ครูนอกระบบ
นาง ณัฐนิธิ อารีย์ อักษรวิทย์

<เล่าสู่กันฟัง>มารู้จักองค์กรอิสระคืออะไร?


องค์กรอิสระคืออะไร

        องค์กรอิสระ หมายถึง องค์กรของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเกี่ยวกับภารกิจของรัฐตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยเป็นองค์กรของรัฐที่มีสถานะพิเศษ ซึ่งได้รับหลักประกันให้สามารถปฏิบัติภารกิจหน้าที่ได้โดยอิสระ ปลอดพ้นจากการแทรกแซงขององค์กรของรัฐอื่นหรือสถาบันการเมืองอื่น รวมทั้งอยู่เหนือกระแสและการกดดันใดๆ ที่เกิดขึ้นภายในสังคมในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง

                สำหรับความจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรอิสระ ได้แก่

        1. ความจำเป็นต้องมีกลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยองค์กรฝ่ายตุลาการ ซึ่งมุ่งหมายที่จะคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกละเมิดโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามหลักของนิติรัฐในการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกละเมิดจากการกระทำของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามหลักของนิติรัฐในการควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกละเมิดจากการกระทำของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและทางแพ่ง นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีกลไกที่มิใช่องค์กรฝ่ายตุลาการ ซึ่งก็คือ องค์กรอิสระเพื่อเยียวยาปัญหาของประชาชน จากการใช้อำนาจรัฐหรือการกระทำของบุคคล และการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน เนื่องจากการใช้กลไกทางศาลอาจมีข้อจำกัดบางประการเพราะจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล รวมไปถึงการทีจะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องและการดำเนินคดีในศาลด้วย 
        2. ความจำเป็นต้องมีกลไกตรวจสอบเกี่ยวกับความสุจริตในการใช้อำนาจรัฐและตรวจสอบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินภาครัฐ 
        3. ความจำเป็นต้องมีกลไกในการควบคุมตรวจสอบที่จะลดและขจัดการซื้อเสียง และเปิดโอกาสให้คนดี มีคุณภาพ คุณธรรม เข้าสู่ระบบการเมือง
        4. ความจำเป็นต้องมีกลไกในการเสริมสร้างระบบการเมืองและพรรคการเมืองที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ 
        5. ความจำเป็นต้องมีกลไกที่มีความเป็นอิสระ และเป็นกลาง สามารถดำรงความยุติธรรมในการปฏิบัติหน้าที่

        ความเป็นอิสระ
       - อิสระในเรื่องที่มาและการเข้าสู่อำนาจของบุคคลที่เข้าทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ
        - อิสระในเรื่องการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานขององค์กร 
        - อิสระในเรื่องงบประมาณ 
        - มีหน่วยธุรการหรือสำนักงานที่เป็นอิสระ 
        ความเป็นกลาง 
        - ไม่เป็นฝักฝ่ายในทางการเมือง 
        - ปราศจากอคติ ไม่ลำเอียง เพราะรัก โกรธ หลง กลัว 
        ดำรงความยุติธรรม 
        - มีความเที่ยงธรรม 
        - มีความชอบธรรม 
        - มีความชอบด้วยเหตุผล

องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มีทั้งหมด 4 องค์กร ได้แก่

1) คณะกรรมการการเลือกตั้ง

2) ผู้ตรวจการแผ่นดิน

3) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

4) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

เมื่อได้เห็นถึงองค์กรอิสระที่มีบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 นั้นได้มีกระบวนการและมาตรการตรวจสอบตั้งแต่การเข้ามาสู่อำนาจของนักการเมืองโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกระบวนการใช้อำนาจของรัฐโดย (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) นอกจากนั้นยังมีผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐรวมถึงการดำเนินการเรื่องจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถึงแม้ว่า จะมีองค์กรการตรวจสอบตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดก็ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองได้ ซึ่งกลไกทางด้านกฎหมายและองค์กรอิสระไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ ดังนั้น ที่สำคัญคือทำอย่างไรจึงจะส่งเสริมกระบวนการตรวจสอบโดยภาคประชาชนที่มีความเข้มแข็งและเป็นการเมืองของภาคพลเมืองอย่างแท้

หมายเลขบันทึก: 564388เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2014 01:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2014 01:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท