ปันปัญญา (๒) : รู้จักกับ Lesson Study และ การทำงานขับเคลื่อนช่วงชั้น


 

ฝึกงานวันที่สอง

 

วันนี้ พี่เล็ก - ณัฐทิพย์ วิทยาภรณ์ หัวหน้าช่วงชั้นที่ ๒ ได้เล่าให้ฟังถึงการทำ Lesson Study ในช่วงชั้นว่า สิ่งที่สำคัญคือการจัดตารางเวลาให้ครู เพื่อทำ Pre While Post ด้วยการนำเอาเวลาในการทำ Lesson Study มาลงในตารางเวลาการทำงานของครูแต่ละคนให้ลงตัว และแนะนำว่าเราต้องกันเวลาไว้สำหรับการเตรียมสอนให้ครูด้วย เพื่อที่เขาจะสามารถเอาเวลาที่เหลือมาพัฒนางานในการทำ Lesson Study ได้ด้วย แล้วครูก็จะสามารถทำ KM ของเขาเอง จากการนำแบบบันทึก แบบสะท้อนหลังสอนมาใคร่ครวญ และสะท้อนคิดร่วมกับคู่หู หรือกลุ่มครูในหน่วยวิชาเดียวกัน  เพื่อให้เกิดการพัฒนางานไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุด (ทำไป พัฒนาไป)

 

ในการสุ่มเปิดชั้นเรียนวิชาต่างๆ ควรมีการจัดตารางการทำงานของหัวหน้าช่วงชั้นและผู้ช่วยหัวหน้าช่วงชั้นให้เอื้อต่อการเข้าร่วมกิจกรรม Lesson Study ด้วย

 

พี่ปราง – ปรางอุษา ตันติอนันท์กุล ที่ปรึกษาหน่วยวิชา ESL ช่วงชั้นที่ ๑ – ๒ ที่ทำงานประกันคุณภาพการสอนครู เล่าให้ฟังว่า หน้าที่ของพี่เขาคือการเข้าไปสังเกตการณ์สอนในห้องแล้วสะท้อนคุณภาพการเรียนการสอนของคุณครู ด้วยการถามถึงแนวคิดในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เขาใช้ในวันนั้นๆ  แล้วสะท้อนสิ่งที่เราเห็นให้เขาฟัง  เมื่อเขาเปิดใจอยากรับคำแนะนำของเรา เมื่อนั้นจึงค่อยบอกแนวคิด และคำแนะนำไป นอกจากนี้พี่ปรางยังมีหน้าที่ดูว่า การสอนของครูเป็นไปไปในทิศทางของโรงเรียนหรือไม่ และยังต้องคอยช่วยเหลือ สนับสนุน รวมถึงเข้าสอนแทนครูในบางครั้ง

 

เมื่อถึงเวลา ๙.๕๐ น. ในห้องพี่ปาดมีการประชุมวงขับเคลื่อนช่วงชั้น ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมคือ พี่ปาด – รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ  พี่ใหม่ –  ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการจัดการความรู้  หัวหน้าช่วงชั้นที่ ๑ - ๒   ผู้ช่วยหัวหน้าช่วงชั้นที่ ๑ - ๒  คุณครูจากส่วนงานวิชาการ และส่วนงานมาตรฐานการศึกษาและการเทียบโอน วงประชุมวงนี้มีสมาชิกประจำ ๑๔ คน  ที่จะเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทุกวันอังคาร

 

ลำดับขั้นตอนของวง

๑.     Check in สมาชิกคนใดคนหนึ่งเป็นเปิดวงด้วยการเคาะระฆังแห่งสติ และกล่าวนำการภาวนา จากนั้นให้แต่ละคนสะท้อนความรู้สึกปัจจุบัน แลกเปลี่ยนเรื่องทุกข์สุขกัน บ้างก็ให้กำลังใจกัน เป็นการหันกลับเข้ามามาดูความรู้สึกของตัวเอง แล้วสะท้อนออกมาแบ่งปันให้กับวง

 

 

๒.    แต่ละคนเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน เสนอวาระขึ้นมาได้ทุกคน ไม่มีใครเป็นประธานหรือเป็นเจ้าของวง

๓.    Check out คล้าย AAR สะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้

 

วาระประชุม ของวงในวันนี้คือ

  • กำหนดการสอบ PPT หน่วยวิชาคณิตศาสตร์  ที่เป็นวาระจากส่วนมาตรฐานการศึกษาและเทียบโอน
  • การบันทึกการมาสาย และการแจ้งให้ผู้ปกครองรับทราบ ที่เป็นวาระจากช่วงชั้นที่ ๑
  • การแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานของผู้นำช่วงชั้น เพื่อการติดตามความคืบหน้าของการทำ Lesson Study ในช่วงชั้น ที่เป็นวาระจากช่วงชั้นที่ ๒

 

สาระสำคัญจากการแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานของผู้นำช่วงชั้น สรุปได้ดังนี้

การเข้าสังเกตการณ์ชั้นเรียน

๑.     ในห้องที่มีครูใหม่เข้าสอน หัวหน้าช่วงชั้นจะเข้าสังเกตชั้นเรียนมากกว่า ๒ ครั้งต่อสัปดาห์

๒.    ครูที่สอนในแต่ละวิชาจะมีครูคู่วิชามาเข้าสังเกตชั้นเรียนตามตารางการทำงานที่หัวหน้าช่วงชั้นจัดไว้

๓.    คุณครูทุกคนจะทราบตารางการเข้าสังเกตชั้นเรียนของหัวหน้าช่วงชั้น และคุณครูเจ้าของห้องจะต้องส่งแผนการจัดการเรียนรู้ให้กับหัวหน้าช่วงชั้นทุกครั้ง

 

ประโยชน์ที่ได้รับจากการสังเกตการณ์ชั้นเรียน

๑.     เวลาครูพบปัญหาเรื่องแผนการเรียนรู้ และพฤติกรรมนักเรียน หัวหน้าช่วงชั้นจะแนะนำได้ง่ายขึ้น

๒.    หัวหน้าช่วงชั้นเห็นภาพรวม แล้วสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ครูคนไหนมีจุดอ่อนแข็ง จุดอ่อนเรื่องอะไร และสามารถระบุเหตุของปัญหาได้  มีข้อมูลในการนำมาตัดสินใจได้ว่าจะแก้ไขอย่างไร  สามารถสร้างทางเลือกได้หลายทาง และสามารถประเมินสถานการณ์ให้ครูเห็นและแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ถูกต้องกับสถานการณ์

 

องค์กรเรียนรู้ในช่วงชั้น

เน้นการทำงานแบบร่วมมือแนวนอน และเชื่อมทีมเล็กๆ เข้าหากันได้ สามารถแตะมือเข้าออกจากงานกันได้  แชร์ปัญหา หาทางแก้ไข และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ รู้ว่าใครทำอะไรอยู่  มีการปรับตัวอย่างเป็นธรรมชาติ  แต่จะไม่ผูกกันไปทุกเรื่อง          

 

 

การเปิดชั้นเรียน

หลังจากการประชุมวงขับเคลื่อนช่วงชั้น พี่นุ่น – พรพิมล เกษมโอภาส ผู้ช่วยหัวหน้าช่วงชั้นที่ ๒ ได้มาเติมความรู้ในเรื่องของการเปิดชั้นเรียนที่ฉันจะได้เข้าไปสังเกตการณ์ห้องพี่นุ่นในวันพรุ่งนี้ว่า ประกอบไปด้วย ๓ ขั้นตอน คือ

๑.     ขั้น Pre: ผู้สอนระดับชั้นเดียวกัน วิชาเดียวกันมาร่วมกันเตรียมแผนการสอน

๒.    ขั้น While : สอนในห้องตามแผน โดยมีทีมครูและครูที่สนใจมาร่วมสังเกตการณ์สอน (เดินดูได้ แต่ไม่ควรมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก)

๓.    ขั้น Post : สะท้อนผลการสังเกตและเสนอแนะเพื่อปรับปรุงพัฒนาในครั้งต่อไป

 

ฉันสงสัยเรื่องขั้นตอนการเปิดชั้นเรียนว่าต้องทำยังไงบ้าง จึงได้รับคำตอบจากพี่นุ่นซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เคยผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชนว่า เรื่องสำคัญคือการวางตารางเวลาสำหรับ ครูที่เปิดชั้นเรียน และครูที่จะมาเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้นร่วมกันในครั้งนี้

 

การจัดตารางเวลาเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วม

๑.     ถ้าครู ก อาสาจะเปิดชั้นเรียน หัวหน้าช่วงชั้นจะต้องจัดให้ตารางสอนห้องของครู ก สอนนำคนอื่น รวมทั้งต้องจัดให้ครูที่สอนในหน่วยวิชานั้นทุกคน (แนวนอน=ครูสอนในหน่วยวิชานั้นที่อยู่ในช่วงชั้นเดียวกัน , แนวดิ่ง = ครูสอนหน่วยวิชานั้นทั้ง ๒ ช่วงชั้น) ให้ว่างตรงกัน ทั้งขั้น Pre  ขั้น While (สำคัญสุด)  และขั้น Post  ให้ครบทั้ง ๓ ขั้นตอน  เพราะถ้าเข้าได้ไม่ครบการเรียนรู้จะขาดช่วง โดยครูทุกคนที่อยู่ในหน่วยวิชาเดียวกันจะต้องส่งตารางสอนมาให้หัวหน้าช่วงชั้นเพื่อการจัดตารางให้เหมาะสม

๒.    ในการเปิดชั้นเรียนต้องเปิดทั้งหมด ๓ รอบอย่างต่อเนื่อง แต่ละรอบจะประกอบด้วย Pre, While, Post  โดยในขั้น While จะใช้เวลา ๒ คาบเรียน หรือ ๙๐ นาทีติดต่อกัน

 

ขั้นตอนการเปิดชั้นเรียน

Pre A1 (วางโครงของการเปิดชั้นเรียน ทั้ง ๓ ครั้งล่วงหน้าคร่าวๆ)  -> Pre A2 (วางแผนกระบวนการเรียนรู้ While A อย่างละเอียด) -> While A -> Post A ->  Pre B -> While B -> Post B -> Pre C -> While -> C Post C  (ถ้าเด็กยังไปไม่ถึงเป้าหมายก็จะต้องเพิ่มรอบ D และ E ต่อไป)

 

ฟังที่พี่ๆ เล่าแล้วฉันได้รู้ว่า กว่าจะได้มาซึ่งวิชาการสอนที่ไร้เทียมทาน ต้องแลกมาด้วยความเหน็ดเหนื่อยมหาศาลเลยเหมือนกัน พี่อ้อ – วนิดา  สายทองอินทร์  หัวหน้าพัฒนาหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย คุณครูที่เคยเปิดชั้นเรียนถึงรอบ E เล่าให้ฟังว่า หากเราวางตัวตน ลดอัตตาของตัวเองได้ ก็จะพัฒนาตนเองด้วยกระบวนการของ Lesson study ได้ง่ายและราบรื่น เพราะจะได้เรียนรู้และเติบโตจากกระบวนการนี้มาก

 

การทำงานของครูคู่วิชาที่สอนในระดับชั้นเดียวกัน

ในการจัดตารางงานของคุณครู หัวหน้าช่วงชั้นต้องจัดตารางให้ครูคู่นี้สามารถ Pre While Post กันได้อย่างน้อย ๑ ห้องเรียน (ครูทุกคนสอน ๒ ห้อง)

 

ในขณะที่สอน อาจจะมีหัวหน้าช่วงชั้นหรือครูท่านอื่นเข้าไปสังเกตในห้อง ซึ่งหากพบประเด็นที่ต้องพัฒนาก็จะแนะนำให้แก้ไข และจะมีการตามเข้ามาดูอีกครั้งในรอบถัดไป  การที่ครูจัดกระบวนการเรียนรู้ชุดเดิมซ้ำอีกครั้งในห้องเรียนถัดไป จะช่วยให้ครูผู้สังเกตสามารถเปรียบเทียบ และหาสาเหตุของความผิดพลาดได้เร็วขึ้น หรือไม่ต้องพบกับความผิดพลาดนั้นเลยหากปรับได้ทันเวลา วิธีการนี้จะช่วยให้ครูเก่งขึ้นเรื่อยๆ และมีแผนการเรียนรู้ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

                                                                       

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 560981เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท