียกชื่อย่อๆ ว่า มูลนิธิ HITAP    เป็นมูลนิธิที่ตั้งขึ้นเพื่อทำงานวิชาการ    อิงอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข    เพราะงานวิชาการที่ทำส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด เพื่อใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านสุขภาพ    แต่ต้องตั้งมูลนิธิ ขึ้นมาทำงาน เพื่อความคล่องตัว     และความเป็นอิสระจากระบบ bureaucracy

          หน่วยงานแบบนี้ ดำรงอยู่ได้เพราะฝีมือหรือความสามารถเป็นที่ยอมรับ    มีงานเข้า และสร้างรายได้เลี้ยงตัวจากการทำงาน วิชาการ    ซึ่งในกรณีนี้คือการประเมินเทคโนโลยี และประเมินนโยบายด้านสุขภาพ    คณะกรรมการมูลนิธีให้นโยบายไว้ว่า งานที่ทำ ต้องรับใช้สังคมไทยมากกว่าครึ่ง     ต้องตั้งเป้านี้ไว้ เพราะทีมนี้ชื่อเสียงดีมากในต่างประเทศ    โดนจีบไปทำงาน ในต่างประเทศ อยู่เสมอ    อย่างสัปดาห์นี้ ก็มีผู้บริหารระดับกลางจากเวียดนามมาเข้า workshop เรียนรู้เทคนิค การประเมินเทคโนโลยี และนโยบายด้านสุขภาพ

          หัวหน้าทีม หรือผู้อำนวยการ HITAP คือ นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว.    ซึ่งเป็นคนหนุ่มที่มีฝีมือวิชาการ ความซื่อสัตย์จริยธรรมสูง และอ่อนน้อมถ่อมตน

          วาระสำคัญที่สุดในการประชุมคราวนี้คือ รับรองงบดุลการเงินประจำปี ๒๕๕๖    ซึ่งสรุปได้ว่า มีสินทรัพย์ (assets) ๓๐ ล้านบาท    มีทุน (equity) ๒๓ ล้านบาท    และปีนี้รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย ๖ แสนบาท   

          ผมชี้ให้คณะกรรมการเห็นว่า ตัวเลขข้างบนนั้นมองเฉพาะที่ตัวเงิน    เป็นมุมมองของการทำธุรกิจ ที่หวังผลประกอบการ เป็นกำไรที่เป็นเงิน   แต่งานของ HITAP เป็นงานวิชาการ ดังนั้น assets ที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เงิน แต่เป็น คน”  และ Intellectual Assets อื่นๆ    

          ดังนั้น จึงควรวิเคราะห์ ROA (Return on Assets) ของ HITAP    ว่าในแต่ละปี คน + เงิน + เครือข่าย (social capital) ของ HITAP ได้สร้างผลงาน (Return) อย่างไร    เปรียบเทียบ ๓ ปี    จึงจะเป็นรายงานผลงานของ HITAP ในฐานะหน่วยงานวิชาการ

          นพ. ยศ เสนอว่า Return ของ HITAP มี ๔ อย่างคือ

๑. ผลกระทบต่อนโยบาย

๒. บุคลากรที่พัฒนาขึ้น

๓. ผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ  และที่เป็นรายงานอย่างอื่น

๔. เครือข่ายที่เกิดขึ้น

 

          เราได้คุยกันว่า ต่อไปให้ HITAP เสนอแผนการทำงานของปีต่อไปล่วงหน้า     เพื่อจะได้รู้ว่ามีปัจจัยที่จะต้องระมัดระวัง อะไรบ้าง    หมอยศจึงบอกความกังวลใจว่า เป็นห่วงปี ๒๕๕๙ จะมีบุคลากรที่ไปเรียน PhD กลับมา ๕ คน    จะเป็นภาระเงินเดือน เพิ่มขึ้นปีละ ๓ ล้านบาท   เป็นตัวอย่างของการคิดเตรียมรับเหตุการณ์ข้างหน้า    และสะท้อนมุมมองต่อผู้จบปริญญาเอก ๕ คน ว่าจะเป็น Assets (สินทรัพย์) หรือเป็น Liability (ภาระ) ต่อองค์กร    หน้าที่ของ บอร์ด คือ แนะนำวิธีทำให้คน ๕ คนนี้ เป็นสินทรัพย์ที่มีค่า สำหรับสร้างผลงาน (Return)

          นี่คือตัวอย่างของการนำเอาการกำกับดูแลสมัยใหม่ (Modern Governance) มาใช้กับมูลนิธิ    เพื่อให้มูลนิธิมีการจัดการ ที่เข้มแข็ง    เพื่อความเข้มแข็งยั่งยืนขององค์กร

 

๔ มี.ค. ๕๗

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 565120เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2014 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2014 12:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท