ข้อเสนอในการจัดการปัญหาการจดทะเบียนการเกิด


สถานการณ์เด่นด้านกฎหมายนโยบายเกี่ยวกับสถานะและสิทธิในพื้นที่สึนามิ

 

มีกฎกระทรวงกำหนดให้คนต่างด้าวปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๔๘ ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖  ข้อ ๒๔ (๒) ทำให้เด็กที่เกิดในประเทศไทยบางกลุ่มไม่สามารถจดทะเบียนการเกิดได้ 

 (แต่อาจได้รับหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ หากเกิดที่สถานพยาบาล)

 

ผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว

 

ระยะสั้น : เด็กที่เกิดในประเทศไทย (โดยมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย)ไม่อาจเข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนการเกิดได้ และอาจไม่ได้รับเอกสารรับรองการเกิดหากเกิดนอกสถานพยาบาล

 

ระยะกลาง : หากกระบวนการสำรวจและจัดทำทะเบียนผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิยังไม่เริ่มต้น จะมีเด็กอีกเป็นจำนวนมากที่เกิดในประเทศไทยโดยประสบปัญหาข้างต้น เด็กและเยาวชนดังกล่าวจะกลายเป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน

 

ระยะยาว : เด็กและเยาวชนไม่อาจเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการ เนื่องจากเมื่อไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนใดๆ ก็เสมือนเป็นบุคคลที่ไร้ตัวตนในทางกฎหมาย

 

ข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์การจัดการปัญหา

 

ต่อฝ่ายราชการ

กระทรวงการต่างประเทศ ควรเสนอเรื่องเพื่อยกเลิกข้อสงวน ข้อ ๗ ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เนื่องจากไทยได้เป็นภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยก็มิได้ตั้งข้อสงวน ในข้อ ๒๔ (๒) ซึ่งมีข้อความในลักษณะเดียวกัน

 - กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ควรแยกเรื่องการจดทะเบียนการเกิดออกจากเรื่องทะเบียนบ้าน เพื่อให้เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยได้รับการจดทะเบียนการเกิด โดยอาจออกเป็นกฎกระทรวงตาม มาตรา ๕ และ๗ แห่ง พรบ.ทะเบียนราษฎร

   -  กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข ควรประสานในการจัดทำข้อมูลการออกและการสืบค้นข้อมูลหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) และออกแบบหนังสือที่จะใช้ในการรับรองการเกิดในกรณีมีเด็กเกิดนอกสถานพยาบาล

 ฝ่ายองค์กรอิสระ

คณะอนุกรรมการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ควรมีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ให้ยกเลิกข้อสงวน ข้อ ๗ ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

 

ฝ่ายองค์กรเอกชน

 ในขณะที่มีการนำเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว องค์กรเอกชนควรทำการอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนที่มีปัญหาสถานะ โดยเฉพาะสตรีซึ่งตั้งครรภ์ เพื่อให้การคลอดเกิดขึ้นที่สถานพยาบาล ซึ่งจะทำให้เด็กมีเอกสารรับรองตัวบุคคลในเบื้องต้น

 
หมายเลขบันทึก: 56455เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2006 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท