สถานการณ์ช้างเลี้ยงในประเทศไทย


สถานการณ์ช้างเลี้ยงในประเทศไทย

19 มีนาคม 2557 [1]

ช้างไทยเป็น "ช้างเอเชีย" (Asian elephant) จัดอยู่ในประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิด Elephas maximus ในวงศ์ Elephantidae มีขนาดเล็กกว่าช้างแอฟริกา รวมทั้งมีใบหูขนาดเล็กกว่า มีอายุขัยโดยเฉลี่ยประมาณ 60 ปี ซึ่งถือได้ว่ามีอายุยืนกว่าช้างแอฟริกา ช้างเอเชีย แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ช้างไทยเป็น "ชนิดย่อย Elephas maximus indicus (ช้างอินเดีย)" ขนาดตัวจะเล็กกว่าชนิดแรก สีตามจุดต่างๆ จางกว่า เป็นช้างที่มีอยู่ในป่าตามธรรมชาติ บนผืนแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชียได้แก่ เนปาล, ภูฐาน, อินเดีย, พม่า, ไทย, ลาว, เวียดนาม, กัมพูชา, มณฑลยูนานในประเทศจีน และมาเลเซีย สำหรับประเทศไทยนั้นมีช้างเอเชียพันธุ์อินเดียกระจัดกระจายอยู่ในป่าตามธรรมชาติทั่วทุกภาคของประเทศ [2]

ช้างถือเป็นสัตว์สำคัญทำหน้าที่เป็นราชพาหนะสำหรับพระมหากษัตริย์ในการสู้ศึกสงคราม และมีบทบาทในวิถีชีวิต ผูกพันคนไทยมาแต่โบราณ สัญลักษณ์รูปช้างได้ปรากฏเป็น "ธงช้างเผือก" หรือ "ธงชาติไทย" มาตั้งแต่ พ.ศ. 2398 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2459 ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 26 พฤษภาคม 2541 เห็นชอบให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปี เป็นวันช้างไทย [3]ช้างจึงเป็นสิ่งสำคัญคือ เป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์

แต่ปัจจุบันสภาพสังคมเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปทำให้การเลี้ยงช้างมีการเปลี่ยนไปในรูปของการทำธุรกิจมากขึ้น จากรายงานสถานการณ์ช้างของ นสพ.ปรีชา พวงคำ (2542) [4] กล่าวว่า ช้างในประเทศไทยมีประมาณ 5,000 เชือก [5] เป็นช้างป่า 1,950 เชือก ช้างเลี้ยงกว่า 3,000 เชือก [6] โดยมีช้างเลี้ยงที่ทำงานตามแหล่งท่องเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี และเมืองพัทยา ประมาณ 1,400 – 1,500 เชือก ที่สร้างปัญหาคือ ช้างเร่ร่อนอยู่ตามเมืองใหญ่ เช่น กทม. หรือจังหวัดเชียงใหม่กว่า 200 – 300 เชือก และช้างลากไม้เถื่อนทางภาคเหนือประมาณ 700 – 800 เชือก สรุปมีช้างที่จดทะเบียนครึ่งหนึ่งจะอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยว อีกครึ่งหนึ่งมาเดินเร่ร่อนอยู่ตามเมืองใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นช้างมาจากจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ


ปัจจุบันการใช้งานช้างเลี้ยงในประเทศไทยจำแนกเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ดังนี้

การแบ่งแยกจำแนกช้างในประเทศไทย แยกได้เป็น 3 ลักษณะ คือช้างต้น (ช้างที่ได้รับการขึ้นระวางเป็นช้างหลวงส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์) ช้างบ้าน และช้างป่า สำหรับช้างบ้านจำแนกตามวัตถุประสงค์การใช้งานดังนี้

1. ช้างทำไม้ผิดกฎหมาย ประมาณ 2,000 – 2,500 เชือก ในช่วงปี พ.ศ. 2539 – 2541 มีช้างเลี้ยงจำนวนมากได้อพยพไปทำไม้ผิดกฎหมายบริเวณป่าสาละวิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

2. ช้างในธุรกิจการท่องเที่ยว มีประมาณ 1,000 เชือก มักเป็นการให้นักท่องเที่ยวนั่งชมธรรมชาติบนหลังช้าง เริ่มแรกจากการรวมช้างกว่า 300 เชือกในปี พ.ศ. 2498 ของชาวกูยบ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ สำหรับภาคเหนือเริ่มจากการก่อตั้งศูนย์ฝึกลูกช้างขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ในปี พ.ศ. 2512 ถึงปี พ.ศ. 2532 รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดยกเลิกการสัมปทานป่าไม้ จึงตั้ง "ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย" [7] ขึ้นในปี พ.ศ. 2536 ที่อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง

3. ช้างแสดงละครเร่ เริ่มจากชาวตำบลบ้านค่าย อำเภอเมืองชัยภูมิ มีการฝึกช้างให้แสดงคล้าย ๆ กับละครสัตว์เปิดการแสดงตามสถานที่ต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นช้างเล็ก อายุ 2 – 9 ปี เพราะฝึกง่าย สะดวกต่อการเดินทาง ใช้ช้างประมาณ 4 – 7 เชือก

4. ช้างเร่ร่อนตามเมืองใหญ่ เป็นช้างมาจากอีสาน จังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ ข้อมูลปี พ.ศ. 2544 มีประมาณ 400 เชือก ควาญช้างส่วนใหญ่เป็นชาวกูย โดยจะนำช้างเดินทางเข้ามาในกรุงเทพมหานครหรือตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา พัทยา ภูเก็ต เป็นต้น เพื่อหารายได้จากการขายอาหารช้าง การขายงาช้างแกะสลัก กำไล หรือแหวนหางช้าง การลอดท้องช้าง โดยมีนายทุนออกเงินกู้ให้กับควาญซื้อช้างนำไปหารายได้ เนื่องมาจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2534) สภาพป่าธรรมชาติที่เคยใช้เลี้ยงช้างในเขตจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ได้ถูกทำลายลง บางส่วนนำไปปลูกต้นยูคาลิปตัส ไม่สามารถใช้เป็นที่เลี้ยงช้างได้อีกต่อไป การที่ช้างไม่มีงานทำก็ผลักดันให้ควาญช้างต้องนำช้างเข้ามาเดินในเมือง เพื่อหารายได้ดังกล่าว

5. ลูกช้างเล็กอายุ 4 เดือน – 3 ปี ตามโรงแรมและรีสอร์ท ประมาณ 200 – 300 เชือก เพื่อใช้ในการต้อนรับและดึงดูดนักท่องเที่ยว ตามข้อมูลส่วนใหญ่มักเป็นลูกช้างป่าถูกลักลอบจับมาอย่างผิดกฎหมายจากแนวชายแดนไทย-พม่า

6. ช้างในสวนสัตว์ของรัฐ กลุ่มนี้มีไม่มากประมาณ 13 เชือก


กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับช้างเร่ร่อนมีดังนี้

1. พระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482

2. พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535

3. พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535

4. พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499

5. พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535

6. พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

7. ประมวลกฎหมายอาญา

8. พระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า พ.ศ. 2464

9. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

10. พระราชบัญญัติตามช้างรัตนโกสินทรศก 127 (พ.ศ. 2451)

11. ระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการอนุญาตให้ส่งช้างออกไปนอกราชอาณาจักร พุทธศักราช 2547


มิติใหม่ในการรักษ์ช้าง

โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหา "ช้างเร่ร่อน"

(1) การปล่อยช้างคืนสู่ธรรมชาติ ของมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ [8] (Elephant Reintroduction Foundation) ก่อตั้งปี 2545 โดยมุ่งหมายให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่สนับสนุนและดูแลโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติต่อไปในระยะยาว และได้พระราชทานชื่อว่า "มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ" เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2545 โดยใช้ตราสัญลักษณ์เป็นรูปช้างในป่าต้นโพธิ์ รูปแบบลายรดน้ำสีฟ้า ซึ่งเป็นสีประจำพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และสีเขียวซึ่งแทนสีป่าธรรมชาติ และทรงพระราชทานพระนามาภิไธยย่อ "สก" ไขว้ไว้ใต้พระมหามงกุฎ อัญเชิญสถิตไว้เบื้องบน อันมีความหมายว่า "สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นเสมือนร่มโพธิ์แห่งการอนุรักษ์ช้างไทย พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการคืนชีวิตช้างสู่ธรรมชาติ เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ป่าไม้ที่เสื่อมโทรมให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนดังเดิม"

ล่าสุดได้มีการปล่อยคืนช้างสู่ธรรมชาติ เนื่องในโอกาสโรงงานยาสูบครบรอบ 75 ปี (2557) [9] ได้ทำบุญครั้งใหญ่ในวันช้างไทย 13 มีนาคม 2557 ปล่อยช้างคืนสู่ป่า ให้พ้นจากสภาพทาสทำงานหนักจนเท้าเป็นแผลใหญ่ เล็บอักเสบ น่าสงสาร จำนวน 3 เชือก (พังวาสนา พังซิว พลายโอเลี้ยง) โรงงานยาสูบได้บริจาคเงินเพื่อซื้ออิสระให้ช้าง 4.5 ล้านบาท เข้าร่วม "โครงการคืนช้างสู่ป่าเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ เพื่อทรงปล่อยสู่ป่าให้ครบ 81 เชือก ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ในเขตอนุรักพันธ์สัตว์ป่าซับลังกา ต.กุดตาเพชร อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี ในการนี้คณะผู้บริหารและพนักงานยาสูบได้ร่วมกันทำโป่งเทียมเพื่อเป็นแหล่งอาหารให้ช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ อีกด้วย

นอกจากนี้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกายังได้ร่วมกับมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ จัดโครงการคนไทยดวงใจสีเขียวระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2557 ด้วย เพื่อให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ อาทิเช่น ศึกษาธรรมชาติของป่าไม้ จัดทำโป่งเทียมเพื่อเป็นแหล่งอาหารให้ช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ เป็นต้น

(2) มูลนิธิช้างเอเชียสามเหลี่ยมทองคำ [10] มองการแก้ปัญหาภาพรวมช้างเร่ร่อน ได้จัดทำโครงการ "ช่วยเหลือช้างเร่ร่อน" (2556) ในปางช้างอนันตราสามเหลี่ยมทองคำรีสอร์ทแอนด์สปา (Anantara Golden Triangle Elephant Camp & Resort) จังหวัดเชียงราย มีช้างเร่ร่อนที่ดูแล 25 เชือก มีเงินเดือนและมีที่พักให้แก่ควาญช้าง ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการดี "ซิตี้รักษ์ช้าง" โดยคุณคาเรน บัคลีย์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารซิตี้แบงค์ ประเทศไทย [11]

(3) โครงการ "ไม้ชี้นำ" ตามโครงการ "ช่วยเหลือช้างเร่ร่อน" ในปางช้างอนันตราสามเหลี่ยมทองคำรีสอร์ทแอนด์สปา ดังกล่าว มีโครงการที่น่าชื่นชมแนวใหม่ในการรักษ์ช้าง คือ การฝึกอบรมฝึกลูกช้างที่กำลังจะเกิดใหม่ให้เชื่อฟังคำสั่งโดยการชี้ไม้ เรียก "ไม้ชี้นำ" แทนการใช้ตะขอสับเหมือนเมื่อก่อน [12]


ประมวลปัญหาปัจจุบันของช้างเร่ร่อน (2557) [13]

(1) ปัญหาของควาญที่มักพาช้างออกมาเร่ร่อน คือ ชอบชีวิตอิสระ ไม่ชอบอยู่ในกรอบเวลา เพราะช้างไม่ได้อยู่เป็นเวลา บางปางมีข้อจำกัดมาก ควาญก็เอาช้างออกมาเร่ร่อนตามถนนในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เอง ส่วนใหญ่ควาญช้างจะอยู่ตามปางต่าง ๆ นานสุด 4 ปี ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่อื่น

(2) ปัญหาอุบัติเหตุที่เห็นทันทีส่วนใหญ่ปัญหาโภชนาการของช้างเป็นปัญหาสะสมเนื่องจากควาญช้างบางคนไม่ล้างอาหารก่อนให้ช้างกิน ทำให้สารพิษที่มากับอาหารตกค้างในร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มพืชจำพวกแตง เช่น แตงกวา แตงโม ก่อนให้กินต้องล้างน้ำก่อนทุกครั้ง ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากควาญช้างที่รับจ้างนำช้างที่นายทุนให้เช่ามาเร่ซึ่งจะแตกต่างกับควาญที่เป็นเจ้าของช้างเองจะดูแลส่วนนี้มากกว่า

(3) ปัญหากฎหมายการขึ้นทะเบียนลูกช้างที่เกิดใหม่เป็นปัญหาสำคัญ เพราะกฎหมายกำหนดว่าต้องมาขึ้นทะเบียนเมื่ออายุครบ 8 ปี ทั้งที่จริงน่าจะให้ขึ้นทะเบียนตั้งแต่อายุได้ 1 เดือน จะได้ตรวจสอบ DNA ลูกช้างว่าตรงกับแม่หรือไม่ เพื่อป้องกันการแอบอ้างว่าเอาลูกช้างจากป่าหรือที่อื่นมาขึ้นทะเบียนแทน ขณะที่หน่วยงานที่ดูแลก็กระจัดกระจาย อย่างทะเบียนช้างขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ส่วนการฝังไมโครชิพเรื่องอยู่ที่ปศุสัตว์ เรื่องกฎหมายพูดกันมานานแต่รัฐบาลก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนไม่ได้แก้ไขสักที ในภาพรวมแนวทางการแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนต้องควบคู่ไปกับกฎหมายด้วย

น.ส.โซไรดาซาลวาลา เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง (Friends of the Asian Elephant) [14] และ น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี [15] เสนอเรียกร้องให้ถอนทะเบียนช้างออกจาก "สัตว์พาหนะ" เพื่อแก้ปัญหาสวมสิทธิ์ [16]และเพื่อให้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 เพราะช้างในฐานะสัตว์ประจำชาติไม่ควรที่จะอยู่ในกลุ่มของสัตว์พาหนะ เช่น ม้า วัว โค ควาย ล่อ และลา

(4) ปัญหาประชากรช้างที่เพิ่มมากขึ้น เพราะประเทศไทยถือว่ามีประชากรช้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองการท่องเที่ยว ต่างจากกัมพูชาที่ประชากรช้างรุ่นใหม่ไม่ค่อยมี เนื่องจากมีความเชื่อเกี่ยวกับการห้ามผสมพันธุ์ช้าง

(5) ข้อจำกัดของโครงการช่วยเหลือช้างเร่ร่อนในปางช้างอนันตราสามเหลี่ยมทองคำฯ เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลช้างแร่ร่อน 25 เชือก แบกรับภาระอาหารช้างเดือนละสองแสนบาท การดูแลคุณภาพชีวิตของควาญและการศึกษาของลูกหลานเขา เพราะควาญหลายคนมองว่าการเร่ร่อนมีอิสระและได้เงินมากกว่าที่มาอยู่ในปางช้าง


ปัญหาอื่น ๆ ของช้างบ้าน [17]

(1) การแก้ปัญหาตั๋วรูปพรรณช้างเลี้ยงซึ่งตั๋วรูปพรรณช้างเลี้ยงในพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พุทธศักราช 2482 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีจุดอ่อน อาทิ มีรายละเอียดเกี่ยวกับตัวช้างน้อยมาก ทำให้ไม่สามารถระบุตัวช้างแต่ละตัวได้ หากช้างตายจะมีการนำช้างจากประเทศเพื่อนบ้านหรือช้างป่ามาสวมตั๋วรูปพรรณช้างที่ตายไปแล้ว และกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการควบคุมจำนวนประชากรช้างโดยการออกตั๋วรูปพรรณประจำตัวช้างแต่ละเชือก แต่ไม่ได้มีมาตรการในการคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของช้าง ทำให้สถานภาพช้างเลี้ยงเหมือนสัตว์เลี้ยงชนิดหนึ่งที่สามารถซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน ได้อย่างอิสระ [18] เมื่อใดที่ความต้องการในตลาดมีมากขึ้น ช้างเลี้ยงก็มีราคาสูง มีการซื้อขายเปลี่ยนการครอบครองไปมา

(2) การแก้ปัญหาการส่งช้างออกไปนอกราชอาณาจักร พบว่ามีช้างเลี้ยงถูกส่งออกไปต่างประเทศเพื่อแสดงนิทรรศการหรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะจำนวนมาก โดยมีเพียงประกาศกระทรวงพาณิชย์และอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศที่ควบคุมการอนุญาต ซึ่งระเบียบฯ มีช่องว่างหรือจุดอ่อนที่เปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกไม่นำช้างเลี้ยงกลับประเทศตามกำหนด

(3) การแก้ปัญหา ช้างเร่ร่อน โดยรัฐควรกระตุ้นให้จังหวัดทุกจังหวัดประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ควาญช้างและเจ้าของช้างมิให้นำช้างเข้ามาเร่ร่อนในเขตเมือง และมีการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีช้างเลี้ยงถูกนำมาใช้งานด้านการเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวเพื่อขายสินค้าและบริการในแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนเมืองอย่างไม่เหมาะสม


การแก้ไขปัญหาช้างของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

ตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 อยู่ระหว่างเสนอแก้ไขปรับปรุง พระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 ตามขั้นตอนการเสนอกฎหมาย ให้สอดคล้องเหมาะสมกับความจำเป็นในปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองได้แจ้งซักซ้อมแนวทางปฏิบัติให้จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ดังนี้ [19]

1. กำชับให้นายทะเบียน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน ให้เข้มงวด กวดขันและระมัดระวังมิให้มีการนำช้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณ โดยให้ถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการอย่างเคร่งครัด

2. ก่อนที่นายทะเบียนจะออกตั๋วรูปพรรณให้มีกิจกรรมจากหน่วยงานของกรมปศุสัตว์และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นก่อน และให้หน่วยงานของกรมปศุสัตว์เก็บตัวอย่างเลือด หรือส่วนอื่น ๆ ของช้าง ที่สามารถตรวจหาพันธุกรรม (DNA) เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน ในปี 2555 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้หารือกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในประเด็นการจัดทำตั๋วรูปพรรณสัตว์พาหนะ(ช้าง) และการพัฒนาระบบโปรแกรมการจัดทำทะเบียนสัตว์พาหนะ และการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 ให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาช้างในปัจจุบัน [20] และในปี 2556 กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลช้างเลี้ยง ด้านสุขภาพและฝังไมโครชิฟ [21] แต่อย่างไรก็ตามถึงปัจจุบันก็หาได้มีกฎหมายใดรองรับไมโครชิปไม่

3. ให้นายทะเบียนรวบรวมภาพถ่ายช้างที่ได้ถ่ายรูปไว้แล้ว จำนวนไม่น้อยกว่า 5 ภาพ/เชือก ให้ครบทุกเชือก ทั้งนี้เพื่อให้ภาพถ่ายช้างตรงกับรูปพรรณสัณฐานของช้างแต่ละเชือก

4. ทำความเข้าใจกับเจ้าของสัตว์และผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ นายอำเภอ พนักงานฝ่ายปกครอง ผู้ปกครองท้องที่ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดำเนินการและประสานการทำงานให้เกิดผลการปฏิบัติที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่

5. ให้อำนวยความสะดวกในการจัดทำตั๋วรูปพรรณ การทำนิติกรรม การจำหน่ายทะเบียนแก่เจ้าของสัตว์ ผู้ประกอบการ ให้สะดวกและรวดเร็ว เพื่อให้เกิดผลปฏิบัติตามกฎหมายฉบับใหม่ในโอกาสต่อไป เช่น การจัดทำตั๋วรูปพรรณแก่สัตว์พาหนะทุกตัวที่เจ้าของต้องการจัดทำโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 8 วรรคสาม [22] แห่งพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 และการให้บริการนอกสถานที่ เป็นต้น


สำหรับในปี พ.ศ. 2557 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยมีแผนงานที่จะดำเนินการ ดังนี้ [23]

1. จัดทำตั๋วรูปพรรณช้าง (ส.พ.5) รูปแบบใหม่ เป็นรูปเล่มภายหลังจากได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบการสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกรมการปกครอง

2. สำรวจจำนวนช้างที่อยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศจากที่เคยสำรวจไว้ในปี 2555 เพื่อแจ้งให้อำเภอ/เขตสำรวจจัดเก็บข้อมูลช้างไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณช้าง (ส.พ.5) รูปแบบใหม่

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น จะเป็นมาตรการที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาช้างได้ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงเจ้าของสัตว์พาหนะ (ช้าง) ด้วย


อ้างอิง

โซไรดา ซาลวาลา. ช้างผู้มีคุณ. กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิชจำกัด, 2538.

_____________ . ช้างสุรินทร์ : วิกฤตและทางรอด. กรุงเทพมหานคร, 19 กันยายน 2539.

พิทยา หอมไกรลาศ. "คืนวันของช้างเร่ร่อน", นิตยสารสารคดี, 11 กันยายน 2538, หน้า 103 – 104.

วิเชียร อันประเสริฐ. "จุดประกาย : วันนี้ช้างยังเร่ร่อน", กรุงเทพธุรกิจ, 8 มกราคม 2541, หน้า 5.

สุรพล ดวงแข. "ช้างวิกฤตกลางป่าร้าง", สารคดี 77 (กรกฎาคม 2534) : 73 – 88.

อัจฉรา ภาณุรัตน์ และคณะ. เส้นทางช้างสุรินทร์. โครงการพนมดงรักศึกษา ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ สถาบันราชภัฏสุรินทร์, 2539

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์. "แนวทางการจัดการช้างเร่ร่อนในเขตกรุงเทพมหานคร", วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเกริก, 2542.

"แฉอิทธิพลช้างเร่ร่อน", คม ชัด ลึก, 24 มกราคม 2545, หน้า 1.

สถานการณ์ช้างไทย, 12 มีนาคม 2556, http://www.tv5.co.th/web56/show_news.php?id=13863

ช่วยช้างไทยกับคุณโซไรดา, 26 เมษายน 2556, https://taejai.com/blog/detail/3621


ทำเนียบองค์กรหน่วยงานรักษ์ช้าง

โรงพยาบาลช้าง และมูลนิธิเพื่อนช้าง, นางสาวโซไรดา ซาลวาลา ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลช้างแห่งแรกของโลก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง และเลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง (2536), http://www.elephant-soraida.com/main/th/fae-s-infomation-th/our-history-th.html

มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ (Elephant Reintroduction Foundation) ก่อตั้งปี 2545, http://www.elephantreintroduction.org/thai/about_th.html

มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย (Asian elephant Foundation of Thailand),

http://www.asian-elephant.org/ & https://www.facebook.com/media/set/?set=a.412207935501419.100552.100212936700922&type=3

มูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง, http://www.elephantsfund.org/elephant-facts/asian-elephant.html

มูลนิธิพาช้างกลับบ้าน (Bring the Elephant Home Foundation), www.bring-the-elephant-home.org/th/

มูลนิธิช้างเอเชีย (The Asian elephant Foundation), MR.Marc Spitz ผู้ก่อตั้งมูลนิธิช้างเอเชีย จากประเทศเนเธอร์แลนด์, http://www.theasianelephantfoundation.org/

มูลนิธิช้างเอเชียสามเหลี่ยมทองคำ (Golden Triangle Asian Elephant Foundation– GTAEF),

Mr.John Roberts ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กลุ่มโรงแรมไบเบอร์ ตั้งปี 2549 จุดประสงค์หลักคือ ช่วยเหลือช้างที่อยู่บนท้องถนนในกรุงเทพฯ

มูลนิธิช่วยเหลือช้าง (Elephant Nature Foundation) จังหวัดเชียงใหม่ & "ศูนย์บริบาลช้างไทย" (Elephant Nature Park) อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นในปี 2538, http://www.elephantnaturefoundation.org/go/visit

สถาบันคชบาลแห่งชาติ (The National Elephant Institute) หรือ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2536 เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการดูแลรักษาและบริบาลช้างไทย มีช้างในความดูแลมากกว่า 50 เชือก ตั้งอยู่ระหว่าง กม. 28-29 ถนน ลำปาง-เชียงใหม่ อำเภอ ห้างฉัตร จังหวัดลำปาง, http://www.thailandelephant.org/th/institute.html

โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่ามหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่ามหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งอยู่ที่ ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี (โรงพยาบาลสัตว์ (ม.มหิดล) อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี)


[1] ข้อมูลหลักมาจาก ณัฐพล ธาระวานิช, "การศึกษาอิสระเรื่อง มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับปัญหาช้างเร่ร่อน", หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2545.

[2] ช้างเอชีย, http://th.wikipedia.org/wiki/ช้างเอเชีย

[3] ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2541

[4] ปรีชา พวงคำ. กรมคชบาล. เอกสารโรเนียว องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (กรุงเทพมหานคร : 2542)

[5] ข้อมูลปี 2556 ประเทศไทยเหลือช้างป่าประมาณ 3,000 เชือก สำหรับช้างเลี้ยงปัจจุบันมีประมาณ 4,000 เชือก เป็นของเอกชน 96 เปอร์เซ็นต์ และอีก 4 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) และองค์การสวนสัตว์ ดูใน ชี้ "ในหลวง-ราชินี" ทรงห่วงใยช้างไทย, เดลินิวส์, 6 มีนาคม 2556, http://www.dailynews.co.th/Content/politics/154452/ชี้+%26quot%3Bในหลวง-ราชินี%26quot%3B+ทรงห่วงใยช้างไทย

[6] ข้อมูลกองทะเบียนสัตว์พาหนะ กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 มีช้างบ้านที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยทั้งสิ้น 2,409 เชือก ดูใน "ช้าง" สัตว์สงวนไทย ซื้อ-ขายได้แค่ในประเทศ, มติชน, 31 กรกฎาคม 2549, http://news.sanook.com/scoop/0/scoop_11495.php

[7] ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานเดียวกับสถาบันคชบาลแห่งชาติฯ (The National Elephant Institute) แต่สถาบันคชบาลแห่งชาติมุ่งเน้นในด้านการขยายความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ เกี่ยวกับช้างเพื่อสนับสนุนองค์กรของรัฐบาลและองค์กรส่วนบุคคลเพื่อให้การช่วยเหลือช้างในประเทศไทย, http://www.thailandelephant.org/th/institute.html

[8] "มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ" (Elephant Reintroduction Foundation), http://www.elephantreintroduction.org/thai/menu_th.html & มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ, สิงหาคม 2550, http://www.oknation.net/blog/print.php?id=104832

[9] "โรงงานยาสูบปล่อยช้างคืนสู่ธรรมชาติ เนื่องในวันช้างไทย", หนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายวัน โดยโสมชบา, วันที่ 16 มีนาคม 2557, http://www.elephantreintroduction.org/thai/menu_th.html

[10] มูลนิธิช้างเอเชียสามเหลี่ยมทองคำ (Golden Triangle Asian Elephant Foundation – GTAEF), Mr.John Roberts ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กลุ่มโรงแรมไบเบอร์ ตั้งปี 2549 จุดประสงค์หลักคือ ช่วยเหลือช้างที่อยู่บนท้องถนนในกรุงเทพฯ

[11] ""ช้างเร่ร่อนกับควาญ" ปัญหาที่ยังรอเวลาแก้ไข", หนังสือพิมพ์เดลินิวส์รายวัน, หน้า 4 เดลินิวส์วาไรตี้, วันที่ 20 สิงหาคม 2556.

[12] ""ช้างเร่ร่อนกับควาญ" ปัญหาที่ยังรอเวลาแก้ไข", เดลินิวส์ 2556, อ้างแล้ว.

[13] ""ช้างเร่ร่อนกับควาญ" ปัญหาที่ยังรอเวลาแก้ไข", เดลินิวส์ 2556, อ้างแล้ว.

[14]นางสาวโซไรดา ซาลวาลา ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลช้างแห่งแรกของโลก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง และเลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง (2536), http://www.elephant-soraida.com/main/th/fae-s-infomation-th/our-history-th.html ดูใน "ช้าง" สัตว์สงวนไทย ซื้อ-ขายได้แค่ในประเทศ, มติชน, 31 กรกฎาคม 2549, http://news.sanook.com/scoop/0/scoop_11495.php

[15] ส.ว.หญิงวอน'รัฐบาลปู' ถอนทะเบียนช้างออก'สัตว์พาหนะ', ไทยรัฐออนไลน์, 8 มกราคม 2555, http://www.thairath.co.th/content/228954

[16] เตรียมรื้อกฎหมายรูปพรรณ ป้องกันการนำช้างป่าสวมช้างบ้าน, ไทยรัฐออนไลน์ ทีมข่าวการศึกษา, 12 พฤษภาคม 2555,

http://203.151.20.61/content/259923 &แก้บัตรประชาช้าง กันสวมรูปพรรณ, 15 พฤษภาคม 2555,

http://www.thaipost.net/x-cite/150512/56816

[17] คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา พบว่าการตราพระราชบัญญัติอนุรักษ์และคุ้มครองช้างในประเทศไทยเป็นแนวทางเดียวที่จะนำไปสู่ข้อยุติของการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับช้างได้อย่างยั่งยืนส่วนมาตรการเร่งด่วนที่รัฐควรดำเนินการมี 3 ประการดังกล่าว ดูใน วุฒิสภา, "วิกฤตช้างไทยกับแนวทางการแก้ไขปัญหา", http://click.senate.go.th/?p=4536

[18] พระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 มาตรา 19 บัญญัติว่า ผู้ใดจะนำสัตว์พาหนะออกไปนอกราชอาณาจักรให้นำสัตว์นั้น พร้อมด้วยตั๋ว รูปพรรณ ไปให้นายทะเบียนตรวจแก้ทะเบียนและสลักหลังตั๋วรูปพรรณว่าจำหน่ายออกนอกราชอาณาจักร

[19] ธนาคมฐานนันท์, "การแก้ไขปัญหาช้าง", ส่วนการทะเบียนทั่วไป, วารสารสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, สาระทะเบียน-บัตรฯ The Call Center 1548, ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 ประจำเดือน มีนาคม 2557

[20] เตรียมรื้อกฎหมายรูปพรรณ ป้องกันการนำช้างป่าสวมช้างบ้าน, ไทยรัฐออนไลน์ 2555, อ้างแล้ว.

[21] ชี้ "ในหลวง-ราชินี" ทรงห่วงใยช้างไทย, เดลินิวส์ 2556, อ้างแล้ว.

[22] มาตรา 8 เมื่อสัตว์พาหนะดังต่อไปนี้ คือ

(1) ช้างมีอายุย่างเข้าปีที่แปด

...

ให้เจ้าของหรือตัวแทนพร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านหรือพยาน ในกรณีที่ไม่มี ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ใหญ่บ้านไปด้วยไม่ได้ นำสัตว์นั้นไปขอจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณ จากนายทะเบียนท้องที่ที่สัตว์นั้นอยู่ภายในกำหนดดังต่อไปนี้ เว้นแต่ไม่สามารถ ที่จะนำไปได้

ก. สัตว์ในอนุ มาตรา 1 และอนุ มาตรา 2 ตามที่นายทะเบียนจะได้ ประกาศเป็นรายตำบล และกำหนดระยะเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน

...

สัตว์ที่มิได้อยู่ในบทบังคับแห่งอนุ มาตรา 1 ถึงอนุ มาตรา 5 เจ้าของ จะขอจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณก็ได้

เมื่อนายทะเบียนพร้อมด้วยเจ้าของหรือตัวแทนได้ตรวจสอบตำหนิรูปพรรณ เห็นเป็นการถูกต้อง และเจ้าของหรือตัวแทนได้ชำระค่าธรรมเนียมแล้ว ให้ นายทะเบียนจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณให้

[23] ธนาคม ฐานนันท์, อ้างแล้ว.

หมายเลขบันทึก: 564244เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2014 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มีนาคม 2015 02:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ปัญหาช้างป่าตะวันออก: แนวทางการลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชน และช้างป่า ที่อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด
by Ronglarp Sukmasuang

https://www.academia.edu/8004180/ปัญหาช_างป_าตะวัน...

by รองลาภ สุขมาสรวง, บุญอยู่ อยู่ภู่, สว่าง ทิพยนุกุล, นริศ ภูมิภาคพันธ์,

มาโนชญ์ ยินดี

แผนการอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาช้างในประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๖ ,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท