กฎหมายนโยบาย ว่าด้วย "สิทธิในการเดินทางและย้ายถิ่นที่อยู่" ของผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ


ควรเร่งพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการเดินทางและย้ายถิ่นฐานของบุคคลผู้มีสถานะทางทะเบียนทั้งที่จัดทำทะเบียนและบัตรแล้วในอดีต ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐต่อชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ที่เปลี่ยนไปมากแล้วในปัจจุบัน

                 แม้การเดินทางและการย้ายถิ่นที่อยู่ จะเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้วยเรื่องความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของประเทศ ซึ่งอาจทำให้เสรีภาพในการเดินทางย้ายถิ่นนั้น ถูกจำกัดเฉพาะในบุคคลที่อยู่ในดินแดนของรัฐ โดยชอบด้วยกฎหมาย   ดังที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖ ข้อ ๑๒ ได้กล่าวอ้างไว้

 

                กฎหมายและนโยบายของประเทศไทยตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเดินทางของชนกลุ่มน้อยหลากหลายเชื้อชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ต่างกัน  ดังนั้น พร้อมๆ กับแนวคิดในการจัดทำทะเบียนและบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อยประเภทต่างๆ ทางราชการไทยก็ได้มีการกำหนดเขตที่อยู่ให้บุคคลเหล่านี้อาศัยอยู่ได้อย่างเข้มงวด และต่อมาได้มีการผ่อนผันอนุญาตให้ออกนอกเขตพื้นที่ที่กำหนดตามความจำเป็นในชีวิต และตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยมีเงื่อนไขการให้อนุญาตในแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งกำหนดโดยชนิดของทะเบียนและบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อยประเภทต่างๆ ที่ทางกระทรวงมหาดไทยสำรวจไว้

 

ดังจะเห็นว่า สำหรับผู้ถือบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า หากต้องการออกนอกเขตอำเภอ ให้ขออนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด โดยให้ครั้งละไม่เกิน ๑๐ วัน หากต้องการออกนอกเขตจังหวัด ให้ขออนุญาตจากปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยให้ครั้งละไม่เกิน ๑๐ วัน แต่หากมีใบอนุญาตทำงานแล้ว อนุญาตให้ออกนอกพื้นที่ได้ครั้งละไม่เกิน ๓ เดือน [1]  แต่เกณฑ์ดังกล่าวจะมีความเข้มงวดน้อยลงสำหรับผู้ถือบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง เป็นต้น

 

                อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าหลักเกณฑ์ปฏิบัติจะแตกต่างกันเช่นไร แต่จากการตรวจสอบสถานการณ์ในพื้นที่ พบว่า กฎระเบียบในการขออนุญาตออกนอกเขต ซึ่งใช้กับผู้มีปัญหาสถานะบุคคลที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนแล้วฯ โดยรวมในปัจจุบันนั้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงจากอดีตไปมาก ทั้งความจำเป็นในการไปโรงพยาบาล ไปเรียนหนังสือ ไปทำงานซึ่งล้วนไม่อาจถูกจำกัดขอบเขตในวงแคบเช่นเดิมได้ ดังนั้นกฎระเบียบฉบับเก่าที่ยังใช้อยู่ถึงทุกวันนี้ ซึ่งมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ล่าช้า รวมทั้งยังจำกัดระยะเวลาในการออกนอกเขตที่ปฏิบัติได้ยากในความเป็นจริง ปัญหาเหล่านี้ ทำให้บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะหลบหนีออกไปนอกเขตพื้นที่โดยไม่ขออนุญาตให้ถูกต้อง  นอกจากนี้ ความยุ่งยากซับซ้อนของแนวปฏิบัติซึ่งมีหลายฉบับ ยังทำให้เจ้าหน้าที่มีความสับสนในการปฏิบัติงานอีกด้วย

 

                จึงเป็นเรื่องที่ควรเร่งพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการเดินทางและย้ายถิ่นฐานของบุคคลผู้มีสถานะทางทะเบียนทั้งที่จัดทำทะเบียนและบัตรแล้วในอดีต ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐต่อชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ที่เปลี่ยนไปมากแล้วในปัจจุบัน เช่นที่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๓ ให้สัญชาติไทยแก่บุตรผู้ถือบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า จีนฮ่ออพยพ เนปาลอิสระ และบุคคลบนพื้นที่สูง ที่เกิดในประเทศไทย  รวมทั้งให้แปลงสัญชาติไทยแก่ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย เป็นต้น และสำหรับกลุ่มใหม่ที่กำลังดำเนินการสำรวจตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ.๒๕๔๘ ก็ควรกำหนดแนวทางเรื่องนี้อย่างเหมาะสมกับความเป็นจริงในปัจจุบันด้วย



[1] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำทะเบียนและบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า พ.ศ.๒๕๒๒ และหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท.๐๒๐๔/ว.๑๓๕ ลงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๓๘ เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในกรณีการขออนุญาตออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมเพื่อประกอบอาชีพของผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า

 
หมายเลขบันทึก: 56107เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2006 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท