"ไตรกรรม ที่ซ้ำซาก"


         

                                                  "ประเทศไท"                                                               

                  จากเหตุการณ์ด้านการเมืองตั้งแต่ปี ๔๔ --> ปีปัจจุบัน อบอวนไปด้วยการคิดร้าย เชื่อชั่ว รู้สึกร้าย กล่าวร้าย ว่าร้าย ทำร้าย แสดงร้ายด้วยอาวุธโจมตีกัน  ใช้สื่อเสี้ยมความเกลียดชังต่อกัน ...จนทำให้สังคมไทยไม่มีความสงบ ๑๒ ปี ที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะเหมือนสงครามน้ำลาย จนกลายเป็นสังคมสงคราม... ในเมืองกรุง ทำให้บ้านเมืองขาดความสงบ มีแต่การชุมนุมประท้วงกันตลอดเวลา

                  ประชาชนในกรุงอยู่ด้วยความเดือดร้อน.. หวาดระแวงกันในการเดินทางไปไหนมาไหน..การพูดคุยหาข้อยุติยากเพราะต่างฝ่ายอ้างสี อ้างฝ่ายของตนจนสุดโต่ง..จนอาจนำไปสู่การทะเลาะวิวาทกัน จนกลายเป็นการทำร้ายกัน แม้แต่การขึ้นรถแท็กซี่ก็ทะเลาะเรื่องสีกับโชเฟอร์ ทำให้วิถีชีวิตคนเมืองอยู่ด้วยด้วยความหวาดหวั่นว่า อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง

                   มองภาพรวมทั่วไป ประชาชนได้โอกาสแสดงความชั่ว ไม่เกรงกลัวเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เช่น วัยรุ่นเยาวชน ถือโอกาสชาติอ่อนแอแสดงความกล้าในฐานะคนพาล (อ่อนแอ) จี้ปล้น ขนยา ข่มขืน ลักขโมย ซิ่งรถ ฯ มีคดีมากมายเพิ่มขี้น จนประชาชนหวาดกลัวอยู่ทั้งวัน ทัังคืน... ไม่ปลอดภัย ประชาชนก็กล้าท้าทายต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เริ่มไม่เคารพกฎหมาย กล้าตอบโต้รัฐ ประท้วงรัฐ ด่ารัฐ เป็นอริยขัดขืน

                  ด้านการเมืองเกิดการแบ่งแยก แตกขั้ว แบ่งกลุ่มสี ทำให้รัฐบาลถูกตอบโต้จากฝ่ายค้าน ที่แพ้ในสภา กลับมาท้ากรรัฐในฐานะสภาประชาชน ทำให้เกิดการประท้วงอยู่ทุกที่ พูดคุยกันไม่มีรู้เรื่อง... ส่งผลกระทบต่อการเมืองท้องถิ่น การซื้อเสียงเข้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อบจ. อบต. เป็นรายตัว เมื่อประชาชนแข็งข้อต่อรัฐ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ...รัฐถูกท้าทายจากประชาชน ทุกโครงการ กระนั้น รัฐยังใช้ประชานิยมหรือเสนอให้รางวัลประชาชน เพื่อลดแรงกดดันต่อรัฐ แต่ประชาชนไม่ได้โง่ต่อไปอีกแล้ว

                 ในขณะเดียวกัน เหตุการณ์ภาคใต้ก็ซ้ำเดิมชาวบ้าน ครู บุคคลในศาสนา อยู่ต่อเนื่อง ทำให้ชีวิตถูกฆ่าตายไปมากมาย ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐ และก่อความหวาดกลัวต่อประชาชนและรัฐอย่างท้าทายต่อกฎหมายบ้านเมือง จนทำให้ภาคใต้ของไทย ไม่ค่อยมีใครกล้าลงไปเหยียบย่างหรือเอาชีวิตไปเสี่ยง ๑๐ กว่าปี... ที่เหตุการณ์เช่นนี้ดำเนินมา แต่รัฐได้แก้ปัญหาระยะยาวอย่างไร เกิดประสบกาณ์ในการแก้ไขปัญหาหรือไม่หรือยังดำเนินไปอย่างซ้ำซากอยู่

                  คนไทย โดยเฉพาะคนกรุง ได้รับความเดือดร้อนในการประท้วงรัฐของมวลชน จากการท้าทายหรือแสดงพลังขัดขืนรัฐ จนรัฐเองเกิดความอ่อนแอ และเกิดอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จากการชุมนุม จนนำไปสู่การสร้างกลุ่มขัดแย้งกับรัฐโดยตรง ที่เห็นกันอยู่ และที่ปักหลักการชุมนุมและขยายความขัดขืนไปสู่องค์กรต่างๆ กระทรวง ธนาคาร มหาวิทยาลัย... จนถึงที่ทำงานทำเนียบรัฐบาล กลายเป็นว่า บ้านเมืองไร้ขื่อ ไร้แป และประชาชนเริ่มมีอิสระ ที่จะโค่นรัฐล้มรัฐได้

                      

                  สิ่งที่เกิดภาพพจน์ต่อประเทศชาติคือ... ภาพข่าว ที่เป็นรูปธรรม เหตุการณ์ต่างๆ ..ที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่รายงานข่าว การประท้วงในไทย ทำให้มีภาพลักษณ์ว่า ประเทศไทยมีความรุนแรงและมีแต่ความเดือดร้อน วุ่นวาย ที่เกิดการทะเลาะ การฆ่าประหัตประหารกัน จนอาจนำไปสู่การรัฐประหารได้ ...ทำให้เกิดภาพประเทศไทยน่ากลัว เป็นเมืองเถื่อน เมืองไม่น่าเดินทางไปเที่ยว

                   มองในแง่โลกทัศน์ ปรากฏการณ์เหล่านี้ มีขึ้นอยู่ทุกมุมของโลก ทำให้สะท้อนให้เห็นว่า การเมือง การปกครอง ในปัจจุบัน แตกต่างจากอดีตอยู่มาก ...ที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพโดดเด่นและมีพลังอำนาจในการตอบโต้และท้าทายรัฐได้ หากรัฐใช้ระบบการปกครองแบบเล่นพรรค เล่นพวกหรือเพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจรัฐเอง... ที่เห็นชัดเจนและน่ากลัวในปรากฏการณ์เหล่านี้คือ ประชาชนใช้พลังหมู่มาก กดดันรัฐ และประท้วงด้วยความรุนแรงหรือทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ... ถึงขั้นสร้างกองกำลังซุ่มโจมตีกัน จนเกิดความเสียหายทั้งสองฝ่ายและทั้งประเทศ

                  สำหรับประเทศไทย ในสายตาเมืองนอก จะถูกมองว่า เป็นเมืองพุทธศาสนา ที่มีกลิ่นไอความงามด้านจิตรกรรม จิตใจ น้ำใจ มิตรภาพ ปฏิมากรรม มีวัด มีวัง มีวัฒนธรรมและอารยธรรมเฉพาะที่ดีงามอยู่ ...จนเมื่ออยู่ด้วยรู้สึกอบอุ่นและรู้สึกเป็นมิตรกับคนไทย แต่นั้นเป็นภาพอดีต ที่ค่อยๆ เลือนหายไป เพราะอิทธิพลของการเมือง การชุมนุม การประท้วง การฆ่ากันมาในช่วง ๑๐ กว่าปีมานี้ แม้แต่สถานการณ์ในทางศาสนาเองก็เปลี่ยนแปลงไปมากเช่นกัน ...ทำให้ต้องคิดใหม่และทบทวนกระบวนการใหม่ทั้งบ้านเมืองและศาสนา

                  อย่างไรก็ตาม หลักการในศาสนาก็ยังคงอยู่ ยังท้าทายต่อปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงไปตามกฎไตรลักษณ์อย่างแท้จริง ...เมื่อมองภาพทั้งหมด ..สามารถสรุปรวมอยู่ในกฎของการกระทำ ๓ กรรม คือ "ใจ -->วาจา -->และกาย"

                  ในหลักการพุทธศาสนา มักจะสอนกันตามลำดับว่า พฤติกรรมของสัตว์โลก แสดงออก ๓ ทางคือ กาย--> วาจา---> และใจ หมายความว่า การกระทำในเบื้องต้นเกิดจากกายกรรม เช่น จากการแสดงออกของมือ เท้า ลำตัว เพื่อทำร้ายคนอื่นด้วยเจตนารา้ย จากนั้นแสดงออกด้วยการสื่อสารเช่น การใช้ภาษาสื่อสาร ด้วยภาษาพูด ภาษาอวัจนะ หรือภาษาสัญลักษณ์ ที่ออกมาจากเจตจำนง จากนั้นก็แสดงออกมาด้วยจิตใจ ที่แสดงออกมาผ่าน อาการทางสีหน้า อารมณ์ ภาษา หรือกายกรรม

                  แต่รูปแบบใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงไป หลักการเหมือนเดิม วิธีการคิด วิธีอธิบายควรจะเป็นแบบใหม่ กล่าวคือ หลักการเรื่อง "ไตรกรรม" คือ การแสดงออก ๓ ทาง ควรเรียงตามนี้

                 พฤติกรรมของสัตว์โลก (มนุษย์ผู้ใหญ่) ต้องเกิดมาจาก "จิตใจ" ก่อน เพราะกระบวนการของการกระทำย่อมเกิดจากตัวตนภายใน ที่เกิดมาจากการตกผลึกจากโลกข้อมูล ที่สะสมมาไว้ในสมอง จนกลั่นกรองออกมาเป็นความรู้สึก นึกคิด จนกลายเป็นอัตตาตัวตนที่เรียกว่า "เอกัตตะ" จึงแสดงผ่านภาษาหรือวาจา ที่ต้องใช้ภาษาในการสะท้อนความใน ที่จะโต้สิ่งภายนอก ด้วยภาษาของสังคม ที่มนุษย์สื่อออกมาด้วยเจตจำนงหรือเป็นแค่วาทกรรม อำพรางกันแน่ เมื่อเจตจำนงเข้มข้นในเรื่องใด เรื่องหนึ่ง จึงสื่อออกมาด้วยอารมณ์รุนแรงหรือเคียดแค้นหรือด้วยเมตตา ภาษาธรรม ในบริบทของจิตที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม

                 ดังนั้น การสื่อสารของมนุษย์ด้วยหลักการที่ว่า จิตที่เปี่ยมด้วยข้อมูลของสมอง ที่อบอาบด้วยคุณธรรม หรือพยาบาท แค้นเคียดเกลียดชัง ก็จะสื่อด้วยภาษาที่เข้มข้นรุนแรง ด้วยภาษาหยาบคาย ร้ายแรง เกิดเป็นสงครามภาษา จิตวิทยา ท้าทายกันเหมือนดั่งในกลุ่มประท้วงนั่นแหละ ที่สุดก็สุกงอมไปสู่การลงมือ ลงเท้า ลงลำตัว ผสมผสานทั้งจิตใจและภาษา กอปรแรงของกาย ที่ใช้เครื่องทุ่นแรงห้ำหั่น ฟันแทง ยิงกัน ด้วยอาวุธต่างๆ จนครบองค์สามคือ ใจ วาจาและกาย บริบูรณ์

                   ผลการแสดงออกเช่นนี้ ส่งผลต่อตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อม ประเทศชาติ และภาพพจน์ในที่สุด ทางแก้เหมือนกับเหรียญอีกด้าน คือ การกระทำด้านบวก กล่าวคือ คิด รู้สึก เชื่อในสิ่งที่ดีงาม พูดสื่อสาร ด้วยภาษาที่อ่อนหวาน เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม และการกระทำที่อ่อนโยน ด้วยความเมตตา การุณต่อกันอย่างจริงใจ และปรารถนาดีต่อกัน เรียกว่า "ไตรสุกรรม"

                  อย่างไรก็ตาม นี่คือ บทความที่กล่าวในเชิงบวก แต่ปรากฏการณ์ของโลกมนุษย์ ไม่สอดคล้องกับหลักการที่กล่าวนี้เลย ยากที่จะมีผู้เห็นคล้อยหรือยอมรับ นอกจากคิดใหม่ แบบตาถึงตา ฟันถึงฟัน แล้วตอนนั้นธรรมจะมีค่าอย่างไรกัน นอกจากการเห็นชีวิตคนอื่นเป็นเหมือนเกมไล่ล่า เป็นสัตว์ เป็นปลาฆ่าแกงกันละครับคนไทย

 

                                                

                                                 ---------------<>-----------------

คำสำคัญ (Tags): #ไตรกรรม
หมายเลขบันทึก: 562150เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2014 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2014 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เพื่อลูกหลานชาวไทย บรรพบุรุษได้เสียเลือดเนื่้อเพื่อมีประเทศตั้งแต่สมัยสุโขทัย

การกระทำบ้างอย่างหากดูเพียงแค่การเมือง

เป็นประเด็นก็จะตรงไปที่คนไทยทั้งประเทศ

ไม่เพียงแค่ลูกหลาน แต่มันคือความเห็นแก่ตัว

ของคนที่มีอำนาจ แต่ขาดการใช้อำนาจที่

ถูกธรรม แต่เป็นไปเพื่อความถูกกลุ่มเป้าหมาย

ปัญหาที่พบเห็นจึงเป็นปัญหาลอยนวล

เพราะคนที่แก้ปัญหา คือคนทำปัญหา แต่

คนที่ไม่แก้ปัญหา กลับซ้ำเติมปัญหา แล้วมอง

ว่าลูกหลายเป็นเรื่องสำคัญมันก็ยากที่จะปฏิเสธ

แต่หากมองเหตุแห่งความจริง คนที่มีกินเขาก็

ไม่เดือดร้อน แต่คนที่ทำกินล่ะ เขาจะตอบอย่างไร

กับปัญหาที่ คาใจ จนทำมาค้าลง ลูกหลานที่

เกิดมาเป็นเงินเป็นทองก็ไม่เท่าไหร แต่ลูกหลาน

ที่ทำการงานอย่างติดๆขัดๆ จะให้เขาอมทุกข์

กับสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหานานแค่ไหน?

จะต้องทนดูตำรวจถูกย่ำยี กดขี่ ตายลงวันละคนสองคนไปอีกนานเท่าใด ขอภาวนาให้ คืนพื้นที่สำเร็จ ในสัปดาห์นี้ตาม

เป้าหมาย และรวบคนร้ายเข้าคุกให้ได้ทุกคน ตำรวจไทยเก่งอยู่แล้ว ออมมือทำไม

เพลียใจกับข่าว

เพลียใจกับความคิดของคนที่รักความรุนแรง

น่าจะมีทางออกที่ดีกว่ากันคิดจะทำลายกันค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท