อภิปรายผล


อภิปรายผล

1. การบริหารตามแนวทางรางวัลคุณภาพแห่งชาติของโรงเรียนมาตรฐานสากล มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ทั้งนี้อาจเป็นเพราะโรงเรียนได้สร้างความตระหนักและชี้แจงแนวทางการพัฒนาโรงเรียนสู่ความเป็นมาตรฐานสากล ให้แก่ครู บุคลากร และผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบอย่างทั่วถึง มีการร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ และค่านิยม รวมทั้งภารกิจหลักของโรงเรียนในการพัฒนาและยกระดับสู่โรงเรียนมาตรฐานสากล  การถ่ายทอดข้อมูลสำคัญไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ครูและบุคลากรมีความเข้าใจในทิศทางการดำเนินงานไปในแนวทางเดียวกัน โดยมุ่งเน้นให้เกิดผลที่ผู้เรียนที่ต้องมีคุณลักษณะตามเกณฑ์มาตรฐานสากล (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2553) สอดคล้องกับวิลัยพรณ์ เสรีวัฒน์ (2555) ได้ทำการวิจัย การประเมินเชิงระบบโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล พบว่า การปฏิบัติตามแนวทางนโยบายการพัฒนาโรงเรียนสู่มาตรฐานสากล มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ด้านการปฏิบัติตามองค์ประกอบการบริหารคุณภาพ 7 หมวด มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก เช่นเดียวกับดิเรก วรรณเศียร, ประสิทธิ์ เขียวศรี, นพรุจ ศักดิ์ศิริ (2553) ได้ทำการวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาโรงเรียนมาตรฐานสากล พบว่า ด้านสภาพการบริหารโรงเรียนมาตรฐานสากล โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก

2. การเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 4 จังหวัดปทุมธานี โดยภาพรวมมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนมีความรู้ความเข้าใจในแนวทางและเป้าหมายการดำเนินงานของโรงเรียนมาตรฐานสากล การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะเป็นพลโลก มีการพัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนเทียบเคียงมาตรฐานสากล (World - Class StandardCurriculum and Instruction) โดยการขับเคลื่อนตามหลักการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพของฝ่ายบริหาร ครูและบุคลากร ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2553) ส่งผลให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะตามเกณฑ์ คือ เป็นเลิศวิชาการ (Smart)สื่อสาร 2 ภาษา (Communicator) ล้ำหน้าทางความคิด (Thinker)ผลิตงานอย่างสร้างสรรค์ (Innovator) และร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมโลก (Global Citizenship)และมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ซึ่งสอดคล้องกับวิลัยพรณ์ เสรีวัฒน์ (2555) ได้ทำการวิจัยการประเมินเชิงระบบโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล พบว่า ด้านการจัดการเรียนการสอนเทียบเคียงมาตรฐานสากล มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด ด้านผลผลิต พบว่า ผู้เรียนโรงเรียนมาตรฐานสากล มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ อยู่ในระดับมาก เช่นเดียวกับปรารถนา หยกสตาร์ และคณะ (2554) ได้ทำการศึกษาระดับความพึงพอใจการจัดการศึกษาโรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนตะกั่วป่า “เสนานุกูล” ปีการศึกษา 2554 พบว่า ด้านคุณลักษณะผู้เรียน โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก และโรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม (2554) ได้ทำการศึกษาระดับความพึงพอใจสภาพการดำเนินงานในโครงการมาตรฐานสากลของโรงเรียน พบว่า ด้านคุณลักษณะผู้เรียน โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก

3. การบริหารตามแนวทางรางวัลคุณภาพแห่งชาติมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนมาตรฐานสากล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการบริหารตามแนวทางรางวัลคุณภาพแห่งชาติมีความสอดคล้องกับบทบาทภารกิจและการดำเนินงานของโรงเรียน และเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ มีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้โรงเรียนได้ประเมินตนเอง เห็นโอกาสในการปรับปรุง วิธีการดำเนินการ ขีดความสามารถ โดยมุ่งเน้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2553) จึงทำให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะตามเกณฑ์ของโรงเรียนมาตรฐานสากล สอดคล้องกับรังสรรค์ นกสกุล, บุญเรือง ศรีเหรัญ และจุไร โชคประสิทธิ์ (2555) ได้ทำการวิจัย การพัฒนารูปแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุขององค์ประกอบที่ส่งผลต่อการบริหารงานโรงเรียนมาตรฐานสากล พบว่า องค์กรแห่งการเรียนรู้ มีความสอดคล้องและสัมพันธ์กับการบริหารระบบคุณภาพตามเกณฑ์รางวัล และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2553) ได้อธิบายไว้ว่า เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเป็นระบบการบริหารจัดการที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบที่จะพัฒนาโรงเรียนให้มีผลการดำเนินการที่เป็นเลิศ และสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2553) เช่นเดียวกับแนวคิดสุพรรณี สมบุญธรรม (ออนไลน์, 2555) ที่สรุปว่าการนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาใช้ในการทำ Self Assessment ทำให้สามารถเสริมจุดเด่น และค้นพบโอกาสในการปรับปรุง และพัฒนชัย กุลสิริสวัสดิ์ (2551) ได้สรุปว่า เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเป็นข้อสอบ เพื่อประเมินตนเอง และพบโอกาสในการเรียนรู้ เช่นเดียวกับ มินนาร์ (Minnar, 1998) ได้ทำการวิจัยเรื่อง ระบบพื้นฐานการศึกษาสำหรับการรับรองคุณภาพต่อมหาวิทยาลัยในแอฟริกาใต้ พบว่า การรับรองคุณภาพในมหาวิทยาลัยกลายเป็นสิ่งที่แพร่หลายไปทั่วโลก รวมทั้งแอฟริกาใต้ด้วย

4. การบริหารตามแนวทางรางวัลคุณภาพแห่งชาติส่งผลต่อการเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  โดยพบว่า ตัวแปรที่ส่งผลต่อ มีจำนวน 4 ตัวแปร คือ ด้านการวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ ด้านผลลัพธ์ ด้านการนำองค์กร และด้านการจัดการกระบวนการ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะโรงเรียนมาตรฐานสากล ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 4 จังหวัดปทุมธานี ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพ โดยยึดหลักการดำเนินงานเชิงระบบจากแนวคิดและค่านิยมหลัก 11 ประการ และเป็นกรอบเกณฑ์เพื่อการดำเนินงานที่เป็นเลิศของระบบบริหารคุณภาพ 7 หมวด ตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2553) สอดคล้องกับรังสรรค์ นกสกุล, บุญเรือง ศรีเหรัญ และจุไร โชคประสิทธิ์ (2555) ได้ทำการวิจัย การพัฒนารูปแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุขององค์ประกอบที่ส่งผลต่อการบริหารงานโรงเรียนมาตรฐานสากล พบว่า การบริหารระบบคุณภาพและการจัดการเรียนการสอนเทียบเคียงมาตรฐานสากลมีผลทางตรงต่อการบริหารงานโรงเรียนมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับงานวิจัยมานะ สินธุวงษานนท์ (2550)พบว่ากระบวนการบริหารคุณภาพส่งผลต่อคุณภาพในทางบวก เช่นเดียวกับออสบอร์น (Osborne, 1998) ได้ทำการวิจัย พบว่า การคิดเชิงระบบเป็นองค์ประกอบที่กำหนดความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และเดทท์มานน์ (Dettmann, 2004)  ได้ทำการวิจัยพบว่ามุมมองในเชิงบวกที่มีต่อการนำเครื่องมือเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปใช้ คือ เป็นศูนย์กลางของความเป็นเลิศ เป็นความภาคภูมิใจของสมาชิกที่ร่วมดำเนินการ และเป็นเส้นทางไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (2556) ได้สรุปว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล คือ สร้างกรอบแห่งการปฏิบัติงานเพื่อความเป็นเลิศ ส่งเสริม สนับสนุน และจูงใจให้บุคลากรทุกระดับมีส่วนร่วมในการสร้างผลงานให้โรงเรียนและการพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศ

 

[บทคัดย่อ][ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา][วัตถุประสงค์ของการวิจัย][ระเบียบวิธีวิจัย][ผลการวิจัย][อภิปรายผล]
[ข้อเสนอแนะ] [บรรณานุกรม]

หมายเลขบันทึก: 561657เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2014 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2014 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท