ตั้งคำถาม


ตั้งคำถาม

การตั้งคำถามอาจจะเป็นกิริยาก็ได้ เป็นการครุ่นคิดคำนึงก็ได้ และสามารถเป็นการ "ภาวนา" ที่ดีมาก

ชีวิตที่เต็มไปด้วยคำตอบสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง อาจจะทำให้เกิดความสบายใจ วางใจ และสันติในใจ แต่มนุษย์ถูกออกแบบมาให้อยากรู้อยากเห็น ขี้สงสัย และเรื่องราวที่เราอยากจะรู้ อยากจะเข้าใจนั้นมากเหลือเกิน จนเป็นไปได้ยากมากที่เราจะเข้าใจไปหมดทุกเรื่อง การ "เข้าใจผิด" ก็นำไปสู่การตั้งสมมติฐานที่ผิดๆให้แก่ชีวิต ตั้งสมมติฐานผิด ก็มีเข็มทิศที่บอกทิศผิด การเดินทางก็จะยิ่งเดินห่างจากวิถีที่ต้องการไปเรื่อยๆ

@ การตั้งคำถาม เริ่มจากการ "รู้สึกสะกิด"
ตั้งคำถามนั้นมาจากมี "อะไร" เสมอ สะกิดใจ สะกิดความคิด การถูกสะกิดได้นี่เป็นคุณสมบัติสำคัญของมนุษย์ เมื่อไรก็ตามที่เราไม่รับรู้ว่ากำลังถูกสะกิด เราจะไม่เคย "หยุด" มานั่งพิจารณาใคร่ครวญอะไรเลย เดี๋ยวนี้มีเรื่อง R2R (Routine to Research) หรือการเปลี่ยนงานประจำเป็นงานวิจัย จะทำได้ก็ตรงพัฒนาต่อมสะกิดได้นี่เอง

@ การตั้งคำถาม เริ่มจากการ "ช้าลง"
ทำอะไรที่เป็น routine ไปนานๆ มันจะเหมือนขับรถเกียร์ออโต้ เผลอๆใส่ cruise control หลับหูหลับตาวิ่งไป มันจะเร็วเกินไปจนเรามองไม่เห็นถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆเกิดขึ้น การช้าลงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเห็นสิ่งต่างๆให้ละเอียดขึ้น มองเห็นโยงใยของสิ่งที่ตอนแรกอาจจะดูเหมือนไม่เกี่ยวกัน แท้ที่จริงแล้วมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก

@ การตั้งคำถาม เริ่มจากการ "เชื่อมความสัมพันธ์เรื่องราว"
มีขั้นตอนการเติบโตของ data ไปเป็น information ไปเป็น knowledge และสุดท้ายเป็น wisdom เงื่อนไขที่จะ upgrade จากข้อมูลธรรมดาๆไปเป็น information ก็คือการเกิด "คำถาม" จากข้อมูลหลายๆด้านสร้างเป็นเรื่องราว ความสัมพันธ์ได้ มีอันนี้ทำให้เกิดอันนี้ ยับยั้งอันโน้น ทำลายอันนั้น ก่อให้เกิดอันนู้น ฯลฯ ชีวิตมนุษย์และสรรพสิ่งที่เป็น holistic หรือองค์รวมเกิดจากการเห็นความสัมพันธ์เหล่านี้ การเขียนสมการ หรือตั้งสมมติฐานที่บกพร่องเรื่องการมองเห็นความสัมพันธ์ ก็จะได้สมการที่ไม่สมบูรณ์ นำไปสู่คำตอบที่ผิดพลาด นำไปสู่การวางแผนที่ผิดพลาด ยิ่งขาดการเชื่อมโยงสิ่งที่สำคัญมากๆไปเท่าไหร่ สมการของเราก็ยิ่งบกพร่องมากขึ้นเท่านั้น

@ การตั้งคำถาม เป็นการ set ชีวิตให้เกิดความไม่ประมาท
โดยเฉพาะในเรื่องที่เรามั่นใจว่ามีคำตอบหมดทุกอย่างแล้ว อันเป็นที่มาของการหลงระเริงในความมั่นใจ (ผิดๆ) นั้น ตัดสินใจก็จะพลาด และนำมาซึ่งเหตุการณ์แห่งความประหลาดใจ กับสิ่งที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากความคาดหมาย เพราะ ความประหลาดใจ (surprise) นั้นแปรโดยตรงกับความมั่นใจ (confidence) ยื่งมั่นใจมากเท่าไหร่ ดีกรีความประหลาดใจยิ่งมากเท่านั้น ชีวิตที่ชอบตั้งคำถามบ่อยๆ ย้ำเตือนตัวเองบ่อยๆว่ายังมีคำตอบไม่หมดทุกอย่าง จะประหลาดใจน้อยครั้ง และน้อยกว่าชีวิตที่คิดว่ามีคำตอบทั้งหมด

การตั้งคำถามเป็นคุณสมบัติจำเป็นที่เราจะอยู่กับความไม่แน่นอนของชีวิต และถ้าหากความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด ทักษะเรื่องนี้สำคัญมากที่จะทำให้เราฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ เช่น
# ณ ที่เรากำลังเดินๆอยู่นี้ ดูเหมือนจะปลอดภัย แต่จริงๆแล้วมีใครเล็งปืนกลใส่หัวเราอยู่หรือไม่
# อาชีพของเราทุกวันนี้มั่นคง ใครจะเป็นรัฐบงรัฐบาล ยังไงๆเราก็ไม่เกี่ยว ไม่กระทบ จริงหรือไม่?
# สิ่งที่เรากระทำ/ไม่กระทำทุกวันนี้ เราสามารถจะบอกกับตัวเองในอนาคตได้ว่า เราทำดีที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรที่เราควรจะทำแต่ไม่ได้กระทำ หรือไม่?
# ถ้าหากลูกของเรา หลานของเรา เป็นผลไม้ที่เราเป็นคนปลูก ดูแล รดน้ำ ประคบประหงม เรามั่นใจว่าเราได้ให้ปุ๋ย ให้ภูมิคุ้มกัน ให้ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อที่จะเตรียมความพร้อมในชีวิตอนาคตของเขาแล้วหรือ ไม่?
# ตลอดเวลาที่เราได้ "ทิ้งร่องรอย" ชีวิตของเราในช่วงเวลาสั้นๆบนโลกนี้ ว่าเราได้เคยเดินไป เดินมา บนโลกนี้ ร่องรอยของเราจะฝากอะไรเอาไว้บ้าง? คนรุ่นหลังที่เห็นร่องรอยเหล่านั้นของเราจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง? จะพูดถึงเรื่องของเราอย่างไร? จะเรียนรู้อะไรจากร่องรอยเหล่านั้น?

เหล่านี้เป็นต้น

สกล สิงหะ
เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล รพ.สงขลานครินทร์
๑๑ นาฬิกา ๑๖ นาที วันพุธที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเส็ง สิริอายุ ๔๙ ปี ๑ วัน

คำสำคัญ (Tags): #ตั้งคำถาม
หมายเลขบันทึก: 562156เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2014 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2014 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท