ก้าวสำคัญของ LLEN มหาสารคาม : โตโยต้ามหาสารคามฯ CSR กับการหนุนเสริมบรรยากาศการศึกษา


วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๗ LLEN มหาสารคาม ขยับอีกก้าวสำคัญ ของการหนุนเสริมบรรยากาศของการศึกษาในเขตพื้นที่  สำหรับผมแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมเป็นผู้สนับสนุนหลักในกิจกรรมของ LLEN มหาสารคาม ต้องขอขอบพระคุณบริษัทโตโยต้ามหาสารคาม (1992)ฯ ที่ให้การสนับสนุน

งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "แข่งขันทักษะทางวิชาการ" เพื่อชิงรางวัล "Toyota Mahasarakham Excellent Award : TMEA" ครั้งที่ ๑ (หมายถึงจะมีครั้งต่อๆ ไป) เป็นโครงการร่วมมือระหว่าง ๓ หน่วยงานคือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม (มรภ.มหาสารคาม) และโตโยต้ามหาสารคามฯ โครงการแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง คือ ช่วงทดสอบความรู้พื้นฐานที่ไม่มีการแข่งขัน ซึ่งจัดสอบโดยสำนักศึกษาทั่วไปมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และช่วงแข่งขันตอบปัญหากันหน้าเวที (สดๆ) ซึ่งจะจัดที่ มรภ.มหาสารคาม

มมส. เป็นผู้ดำเนินการในช่วงแรก คือ จัดทดสอบความรู้พื้นฐาน งานของเราเริ่มตั้งแต่ติดต่อประชาสัมพันธ์ไปยังโรงเรียนทุกโรงเรียนทั้ืง ๕๘ แห่งทั่วจังหวัด เพื่อรับสมัครนักเรียนระดับชั้น ม.ปลาย โรงเรียนละ ๖ คน ทำหน้าที่จัดทำข้อสอบ และจัดสอบด้วยระบบอิเล็คทรอนิกส์ (E-Testing) ที่สามารถบอกคะแนนในแต่ละรายวิชาให้นักเรียนทราบทันทีที่ทำเสร็จ แต่ละโรงเรียนอาจใช้ผลการสอบของนักเรียนแต่ละคนในการคัดเลือกให้เหลือนักเรียน ๓ คน เพื่อมาร่วมแข่งขันประเภททีมในรอบสุดท้ายที่ มรภ. ในบันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ นี้

ข้อสอบส่วนใหญ่ที่ใช้วัดความรู้พื้นฐานที่ใช้ในรอบนี้ CADL จัดทำข้อสอบผ่าน รองศาสตราจารย์ ดร.ประสาท เนืองเฉลิม ซึ่งท่านมีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านการออกข้อสอบ ยกเว้นรายวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ที่ผมอาสาเป็นผู้ออกข้อสอบเอง ซึ่งผลการทดสอบน่าสนใจมาก (จะนำมาเล่าสู่ฟังในบันทึกต่อๆ ไป)

การทดสอบคราวนี้มีโรงเรียนส่งนักเรียนเข้าร่วมทั้งสิ้น ๔๐ โรงเรียน นักเรียน ๒๓๔ คน (มีบางโรงเรียนที่มีเหตุจำเป็นส่งไม่ครบ ๖ คน) ใช้ข้อสอบ ๗ วิชาหลัก ได้แก่ คณิต ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา จำนวน ๑๐๐ ข้อ (ผู้สนใจข้อสอบติดต่อผมทางเมล์ได้ครับ)

ผม BAR กับทีมงานศูนย์พัฒนาวิชาการเพื่อการเรียนรู้ (CADL) ซึ่งรับหน้าที่เป็นฝ่ายดำเนินการของ มมส. ว่า เราควรบรรลุผล ๓) ประการ ได้แก่ ๑) สร้างความประทับใจให้กับ โตโยต้าฯ ในฐานะที่ให้โอกาสเราเข้าไปร่วมกับเราเป็นครั้งแรก ๒) แสดงศักยภาพด้านการจัดสอบผ่านระบบ E-Testing ให้โตโยต้าฯ และโรงเรียนได้เห็น เพื่อปูทางสู่การสร้างระบบประเมินทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ต่อไป และ ๓) เพื่อทดสอบความรู้พื้นฐานของนักเรียน ตามเป้าประสงค์ของโครงการ

ผม AAR กับทีม CADL ว่า เราบรรลุความคาดหวังทุกข้อของ BAR โดยเฉพาะข้อ ๑) เว้นแต่ว่าข้อสอบที่เราใช้ยังคงเป็นข้อสอบเน้นความจำและทักษะ ยังไม่ได้เน้นการนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งเราคาดหวังและได้เสนอแนวทางต่อโตโยต้าว่า  เราอยากพัฒนาระบบ "มอนิเตอร์ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑" โดยพัฒนาครูให้สามารถออกข้อสอบแนว PISA ร่วมกัน เป็น "PLC วงนอก" แล้วจัดทดสอบด้วย E-Testing  สำหรับโรงเรียนที่เป็นสมาชิก

การพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูระหว่างช่วงเวลาที่นักเรียนกำลังทดสอบ ทำให้เราได้ข้อสรุปหลายอย่างร่วมกัน ทุกคนเห็นด้วยที่จะเข้าร่วมโครงการสร้างระบบประเมินทักษะดังกล่าว และจะเข้าร่วมดัวยถ้าทาง CADL สามารถหาทุนสนับสนุนได้ นอกจากนี้ เรายังเห็นด้วยในแนวทางการพัฒนานักเรียนอย่างเป็นระบบด้วยการจัดค่ายส่งเสริมการเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของ CADL ที่ต้องเขียนโครงการเสนอต่อทางโตโยต้าต่อไป


 

 

 

หมายเลขบันทึก: 559997เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2014 07:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มกราคม 2014 07:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท