ปันปัญญา (๕) : เรียนรู้จากการประมวลสรุป


ฝึกงานวันที่สี่

 

งานที่ฉันทำในวันที่ ๔ คือ การจดบันทึก และสอบถามพี่ๆ ในเรื่องยังไม่กระจ่างในสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดทั้ง ๓ วัน ซึ่งพี่ๆ ก็ช่วยอธิบายให้อย่างน่ารักและเมตตามากๆ ค่ะ

 

 พี่อ้อ – วนิดา  สายทองอินทร์  หัวหน้าพัฒนาหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ได้ถ่ายทอดความรู้ในเรื่องของการทำวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ที่พี่อ้อทำหน้าที่เป็นผู้นำวงว่าแรกๆ ก็ฝึกจากพี่ปาดและพี่ใหม่จนกระทั่งมั่นใจว่านำได้เอง  คุณสมบัติที่จะต้องมีคือ ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี  และต้องคอยจับประเด็นที่เราเห็นว่ามีคุณค่า น่าจะเป็นประโยชน์ เพื่อถามเจาะลึกให้คนในวงได้เข้าใจและรับรู้ไปด้วยกัน

 

การเป็นผู้นำวง หรือ FA ไม่ต้องเตรียมมาพูดเยอะ แต่ให้คนในวงพูดป็นหลัก ส่วนเราเป็นคนคอยถามและรับฟังอย่างลึกซึ้ง ตัวเราต้องฝึกจากการปฏิบัติซึ่งมีทั้งสำเร็จบ้าง เงียบบ้าง เราก็ต้องมีวิธีกระตุ้นวงให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม และหัวข้อของการพูดคุยก็ต้องเป็นหัวข้อที่ทุกคนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้

 

การทำ Lesson study ทำให้ทุกคนค้นพบด้านดีของตน และการมีบัดดี้คู่วิชามาคอยช่วยกันสะท้อน และวง KM ก็สามารถทำให้แต่ละคนมีความภาคภูมิใจ รู้ว่าทุกคนมีดี เกิดความเคารพและเห็นคุณค่าในกันและกัน

 

ฝึกงานวันที่ห้า

 

พี่นุช– ชัญญานุช คมกฤส  หัวหน้าส่วนงานมาตรฐานการศึกษาและการเทียบโอน ลองทำน้ำสลัดสูตรปัญญาประทีปที่ได้มาจากการไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวง PLC ๔ ที่โรงเรียนทอสีเมื่อปลายเดือนที่แล้ว มาแบ่งปันให้ทุกคนได้ชิมกันแต่เช้า และพี่คนอื่นๆ ก็ห่อข้าวพร้อมกับกับข้าวข้าวอันแสนอร่อย และใส่ใจมาร่วมแบ่งปันคนละอย่างสองอย่าง (ประทับใจมากๆ ค่ะ ) จากนั้นฉันก็อ่าน ทำความเข้าใจในสิ่งที่พี่ใหม่ พี่ปาดพูดถึง เพราะบางอย่างก็ยังไม่รู้เรื่อง  เช่น Learning Pyramid, Constructionism แล้วปรับปรุงสิ่งที่บันทึกไว้ต่อ ต่อจากนั้นก็พิมพ์สิ่งที่พี่นุ่นบันทึกเองไว้ตอนที่ Post ชั้นเรียนค่ะ

 

อ้อ!  วันนี้ได้ซ้อมอพยพหนีไฟด้วยค่ะ จากนั้นก็ไปทานข้าวมื้ออร่อย ด้วยความกรุณาของพี่ปาด พี่ใหม่ และพี่ๆ ขอบพระคุณมากค่ะ

 

 

พอกลับมาจากทานข้าวกันก็มีวงประชุมของคณะวิจัย ฯ ให้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แล้วก็มีกิจกรรม AAR สิ่งที่ได้เรียนรู้เป็นการส่งท้าย

 

* คำถาม AAR 

ครูปาด   ลองนิยามความหมายของการจัดการความรู้

ครูกิ๊ฟ   การจัดการความรู้ ที่พอเหมาะที่จะทำให้เกิดชุมชนความรู้

ครูปาด   ทำงานอย่างไร

ครูกิ๊ฟ    การส่งผ่านจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง เกิดการหมุนเวียน

ครูปาด   การจัดการความรู้ถ้ากล่าวอย่างสั้นๆ ก็คือการทำให้ความรู้ในกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันและมีเป้าหมายร่วมกันได้หมุนเวียนให้ทั่วถึง และการหมุนเวียนนั้นนำไปสู่การยกระดับของสมาชิกทั้งหมด ภาพที่ถูกอธิบายอยู่บ่อยครั้งคือบันไดเกลียวเวียน ย้ำว่าต้องมีเป้าหมายร่วมกัน จึงถูกนำไปใช้ในกลุ่มหรือสังคมที่มีเป้าหมายร่วมกัน สุดท้ายนี้การหมุนเวียนนี้จะต้องถูกยกระดับสมาชิกในกลุ่ม ความรู้ออกแบ่งเป็นสองชนิด

ครูกิ๊ฟ  TK – Tacit Knowledge  เป็นความคิดที่ตายตัวในตำรา ความรู้ดิบๆ ที่ไม่ได้อยู่ในตัวคน อาจเกิดการไหลเวียน EK – Explicit Knowledge  เป็นความรู้ภูมิปัญญาของคน

ครูปาด  หัวใจคือการไหลเวียน ความรู้จึงถูกแบ่งเป็นสองชนิดตามลักษณะการไหลเวียน ความรู้ที่ไหลเวียนง่ายคือตัวที่เจ้าของความรู้สามารถนำเสนอมาได้ง่าย แล้วสิ่งที่นำเสนอแล้วสามารถเก็บเป็นความรู้ส่วนกลางได้ง่าย เป็น EK 

ความรู้อีกส่วนที่ออกมายากและจัดเก็บเป็นความรู้ส่วนกลางก็ยาก คือ TK ที่เป็นความรู้ฝังลึก ที่เจ้าของไม่สามารถเขียนพูดบอกอธิบายได้ทันที แต่ถ้าใคร่ครวญ มีคนตั้งคำถามจึงสามารถทำได้ 

TK : EK  =  1 : 10

TK ถ้าถูกใคร่ครวญ ก็จะออกมาเป็น EK

แต่ก็ยังมี TK ที่ใคร่ครวญอย่างไรก็ไม่ออก แต่สามารถไหลเวียนได้

การทำให้ EK ไหลเวียน ไม่ยาก   ดังนั้นในสมัยแรกๆ จึงเป็นการเน้นการไหลเวียนของ EK

แต่ถ้าต้องการให้องค์กรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ การทำให้ EK ไหลเวียนไม่เพียงพอ ต้องทำให้ TK ไหลเวียนได้ด้วย จึงมีการทำกระบวนการเชิงลึก แล้วนำกระบวนการจิตตปัญญาเข้ามาช่วยเจาะเพื่อหวังว่าจะแปลง TK จำนวนหนึ่งให้เป็น EK ได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังออกมาไม่หมด  แต่ต่อมาก็ยังพบว่ากระบวนการจิตตปัญญาก็สามารถทำให้ TK ไหลเวียนออกมาได้โดยไม่ต้องแปลงให้เป็น EK ก่อน เช่น การสอนศิลปะ ที่ต้องมีการลองผิดลองถูก และเกิดการเรียนรู้เอง หรือเช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรมที่มีการเตือนว่า “ตึงไปแล้ว” “หย่อนไปแล้ว” จนวันหนึ่งก็จับได้เกิดการเรียนรู้เอง 

ส่วนเหตุที่ว่าทำไม TK จึงไม่สามารถออกมาได้ ก็เพราะมันไปผูกพันกับ “อัตตา” 

KM เชิงลึก = KM Inner หรือ KM inside มีหนังสือน่าอ่านชื่อ The inner part of  Learning Organization & Knowledge Management ที่เขียนโดยอาจารย์วรภัทร ภู่เจริญ

KM เชิงลึก => จิตตปัญญา

ระดับที่ ๑  เปลี่ยน TK เป็น EK

ระดับที่ ๒  นำ TK ระหว่างบรรทัดออกมาได้

ระดับที่ ๓  ขัดเกลากมลสันดาน

 

 

 

ครูใหม่  ให้ลองทบทวนประเด็นที่ได้เรียนรู้ ประเด็นที่อยากเรียนรู้ต่อ และสุดท้ายคือ จะกลับไปทำอะไร

ครูกิ๊ฟ ได้เรียนรู้เยอะมาก เขียนบันทึได้ ๒๐ หน้า วันแรกๆ เรียนกับพี่ใหม่เรื่องการทำ KM ได้รู้ว่าพี่ใหม่ทำอะไรบ้าง จะนำไปปรับใช้ในงานของเราเท่าที่กำลังจะ ทำได้ 

ได้เรียนรู้จากพี่ปาดว่าสามารถทำ KM ใน LO และ LS จากที่ได้ถามจากพี่ๆ ทุกคนที่รายล้อมอยู่ในห้องทำงานเดียวกัน  ถึงจะไม่ได้ความรู้เต็มที่ที่จะไปทำได้เลย แต่ก็รู้ว่าถ้าจะกลับไปเริ่ม...จะเริ่มจากอะไรก่อน จากการเอาบทเรียนของเพลินพัฒนาไปลองทำดู

ที่น่าจะโอเคสำหรับปัญญาประทีปคือการแนะนำให้ครูรู้จัก constructionism การเอา VDO ห้องเรียนญี่ปุ่นที่พี่ๆ ให้ไป ไปเปิดให้คุณครูที่ปัญญาประทีปดู  แล้วเริ่มจากครูอาสาที่อยากเปลี่ยนแปลง ผลักดันนโยบายของโรงเรียน ในส่วนนี้กิ๊ฟพร้อมที่จะเริ่มไปพร้อมๆ กับพี่เปา(ครูวิชาการ)  พี่แจ๊ด(รองผู้อำนวยการ) และจะนำวิธีการในการ OC ไปใช้ให้เป็นประโยชน์

อีกเรื่องหนึ่งคือได้สัมผัสความรู้สึก ความสุข ในการทำ OC ของครู โดยเฉพาะครูอ้อ ที่ได้เล่าให้ฟัง พี่ๆ เปรียบเหมือนคนขุดสมบัติที่ต้องแลกมาด้วยความเหนื่อยยาก กิ๊ฟเหมือนคนที่มากอบโกยเอาสมบัติของพี่ๆ ที่หาเอาไว้ไปใช้ แล้วก็ยังได้คำแนะนำที่จะไปลองขุดเองดูบ้าง

มาเรียนรู้ครั้งนี้ ได้รู้ว่าตัวเองยังมีความบกพร่องและรู้ว่าต้องเติมอะไรบ้าง เติมอย่างไร ที่ทำงานมาตลอดยังไม่รู้วิธีการเติมเต็ม

ประเด็นที่สำคัญมากและต้องทำแน่ๆ คือ การเรียนรู้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด การทำงานอย่างมีขั้นตอนทำให้อยากเรียนรู้ไปเรื่อยๆ

 

ครูบุ๋ม (ตามมาเรียนรู้ในวันที่สาม) วันแรกที่มาได้เรียนรู้งาน KM กับครูใหม่ วันที่สองเรียนระบบ QA ระบบข้อสอบ SAT  การทำข้อสอบ PPT ด้วยการสัมภาษณ์ครูเต่า (เลขาฯ วิชาการ) เรื่องระบบการทำงานของเลขาฯ การจัดตารางให้กับผู้บริหารทำอย่างไรให้ง่าย

ช่วงบ่ายนี้ เข้าประชุมคณะวิจัยฯ ของโรงเรียน ที่มีวงทำงานร่วมกันกับผู้ปกครอง ได้เห็นวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีการแลกเปลี่ยนที่สนุกมาก ได้ความรู้และข้อคิดมากมาย ที่สำคัญคือเห็นแนวทางของโรงเรียนในการแก้ปัญหา

ที่อยากเรียนรู้เพิ่มคืออยากเรียนรู้ระบบการทำงานของเลขาฯ ให้มากขึ้น อยากเรียนรู้ระบบการคิดของครูปาดที่มีความเป็นเหตุเป็นผล และอยากเรียนรู้ KM กับครูใหม่ อยากอยู่เรียนรู้ต่ออีก

ที่จะกลับไปทำคือจะกลับไปเล่าให้พี่ๆ ที่โรงเรียนฟัง และหาโอกาสแลกเปลี่ยนกับครูทั้งโรงเรียน

 

 

หมายเลขบันทึก: 563072เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2014 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มีนาคม 2014 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท