ปันปัญญา (๖) : เกิดแรงบันดาลใจ


อีก ๑ สัปดาห์ถัดมาครูกิ๊ฟส่งอีเมลถึงดิฉันว่า...

 

ถึงพี่ใหม่และพี่ปาด

 

ขอบพระคุณพี่ๆ ทั้งสองท่านมากค่ะ กิ๊ฟรู้สึกซาบซึ้งจังเลย ที่คุณครูงานยุ่งๆ ภารกิจเยอะแยะไปหมดแบบนี้ เสียสละเวลาให้ศิษย์อย่างรวดเร็วและใส่ใจ อย่างนี้จะไม่ให้อยากเรียนรู้ อยากศึกษา อยากพัฒนาตนเองและงานได้อย่างไร  พี่ๆ เป็นกำลังใจในการทำงานของกิ๊ฟได้มากเลยนะคะ

 

ตั้งแต่กิ๊ฟกลับมา ก็สามารถมองเห็นคุณค่าในงาน สร้างสรรค์งานได้เองจนเต็มมือและมีความสุข สนุกกับการทำงานทุกวัน (อนาคตยังไม่ทราบ รู้แต่ว่า ตอนนี้ สุขใจค่ะ) เวลาที่เราทำงานไป เรียนรู้ไป พัฒนาตนเอง พัฒนางานไป เห็นช่องทางความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์ ปั้นแต่งมัน ความรู้สึกในการทำงานของเราก็เปลี่ยนไป มีแรง พลังงานสูงขึ้น อย่างสังเกตได้

 

ขอบพระคุณพี่ๆ มากค่ะ จากใจจริง

 

ด้วยความเคารพ

กิ๊ฟ KM  PPS

 

............................................................

 

ไม่เพียงแต่ พี่ๆ ที่เพลินพัฒนาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของน้องๆ ที่ปัญญาประทีป เท่านั้น แต่ความตั้งใจของน้องๆ เองยังได้กลับกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้คุณครูปาดสรุปความเข้าใจของตัวเองออกมาเป็นบันทึกจากความเข้าใจที่เกิดจากประสบการณ์ตรงขึ้นมาชิ้นหนึ่ง

 

............................................................

 

ผมขอขอบคุณคุณครูกิ๊ฟอย่างมากครับที่มีความตั้งใจอยากรู้เรื่องของ KM จนทำให้ผมต้องหาทางอธิบายประสบการณ์ที่ค่อนข้างซับซ้อนให้ตกผลึกออกเป็นคำอธิบายที่ไม่ยากนัก และได้สนทนาความคิดและความรู้เรื่องนี้กับคุณครูกิ๊ฟไปเมื่อคราวที่คุณครูกิ๊ฟมาร่วมเรียนรู้ด้วยกันที่โรงเรียน  คุณครูกิ๊ฟช่วยให้ Tacit Knowledge ที่ฝังอยู่อย่างไม่เป็นระเบียบในตัวผมได้เรียบเรียงและสกัดออกมาในครั้งนั้น  หลังจากนั้นกระบวนการนี้ยังคงดำเนินต่อเนื่องภายในตัวผมมาตลอดจนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจึงคลี่คลายออกมาเป็นบทความ ๑ เรื่อง เป็นการอธิบาย KM ตามความเข้าใจทั้งหมดที่ผมมีอยู่เป็นการตกผลึกความรู้ความเข้าใจทั้งหมดของผมออกมาในรูปข้อเขียนสั้นๆ ประมาณ ๗ หน้าครับ

 

เพื่อเป็นการขอบคุณคุณครูกิ๊ฟและพี่ๆ น้องๆ ที่ทอสีและปัญญาประทีป  ผมจึงขอส่งบทความนี้มาให้เผื่อจะเป็นประโยชน์ได้บ้างสำหรับผู้ที่สนใจ KM ครับ

 

ขอบคุณมากครับ

ครูปาด

 

.......................................................

 

จากประสบการณ์ที่ทำการจัดการความรู้มา พบว่า TK มีอยู่ ๓ ระดับ แบ่งตามความยากต่อการจัดระเบียบและลักษณะของการฝังตัว คือ

 

TK ระดับที่ ๑   :  ฝังอยู่ในความทรงจำค่อนข้างลึก อย่างไม่มีระเบียบ แต่สามารถแปลงเป็น EK ได้ เมื่อเจ้าของมีการไตร่ตรองในสภาวะที่เหมาะสม และ/หรือมีผู้ช่วยตั้งคำถาม สนทนา ถอดบทเรียนอย่างเหมาะสม และ/หรือ เจ้าของได้รับประสบการณ์ที่สะกิดใจหรือเติมเต็มประสบการณ์เดิมอย่างเหมาะสม

TK ระดับที่ ๒  :  ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดของคำพูด การกระทำ เครื่องมือ เครื่องใช้ สื่อ สภาพแวดล้อม ไม่สามารถแปลงเป็น EKได้ แต่ไหลเวียนโดยตรงระหว่างสมาชิกได้ผ่านปฏิสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อนในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม  TKในระดับนี้ เช่น ทักษะการใช้เครื่องมือบางอย่าง ทักษะการปรุงและการชิมอาหาร ทักษะทางศิลปะ ทักษะการฝึกสติ ฯลฯ

TK ระดับที่ ๓  :  ฝังอยู่ในความทรงจำที่ลึกถึงลึกมาก และยังหลอมรวมอยู่กับอารมณ์ ความรู้สึกทางจิตใจ ความยึดมั่นที่ฝังลึก ความรู้สึกเป็นตัวตน ไม่สามารถแปลงเป็น EK ได้ แต่ไหลเวียนโดยตรงระหว่างสมาชิกได้ผ่านปฏิสัมพันธ์และสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อความรู้สึกและสมรรถนะทางจิตใจ การไหลเวียนของ TK ในระดับนี้ มีความสัมพันธ์อย่างมากกับกระบวนการทางจิตตปัญญา และการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงหรือ Transformative Learning

 

การทำ KM กับ EK และ TK ในระดับต่างๆ

 

การทำ KM กับ EK :

 

ขั้นตอนที่ ๑  ทำได้โดยเริ่มจากสมาชิกทุกคนมีการบันทึกการทำกิจกรรมหรือการงานของตนครบรอบวงจรการทำกิจกรรมหรือการงานนั้นๆ คือ บันทึกการวางแผนและเป้าหมายก่อนการทำกิจกรรม กับบันทึกและประเมินหลังการทำกิจกรรม การบันทึกจะทำให้ EK ที่มีอยู่ปรากฏออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน ผ่านการรวบรวมและจัดระเบียบในขั้นต้น เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีพลัง

 

ในบางครั้งอาจมีคนช่วยสังเกตการณ์ระหว่างการทำกิจกรรมก็จะมีบันทึกของผู้สังเกตการณ์ระหว่างทำกิจกรรมเพิ่มขึ้นมาอีก  ในกรณีนี้การบันทึกและประเมินหลังการทำกิจกรรมก็จะกลายมาเป็นการสะท้อน แลกเปลี่ยนเรียนรู้และประเมินร่วมกันระหว่างผู้ทำกิจกรรมกับผู้สังเกตการณ์ การมีผู้สังเกตการณ์จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ EK ที่เกิดขึ้นมีการไหลเวียนทางตรงทันทีในขณะที่กำลังทำงาน

 

ในบางองค์กรหรือในกลุ่มสังคมบางกลุ่มมีการทำ KM ที่ละเอียดมากกว่าเพียงมีคนช่วยสังเกตการณ์ แต่จะมีคนช่วยคิดช่วยทำไปพร้อมกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งในขั้นวางแผน ขั้นปฏิบัติหรือช่วยสังเกตการณ์ และขั้นประเมินกับสะท้อนแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลังปฏิบัติการ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้การไหลเวียนทางตรงของ EK มีความคมชัด ทั่วถึง ครบวงจร และเกิดขึ้นทันทีในขณะทำการงานหรือทำกิจกรรม เกิดการยกระดับ EK ได้ทันทีในขณะนั้น  KM ลักษณะเช่นนี้ถ้าทำในสถานศึกษามักเรียกกันว่า Lesson Study

ขั้นตอนที่ ๒   เมื่อทำกิจกรรมไปครบรอบวงจรได้จำนวนหนึ่งก็จะมีวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อ KM โดยสมาชิกที่เข้ามาสู่วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้ จะนำบันทึกการเรียนรู้จากการทำงานเข้ามาช่วยให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นแม่นยำ มีรายละเอียด และกระชับมากขึ้น  ในกลุ่มทางสังคมหลายกลุ่มอาจไม่มีขั้นตอนแรก คือการเรียนรู้รายบุคคล และการเรียนรู้ร่วมกับผู้สังเกตการณ์แต่เริ่มทำ KM ที่วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้เลยก็มี

 

ในวงนี้จะเป็นกลุ่มของสมาชิกที่ทำกิจกรรมหรือการงานร่วมกัน คล้ายกันหรือมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนอย่างเป็นระบบ ในวงนี้จึงต้องมีคนที่มีความสามารถในการดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้สมาชิกทุกคนมีความวางใจและมีความสุขในการเล่า ฟัง ดู ให้ความเห็น และถอดบทเรียนร่วมกัน คนที่ทำหน้าที่นี้เรียกกันเล่นๆว่า “คุณอำนวย” ส่วนสมาชิกที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กันเรียกกันว่า “คุณกิจ”  ในขณะที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กำลังดำเนินไปนั้น ต้องมีอีกผู้หนึ่งที่ทำการบันทึกผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และผลการถอดบทเรียน คนที่ทำหน้าที่นี้ก็มีชื่อเรียกกันว่า “คุณลิขิต”ในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อ KM นี้จะทำให้ EK มีการไหลเวียน เกิดการเพิ่มพูน เชื่อมโยง ประกอบ และสังเคราะห์ใหม่ เกิดการยกระดับ EK ขึ้น

 

ขั้นตอนที่ ๓   เมื่อคุณกิจ นำ EK ที่ได้จากวงนี้กลับไปทดลองทำในกิจกรรมหรือการงานของตนและกลับมาที่วงนี้อีกพร้อมกับ EK ที่เกิดขึ้นหลังจากการทำกิจกรรมหรือการงานมา ก็จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้ EK ของกลุ่มได้หมุนเวียนเข้าสู่วงจรการพัฒนาคุณภาพและยกระดับต่อขึ้นไปอีก

 

ขั้นตอนที่ ๔  EKที่ถูกถอดบทเรียนโดยกลุ่มและบันทึกโดย “คุณลิขิต” จะถูกนำไปรวบรวม เรียบเรียง อย่างเป็นระบบระเบียบร่วมกับ EK ที่ได้มาจากวงอื่นๆ และร่วมกับ EK ของส่วนรวมที่สะสมอยู่เดิมในคลัง “ความรู้” กลาง ที่ทีม KM จัดทำขึ้น   EK ที่ถูกนำมารวบรวม เรียบเรียง จัดระเบียบในคลัง “ความรู้” กลางนี้จะถูกส่งกลับสู่สมาชิกอย่างทั่วถึง ทำให้เกิดกลไกการรวมเข้า-กระจายกลับของ EK ขึ้นซ้อนกับการไหลเวียนของ EK ที่เกิดจากวงจรการทำงานที่มีการเรียนรู้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบที่มีผู้ร่วมเรียนรู้ และที่เกิดจากวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้  กลไกการรวมเข้า-กระจายกลับของ EK นี้จะเพิ่มแรงให้กับการไหลเวียนและการยกระดับ EK ของสมาชิกและขององค์กรขึ้นอีกอย่างมาก  และถ้า EK ในคลังกลางถูกนำไปทำการวิจัยเพื่อพัฒนาโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอาจเป็นคนในและ/หรือคนนอกของกลุ่มสังคมนั้น และส่งกลับเข้ามาในคลังเพื่อนำสู่กลไกการกระจายกลับอีกครั้งก็จะเสริมแรงการไหลเวียนและการยกระดับขึ้นอีกโดยเฉพาะในด้านการสร้างนวัตกรรม

 

ระบบการหมุนเวียน EK ผ่านการบันทึกครบวงจรเพื่อเรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านการมีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์หรือเข้าร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสังเกตการณ์ ร่วมสะท้อนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และผ่านกลไกการรวมเข้า-กระจายกลับ หรืออาจเพิ่มด้วยการทำวิจัยเพื่อพัฒนาแทรกลงไปในกลไกนี้ จะทำให้กลุ่มสังคมนั้นเริ่มมีลักษณะเป็นองค์กรเรียนรู้ที่ผลิตซ้ำตัวเองได้ ยกระดับตัวเองได้ ปรับตัวเองได้เมื่อปัจจัยสำคัญๆ เปลี่ยนไป

 

การทำ KM กับ TK ระดับที่ ๑ : เป้าหมายของการทำ KM ในระดับนี้คือ ๑.การไหลเวียนโดยตรงของ TK ระดับที่ ๑ จากสมาชิกสู่สมาชิกหรือจากคุณกิจสู่คุณกิจ จากคุณกิจสู่การงาน และจากการงานสู่คุณกิจ และ ๒.การแปลง TK ระดับที่ ๑ นี้ให้ออกมาเป็น EK และนำ EK นั้นเข้าสู่ระบบ KM ของ EK ต่อไป  การทำ KM ในระดับนี้ก็ทำในพื้นที่และเวลาของการทำ KM ของ EK  ในการนี้คุณอำนวยและคุณกิจ ต้องทำสิ่งที่ยากขึ้นกว่าการทำ KM ของ EK เพราะบรรยากาศและกระบวนการของคุณอำนวยจะต้องอยู่ในระดับเดียวกันกับบรรยากาศและกระบวนการทางจิตตปัญญา ซึ่งใช้ประกอบกับทักษะวิธีการจัดการความรู้ ที่คุณอำนวย คุณกิจ และคุณลิขิต มีอยู่ในการทำ KM ของ EK

 

นอกจากบรรยากาศและกระบวนการทางจิตตปัญญาแล้ว ทักษะวิธีการจัดการความรู้ที่จะช่วยดึงเอา TK ระดับที่ ๑ ออกมาเป็น EK นั้น ยังต้องมีสิ่งสำคัญ เช่น ให้เจ้าของความรู้ได้มีเวลาที่มีคุณภาพในการไตร่ตรอง มีคนช่วยตั้งคำถามที่เหมาะสม มีคนช่วยสนทนาอย่างเหมาะสม มีคุณลิขิตที่ช่วยถอดบทเรียนออกมาอย่างแม่นยำและสะท้อนกลับให้กับเจ้าของความรู้เพื่อตรวจสอบ หรือมีการให้ประสบการณ์ที่สะกิดใจหรือเติมเต็มประสบการณ์เดิมให้กับเจ้าของความรู้อย่างเหมาะสม ฯลฯ

 

การดึงเอา TK ระดับที่ ๑ ออกมาและแปลงเป็น EK นี้ จะทำให้ได้ EK เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างมากมาย เพราะ TK ระดับที่ ๑ นี้มีมากกว่า EK ทั่วไปอยู่มาก  และยังเป็น “ความรู้” ที่ลึกซึ้ง กว้างขวางกว่า EK ทั่วไปเพราะ TK ระดับที่ ๑ เป็นความรู้ในระดับหลักการและ “เคล็ดวิชา” มากกว่าที่จะเป็น “How to” ทั่วไป   เมื่อ TK ที่ถูกแปลงเป็น EK ไหลเข้าสู่ระบบหมุนเวียนทั้งทางตรงที่ผ่านวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวงจรการทำงานและเรียนรู้ร่วมกัน และทางอ้อมที่ผ่านกลไกการรวมเข้า-กระจายกลับ หรือเพิ่มเติมด้วยการวิจัยเพื่อพัฒนา จะทำให้สมาชิกทั้งหมดและองค์กรเกิดการยกระดับ “ความรู้” ที่ลึกซึ้ง กว้างขวางมากขึ้นกว่า EKทั่วไปอีกมาก สามารถพัฒนาสมาชิกเข้าสู่ระดับเชี่ยวชาญได้รวดเร็วขึ้น

 

ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าของ “ความรู้” จะเกิดความเข้าใจใน “ความรู้” และในการเรียนรู้ของตัวเองดีขึ้น เพราะ TK ระดับที่ ๑ ที่เคยใช้อยู่อย่างไม่ค่อยรู้ตัว ควบคุมไม่ถนัด อธิบายไม่ออก นั้นได้กลายมาเป็น EK ที่ใช้ได้ตามความต้องการ ปรับประยุกต์ได้ง่าย อธิบายกับตัวเอง และกับคนอื่นได้ชัดเจน เกิดความสามารถที่เรียกว่า Metacognition และ Self Mastery ขึ้น เกิดความเชี่ยวชาญใน “ความรู้” ภายในตน ความเชี่ยวชาญในการงานหรือกิจกรรมที่ทำ และสามารถถ่ายเท EK ที่ลึกซึ้งสู่ผู้อื่นได้ลึกซึ้ง กว้างขวาง เชื่อมโยง รวดเร็ว และแม่นยำมากขึ้น

 

การทำ KM กับ TK ระดับที่ ๒ : TK ในระดับนี้ไม่สามารถแปลงออกเป็น EK ได้ ดังนั้นการทำ KM ของ TK ระดับที่ ๒  จึงเป็นการไหลเวียนและยกระดับ TK นี้โดยตรง โดยส่วนหนึ่งทำร่วมลงไปในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอีกส่วนหนึ่งต้องทำในขณะทำการงานหรือทำกิจกรรม โดยจัดให้มีคู่หูหรือกลุ่มย่อยร่วมทำการงานหรือกิจกรรมกันอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องเป็นวงจร ในขั้นนี้ต้องจับคู่หรือจัดกลุ่มย่อยของสมาชิกที่จะร่วมกันทำการงานหรือกิจกรรมตั้งแต่ขั้นวางแผน ลงมือทำ และการประเมินกับการสะท้อนหลังการทำ และยังต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานหรือในกิจกรรมมากกว่าคุณกิจทั่วไปมาเป็นโค้ชที่เวียนเข้าร่วมในวงจรนี้อีกด้วย ผู้เชี่ยวชาญนี้อาจเป็นคนในและ/หรือคนนอกของกลุ่มสังคมนั้นก็ได้ แต่ต้องเข้าร่วมทำการงานหรือกิจกรรมนั้นๆ อย่างใกล้ชิดกับคุณกิจและร่วมมีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ใช่เข้ามาในลักษณะวิทยากรที่มาจัดอบรมหรือนิเทศหรือทำ workshop

 

เพราะ TK ระดับที่ ๒ นี้ซ่อนอยู่ในระหว่างบรรทัดของคำพูด การกระทำ เครื่องมือ เครื่องใช้ สื่อ และสภาพแวดล้อม ดังนั้นทั้งในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และในวงจรการทำการงานหรือการทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้ร่วมกันนี้ต้องมีบรรยากาศและกระบวนการทางจิตตปัญญาประกอบกับทักษะวิธีในการจัดการความรู้ขั้นที่เป็น “ศิลปะ” ของทั้งคุณอำนวย คุณลิขิต คุณกิจ และผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมอยู่ในวงจรการทำการงานหรือการทำกิจกรรมนั้นๆ

 

การทำ KM กับ TK ในระดับที่ ๒ นี้ จะช่วยให้สมาชิกพัฒนาทั้งตนเองและทีมเข้าสู่ความเป็นเลิศได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะรวดเร็วเพียงใดขึ้นอยู่กับความเป็นเลิศของผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมอยู่ในวงจรนี้และประสิทธิภาพของกระบวนการ KM ที่นำมาใช้  สิ่งที่ติดตามมาคือองค์กรจะยกระดับขึ้นสู่ความเป็นเลิศได้ง่ายขึ้น

 

การทำ KM กับ TK ระดับที่ ๓ : เช่นเดียวกับ TK ระดับที่ ๒ การทำ KM กับ TK ในระดับที่ ๓ นี้ ก็ต้องการทั้งวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้และวงจรการทำการงานหรือการทำกิจกรรมร่วมกันที่ครบรอบต่อเนื่อง อีกทั้งยังต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงตัวเอง มีประสบการณ์ตรงที่ชัดเจนกับการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงหรือ Transformative Learning เข้าร่วมอยู่ในวงจรนี้ด้วย

 

การทำ KM ในระดับนี้ต้องการบรรยากาศและกระบวนการทางจิตตปัญญา ประกอบกับทักษะวิธีในการทำ KM ที่อยู่ในระดับ “ศิลปะ” เช่นเดียวกับการทำ KM กับ TK ระดับที่ ๒  โดยเฉพาะคุณอำนวยที่ต้องมีความสามารถในกระบวนการทางจิตตปัญญา และการอำนวยการวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับ “ศิลปะ” คุณลิขิตที่ต้องจับประเด็นได้แม่นยำลึกซึ้ง เรียบเรียงและนำเสนอกลับสู่วงได้ครบถ้วน แม่นยำ กระชับ อีกทั้งคุณกิจก็ต้องมีประสบการณ์ในกระบวนการทางจิตตปัญญามาแล้ว ส่วนผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาร่วมอยู่ในวงจรการทำการงานหรือการทำกิจกรรมก็ต้องมีความเชี่ยวชาญทั้งในตัวการงานหรือการทำกิจกรรมและในเรื่อง Transformative Learning อีกด้วย

 

การทำ KM กับ TK ระดับที่ ๓ นี้จะช่วยให้องค์กรเข้าสู่ “องค์กรที่มีชีวิต” ได้ชัดเจนและรวดเร็วขึ้น ประเด็นที่สำคัญอย่างมากคือ KM ในระดับนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง Mental Model ขององค์กรไปในทางที่เป็นองค์กรเรียนรู้ และองค์กรที่มีชีวิตมากขึ้นชัดเจนขึ้น  การเปลี่ยนแปลง Mental Model เป็นสิ่งที่ยากแสนสาหัสสำหรับหลายๆ องค์กรที่ต้องการไปให้ถึงองค์กรที่มีชีวิต แต่ถ้าเราเข้าใจวิธีการทำ KM กับ TK ในระดับที่ ๓ นี้ เราก็จะได้กุญแจที่ไขไปสู่การเปลี่ยนแปลง Mental Model ขององค์กรได้

 

ดังที่ได้แสดงไว้ข้างต้น อาจทำให้เห็นว่าการทำ KM กับ TK ในระดับที่ ๒ และ ๓ นี้เป็นสิ่งที่ยากมาก ซึ่งจากประสบการณ์ก็พบว่าเป็นสิ่งที่ยากมาก แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าการทำ KM กับ EK นั้นเป็นพื้นฐานที่ทำให้การทำ KM กับ TK ระดับที่ ๑ เกิดขึ้นได้ไม่ยากนักเพราะเป็นลำดับต่อเนื่องกัน และการทำ KM กับ TK ระดับที่ ๑ ก็เป็นพื้นฐานอย่างดีต่อการทำ KM กับ TK ในระดับที่ ๒ และ ๓ อย่างเป็นลำดับต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้นการทำ KM กับ TK ระดับที่ ๒ และ ๓ แม้เป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่เหลือวิสัยที่จะดำเนินการทีละขั้นตอนมาเป็นลำดับ

 

 

ลักษณะสำคัญของการไหลเวียนของ TK   

 ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เกิดการไหลเวียนของ TK ระดับที่ ๒ และ ๓

๑.     การซึมซับจากสภาพแวดล้อมและบรรยากาศร่วมกัน

๒.    การซึมซับและ/หรือ การ Construct ระหว่างบรรทัดร่วมกันในขณะปฏิสัมพันธ์ทั่วไป

๓.    การซึมซับและ/หรือ การ Construct ระหว่างบรรทัดร่วมกันในขณะทำกิจกรรม ทำงาน แก้ปัญหา สร้างสรรค์

๔.    การซึมซับและ/หรือ การ Construct ในลักษณะทั้งข้อ ๑,๒,๓ ในด้าน ทัศนะต่อชีวิตและโลก สุนทรียะ และจริยะ ที่จิตใจส่วนลึก อันมีผลต่อเนื่องสู่การเปลี่ยนแปลงฐานคติ ความเชื่อ ความเห็น ความคิด และความเข้าใจในเรื่องอื่นๆ ตามมา ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้ก็คือ Transformative Learning

๕.    การซึมซับและ/หรือ การ Construct TK นั้นต้องอาศัย Intuition  โดยเฉพาะ Intuition ด้าน Perception ซึ่งเป็นสมรรถนะสำคัญ ๑ ใน ๗ ข้อของ Aptitude ซึ่ง Intuition ลักษณะนี้เป็นการสนธิกันอย่างเป็นเอกภาพของการเรียนรู้ทั้ง ๓ ด้าน คือ ด้าน Affective Cognitive และ Psychomotor

 

การไหลเวียนของ TK กับการเกิด Transformative Learning และการเปลี่ยนแปลง Mental Model

การไหลเวียนของ TK ในทุกระดับนั้น ผูกพันอยู่กับสภาพแวดล้อมและกระบวนการทางจิตตปัญญา ดังนั้นการแปลง TK ในระดับที่ ๑ ให้เป็น EK และการไหลเวียนของ TK โดยตรงทั้ง ๓ ระดับ จะสัมพันธ์และส่งเสริมซึ่งกันและกันกับ Transformative Learning

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไหลเวียนของ TK ในระดับที่ ๓ ซึ่งต้องอาศัยสภาพแวดล้อมและกระบวนการทางจิตตปัญญาที่ไปถึงระดับ Transformative Learning และในทางกลับกัน การไหลเวียนของ TK ในระดับที่ ๓ นี้ก็จะส่งผลให้เกิด Transformative Learning ที่ลึกซึ้งได้เช่นกัน

 

นอกจากนี้ในอีกมุมหนึ่งการไหลเวียนของ TK ในระดับที่ ๓ กับ Transformative Learning ที่เกิดขึ้นควบคู่กันนี้ก็คือการเปลี่ยนแปลง Mental Model ขององค์กรไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท