ปันปัญญา (๓) : เรียนรู้จาก Open Class


ฝึกงานวันที่สาม (เหลืออีกแค่ ๒ วันเองหรือนี่)

 

เช้าวันนี้ฉันจะได้เข้าร่วมกิจกรรมการเปิดชั้นเรียนโดยครูผู้บุกเบิกการเปิดชั้นเรียนคนแรกของโรงเรียนเพลินพัฒนาเมื่อ ๓ ปีก่อน นั่นคือ พี่นุ่น ครูสาระวิชาคณิตศาสตร์

 

การเปิดชั้นเรียนแนวดิ่ง คือการเปิดชั้นเรียนที่คุณครูที่สอนในระดับชั้น ๑ – ชั้น ๖ ของหน่วยวิชาเดียวกันมาทำ Lesson Study ด้วยกัน

การเปิดชั้นเรียนแนวนอน คือ ครูที่สอนเฉพาะระดับชั้นนั้นของหน่วยวิชาเดียวกัน มาทำ Lesson study ด้วยกัน

 

Open Class วิชาคณิตศาสตร์ ชั้น ๕ ของครูนุ่น พรพิมล

ในการสังเกตการณ์สอนพี่นุ่น ดิฉันและครูบุ๋มได้มีโอกาสเข้าไปร่วมสังเกตวิธีการสอนครั้งนี้ เราแทบจะมองไม่เห็นสิ่งดีๆ ที่อยู่ตรงหน้าเลย พอพี่ปาดมากระซิบบอกเป็นระยะๆ ก็ทำให้ดวงตาเริ่มใส สามารถมองทะลุเข้าไปเห็นเทคนิคต่างๆที่น่าสนใจได้ตลอดทั้งคาบ

 

 

 

เทคนิคการสอน แบบ Open Approach

๑.     ครูจะไม่สอนแต่ถามคำถาม กระตุ้นให้เด็กตอบ คิด ยกมือขึ้นตอบแล้วอธิบายเหตุผล โดยไม่ให้ตอบพร้อมกันหมด แต่ให้ยืนแสดงตัว ฝึกการเป็นผู้พูดและผู้ฟังที่ดี

๒.    ครูใจเย็น รอให้เด็กพยายามพูดให้ได้ ในการอธิบายตำแหน่งต่างๆ โดยไม่ออกไปชี้บนกระดาน

๓.    ครูจะเอาโจทย์ความไม่รู้ มาให้เด็กเรียนรู้ที่ยากขึ้นเรื่อยๆ เป็นลำดับ โดยไม่ข้ามกระโดดไปยากเลย เมื่อทำแบบนี้ ยากแค่ไหน ศักยภาพของเขาก็สามารถไปถึง

๔.    ครูเพิ่มเวลาให้เด็กคิดเยอะขึ้นด้วยการแจกโจทย์แผ่นเล็กๆให้เด็กติดบนสมุดแล้วเขียนด้านล่าง

๕.    เวลาที่เด็กเริ่มทำโจทย์ ครูจะเดินดูทั่วๆ เพื่อมองว่าใครที่ต้องเข้าไปช่วย และประเมิน จัดกลุ่มประเภทความคิดของเด็ก จากง่ายไปยาก (ความคิดของเด็กมีกี่แบบ ลำดับยากง่าย เพื่อจะได้เลือกเด็กให้นำเสนอวิธีคิดให้เพื่อนๆร่วมเรียนรู้ จากง่ายไปหายาก เด็กๆก็จะได้ฝึกคิดไปพร้อมๆกัน เพราะเขามีวิธีคิดที่หลากหลาย)

๖.     ครูให้เด็กๆ อธิบายเหตุผล (สิ่งสำคัญของคณิตศาสตร์) พร้อมช่วยกันเช็คว่าถูกต้องไหม โดยที่ครูไม่ได้ตัดสินถูกผิดเลย

๗.    ครูจะเขียนตามที่เด็กบอกและถามเช็คเรื่อยๆ ให้ไปในทิศทางที่เหมาะสมที่สุด พร้อมทั้งจัดแยกคำตอบ แล้วให้เด็กเดาว่าทำไมจึงเขียนแยกเป็นกลุ่มแบบนี้ เมื่อนั้นเด็กก็จะตกหลุมพรางโดยที่ครูไม่ได้สอน

๘.    เมื่อเด็กยกมือตอบหลายคน ครูจะขอให้คนที่ไม่ค่อยตอบได้ตอบก่อน

๙.    เมื่อเปิดฉากโจทย์ใหม่ ครูจะให้เด็กเดาคำตอบ และช่วยครูหาเหตุผลพิสูจน์คำตอบนั้น

๑๐.   ท้ายคาบ – ครูขยายกระดานออกมาเชื่อมต่อกันให้เห็นทั้งหมด แล้วบอกให้บันทึกความรู้ส่วนที่สำคัญไว้ในสมุด และเตือนในส่วนที่คิดว่าเขาจะลืมรายละเอียดใดไป

 

ปฏิกิริยาของนักเรียน

 

 

๑.    กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างมั่นใจและสามารถอธิบายเหตุผลเพิ่มเติมได้ โดยไม่กลัวถูกผิด หรือขายหน้า

๒.    เด็กไม่รู้สึกว่า คณิตศาสตร์ เป็นยาขม แต่สนุกกับการเรียนที่ไม่ต้องท่องสูตรแล้วทำโจทย์ รับความรู้จากครูมาจำๆๆ หรือบางคนช่างตอบแต่บางคนถูกลืม แต่ห้องเรียนนี้ เขาได้เรียนรู้ไปด้วยกันอย่างทั่วถึง

๓.    เด็กๆ ไม่ง่วงหลับ เบื่อ แอบเล่น ขอไปทานข้าว (คาบก่อนเที่ยง) ทั้งๆที่ครูไม่ได้ตลก เฮฮา ยิ้มตลอด หรือกระตุ้นให้สนุกตลอดเวลา

๔.   เด็กได้ลองหาคำตอบด้วยตัวเองจากโจทย์ที่ครูถาม เมื่อยังไม่ถูกต้อง ครูก็โยนคำถามกลับไปทบทวนอีกรอบ

๕.   เด็กกล้าคิดแบบหลากหลายไม่ซ้ำกัน ไม่มีใครลอกใคร

 

ประโยชน์ของกระดานเลื่อนได้

 

๑.    แผ่นด้านข้าง สามารถเลื่อนมาตรงกลางก่อนได้ เพื่อให้เด็กมองเห็นได้ชัดทั้งห้อง เมื่อเขียนเสร็จก็เลื่อนกลับไปมุมสุดได้

๒.    เมื่อสอนเสร็จ เด็กๆจะได้มองภาพรวมความรู้ที่เรียนทั้งคาบ เป็นการเชื่อมโยงความรู้ สมองพัฒนาได้ดี

 

*เกร็ดความรู้ *

 

กระดาน KM : ถอดความรู้ของเด็กออกมาแล้วสะท้อนกลับ เพื่อเก็บเป็นองค์ความรู้ ซึ่งแตกต่างจากกระดานสมัยก่อนที่กระดาน จะเป็นความรู้ของครู แต่นี่เด็กมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกระดานความรู้นี้

 

กระดานที่ดี : คือกระดานที่ไม่ลบเลย เพื่อให้เด็กเห็นการเรียนรู้อย่างเป็นลำดับ เชื่อมโยงความรู้ได้ เมื่อเด็กเห็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งหมดครั้งเดียว สมองจะทำงานเป็น holistic (เห็นองค์รวมของความรู้ทั้งหมด) ฉะนั้นจึงต้องคิดแผนไว้ก่อน

 

การเรียนที่ลึกซึ้ง : เกิดบนคลื่นสมองเกือบต่ำ เก็บเป็น long term memory พวกที่คลื่นสมองสูง ที่มีกิจกรรมสนุกสนานเฮฮาจะถูกเก็บความรู้ไว้ใน short term memory 

 

การสอนแบบไม่สอน (ที่ใช้โจทย์พาคิด)

  • ต้องสัมพันธ์กับความรู้และความสามารถเดิม
  • มีความยากที่พอดีกับเด็ก หากยากไปเด็กก็รู้สึกล้มเหลว ง่ายไปก็ไม่เกิดประโยชน์

 

เคล็ดลับในแต่ละขั้นการเรียนรู้

  • ขั้นแนะนำ สร้างแรงบันดาลใจ อาจใช้โจทย์เดิมที่ยังทำได้ไม่สมบูรณ์มาเป็นขั้นนำ / ใช้โจทย์ย่อยเพื่อเป็นบันไดไปสู่การทำโจทย์ขั้นที่ ๒ / ใช้โจทย์ลับสมอง / ใช้กิจกรรมฝึกสติ สมาธิ แบบเคลื่อนไหว ฯลฯ
  • ขั้นทำความเข้าใจโจทย์ ต้องทำความเข้าใจทั้งในส่วนของความหมาย สัญลักษณ์ และเป้าหมายของงาน
  • ขั้นทำโจทย์ ผู้เรียนได้สร้างความรู้ด้วยตัวเอง ด้วยการนำเอาความรู้ความสามารถเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด ไปเผชิญกับความไม่รู้ จนเกิดเป็นความรู้ใหม่
  • ขั้นยกระดับความรู้ เป็นขั้นที่ชั้นเรียนเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจนนักเรียนทั้งห้องเกิดการยกระดับความรู้ความเข้าใจใหม่ (ขั้นนี้ไปถึงได้ในบางครั้ง)
  • ขั้น AAR ใช้โจทย์ถามให้สะท้อนในห้อง อาจใช้คำถามว่า วันนี้รู้สึกอย่างไร / วันนี้เรียนรู้อะไรบ้าง / สิ่งที่เรียนรู้ในวันนี้ เชื่อมโยงกับความรู้อะไร / นำไปใช้ทำอะไรได้

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 562739เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2014 17:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2014 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท