ผู้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ : ๔. นักเรียนนักวิจัย


 

          บันทึกชุดผู้เป็นเจ้าของการเรียนรู้รวม ๖ ตอนนี้ ตีความจากหนังสือ Who Owns the Learning? : Preparing Students for Success in the Digital Ageโดย Alan November   ซึ่งผมตีความว่า เป็นเรื่องการใช้ digital technology ช่วยให้เกิด active learning หลากหลายรูปแบบ    ทำให้เปลี่ยนแปลงบทบาทของนักเรียน เป็นผู้ทำงานสร้างสรรค์ หรือสร้างความรู้เพื่อการเรียนรู้ของตน   ครูเปลี่ยนไปทำหน้าที่ โค้ช หรือ “คุณอำนวย” (learning facilitator)

          ในตอนที่ ๔ นี้ ตีความจากบทที่ 4 The Student as Researcher   เป็นเรื่อง นักเรียนเป็นนักวิจัย โดยตั้งคำถาม แล้วค้นหาคำตอบที่แม่นยำจาก อินเทอร์เน็ต    และนำคำตอบที่ค้นได้มาใช้งาน  

          ดังนั้น ความหมายของคำว่า นักวิจัย ของ Alan November คือเป็นนักวิจัยจาก อินเทอร์เน็ต    โดยเริ่มต้นต้องฝึกนักเรียนให้มี web literacy เสียก่อน    โดยเขาบอกว่า เด็กนักเรียนโดยทั่วไปใช้ paper literacy ในการค้นข้อมูลจาก อินเทอร์เน็ต   ซึ่งหมายความว่า เด็กเหล่านี้ยังไม่มี web literacy ที่เขาใช้คำว่า web illiterate คือไร้การศึกษาด้าน อินเทอร์เน็ต    คือแค่ใช้เป็น ไม่ได้แปลว่ามีการศึกษา 

          อินเทอร์เน็ต หรือ เว็บ มีโครงสร้างและไวยากรณ์ของการจัดระบบสารสนเทศ แตกต่างจากสารสนเทศบนกระดาษ   รวมทั้งขั้นตอนการจัดเก็บและค้นหาสารสนเทศก็มีลักษณะจำเพาะ     เขาบอกว่า นักเรียนมักนำเอา paper literacy ที่ตนมี มาใช้กับโลกดิจิตัล ทำให้ได้ข้อมูลผิดๆ หรือได้ความรู้ที่ผิวเผิน 

          สิ่งที่นักเรียนต้องได้รับการฝึกฝน คือวิธีการค้นหาสารสนเทศอย่างแม่นยำและสร้างสรรค์    และแนวทางหนึ่งคือ ผ่าน “นักเรียนนักวิจัย”  

          เมื่ออ่านข้อความในบทนี้จบ    ผมสรุปว่าเป็นเรื่องของการเรียนรู้และฝึกฝน 21st Century Skills ส่วนที่เป็น ICT Skills    มากกว่าเรื่องของการวิจัยจริงๆ    โดยเขาตีความคำว่า research ที่เขาใช้ ว่าหมายถึงการค้นคว้า    และเป็นการค้นคว้าจากโลก ดิจิตัล ได้อย่างรู้เท่าทัน  มีวิจารณญาณต่อสิ่งที่ค้นได้    และรู้จักเลือกแหล่งค้นคว้าที่น่าเชื่อถือ    รู้จักวิธีค้นที่ทำให้ได้สารสนเทศตรงตามที่ตนต้องการ และมีความแม่นยำ    เมื่อเอาไปอ้างอิงผู้อ่านหรือผู้รับสารยอมรับในความน่าเชื่อถือ    รวมทั้งรู้จักวิธีใช้สารสนเทศที่ค้นมาได้ อย่างมีจริยธรรม    คือได้เรียนรู้หลักการและทักษะด้านจริยธรรมในโลก ดิจิตัล

          แต่หากท่านผู้อ่านบันทึกนี้ นำคำแนะนำในบทนี้ไปเชื่อมโยงกับตอนท้ายๆ ของบันทึกที่แล้ว ในชุดเรียนโดยลงมือทำ นี้    ท่านที่เป็นครูก็จะสามารถ โค้ช การทำวิจัยแบบที่ดำเนินการจริงในชุมชน (โลกจริง)     และค้นคว้าสารสนเทศจากโลก ดิจิตัล มาประกอบ    จะช่วยให้นักเรียนได้ผลงานวิจัยที่มีคุณค่าได้    ก็จะเป็นการฝึกนักเรียนนักวิจัยที่แท้จริงในความหมายของผม    ซึ่งที่จริงในประเทศไทยมีการจัดการเรียนการสอน แบบ RBL (Research-Based Learning) อยู่บ้างแล้ว    ท่านที่สนใจอ่านได้ ที่นี่  ที่นี่ และ ที่นี่

          ผู้ที่จะให้ความรู้และคำแนะนำด้านทักษะสารสนเทศ แก่นักเรียนคือบรรณารักษ์    โดยมีประเด็นสำคัญ ที่นักเรียนควรได้เรียนหลักการและทักษะลงรายละเอียดตามความเหมาะสมของชั้นเรียน และวุฒิภาวะของเด็ก   ดังต่อไปนี้

 

    •         การใช้โลก ออนไลน์ หรือโลก ดิจิตัล อย่างปลอดภัย    ไม่ถูกหลอกลวง  โดยอันตรายที่ร้ายที่สุดคือเสียคน หรืออาจถึงกับเสียชีวิต
    •         แหล่งค้นคว้า (ฐานข้อมูล  เว็บไซต์) ที่มีความน่าเชื่อถือสูง    อาจต้องจำแนกตามประเภทของสารสนเทศที่ต้องการ
    •         เครื่องมือค้น (search engine) สำหรับใช้ค้นหาสารสนเทศแต่ละประเภท   หากต้องการเอกสารที่มีความเป็นวิชาการมากกว่า  Google scholar ดีกว่า Google เป็นต้น
    •         วิธีค้น แบบที่รู้จักและเข้าใจไวยากรณ์ของการค้น    เพื่อให้ได้ผลที่ตรงความต้องการ    ไม่ใช่ได้ผลมามากมายจนแยกยาก หรือเสียเวลามากในการแยกหาสิ่งที่ต้องการ      
    •         วิธีตรวจสอบความน่าเชื่อถือของสารสนเทศที่ค้นได้  
    •         วิธีใช้สารสนเทศที่ค้นได้อย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรม และกฎหมาย     ไม่ถูกกล่าวหาว่าลอกเลียน (plagiarize) หรือละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิทางปัญญา

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๕๗

 

หมายเลขบันทึก: 561064เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2014 09:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2014 09:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท