เมื่อคุณแม่เพื่อนกระดูกหัก ( 2 )


                   

 

ได้ทาบทามให้เพื่อนช่วยเขียนเรื่องราวและเล่าประสบการณ์ เมื่อคุณแม่กระดูกหัก เพื่อนยินดีเขียน ทำให้เราได้บทเรียนที่เกิดขึ้นจริง เพื่อเรียนรู้อีกเรื่องหนึ่งค่ะ

ลองติดตามอ่านดูนะคะ

 

เรื่องคุณแม่หกล้ม สะโพกและกระดูกหัวไหล่หัก

 

บทนำ

ผมขอแบ่งปันเรื่องนี้เพื่อเป็นกรณีศึกษา ให้กับผู้สูงวัยรวมถึงบุตรหลานและคนใกล้ชิดผู้ดูแลผู้สูงวัย ถึงสาเหตุการหกล้ม (เฉพาะกรณีของคุณแม่) การปฐมพยาบาลเบื้องต้น, ขั้นตอนการรักษาพยาบาล, ค่าใช้จ่ายในการการรักษาพยาบาล, การดูแลหลังการรักษาและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำ หวังว่าเรื่องราวของผมคงจะเป็นประโยชน์บ้าง และขอให้กุศลผลบุญแห่งการแบ่งปันข้อมูลนี้ อุทิศให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ดูแลรักษาคุณแม่ คุณหมอ, พยาบาลและบุคคลกรทางการแพทย์ทุกท่านที่เคยให้การรักษาคุณแม่ ตลอดจนเจ้ากรรมนายเวรของคุณแม่ ขอให้ได้รับบุญกุศลที่ได้รับจากการแบ่งปั่นข้อมูลนี้ด้วยครับ

 

ประวัติและข้อมูลส่วนตัวของคุณแม่

ชื่อนางสำรวย จ่าเจริญ อายุ 75 ปี (ข้อมูล ณ.ปี 2557) ปัจจุบันอยู่บ้านกับผมและลูกสะใภ้เพียงสามคน ตัวผมเองอายุ 53 ปี คุณพ่อเสียชีวิตเมื่อ 5 ปีที่แล้วเนื่องจากติดเชื้อในกระแสโลหิต คุณแม่เคยเป็นมะเร็งที่กรามด้านขวาล่างเมื่อประมาณ 9 ปีที่ผ่านมา อาการเริ่มแรกเกิดจากการผ่าฟันคุด และแผลหลังผ่าฟันไม่หายตามปกติ คุณหมอที่มหิดลได้ทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ และพบว่ามีเนื้อที่เป็นมะเร็ง จึงทำหนังสือส่งตัวไปผ่าตัดที่ รพ.ราชวิถถี การตรวจในเบี้องต้นพบว่าเป็นมะเร็งในระยะที่ 1  ทำการรักษาที่โดยตัดกรามออกและใส่เหล็กแทน ในระหว่างการผ่าตัดคุณหมอได้ทำการตัดต่อมน้ำเหลืองไปตรวจด้วย และพบว่ามีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว หลังการผ่าตัดจึงต้องทำการรักษาต่อด้วยการฉายแสง ผมขออนุญาตข้ามเรื่องการรักษาและดูแลในเรื่องมะเร็งนี้ไปเพราะมีรายละเอียดที่มากพอสมควร ต่อมาอีก 2 ปีคุณแม่ก็คลำเจอก้อนบริเวณเต้านมด้านขวา จากการเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจก็ปรากฏว่าเป็นมะเร็งอีก จึงทำการรักษาโดยการตัดเต้านมออกไป โชคดีที่เป็นระยะที่ 1 จึงไม่ต้องฉายแสงหรือให้คีโมต่อ แต่ก็ต้องมีการตรวจเป็นประจำทุก 6 เดือนเพื่อเฝ้าระวังการกลับมาเป็นอีกทั้ง 2 จุด

 

สาเหตุการหกล้มของคุณแม่

คุณแม่มีอาการข้อเข่าเสื่อมทั้ง 2 ข้าง อาการที่เห็นได้ด้วยตาคือขาจะโกร่งทั้ง 2 ข้าง มีอาการปวดข้อเข่าหากเดินมากๆ ผมได้ปรึกษาคุณหมอหลายท่านในเรื่องการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม แต่คุณหมอก็แนะนำว่าหากไม่ได้ปวดมากจนเดินไม่ไหวก็ยังไม่อยากแนะนำให้ผ่าตัด เพราะการผ่าตัดทุกครั้งก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ปกติเวลาออกนอกบ้านคุณแม่จะให้ไม้เท้าในการประคองการเดิน แต่ถ้าอยู่ในบ้านเดินในระยะสั้นๆ คุณแม่ก็จะเดินเองโดยไม่ใช้ไม้เท้า

เหตุเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2557 เวลา 17.00 น. บริเวณหน้าบ้าน โดยคุณแม่หิ้วกระป๋องน้ำจะไปรดต้นไม้และเสียหักหกล้ม โดยร่างกายซีกขวาเป็นส่วนที่กระแทกกับพื้นที่ปูด้วยกระเบื้อง คุณแม่ได้ตะโกนเรียกผมที่อยู่บ้าน เมื่อออกไปดูพบว่าคุณแม่นั่งกองอยู่กับพื้น คุณแม่ขยับตัวไม่ได้เลย มีอาการปวดอย่างมาก ผมได้ดูแขนและขาของคุณแม่ ก็ไม่พบว่าผิดรูปไปจากเดิม ก็เลยคิดว่าไม่มีกระดูกหัก แต่ในความเป็นจริงในตอนนั้นกระดูกหัวไหล่แตก และกระดูกสะโพกได้หักไปแล้ว จึงทำให้คุณแม่ไม่สามารถลุกเดินได้ จากหน้าบ้านถึงตัวบ้านระยะประมาณ 10 เมตรแต่ใช้เวลาเกือบชั่วโมงในการค่อยๆกระเถิบตัวเข้าบ้านใช้ผ้าขนหนูรองที่ก้นแล้วค่อยๆลากผ้าเข้ามา ผมขอข้ามขั้นตอนพวกนี้ไปเลยเพราะเป็นขั้นตอนที่ไม่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง การปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อผู้สูงวัยหกล้มและไม่สามารถยืนได้ด้วยตนเอง ให้สันนิฐานไว้เลยว่ากระดูกหักแน่นอน ไม่ที่ใดก็ที่หนึ่ง ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บด้วยตนเองโดยเด็ดขาด ขอย้ำโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้มีการบาดเจ็บมากขึ้น ให้เรียกรถจากโรงพยาบาลมารับอย่างเดียว เพราะเจ้าหน้าที่จะมีความชำนาณและอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ

 

การรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล

เมื่อมาถึงโรงพยาบาลคุณหมอจะสอบถามอาการเบื้องต้นและรายละเอียดว่าหกล้มเมื่อไรอย่างไร ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติ หลังจากนั้นจะส่งไป X-Ray ตรวจดูกระดูกที่หักเพื่อวางแผนการรักษาต่อว่าจะต้องผ่าตัดหรือใส่เฝือก สำหรับกรณีคุณแม่ปรากฏว่ากระดูกที่หัวไหล่แตกคุณหมอได้ทำการใส่เฝือกให้ โดยใช้เวลาในการใส่เฝือกประมาณ 6 สัปดาห์ แต่ที่ตรงสะโพกมีอาการหักมากกว่าจึงต้องวางแผนทำการผ่าตัดเอากระดูกที่แตกออกแล้วใส่โลหะแทน ก่อนที่จะทำการผ่าตัดต้องมีการส่งตัวให้คุณหมออีกทีมตรวจสภาพร่างการและหัวใจว่าแข็งแรงพอที่จะทำการผ่าตัดได้หรือไม่ ตอนนั้นได้สอบถามค่าใช้จ่ายจากพยาบาลว่าในกรณีของคุณแม่จะมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร ซึ่งได้รับคำตอบว่าประมาณ 2-3 แสนบาท (ทำการรักษาที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ) ก่อนการผ่าตัดคุณหมอให้คำแนะนำถึงขั้นตอนต่างๆให้ทราบเช่น การผ่าตัดจะทำตอนกี่โมง ใช้เวลาประมาณเท่าไร หลังจากผ่าตัดเสร็จแล้ว จะนำไปที่ห้องรอฟื้นซึ่งญาติสามารถทะยอยเข้าไปเยี่ยมได้ แต่เนื่องจากคุณแม่อายุมากแล้ว หลังการผ่าตัดคุณหมออยากให้พักในห้อง ICU เพื่อดูอาการอย่างใกล้ชิดอย่างน้อยหนึ่งคืน หากปลอดภัยดีแล้วก็จะให้เข้าพักในห้องปกติได้ คุณหมอแจ้งว่าจะได้วิธีดมยาสลบซึ่งต้องมีการสอดท่อช่วยหายใจ ดังนั้นหลังผ่าตัดเสร็จอาจจะมีอาการเจ็บคอและอาจจะมีเสหะเป็นเลือดบ้างก็ไม่ต้องตกใจ การแจ้งขอมูลต่างๆเหล่านี้ให้ญาติทราบก็จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีเช่นจะได้ทราบล่วงหน้าและไม่ต้องตกใจว่าหลังผ่าตัดทำไม่ต้องเอาคุณแม่เข้าห้อง ICU มีอะไรผิดปกติหรือคุณแม่เป็นอะไรมากหรือเปล่า ส่วนข้อเสียอาจจะทำให้ญาติต้องวิตกกังวลว่าจะต้องเกิดนั้นเกิดนี่ตามมาอีก อันนี้ก็แล้วแต่แต่ละบุคคลนะครับว่าอยากได้ข้อมูลมากน้อยแค่ไหนก็คุณกับคุณหมอได้ ก่อนการผ่าตัดคุณแม่มีอาการซีดเล็กน้อย จึงต้องให้เลือดก่อน 1 ถุงและให้ระหว่างการผ่าตัดอีก 1 ถุง หลังการผ่าตัดคุณแม่มีอาการปวดแผลอย่างมาก คุณหมอก็มีการปรับยาแก้ปวดไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นที่ต้องฉีดมอร์ฟีนระงับปวด ในระหว่างอยู่ ICU การปวดแผลก็ยังไม่ลดลง ผมก็พยายามปลอบใจคุณแม่ว่าขนาดเราโดนมีดบาดนิ้วหน่อยเดียวยังปวดแผลตุ๊บๆแทบแย่ นี่คุณแม่โดนผ่าแผลยาวเกือบฟุตแถมคุณแม่ก็อายุมาก คุณแม่ทนได้ขนาดนี้ถือว่าเก่งมากๆ ประกอบทั้งชวนคุยในเรื่องอื่นๆให้ลืมๆเรื่องปวดก็พอจะช่วยได้บ้าง หลังจากออกจากห้อง ICU ก็ยังมีสายระบายเลือดการจากผ่าตัด ซึ่งตอนนี้แทบจะไม่มีเลือดออกมาอีกแล้ว มีสายสวนปัสสาวะ มีสายน้ำเกลือ และสายอ๊อกซิเจน หลังออกจากนั้น 1 วันก็เริ่มถอดสายระบายเลือดและสายสวนปัสสาวะออก คุณแม่มีอาการคันภายในเฝือกคุณหมอก็ให้สเปร์ยที่หลอดเล็กๆแย่เข้าไปพ่นในเฝือก เป็นพวกแป้งเย็นๆซึ่งก็พอทุเลาลงได้บ้าง

                

                  ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ได้จากคุณพัชระ และคุณสำรวย จ่าเจริญ

 

การทำกายภาพบำบัด

หลังการผ่าตัด 1 วันอาการปวดก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้หายไปทั้งหมด คุณหมอได้เริ่มทำกายภาพในวันที่ 2 หลังผ่าตัดโดยเริ่มทำเบาๆเตียงนอน เช่น ฝึกการหายใจเพื่อบริหารปอด การกำมือและแบบมือ การงอแขนเข้าออก การยกแขนขึ้นลง (แขนด้านที่เข้าเฝือกไว้ไม่ต้องทำ) การกระดกปลายเท้าขึ้นลง การชันเข่าขึ้นลง การยกขาขึ้นลงสูงจากเตียงประมาณ 1 ฟุต  (ขาด้านที่ผ่าตัดก็ต้องทำแต่ทำเท่าที่พอจะไม่เจ็บแผล) ทุกท่าทำ 20 ครั้ง ยกเว้นการฝึกหายใจให้ทำแค่ 10 ครั้ง มากกว่านั้นอาจจะเกิดอาการมึนงงได้ เมื่อทำกายภาพเสร็จอาการปวดก็จะกลับมาอีก แต่คุณแม่ก็ทนเพราะอยากหายไวไว คุณแม่เป็นคนที่มีวินัยในการรักษามาก จะพยายามทำตามที่คุณหมอสั่งโดยตลอด เช่นการฝึกหายใจเพื่อบริหารปอดหลังการผ่าตัด คุณแม่ก็จะทำสม่ำเสมอ คุณหมอให้กระดกปลายเท้าขึ้นลงเพื่อให้เลือดหมุนเวียนลดอาการบวมของเท้า คุณแม่ก็จะทำตลอดทั้งวันทั้งคืน การนอนนานๆก็มีโอกาสเกิดแผลกดทับซึ่งจะรักษาได้อยาก คุณแม่ก็จะพยายามผลิกตัวบ่อยๆโดยใช้หมอนหนุนบ้าง แน่นนอนทุกครั้งที่มีการขยับตัวก็จะมีการปวดแผลที่ผ่าตัด แต่คุณแม่อดทนมาก

วันที่ 3 หลังผ่าตัดได้มีการถอดสายน้ำเกลือและสายอ๊อกซิเจนออกทั้งหมด การทำกายภาพในวันนี้ให้เริ่มนั่งเก้าอี้รถเข็นและยกขาขึ้นลงแต่ก็ยังไม่สามารถยกได้สูงมานักมีอาการเจ็บและตึงแผลอยู่ หลังกายภาพนักกายภาพให้นั่งประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วค่อยขึ้นเตียงนอน แต่คุณแม่สามารถนั่งได้นานถึง 4 ชั่วโมง (คุณแม่คงกลัวว่านอนนานจะเป็นแผลกดทับ)

วันที่ 5 หลังผ่าตัดได้เริ่มฝึกยืนและทรงตัว โดยนักกายภาพจะจับสะโพกโยกเบาๆไปด้านซ้ายและขวาสลับกันไปมา ฝึกการลุกยืนจากเก้าอี้โดยให้ยื่นเท้าข้างที่เจ็บออกไปไกลๆจากเก้าอี้ ส่วนเท้าที่ดีให้เอามาชิดเก้าอี้ แล้วยกตัวขึ้นโดยใช้แรงยกจากขาข้างดีและมือข้างที่ดียันตัวเองจากไม้เท้า จากนั้นให้ฝึกก้าวเดินโดยให้มือซ้ายที่ถือไม้เท้ายกไปด้านหน้าก่อน จากนั้นให้ก้าวเท้าขวาที่เจ็บเหยียบลงบนเท้าของนักกายภาพที่ถอดรองเท้าออก (ผมเข้าใจว่านักกายภาพคงจะประเมินการลงน้ำหนักลงบนเท้าที่เจ็บของคุณแม่เพื่อที่จะบอกได้ว่าการถ่ายน้ำหนักทำได้ถูกต้องหรือไม่) หลังจากนั้นให้ก้าวเท้าซ้ายขึ้นมาเสมอกับไม้เท้า ให้ทำแค่ก้าวเดียวก่อน หลังจากนั้นให้ฝึกนั่งเก้าอี้ โดยให้ขาข้างที่ดีแนบชิดกับเบาะนั่งก่อน ส่วนขาข้างที่เจ็บให้ยื่นออกไปไกลๆจากเก้าอี้แล้วค่อยๆหย่อนตัวลง

วันที่ 6 หลังผ่าตัดได้เริ่มหัดที่จะก้าวเดิน โดยหลังจากลุกยืนตัวตรงแล้ว ให้ใช้มือซ้ายที่ถือไปเท้ายกไปข้างหน้า วางลงแล้วกดไว้หลังจากนั้นยกขี้นแล้วดึงไม้เท้าเอากับไปไว้ข้างลำตัวทำสลับไปมา 10 ครั้ง ต่อไปให้ยกไม้เท้าไปข้างหน้าเหมือนเดิมแต่ให้ค้างไว้ทิ้งน้ำหนักไปที่แขนซ้ายกดไม้เท้าไว้พร้อมกับถ่ายน้ำหนักไปที่ขาซ้าย แล้วก้าวเท้าขวาที่ผ่าตัดไปเหยียบเท้าของนักกายภาพที่ไม่ได้สวมรองเท้า หลังจากนั้นให้ยกเท้าขวากลับมาที่เดิม ทำสลับกัน 10 ครั้ง แต่คุณแม่ทำได้แค่ 7 ก็หยุดเพราะทำไม่ไหวแล้ว

ในวันต่อๆมาของการทำกายภาพก็เป็นการฝึกเดิน โดยเดินภายในห้องไปกลับระหว่างประตูกับหน้าต่างประมาณ 15 เมตร ช่วงแรกๆคุณแม่ยังสับสนอยู่ในเรื่องการใช้ไม้เท้าและการก้าวเท้าตามจะงงๆว่าจะเป็นเท้าซ้ายก่อนหรือเท้าขวาก่อน ผมก็เลยให้คุณแม่ท่องและพูดตามไปด้วยในขณะฝึกเดิน คือ ไม้ ขวา ซ้าย ไม้ ขวา ซ้าย ซึ่งทำให้คุณแม่จับจังหวะได้และเดินได้ถูกต้อง ในวันต่อๆไปก็เริ่มเดินออกนอกห้อง จากมุมตึกด้านนึงไปอีกด้านนึง น้องๆพยาบาลและผู้ช่วยก็ออกมาให้กำลังใจคุณแม่ในการฝึกเดิน บางคนก็มีการมาพูดแย่เล่นกับคุณแม่ การเดินมากๆทำให้เท้าของคุณแม่บวม อาการบวมนอกจากสังเกตุได้ด้วยตาเปล่าแล้ว ให้ทดสอบโดยเอานิ้วกดบริเวณนั้นสัก 2 วินาทีแล้วปล่อย บริเวณที่กดจะปรากฎเป็นรอยบุ๋มลงไป การแก้ไขเบื้องต้นให้นอนโดยเอาหมอนหนุนขาให้ระดับสูงกว่าหัวใจและกระดกปลายเท้าขึ้นลงเร็วๆ อีกสาเหตุของการบวมอาจจะเกิดจากการอุดตันของเส้นเลือด คือเลือดลงไปเลี้ยงที่ขาแต่ไม่สามารถย้อนกลับขึ้นไปได้ ในกรณีของคุณแม่คุณหมอได้ทำการอัลตร้าซาวน์ที่ขาที่ผ่าตัดเพื่อดูว่าเส้นเลือดอุดตันหรือไม่ ผลการอัลตร้าซาวน์พบว่าเส้นเลือดปรกติดี จึงใช้วิธีข้างต้นดังกล่าวในการลดบวม

สรุปอยู่โรงพยาบาลทั้งหมด 15 วันมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ สามแสนกว่าบาท

 

การดูแลหลังการรักษาและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำ

อย่างที่เรียนให้ทราบตอนต้นบ้านผมอยู่กันแค่ 3 คน ตอนนี้เลยต้องหาคนมาอยู่เป็นเพื่อนและคอยดูแลคุณแม่ คอยประคองเวลาลุก เวลาเดินและเวลาเข้าห้องน้ำ โดยทางกายภาพแนะนำให้ใช้เข็มขัดรัดตัวคุณแม่ให้พอดี เวลาเดินให้คนที่ช่วยประคองสอดมือเข้าไปในเข็มขัดด้านหลัง หากคุณแม่เสียหลักจะหกล้มให้รีบยกเข็มขัดขึ้น ตอนนี้ก็เลยมีค่าใช้จ่ายรายเดือนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ สองหมื่นบาทต่อเดือน เป็นค่าคนดูแลและค่าอาหาร

พื้นในบ้านควรจะเสมอในระดับเดียวกันทั้งหมด รวมถึงระดับระหว่างพื้นห้องกับห้องน้ำ เพื่อป้องกันการก้าวสะดุดหกล้มอีก ไม่ควรขึ้นบันไดโดยเด็ดขาดเพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะพลัดตกบันได ถึงแม้นจะมีคนช่วยประคองก็ตาม ห้องนอนควรจะอยู่ชั้นล่าง ผมเข้าใจดีว่าผู้ใหญ่บางท่านจะติดสถานที่ไม่ยอมเปลี่ยนง่ายๆ คุณแม่ผมก็เช่นกันก่อนที่จะหกล้มในครั้งนี้ผมโน้มน้าวคุณแม่เป็นเดือนกว่าจะยอมลงมานอนชั้นล่าง เพราะเห็นว่าเริ่มมีอาการเข่าเสื่อมและเสี่ยงที่จะตกบันไดสูง ตอนแรกชั้นล่างก็ไม่มีห้องนอนหรอกครับ แต่พอคุณพ่อเสียผมก็เลยปรัปปรุงต่อเติมบ้านใหม่ ไม่ให้คงบรรยากาศเดิมๆเพื่อที่คุณแม่จะได้ไม่นึกถึงคุณพ่อมากนัก ประกอบกับผมเองก็ย้ายลงมานอนเป็นเพื่อนกับคุณแม่ด้วยจะได้ไม่เหงาและคิดมาก ตอนที่ปรับปรุงบ้านก็คิดเผื่อสำหรับคุณแม่ไว้ด้วยเช่น ให้มีห้องน้ำในห้องนอนเลย เวลาจะเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนจะได้ไม่ต้องเดินไกล ในห้องอาบน้ำก็ติดราวจับเพื่อช่วยทรงตัว บริเวณชักโครกที่ติดตั้งราวจับเวลาลุก นั่งจะได้มีหลักจับให้มั่นคง ต่อไปอาจจะต้องประเมินความเสี่ยงอื่นๆในชีวิตประจำวันของคุณแม่ เช่นการออกไปตากผ้าที่ราวหน้าบ้านก็ต้องห้ามทำ การถือของที่หนักเช่นกระป๋องน้ำ หรือกะละมังใส่ผ้าก็ต้องห้ามทำ การยกหม้อหุ้งข้าวไปซาวข้าวก็ห้ามทำเช่นกัน แต่การที่ห้ามทำอะไรไปหมดซะทุกอย่างอาจจะทำให้คุณแม่คิดมากก็ได้ว่าไม่สามารถช่วยหรือตัวเองได้เดี๋ยวจะเกิดอาการเศร้าสร้อยขึ้นมาอีก ต้องคอยดูและค่อยๆปรับกันไปทีละอย่าง

สุดท้ายคุณหมอได้ตรวจมวลกระดูกซึ่งปรากฏว่าทั้งพรุนทั้งบาง ก็เลยต้องทำการรักษาเรื่องนี้ต่อโดยทำการฉีดยาทุกๆ 6 เดือน หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้วก็คงต้องกลับมา X-Ray ดูเรื่องการเชื่อมต่อของกระดูกหัวไหล่ที่เข้าเฝือกไว้ว่ามีการเชื่อมต่อกันติดหรือยัง

ผมหวังว่าเรื่องของคุณแม่ผมจะเป็นกรณีศึกษาที่ให้ประโยชน์และเกร็ดความรู้ในเรื่องการหกล้มของผู้สูงอายุให้กับหลายๆท่านที่ต้องดูแลผู้สูงอายุและขออวยพรให้อย่าได้ประสบเหตุการณ์อย่างผมเลยนะครับ

 

บันทึกโดยนายพัชระ จ่าเจริญ

หมายเลขบันทึก: 561251เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2014 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2014 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท