การจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ : มติการพัฒนาสังคม คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา


         จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นภูมิภาคหนึ่งของประเทศไทย ที่มีลักษณะพิเศษ ที่ไม่เหมือนกับภูมิภาคอื่นๆของประเทศ ทั้งด้านลักษณะภูมิประเทศ อากาศ อาชีพ ภาษา ความเป็นอยู่และวัฒนธรรมประเพณี  แต่ด้วยความเป็นประเทศไทย ที่อยู่ภายใต้พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน จึงเป็นภูมิภาคหนึ่ง ที่รัฐเข้ามาจัดการบริหารแล้ว ต้องคำนึงถึงบริบทของพื้นที่ในการบริหารจัดการ เป็นประการสำคัญ

        นับไปในอดีต ประวัติศาสตร์คือร่องรอยของอารยธรรม ในเรื่องชาติพันธุ์ มนุษยวิทยา และสังคมศาสตร์ จะไม่ขออนุญาตมาวิเคราะห์ในเชิงวิชาการ แต่จะหยิบยก การพัฒนาการในปัจจุบันและทิศทางในการพัฒนาภูมิภาคนี้ในอนาคต เพื่อเป็นการเสนอแนวคิดในการพัฒนา ในมิติของการพัฒนาสังคม ในเชิงพหุวัฒนธรรม และใช้คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา เพื่อจะนำประเด็นในการพัฒนาวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รัฐที่เข้ามาจัดการจะได้มีส่วนร่วมกับประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการเดินไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและความสงบสุขที่สังคมต้องการ

        การจัดการศึกษา เป็นวงจรพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่วิเศษที่สุด ที่สังคมทุกภูมิภาคของโลกได้ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนในสังคม ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา และยังไม่เห็นว่ามีเครื่องมืออะไรที่จะดีไปกว่าการให้การศึกษาแก่คนในสังคม แล้วทำให้สังคมเกิดการเรียนรู้และอยู่ร่วมกันได้ดีที่สุด ประเทศต่างๆทั่วโลกต่างทุ่มเทปัจจัยในการพัฒนาการศึกษา เป็นเรื่องหลัก เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างประเทศ เพื่อมุ่งหวังให้คนมีเจตคติในเรื่องความรักชาติ การอยู่ในกรอบศีลธรรม กรอบของการมีจิตสำนึกใฝ่ดี และการสร้างอาชีพ เพื่อการพัฒนาประเทศและแข่งขันกับประเทศข้างเคียงรวมทั้งในเวทีสังคมโลก

        สำหรับประเทศไทย ตลอดระละเวลา 15 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เป็นต้นมา การจัดการศึกษาจะถูกนำมาเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นด้านสังคมและให้คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา โดยนโยบายของรัฐให้ความสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาเป็นเรื่องหลักเรื่องหนึ่ง และใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมควบคู่กับการพัฒนาการเมือง และเศรษฐกิจของประเทศ 

        นโยบายของรัฐที่เป็นนโยบายภาพรวมของประเทศ ถูกแปลงไปสู่การปฏิบัติ เป็นแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาของกระทรวง กรม และแผนพัฒนาจังหวัด เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและถึงผู้ปฏิบัติมากที่สุด โดยใช้ปัจจัยต่างๆเข้าไปสนับสนุนเพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ

       การพัฒนาการศึกษาในภาพรวมของประเทศ กระทรวงศึกษาธิการจะถูกกำหนดให้เป็นเจ้าภาพหลักและกระทรวงอื่นๆมีส่วนในการสนับสนุน ส่งเสริมให้การพัฒนาเด็ก เยาวชนและประชาชน มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตาม เพื่อให้คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาที่แท้จริง

       และปัจจัยที่มาเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐให้การสนับสนุนจะเป็นเรื่อง คน งบประมาณ และวิธีการเป็นเรื่องหลัก และให้ความสำคัญกับการใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ พหุวัฒนธรรม และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เป็นเรื่องหลัก เพื่อนำไปสู่การกินดีอยู่ดี เป็นเป้าหมายสุดท้าย เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้การจัดการศึกษามีทิศทางและสร้างคุณภาพ และมีประสิทธิภาพได้อย่างสมบูรณ์

        ด้วยประสบการณ์ที่เป็นนักการศึกษา ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มา 27 ปี เคยปฏิบัติงานบริหารการศึกษาในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จะนำเสนอมิติการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยกรมนุษย์ เพื่อสร้างความกินดีอยู่ดี บนพื้นฐานของความเข้าใจบริบทของพื้นที่ร่วมกัน ได้ในระดับหนึ่ง เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานในพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น   

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 561496เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2014 01:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2014 03:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท