ถอดบทเรียนชั่วโมงสุดท้าย (บทสรุปและข้อเสนอแนะ): นักศึกษาปริญญาโทในเวทีการทูต การกงสุล และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ


ถอดบทเรียนชั่วโมงสุดท้าย (บทสรุปและข้อเสนอแนะ): นักศึกษาปริญญาโทในเวทีการทูต การกงสุล และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

การถอดบทเรียนในชั่วโมงเรียนสุดท้ายของผู้เขียนในประเด็นเกี่ยวกับการศึกษาวิชาปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุลที่เรียนมาตลอดภาคการศึกษาที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๖ ดำเนินการสอนหลักโดยรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

โดย นายธนภัทร ชาตินักรบ

 

บทความเพื่อการถอดบทเรียนวิชาน.๗๔๙ ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล ตามหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขียนเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๓๗ น.

แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๑๙.๑๘ น.

http://www.gotoknow.org/posts/563997

https://www.facebook.com/notes/thanapat-chatinakrob/ถอดบทเรียนชั่วโมงสุดท้าย-บทสรุปและข้อเสนอแนะ-นักศึกษาปริญญาโทในเวทีการทูต-การกงส/845143145511169

----------------------------------------------------------------------

 

--------------------------------------

๑. บทนำ 

--------------------------------------

 

          หนึ่งในเป้าหมายประการสำคัญของการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ ตามแนวของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ท่านรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร นำมาประยุกต์ใช้กับห้องเรียนปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุลในภาคการศึกษาที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๖ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ การ “เป็นนักเรียนร่วมสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Professional Learning Community-PLC)[๑]”

 

ภาพประกอบจากเฟซบุ๊คของ Sura Sak J-Charoen

ภาพประกอบจากเฟซบุ๊คของ Sura Sak J-Charoen

 

 

          แนวคิดการเป็นนักเรียนสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ของ ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช ซึ่งหมายถึง  การเป็นนักเรียนนักศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการนำการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำให้เกิดมาเป็นบันทึกฉบับนี้ ที่ผู้เขียนต้องการสรุปและทำความเข้าใจร่วมกันในความคิดเห็นของผู้เขียนที่มีต่อห้องเรียนปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุลของภาคการศึกษาที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๖ ในฐานะของผู้ศึกษาระดับชั้นปริญญาโท ชั้นปีที่ ๑ สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          บันทึกฉบับนี้ เป็นบันทึกฉบับสุดท้ายที่ผู้เขียนเขียนในกรอบของเป้าหมายของการศึกษาวิชาปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล ภายใต้หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้แลกเปลี่ยน นำเสนอมุมมองและสรุปความคิดเห็นเอาไว้ในชั่วโมงเรียนสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ณ ห้องเรียน น.๔๐๕๐ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์

 

--------------------------------------

๒. บทสรุป

--------------------------------------

 

          ตลอดระยะเวลาการศึกษาวิชาน.๗๔๙ ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายการทูตและการกงสุล ผู้เขียนเห็นความสำคัญของเนื้อหาของการศึกษาวิชานี้ใน ๒ ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ (๑) แนวคิดพื้นฐานและพื้นฐานทางกฎหมาย และ (๒) การปรับใช้และบูรณาการการทูตและการกงสุลในเวทีการเจรจาภาคประชาชน ดังอธิบายได้ดังนี้

 

          ๒.๑ แนวคิดพื้นฐานและพื้นฐานทางกฎหมาย 

 

          สิ่งที่เกิดขึ้นภายในห้องเรียนกฎหมายว่าด้วยการทูตและการกงสุลในภาคการศึกษานี้ ผู้เขียนมองเห็นการทำเข้าความเข้าใจร่วมกันและการปรับเข้าหากันระหว่างผู้สอนและผู้เรียนในประเด็นเรื่องแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับมุมมองกฎหมายการทูตและกฎหมายการกงสุลในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นประการแรก ซึ่งผู้เขียนขอตัดตอนความเห็นของผู้สอนในวิชานี้ คือ อ.แหวว รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่เคยได้ให้ความคิดเห็นเอาไว้ในประเด็น “งานดูแลสิทธิทะในสัญชาติของคนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐ เป็นประเด็นในวิชากฎหมายการทูตและการกงสุลหรือไม่?”

          โดยท่านอ.แหวว ได้ให้ความเห็นในเบื้องต้นไว้ว่า การมองว่าเป็นประเด็นกฎหมายการทูตหรือกฎหมายกงสุลนั้น อยู่ที่แนวคิดที่ว่า เราศึกษาโดยเอาอะไรเป็นวัตถุแห่งการศึกษา หากเราเอาอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยการทูตและการกงสุลเป็นตัวตั้ง คงเห็นด้วยว่า การศึกษาควรเน้นที่ “ตัวทูตและกงสุล” ดังนั้น เราจึงควรศึกษาถึงประเด็นที่แวดล้อมตัวบุคคลทั้งสอง กล่าวคือ (๑) เขาคือใคร (๒) เขาทำงานอะไร (๓) เขามีเอกสิทธิแค่ไหน และ (๔) เขามีความคุ้มกันอย่างไร แต่หากเราศึกษาวิชานี้ โดยเอามนุษย์ที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐเป็นจุดศูนย์กลาง เราก็จะเอาสัมพันธภาพทางกฎหมายที่รัฐจะต้องดูแลคนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐหรือจะมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐเป็นจุดศูนย์กลาง ดังนั้น เรื่องของอนุสัญญาเวียนนาทั้งสองก็จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการกำหนดหน้าที่ของเจ้าหน้าของรัฐที่ดูแลคนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐที่เราควรเอามาศึกษา และพัฒนากรอบความคิดที่เกิดใน ค.ศ.๑๙๖๑ - ๑๙๖๓ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์โลกใน ค.ศ.๒๐๑๔ (ผู้ที่สนใจโปรดดูฉบับเต็ม[๒])

          สำหรับความคิดเห็นของผู้เขียนนั้น ได้เคยนำเสนอไปแล้วครั้งหนึ่งในประเด็นเรื่องงานทางการทูตไว้ในบันทึกเรื่อง “ต่อสู้กับขีดจำกัด: ขอบเขตของการนิยาม การทูต” และ งานทางการทูตในปัจจุบัน”[๓] ซึ่งผู้เขียนแบ่งออกเป็น ๓ ประเด็น ได้แก่ การทูตและการกงสุลสมัยดั้งเดิม การทูตและการกงสุลสมัยใหม่ และการทูตและการกงสุลแบบก้าวหน้า/ภาคประชาชน ซึ่งหากจะจัดหมวดพื้นทางทางกฎหมายของการทูตและการกงสุลกับวิชาปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล ผู้เขียนขอแบ่งกลุ่มออกเป็น ๒ กลุ่ม ดังนี้

          ๒.๑.๑ กฎหมายการทูตและการกงสุลสมัยดั้งเดิม มีพื้นฐานทางกฎหมายมาจาก

                  (๑) อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. ๑๙๖๑

                  (๒) อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ. ๑๙๖๓

          ๒.๑.๒ กฎหมายการทูตและการกงสุลสมัยใหม่และการทูตการกงสุลแบบก้าวหน้า/ภาคประชาชน มีพื้นฐานทางกฎหมายมาจาก

                  (๑) อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. ๑๙๖๑

                  (๒) อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการกงสุล ค.ศ. ๑๙๖๓

                  (๓) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนทั้ง ๙ ฉบับ ได้แก่

                        - กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

                        - กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR)

                        - อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (CEDAW)

                        - อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD)

                        - อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT)

                        - อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CPRD)

                        - อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED)

                        - อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว (MWC)

                  (๔) การทูตและการกงสุลภาคประชาชน??? (การขยายบทบาทของการทูตและการกงสุลเข้าไปในเวทีภาคประชาชนเพื่อให้งานของรัฐที่มีหน้าที่ในการดูแลคนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐ สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีมากขึ้น)

          พื้นฐานทางกฎหมายที่ผู้เขียนแบ่งออกอย่างชัดเจนเป็น ๒ กลุ่ม เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในการเรียนวิชาปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล ซึ่งเมื่อเป็นเรื่องของ “ปัญหา” ผู้สอนและผู้ศึกษาจึงเริ่มศึกษาจาก “แนวคิดพื้นฐานทางกฎหมาย” และ “ปัญหาในทางระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริงๆ” และศึกษาหาทางแนวทางเพื่อนำไปแก้ไข “ปัญหา” ในทางระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นที่แนวทางแบบดั้งเดิมอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วเพียงพอ

 

          ๒.๒ การปรับใช้และการบูรณาการการทูตและการกงสุลในเวทีการเจรจาในภาคประชาชน 

 

          เมื่อเราเป็นนักศึกษา การที่จะให้ไปแสดงบทบาทเป็นนักการทูตหรือนักการกงสุล ที่ต้องผ่านการสอบคัดเลือกเข้าไป ณ ตอนนี้ ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดการทูตการกงสุลสมัยดั้งเดิม ก็คงจะทำไม่ได้ แต่หากมองตามแนวคิดสมัยใหม่ โดยเฉพาะแนวคิดการทูตและการกงสุลภาคประชาชนอาจจะพอทำได้ (ซึ่งก็อยู่ที่แนวคิดของแต่ละบุคคลว่า เห็นว่ามีจริงหรือไม่ เพราะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ในวงวิชาการ บางครั้งอาจมองเป็นเรื่องของการเจรจาเท่านั้น) ซึ่งผู้เขียนขอหยิบยกสิ่งที่เรียกว่า “การทูตการกงสุลโดยประชาชนเพื่อประชาชน” หรืออาจจะเรียกว่า “การเจรจา” ตามแนวคิดการทูตการกงสุลแบบดั้งเดิมก็ตาม ผ่านการทำงานตลอดการศึกษาวิชาปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล ดังนี้

 

          ๒.๒.๑ เวทีการลงพื้นที่ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตาก และชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย ณ อำเภอแม่สอด และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (ระหว่างวันที่ ๑๔-๑๗ มกราคม ๒๕๕๗)

                    พื้นที่ทางการทูตและทางการกงสุลที่เกิดขึ้นในการลงพื้นที่อุ้มผาง อยู่ในกรอบของการเจรจากับ

                    (๑) ภาคราชการ ประกอบไปด้วย คณะทำงานจากโรงพยาบาลอุ้มผาง ตัวแทนจากโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม นายอำเภออุ้มผางและอำเภอแม่สอด ปลัดอำเภอพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยม ตัวแทนจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตาก เป็นต้น

                    (๒) ภาคประชาสังคม (เอกชน) ประกอบด้วย คณะทำงานจาก International Rescue Committee (IRC) คณะทำงานจาก LAC Manager คณะทำงานจาก Save the Children  คณะทำงานจากองค์กร The Border Consortium (TBC) ตัวแทนจาก Committee for Protection and Promotion of Child Rights (BURMA) (CCPR) มูลนิธิต่างๆ เป็นต้น

                    (๓) ภาควิชาการ ประกอบด้วย ผู้ช่วยนักวิจัยโครงการ Mae Sot SEZ เป็นต้น

                    และ (๔) คณะผู้วิจัย ซึ่งเป็นทีนักวิจัยและเจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงนักศึกษาระดับชั้นปริญญาโทและปริญญาตรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                    ซึ่งผู้เขียนอาจไม่ได้อยู่ในฐานะของผู้เจรจาโดยตรง แต่อยู่ในกลุ่มที่สามารถมองเห็นการเจรจาได้อย่างชัดเจนในเวทีการเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้ความช่วยเหลือความด้อยโอกาสของเด็กข้ามชาติด้อยโอกาสและครอบครัว แต่อยู่ในฐานะของผู้สังเกตการณ์และให้ความเห็นซึ่งเป็นบทบาทในฐานะของตัวแทนจากนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการสังเกตและทำความเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาการลงพื้นที่ในครั้งต่อไป รวมถึงบทบาทในฐานะผู้เผยแพร่การทำงานของโครงการดังกล่าวให้เป็นที่รับทราบโดยทั่วกัน หากสนใจในประเด็นเรื่องนี้ สามารถศึกษาได้จากบทความของผู้เขียนในบันทึกเรื่อง “มุมมองทางการทูตและการกงสุลจากการลงพื้นที่ ณ อำเภอแม่สอดและอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก”[๔]

 

          ๒.๒.๒ เวทีการจัดงานเสวนาวิชาการ โครงการวิชาการรำลึก TU Law Conference ปาฐกถานิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ชุด ๙๐ ปี ศาสตราจารย์ คนึง ฤๅไชย (เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗)

                    เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ผู้เขียนได้มีโอกาสช่วยในการจัดงานเสวนาวิชาการโครงการวิชาการรำลึก TU Law Conference ปาฐกถานิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ชุด ๙๐ ปี ศาสตราจารย์ คนึง ฤๅไชย ณ ห้อง LT.1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ รวมกันกับทีมจัดงานอีกหลายท่าน

                    ความสำคัญของงานนี้ที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่า เป็นส่วนหนึ่งของวิชากฎหมายว่าด้วยการทูตและการกงสุลนั้น อยู่ที่ระบบของการจัดงาน เนื่องจากเป็นงานเสวนาทางวิชาการที่จะต้องมีการเตรียมงาน ซึ่งหมายความว่า ต้องมีการประชุมงาน ทำให้ประเด็นเรื่องของ “การเจรจา” ต้องนำมาใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บทบาทของผู้เขียนที่สำคัญ คือ การเชิญแขกผู้ใหญ่ และการรับรองแขกในวันงาน ซึ่งต้องมีการประสานงานกับทุกฝ่าย

                    เวทีการเจรจาเกิดขึ้นตั้งแต่การเริ่มเตรียมงานก่อนวันงานที่ต้องมีการประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจตรงกันว่าแต่ละคนมีหน้าที่ของตนเองอย่างไร และจะต้องอยู่จุดไหน ส่วนไหนของงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในการทำให้ทุกคนเข้าใจร่วมกันในจุดนี้ ตามด้วยปัญหาต่างๆที่ไม่ใช่แค่ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการเตรียมงาน แต่ยังรวมไปถึงปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในวันงานอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องใช้ทักษะในการเจรจาล้วนๆ ซึ่งหมายถึง การประสานความพอใจของทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน ตั้งแต่จุดมุ่งหมายของงานวิชาการรำลึกโดยคณะจัดงาน และความพอใจของแขกผู้มีเกียรติผู้เข้าร่วมงานทุกท่าน

                    ดังนั้น งานวิชาการรำลึกครั้งนี้ จึงเพิ่มทักษะให้กับผู้เขียนในการเจรจาภาคปฏิบัติที่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมที่มีกระดานและผู้สอนเท่านั้น แต่เป็นการใช้สิ่งที่เรียนในชีวิตจริง ซึ่งต้องพบปะและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม

 

          ๒.๒.๓ เวทีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายในคาบเรียนปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล

                    การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายในคาบเรียนปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล เกิดขึ้นตลอดภาคการศึกษาที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๖ นี้ โดยเริ่มจากการรับฟังของผู้สอนที่มักจะให้ผู้เรียนคิดว่า ผู้เรียนต้องการจะทราบหรือจะรู้อะไรในการศึกษาวิชาปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุลในแต่ละสัปดาห์ โดยไม่ปิดกั้นความคิดของผู้เรียน ดังนั้น ผู้เรียนจึงมีสิทธิในการเลือกเนื้อหา ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายว่าด้วยการทูตและการกงสุล

                    ประเด็นกฎหมายการทูตและการกงสุลที่หยิบยกมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันในชั้นเรียน เป็นประเด็นที่ค่อนข้างทันต่อยุคสมัย กล่าวคือ เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมโลกในปัจจุบัน ซึ่งมักจะเป็นข่าว บทความ หรือแนวปฏิบัติใดๆที่ประเทศต่างๆแสดงออกมาสู่ประชาคมโลก ผ่านการกระตุ้นให้นักศึกษาคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ในลักษณะของการตั้งคำถามให้ผู้เรียนได้คิดหาคำตอบ ไม่ใช่ลักษณะของการป้อนข้อมูลให้กับผู้เรียน อีกทั้ง ยังให้ผู้เรียนได้ค้นคว้าหาข้อมูลล่วงหน้าเพื่อประกอบการเรียนการสอนล่วงหน้าในทุกๆสัปดาห์ ซึ่งส่งผลให้การเรียนมีประสิทธิภาพและไม่น่าเบื่อ แต่ทั้งนี้ ก็อยู่ในขอบเขตของความสัมพันธ์ของกฎหมายการทูตและการกงสุลทั้งหมด

 

          ๒.๒.๔ เวทีการทำบันทึกและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านบันทึกในโลกออนไลน์ (facebookและgotoknow)

                    การทำบันทึกและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านบันทึกในเฟซบุ๊ค เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ท่าน อ.แหววได้เชิญชวนให้ผู้เรียนในรายวิชาปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุลทำขึ้น เนื่องจากต้องการให้ผู้เรียนได้เผยแพร่แนวความคิด และสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนสู่สาธารณะ เพื่อให้บุคคลที่ไม่มีโอกาสได้ศึกษาในรายวิชานี้ ได้ทราบถึงความเป็นไปของการเรียนวิชาปัญหากฎหมายว่าด้วยการทูตและการกงสุล

                    หากมองในพื้นที่การทูตและการกงสุล ผู้เขียนเห็นว่า เป็นการสื่อสารของผู้เขียนในฐานะตัวแทนของผู้ศึกษาไปยังบุคคลภายนอกห้องเรียน ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบันทึกต่างๆ และเป็นการเผยแพร่แนวคิด สถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายการทูตและการกงสุลในยุคปัจจุบัน และกระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของการทูตและการกงสุลซึ่งนับวันจะมีปัญหาเกิดขึ้นเรื่อยๆ

 

--------------------------------------

๓. ข้อเสนอแนะ

--------------------------------------

 

          วิชาปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล เป็นวิชาเลือกของการศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นวิชาที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นวิชาที่ศึกษาถึงปัญหา ซึ่งไม่ใช่แค่การศึกษาภาคทฤษฎีเท่านั้น แต่มีการหยิบยกประเด็นทางกฎหมาย ข้อเท็จจริง สถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นจริง พร้อมทั้งการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติซึ่งตำราที่ไหนก็ไม่สามารถอธิบายได้จริง อีกทั้งผลักดันให้นักศึกษาได้แสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตนโดยไม่ปิดกั้น

          ดังนั้น ผู้เขียนจึงอยากแนะนำให้นักศึกษาผู้ที่ศึกษาภายหลังหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาสาขากฎหมายระหว่างประเทศ รวมไปถึงผู้ที่ประสงค์จะศึกษาต่อในหลักสูตรนี้ ตระหนักถึงความสำคัญและเลือกที่จะลงทะเบียนศึกษาวิชาปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล ที่ไม่ได้ศึกษาแค่ทฤษฎี แต่รวมไปถึงทางปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริงด้วย

 

--------------------------------------

๔. บทส่งท้าย

--------------------------------------

 

          เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๖ ผู้เขียนได้ลงทะเบียนในวิชาน.๗๔๙ ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล ซึ่ง ณ วันนั้น ไม่มีผู้ใดลงทะเบียนในรายวิชานี้ (ภายหลังมีผู้เรียนเพิ่มในช่วงเพิ่มถอน) และไม่เคยเปิดการเรียนการสอนในรายวิชานี้มาก่อน ผู้เขียนจึงได้สอบถามไปยังท่านอ.แหวว รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และอาจารย์ยินดีเปิดวิชาให้ ผู้เขียนยอมรับในครั้งแรกว่า สนใจวิชากฎหมายการทูตและการกงสุล ในฐานะของการทูตแบบดั้งเดิมที่มองการทูตและการกงสุลค่อนข้างแคบ ว่าคงหมายถึง นักการทูตและนักการกงสุลเท่านั้น แต่ ณ วันนี้ ผ่านไป ๑ ภาคการศึกษา ผู้เขียนยอมรับว่า คิดผิดไปที่มองแคบ เนื่องจากความเป็นการทูตและการกงสุลไม่ได้จำกัดอยู่แค่นั้น

          การศึกษาในรายวิชาปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล เปิดโลกทัศน์มุมมองใหม่ให้ผู้เขียน ในฐานะการใช้กฎหมายระหว่างประเทศในชีวิตจริงที่สามารถทำได้ และได้มีโอกาสลงพื้นที่เพื่อทำงานโดยใช้กฎหมายระหว่างประเทศจริงๆหลายครั้ง ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยากนัก

          ผู้เขียนขอกราบขอบพระคุณอ.แหวว รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร มา ณ ที่นี่ ที่เป็นผู้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ และประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้กับผู้เขียน ขอขอบคุณอ.พิรุณา ผศ.พิรุณา ติงศภัทิย์ และ พี่หมี ชญา ภัทราชัย ในฐานะอาจารย์ผู้ร่วมสอนวิชานี้ ขอขอบคุณพี่ปลาทอง ศิวนุช สร้อยทอง นักวิจัยโครงการบางกอกคลินิก ในฐานะผู้ร่วมศึกษาในรายวิชานี้และจัดการหลายๆเรื่องให้สำเร็จไปด้วยดี และพี่ติ๊ด นฤตรา ประเสริฐศิลป์ นักศึกษาปริญญาโทชั้นปีที่ ๒ สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ร่วมศึกษาในรายวิชานี้

          ผู้เขียนขอสัญญาว่า จะนำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในรายวิชานี้ ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงอนาคตที่เกิดขึ้น รวมไปถึงคำสอนของอ.แหววที่ว่า “ชีวิตเป็นของเรา ให้พึงระลึกเสมอว่า เรากำลังทำอะไร ทำหน้าที่อะไร มีหน้าที่อะไรก็ต้องทำให้สมกับที่ได้รับมอบหมายมา

          ขอบพระคุณครับ

 

 

          [๑] วิจารณ์ พานิช, ครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ควรทำและไม่ทำอะไร?, สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๗, จาก http://www.gotoknow.org/posts/559592; โปรดดูเพิ่มเติม, Sura Sak J-Charoen, “ครูศตวรรษที่ ๒๑ ควรทำและไม่ทำอะไร?,” ใน “Sura Sak J-Charoen’s Photos,” ลงรูปภาพเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗,

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=789519654394729&set=a.607909869222376.1073741832.100000101054017&type=1&theater (สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๗).

          [๒] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, แสดงความคิดเห็นเรื่อง “งานดูแลสิทธิในสัญชาติของคนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐเป็นประเด็นในวิชากฎหมายการทูตและการกงสุลหรือไม่?,” ใน “Thanapat Chatinakrob’s Facebook Timeline,” แสดงความคิดเห็นเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗,

https://www.facebook.com/t.chatinakrob/posts/10203018398038569 (สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗).

          [๓] ธนภัทร ชาตินักรบ, “ต่อสู้กับขีดจำกัด: ขอบเขตของการนิยาม “การทูต” และ “งานทางการทูต” ในปัจจุบัน,” สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗, http://www.gotoknow.org/posts/561246.

          [๔] ธนภัทร ชาตินักรบ, “มุมมองทางการทูตและทางการกงสุลจากการลงพื้นที่ ณ อำเภอแม่สอดและอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก,” สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๗, http://www.gotoknow.org/posts/560504.

หมายเลขบันทึก: 563997เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2014 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2014 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท