ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๘๕. พักผ่อนช่วงหยุดยาว


 

          ผมมีช่วงหยุดยาวอยู่กับบ้านตั้งแต่วันที่ ๒๕ ธ.. ๕๖ ถึง ๒ ม.. ๕๗    เพราะเป็นช่วงหลังผ่าตัดต้อกระจกข้างซ้าย ที่กำหนดให้ตรงกับช่วงหยุดปีใหม่    เพื่อจะได้ไม่รบกวนช่วงเวลาทำงาน

          จึงได้ใช้เวลาเหล่านี้ดูหนัง สลับกับอ่านหนังสือ และเขียนบันทึกลง บล็อก

          ผมมีหนังดีๆ สต็อก อยู่ใน Hard Disk Drive มากมาย    โดยได้รับมาจาก อ. หมอปรีดา มาลาสิทธิ์     และช่วงนี้ผมเลือกดูหนังชุด Natural World ของ BBC   ซึ่งบางส่วนดูได้จาก YouTube    ค้นโดยคำว่า Natuaral World BBC

          ความประทับใจคือ    เดี๋ยวนี้ช่างภาพมีเทคนิคถ่ายชีวิตสัตว์ป่าได้ใกล้ชิด    ทั้งในที่แคบๆ ในรังหรือในโพรงรัง    รวมทั้งสามารถติดตามการเดินทางหรือเคลื่อนไหวของสัตว์ป่า    ทำให้เราเข้าใจชีวิตของสัตว์ป่า และเข้าใจจิตวิทยาของสัตว์    นอกจากนั้นยังมีเทคโนโลยีถ่ายภาพชีวิตสัตว์ป่าในตอนกลางคืน    โดยใช้กล้องอินฟราเรด และช่างภาพก็สวมแว่นอินฟราเรด    และเข้าใจว่ายังมีเทคนิคอื่นช่วยการถ่ายชีวิตสัตว์ป่าในช่วงกลางคืน

          ทำให้เราเข้าใจโลกกลางคืนในป่าเพิ่มขึ้นมากมาย    และผมก็ฉุกคิดว่า ที่บ้านเนื้อที่ร้อยตารางวาเศษ ที่หมู่บ้านสิวลีติวานนท์ ที่ปากเกร็ด ที่ผมอาศัยอยู่นี้ มีเจ้าของหลายเจ้า    เมื่อก่อนมีตัวเงินตัวทอง และงูเหลือม ร่วมเป็นเจ้าของด้วย   แต่หายไปหลายปีแล้ว    ตอนนี้ตอนกลางวัน ในวันที่ไม่มีคนอยู่บ้าน นกเขาและนกอื่นๆ ก็เข้าครอบครอง    ส่วนนกกางเขนดง และนกอีแพรดนั้น แม้เรานั่งอยู่ที่ระเบียงบ้าน เขาก็มาร้องเพลงให้ฟัง และเต้นระบำให้ดู 

          ยิ่งตอนกลางคืน สัตว์กลางคืนเข้ามาครอบครองบริเวณรอบบ้านของผม    โดยผมก็ไม่ทราบว่ามีอะไรบ้าง    ที่แน่ใจว่ามี คือค้างคาว  คางคก และหนู    บ่อยครั้งที่หนูเขาเข้ามาในบ้าน วิ่งอยู่บนเพดานบ้านคึ่กๆ    ถ้าเขาวุ่นวายมาก สาวน้อยก็ดักเสียทีหนึ่ง 

          ที่จริง สัตว์ที่มีมากที่สุดในบริเวณบ้านผมคือปลวก    ที่หน้าบ้านห่างจากตัวบ้านไปกว่า ๑๐ เมตร มีปลวกชนิดกินไม้สด กินต้นปาล์มตายไปหลายต้นแล้ว     ผมสังเกตว่ามีปลวกอยู่ทั่วไปในสนามรอบบ้าน    เราคอยดูแลไม่ให้เขารุกเข้าบ้านเท่านั้น    ปลวกในสนามหญ้านี่แหละที่ช่วยปลูกเห็ดโคน ที่บางปีงอกออกมาให้เราได้กิน    ผมหวังว่าการที่ผมปล่อยให้ใบไม้ร่วงอยู่ในสนาม   และกวาดใบไมัจากถนนในบ้านไปสุมไว้ริมรั้วรอบบ้าน จะบริการอาหารให้เขาเพียงพอ    ไม่ต้องขึ้นมาหาอาหารบนบ้าน    ไม่ทราบความหวังจากใจผมจะสื่อไปยังปลวกได้ไหม 

          ผมเคยบันทึกเรื่องกิ้งก่าหัวสีฟ้าไว้ ที่นี่    เรื่องนกขมิ้นเหลืองอ่อน ที่นี่    และเรื่องกระรอก ที่นี่    ผมไม่เห็นกระรอก มาหลายเดือนแล้ว    แต่ร่องรอยแทะเปลือกต้นมะม่วงหลังบ้านน่าจะเป็นฝีปากของเขา    ยิ่งรอยแทะผลขนุนข้างบ้าน เป็นฝีปากของกระรอกแน่นอน    ที่จริงที่บ้านผมมีจิ้งเหลนด้วย    แต่ไม่เห็นมาสองสามปีแล้ว    และน่าจะมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ขนาดเล็ก และเราไม่ได้สังเกต อีกมากมาย    

          หนังสารคดีสัตว์ป่าบางเรื่อง    ผู้ผลิตหนังสารคดีธรรมชาติเขานำเสนอเป็นเรื่องราว คล้ายๆ มีตัวเอกให้ผู้ชมได้ลุ้น    ว่าจะรอดชีวิตไหม    หรือจะทำบางสิ่งสำเร็จไหม    ในบางเรื่องผมคิดว่า เป็นการผูกเรื่องตามวิธีคิดของมนุษย์    สัตว์ป่าอาจไม่ได้คิดอย่างนั้น

          ที่ผมประทับใจคือ ฝรั่งเขามีคนที่สนใจสัตว์ป่าจริงจังแบบทุ่มเทชีวิตให้    และทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ไปด้วย    ผมประทับใจมาก ในการศึกษาชีวิตของนกคุคคู ที่เป็นนกกาฝาก    แอบไปออกไข่ให้นกอื่นเลี้ยง (แบบกาเหว่า)     โดยที่พ่อแม่นก ที่โดนหลอก ตัวเล็กกว่าหลายเท่า    เขาศึกษาพบว่า ต้องมีวิธีหลอกที่แยบยลมาก    คือแม่นกคุดคูจะเลือกหลอกแม่นก ที่มีไข่สี ลวดลาย และขนาด ใกล้เคียงกัน    เขาบอกว่ามีนกกว่า ๓๐ ชนิดที่โดนหลอก    โดยที่นกคุดคูแต่ละตัวจะหลอกนกชนิดเดียวเท่านั้น   

          เขาลองเอาไข่ที่สีแตกต่างไปใส่ในรังนกที่โดนหลอก    แม่นกจับได้ และจัดการกินไข่และเอาไปทิ้ง

          ทั้งแม่นกและลูกนกคุคคูต้องร่วมกันหลอก จึงจะสำเร็จ    เขาศึกษาว่า ทำไมแม่นกที่โดนหลอกไม่เอะใจว่านี่ไม่ใช่ลูกตน ทั้งๆ ที่มันตัวโตกว่าพ่อแม่หลายเท่า    ตัวโตล้นรัง    อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้แม่นกเลี้ยงลูกกาฝาก    เขาลองเอาลูกนกชนิดอื่นที่ร้องขออาหารเสียงต่างจากลูกนกชนิดนั้น ไปใส่ในรัง พบว่าพ่อแม่นกไม่ป้อนอาหาร    แต่ถ้าเอาเสียงปลอมของลูกนกชนิดนั้นไปเปิดที่รัง    พ่อแม่นกก็ป้อน    จึงสรุปว่าเสียงร้องขออาหารของลูกนก ที่แหลมเล็กและมีความถี่สูงมาก เป็นตัวกระตุ้นให้พ่อแม่นกหาอาหารมาป้อนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  

          ผมเถียงในใจว่า นอกจากเสียงร้องที่แหลมและถี่แล้ว    ท่าทางของลูกนกที่ชูคอสุดขีด สั่น และอ้าปากแบบแหกปาก น่าจะเป็นตัวกระตุ้นทางจักษุประสาทต่อพ่อแม่นกด้วย

          นอกจากนกแล้ว จิตวิทยาความสัมพันธ์เชิงสัญชาตญาณระหว่างพ่อแม่กับลูกในมนุษย์ ก็น่าจะคล้ายกัน

 

          ลูกนกคุคคูที่เพิ่งฟักเป็นตัว ยังไม่มีขน จะแข็งแรงมาก    และมีสัญชาตญาณดันสิ่งอื่นในรังให้ตกจากรังหมด    ทั้งไข่ และลูกนกตัวอื่นๆ    เขาจะต้องครอบครองรังตัวเดียว    เพราะมิฉนั้นพ่อแม่นกจะหาอาหารมาเลี้ยงไม่พอ

          หนังที่ผมดูชุดนี้ มีหลากหลายมาก    ทั้งเรื่องสัตว์ประเภทแมว  ช้าง  ลิง  นก    ที่มากที่สุดคือสัตว์ประเภทแมว    ซึ่งเรื่องราวส่วนใหญ่ถ่ายทำให้ป่าและทุ่งหญ้าในอัฟริกา    บางเรื่องใช้เวลา ๒ ปี    ช่างภาพต้องรักงานนี้อย่างมากจึงจะอดทน ทำงานนี้ได้ และเงินค่าใช้จ่ายต้องถึง

          ชีวิตของผมโชคดีจริงๆ ที่ได้ดูหนังเหล่านี้ฟรี ไม่เสียเงิน    และไม่ต้องยากลำบากไปอดทนอยู่ในป่าเพื่อจะได้เข้าใจ ความรู้เหล่านี้         

          ขอขอบคุณความเอื้อเฟื้อของอาจารย์หมอปรีดา มาลาสิทธิ์

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๕​.. ๕๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 560324เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2014 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2014 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท