ข้อเสนอในการจัดการปัญหา "คนไทยพลัดถิ่น"


สถานการณ์เด่นด้านกฎหมายนโยบายเกี่ยวกับสถานะและสิทธิในพื้นที่สึนามิ

 

มีข้อเสนอของภาคประชาชนให้ตรากฎหมายให้คืนสัญชาติไทยแก่บรรพบุรุษคนไทยพลัดถิ่นจากมะริด ทะวาย และตะนาวศรี ซึ่งแตกต่างจากทางราชการที่มีนโยบายให้แปลงสัญชาติ ตามกรอบยุทธศาสตร์ฯ

 

ผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว

 

ระยะสั้น : กลุ่มเด็ก เยาวชนและครอบครัว ที่มีเชื้อสายไทย (ไทยพลัดถิ่น) รวมตัวกันอย่างเข็มแข็ง เพื่อขอแก้ไขปัญหาสถานะของตนเอง โดย ขอมีกฎหมายพิเศษขึ้น คือ พระราชบัญญัติให้สัญชาติแก่บรรพบุรุษคนเชื้อสายไทย ที่อาศัยในทวาย มะริดและตะนาวศรี

 

ระยะกลาง : เกิดการรวมตัวเป็นเครือข่ายขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่มีคนเชื้อสายไทยอาศัยอยู่ อย่างเข้มแข็ง และรวมตัวกับเครือข่ายภาคประชาชนอื่นๆ เพื่อรวบรวมรายชื่อเสนอกฎหมาย ตามแนวทางประชาธิปไตย ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542

 

ระยะยาว : แม้จะมีแนวคิดที่ไม่ตรงกันกับภาครัฐในแนวนโยบายที่จะแก้ไขปัญหา และอาจเกิดความขัดแย้งทางความคิด แต่ก็เป็นความแตกต่างทางความคิดที่ได้รับการเคารพ และใช้เวลานานมากแต่ท้ายที่สุดกฎหมายก็ได้เสนอเข้าสู่ระบบรัฐสภา เพื่อตราเป็นกฎหมายต่อไป

              อันจะส่งผลให้เด็ก เยาวชน และครอบครัวมีสิทธิและเสรีภาพดังคนไทยทั่วไป ไม่ถูกจำกัดสิทธิใดๆ ตามกฎหมาย

  ข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์การจัดการปัญหา 

 

ต่อฝ่ายองค์กรเอกชน

                เร่งดำเนินการสำรวจชุมชน รวบรวมเครือข่ายภาคประชาชนที่มีปัญหาเดียวกันให้มีความเข้มแข็ง โดยประสานงานกับภาครัฐและภาควิชาการอย่างสันติวิธี เพื่อก่อให้ความเข้าใจกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่

                 เตรียมการเสนอกฎหมาย โดยการรวบรวมรายชื่อ ตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้

                 และหากเป็นไปได้ควรประสานความเข้าใจกับภาครัฐเพื่อช่วยร่วมผลักดันกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยการสร้างทัศนคติที่ดีในการทำงานร่วมกัน 

 

ต่อฝ่ายองค์กรสนับสนุนงบประมาณ

                องค์กรแพลน ยูนิเซฟ หรือองค์กรทุนอื่นๆ ควรสนับสนุนงบประมาณในการทำงานเพื่อสร้างเครือข่ายและสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชนที่กำลังทำงานอยู่

 

ต่อฝ่ายราชการ

                 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แม้จะมีหลักที่วางไว้แล้วในยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ในการแก้ไขปัญหาของคนเชื้อสายไทย โดยกำหนดให้ใช้วิธีการแปลงสัญชาติ

                แต่การใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ย่อมเป็นความสวยงามของภาคประชาชน ที่จะส่งผลต่อความเข้มแข็งของสังคมโดยรวม ภาครัฐจึงควรเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับภาคประชาชนอย่างแท้จริง โดยเอาประชาชนผู้เดือดร้อนเป็นเป้าหมาย

                กรมการปกครอง จึงควรอำนวยความสะดวก และช่วยเหลือทำความเข้าใจกับภาคประชาชน ในวิธีและแนวทางการเสนอกฎหมายดังกล่าว

 

ต่อฝ่ายวิชาการ

                   คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือนักวิชาการทางกฎหมาย รวมทั้งนักประวัติศาสตร์และนักมานุษยวิทยา ควรเข้ามาร่วมกับภาครัฐและภาคประชาชนในการร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อให้ครอบคลุมปัญหาอย่างรอบด้านและสอดคล้องกับสภาพชีวิตปัจจุบัน รวมทั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความมั่นคงของรัฐด้วย

หมายเลขบันทึก: 56456เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2006 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท