ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา


ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

ประเทศไทยได้รับผลกระทบอันเกิดจากเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งระบบเศรษฐกิจฐานความรู้(Knowledge-based Economy) ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสื่อสาร สังคมโลกที่เกิดการลื่นไหลระหว่างวัฒนธรรมมากขึ้น วิกฤตการณ์ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ประกอบปัจจุบันมีการแข่งขันในด้านคุณภาพของการจัดการศึกษา ตลอดจนความจำเป็นของภาษาสากล ที่สร้างความได้เปรียบในการติดต่อสื่อสาร การเจรจาต่อรองในสังคมโลก ตลอดจนการประกอบอาชีพ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2553) นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยและติดตามผลการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ที่ผ่านมาประกอบกับข้อมูลจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาคนในสังคมไทย พบว่ายังไม่สามารถพัฒนาเยาวชนสู่ศตรวรรษที่ 21 จึงเกิดการทบทวนและนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2553) เพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดการศึกษาไทยให้พร้อมสำหรับการแข่งขันในเวทีโลกและในยุคศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งส่งเสริมผู้เรียนให้มีคุณธรรมบนพื้นฐานของความเป็นไทยควบคู่กับความเป็นสากล รักความเป็นไทย มีทักษะในการคิด มีทักษะในการแก้ปัญหา มีทักษะด้านเทคโนโลยี มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการสื่อสารและมีทักษะชีวิต  และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมโลกได้อย่างสันติ (สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2555)

อย่างไรก็ตาม ผลการติดตามการใช้หลักสูตรแกนกลางกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 พบว่า กระบวนการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เกิดคุณภาพตามเจตนารมณ์ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ (สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2555: 6)  และจากการศึกษาและวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของนานาประเทศ พบว่า หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนสาระการเรียนรู้มากกว่าการให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนด้านความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และไม่สะท้อนให้เห็นถึงการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนที่เชื่อมโยงกับการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมในเรื่องของภาษายุคดิจิทัล การฝึกทักษะความสามารถในการสื่อสารสองภาษาต่างประเทศ  การส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนมีการคิดประดิษฐ์และสร้างสรรค์งาน และสามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูง (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2553) โรงเรียนมาตรฐานสากล (World-Class Standard School : W-CSS) จึงเป็นนวัตกรรมการจัดการศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนำมาใช้เป็นมาตรการเร่งด่วนในการยก ระดับการจัดการศึกษาของไทยให้มีคุณภาพเทียบเท่าสากล โดยมุ่งหวังที่จะให้โรงเรียนได้พัฒนาต่อยอดคุณลักษณะของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะเป็นพลโลก เป็นเยาวชนไทยรุ่นใหม่เป็นผู้ที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ สามารถสื่อสารได้สองภาษา ล้ำหน้าในทางความคิด สามารถผลิตงานได้อย่างสร้างสรรค์ และมีจิตร่วมรับผิดชอบต่อสังคมโลก (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2553) โดยได้เริ่มดำเนินการนำร่องจำนวน 500 โรงเรียน ในปีการศึกษา 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพเป็นพลโลก (World Citizen) 2) ยกระดับการจัดการเรียนการสอนเทียบเคียงมาตรฐานสากล (World-Class Standard) และ 3) ยกระดับการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพ (Quality System Management) (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2553) โดยการดำเนินงานของโรงเรียนมาตรฐานสากลได้ประยุกต์แนวทางการดำเนินงานตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) มาพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการโรงเรียน ซึ่งถือว่าเป็นการบริหารอีกรูปแบบหนึ่งที่ช่วยให้โรงเรียนมีผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศ เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันทำให้เกิดคุณลักษณะต่อการจัดการเรียนการสอน อันจะส่งผลต่อผู้เรียนซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางของการจัดการศึกษา และการอิงแนวทางการดำเนินงานตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) เพื่อให้โรงเรียนมีวิธีปฏิบัติและผลการดำเนินการในระดับมาตรฐานโลก เนื่องจากเกณฑ์รางวัลมีพื้นฐานทางด้านเทคนิคและกระบวนการตัดสินรางวัลเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (The Malcolm Baldrige National Quality Award : MBNQA) ซึ่งเป็นต้นแบบรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่ประเทศต่าง ๆ หลายประเทศทั่วโลก (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2553)  

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 4 จังหวัดปทุมธานี มีโรงเรียนที่ได้รับการยกระดับเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล จำนวน 9 โรงเรียน และต้องมีการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโรงเรียนมาตรฐานสากล ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่ามีการศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าวน้อยมาก อีกทั้งโรงเรียนมาตรฐานสากลเป็นแนวคิดใหม่ในการบริหารจัดการศึกษาในประเทศไทย เพิ่งเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2553 ทั้งยังสอดรับกับพันธกิจและเป้าประสงค์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 4 ที่มุ่งสร้างโรงเรียนในสังกัดให้เป็นโรงเรียนชั้นดีที่มีการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพ จึงนับว่าเป็นรูปแบบการบริหารจัดการที่ผู้บริหารโรงเรียนและหน่วยงานต้นสังกัดได้ให้ความสนใจ  ซึ่งผลการวิจัยจะทำให้ได้ทราบข้อมูลที่จะนำไปสู่การยอมรับความร่วมมือและการเรียนรู้ของทุกคนในองค์กร เพื่อนำไปทบทวนผลการดำเนินงานและยกระดับคุณภาพของโรงเรียนให้ได้รับการยอมรับในระดับมาตรฐานโลก อันจะเกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติสูงสุดสืบไป

[บทคัดย่อ][ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา][วัตถุประสงค์ของการวิจัย][ระเบียบวิธีวิจัย][ผลการวิจัย][อภิปรายผล]
[ข้อเสนอแนะ] [บรรณานุกรม]

หมายเลขบันทึก: 561650เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2014 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2014 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท