กฎหมายนโยบาย ว่าด้วย "สิทธิในสุขอนามัย" ของผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ


บุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะซึ่งอาจจะมีบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อยที่รัฐออกให้ หรือบุคคลที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนใดๆ เลย เช่นป้าแก้ว จึงไม่อาจได้รับสิทธิในการประกันตนได้

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า สิทธิในการมีสุขภาพอนามัยที่ดี เป็นสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนพึงมีและพึงได้รับ โดยมีการกำหนดไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ อันได้แก่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘ ข้อ ๒๕ , กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ค.ศ.๑๙๖๖ ข้อ ๒ (๒) และข้อ ๑๒ , อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙ ข้อ ๒ และข้อ ๒๔ และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ค.ศ.๑๙๖๕ ข้อ ๕

สำหรับประเทศไทย ได้มีการรับรองหลักสิทธิในสุขอนามัยไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๕๒ บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ตามที่กฎหมายกำหนด และ มาตรา ๘๒ รัฐต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงรวมถึงพระราชบัญญัติสาธารณสุขแห่งชาติ

                อย่างไรก็ตาม สิทธิในสุขอนามัยยังสามารถจำแนกออกได้เป็น ๒ ประการ คือ

                                (๑) สิทธิในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข 

                                (๒) สิทธิที่จะได้รับการประกันสุขภาพจากรัฐ

 

จากการศึกษาพบว่า บุคคลผู้มีปัญหาสถานะไม่ได้มีปัญหาในสิทธิประการแรก สถานพยาบาลต่างๆ มิได้ปฏิเสธสิทธิในการรับบุคคลเข้ารับการรักษาพยาบาลแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเต็มจำนวน ยกเว้นกรณีขอรับการสงเคราะห์ นอกจากนี้ยังได้รับทราบข้อมูลจากประชาชนว่ามีหลายครั้งที่กลุ่มชาติพันธุ์มอแกนที่มาจากฝั่งประเทศพม่า เข้ามาขอรับการรักษาในประเทศไทย ซึ่งก็ได้รับการรักษาเป็นอย่างดี  แต่ปัญหาด้านสิทธิในสุขอนามัยจะอยู่ที่สิทธิประการหลัง คือสิทธิที่จะได้รับการประกันสุขภาพจากรัฐ เนื่องจากเป็นสิทธิที่รัฐสามารถสงวนไว้เฉพาะประชาชนของตนได้

 

                ดังจะเห็นได้ว่า มีการกำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ มาตรา ๕ และระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ.๒๕๔๔ แก้ไขเพิ่มเติม โดยระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักประกันสุขภาพ ฉบับที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๔ ข้อ ๑๑ และข้อ ๑๒ ซึ่งสามารถตีความได้ว่า การจะขอออก บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้นั้นจะต้องมีทะเบียนบ้านประเภท ท.ร.๑๔ ดังนั้นบุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะซึ่งอาจจะมีบัตรประจำตัวบางประเภทที่รัฐออกให้ เช่น บัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อย ต่างๆ ซึ่งจะมีได้เพียง ทะเบียนบ้านชั่วคราว ประเภท ท.ร.๑๓ หรือบุคคลที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนใดๆ เลย เช่นป้าแก้ว จึงไม่อาจได้รับสิทธิในการประกันตนได้ (ดูรายละเอียดใน http://gotoknow.org/blog/sarinya/47869)

 

ดังนั้นในปัจจุบันจึงยังไม่ปรากฏการประกันสุขภาพในลักษณะใด แก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะ  ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในด้านต่างๆ ตามมา เนื่องจากบุคคลที่มีปัญหาสถานะมักมีฐานะยากจน และเมื่อเจ็บป่วยจึงทำให้ไม่กล้าที่จะเข้ารับการรักษาพยาบาล เพราะกลัวที่จะมีค่าใช้จ่ายสูงเกินฐานะ การรักษาจึงเป็นไปตามอัตภาพหรือตามความเชื่อท้องถิ่น ซึ่งบางรายก็หาย แต่บางรายก็ทรุดหนักจนถึงแก่ชีวิต ปัญหาดังกล่าว นอกจากจะเป็นผลเสียต่อชีวิตของบุคคลแล้ว ยังส่งผลต่อสังคมโดยรวมด้วย เช่นกรณีที่เป็นโรคติดต่อเรื้อรัง ซึ่งมีผลทำให้ระบบสาธารณสุขในชุมชนเสียไปด้วย

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้พยายามพัฒนาระบบการประกันสุขภาพ ดังจะเห็นได้จากมีการเสนอแนวคิดที่จะจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่มีปัญหาสถานะ คือ หนังสือสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ สปสช.๐๕/๖๘๒๓ ลงวันที่ ๘ มิถุนายน พ..๒๕๔๘ เรื่อง ข้อเสนอการสร้างหลักประกันสุขภาพสำหรับบุคคลที่มีปัญหาด้านสิทธิและสถานะ โดยได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ เห็นชอบในหลักการให้ประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน หรือเกิดในประเทศไทย แต่ยังพิสูจน์สัญชาติไม่ได้ สามารถมีหลักประกันสุขภาพ โดยแยกการมีหลักประกันสุขภาพออกจากประเด็นการพิสูจน์สัญชาติ โดยสร้างหลักประกันสุขภาพแก่บุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิซึ่งมีข้อมูลในทะเบียนราษฎร จำนวน ประมาณ ๑,๑๕๐,๐๐๐ คน โดยจัดสรรงบประมาณในอัตราเดียวกับบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทย คือ ๑,๓๙๖.๓๐ บาท

 

                     แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ข้อเสนอที่นำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีนั้นตกไป โดยคณะรัฐมนตรีมีความเห็นให้นำข้อเสนอกลับมาพิจารณาทบทวนวิธีการสร้างหลักประกันสุขภาพแก่บุคคลดังกล่าวใหม่อีกครั้ง ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

หมายเลขบันทึก: 56106เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2006 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตอนนี้คงจะต้องรีบเสนอครับว่าจะทำยังไง เพราะเท่าที่ทราบระบบประกันสุขภาพคงจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกในเร็วๆ นี้ (ของคนมีสัญชาติไทย)

ดังนั้นปัญหาระบบประกันสุขภาพของบุคคลที่มีปัญหาสถานะก็น่าจะเสนอไปพร้อมๆ กัน เลยครับ

เห็นว่าวันที่ 9 พย. 49 นี้ทีม อ.แหวว จะเข้าพบทีมราชการที่ทำเรื่องระบบสาธารณสุขโดยตรงเลยครับ คงจะต้องมีการเสนออะไรแน่นอน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท