โอเมกา-3__ช่วยให้สมองเราดีขึ้นกี่ปี


สำนักข่าวรอยเตอร์ตีพิมพ์เรื่อง "กินโอเมกา-3 อย่างไร ลดเสี่ยงสมองเสื่อม", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

.

สมองคนเรามีปริมาตร หรือขนาดลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น

ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งเล็กลง และเห็นรอยเหี่ยวย่นที่ขอบสมองด้านนอกมากขึ้น

สมองของคนที่เป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) มีปริมาตรสมองต่ำกว่าคนสูงอายุทั่วไป

ทำให้มีการศึกษาว่า จะหาทางชะลอชรา หรือลดความเสื่อมของสมองได้อย่างไร

.

การศึกษาใหม่พบว่า ผู้หญิงสูงอายุที่มีระดับไขมันชนิดดีพิเศษ คือ โอเมกา-3 ในเลือดสูง มีปัญหาสมองเหี่ยว หรือปริมาตรลดลงตามอายุน้อยกว่าคนที่มีระดับโอเมกา-3 ในเลือดต่ำ

สมองคนทั่วไปมีปริมาตร หรือขนาดเล็กลง = 0.5%/ปี หลังอายุ 70 ปี

สมองคนเป็นโรคสมองเสื่อมเล็กลงเร็วกว่านั้น โดยอาจพบการเหี่ยว หรือหดตัว (shrinkage) ได้ 2 แบบ คือ

(1). เหี่ยวหรือหดตัว = เร็วขึ้น

(2). เหี่ยวหรือหดตัว = เฉพาะที่เร็วขึ้น

.

ผศ.เจมส์ พอททาลา จากมหาวิทยาลัยแพทย์ เซาต์ดาโกตา แซนฟอร์ด สหรัฐฯ ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างผู้หญิงอายุ 70 ปี 1,111 คน

ตรวจหาระดับโอเมกา-3 คือ "อีพีเอ" และ "ดีเอชเอ" (EPA & DHA; eicosapentaenoic acid & docosahexaenoic acid) ในเม็ดเลือดแดง

DHA เป็นส่วนประกอบ = 30-40% ของไขมันในเยื่อหุ้มเซลล์สมอง

พบมากเป็นพิเศษบริเวณใกล้ส่วนเชื่อมต่อ (synapses) หรือส่วนที่เซลล์สมองเชื่อมต่อ ทำการสื่อสารกับเซลล์อื่นๆ

.

ถ้าเซลล์สมองมีส่วนยื่น (สำหรับสื่อสารกัน) เป็นสายไฟ

ส่วนเชื่อมต่อที่ทำการสื่อสารกัน คือ ส่วนที่สายไฟมาเชื่อมต่อกัน เช่น สายโทรศัพท์ สายแลนของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในบ้าน-สำนักงาน ฯลฯ

การศึกษานี้พบว่า ระดับโอเมกา-3 ในเม็ดเลือดแดงของกลุ่มตัวอย่างต่างกันมาก คือ 

  • กลุ่มสูงสุด = 7.5%
  • กลุ่มต่ำสุด = 3.4%

.

ติดตามกลุ่มตัวอย่างไป 8 ปี

ใช้เครื่องสแกนสนามแม่เหล็ก-คลื่นวิทยุหรือ MRI ตรวจสมอง

ผลการศึกษาพบว่า

  • สมองคนที่มีระดับโอเมกา-3 ในเลือดสูง มีปริมาตรสมองมากกว่าคนที่มีระดับต่ำ = 2 ลูกบาศก์เซนติเมตร
  • สมองส่วนฮิปโปแคมพัส (hippocampus) ที่ช่วยในการจัดระบบความจำเป็นหมวดหมู่-ทำให้มีความสัมพันธ์กัน และเก็บความจำ มีปริมาตรมากกว่าคนที่มีระดับต่ำ = 2.7%

.

ตอนนี้โรคที่เป็นภัยคุกคามใหญ่ของคนทั่วโลก คือ โรคสมองเสื่อม

โดยเฉพาะอัลไซเมอร์ ที่ทำให้คนหลงๆ ลืมๆ ป้ำๆ เป๋อๆ เบลอๆ เพ้อไปเรื่อย

สมองคนปกติหดตัวลง 0.5%/ปี หลังอายุ 70 ปี

ถ้าหดตัวช้าลง 2.7% (ฮิปโปแคมปัสที่ช่วยจัดระบบ-เก็บความจำ) = อายุสมองน่าจะลดลง = 5.4 ปี

.

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า โอเมกา-3 ชนิดดีพิเศษ พบมากในปลาที่ไม่ผ่านการทอด เช่น ปลานึ่ง-ต้ม-แกง ฯลฯ

ปลาที่ผ่านการผัดก็พอใช้ได้ (การผัดใช้ความร้อนต่ำกว่าการทอด)

แต่ปลาทอดไม่ค่อยดีกับสมอง คือ

(1). การทอดใช้ความร้อนสูงกว่าการผัด

ทำให้น้ำมันปลาเสื่อมสภาพ และอาจเกิดสารเร่งความเสื่อม (ทำให้แก่เร็ว) หรือสารก่อมะเร็งได้หลายอย่าง

(2). การทอดทำให้น้ำมันที่ใช้ทอดซึมเข้าสู่เนื้อปลา

ทำให้ปลากลายเป็นอาหารที่ให้กำลังงาน (แคลอรี) สูง, เพิ่มเสี่ยงน้ำหนักเกิน-อ้วน-อ้วนลงพุง

.

ถ้าท่านกินอาหารแบบมังสวิรัติ หรือไม่กินปลา-อาหารทะเล, การกินถั่ว เมล็ดพืชหลายชนิดหมุนเวียนสับเปลี่ยนกัน เช่น งา อัลมอนด์ ฯลฯ ช่วยให้ได้รับโอเมกา-3 ที่ดีรองลงไปได้

ทว่า... ขอเป็นแบบ "ไม่ทอด"

และอย่าลืม... เมล็ดพืชหลายอย่าง โดยเฉพาะงา มีเปลือกแข็ง

ถ้าไม่เคี้ยว + ไม่ทุบ = จะทำให้ร่างกายย่อย และนำสารอาหารไปใช้ไม่ได้ 

.

โอเมกา-3 ในน้ำมันพืช มีคุณภาพต่ำกว่าโอเมกา-3 ในถั่ว และเมล็ดพืช

เนื่องจากถั่วและเมล็ดพืช มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีสารป้องกันโรคที่เรียกว่า สารคุณค่าพืชผักหรือพฤกษเคมี

โอเมกา-3 ไม่ทนความร้อน และไม่ทนต่อการทำลายจากออกซิเจน (ออกซิเดชั่น)

การกินโอเมกา-3 พร้อมผัก ถั่ว ผลไม้ เมล็ดพืช มีแนวโน้มจะดีกับสุขภาพมากกว่าการกินโอเมกา-3 อย่างเดียว

.

เช่น ถ้านายกอ หรือนางกอ กินน้ำมันปลากับน้ำเปล่า

แบบนี้คงจะสู้นายขอ หรือนางขอ กินน้ำมันปลากับอาหารครบส่วน

คือ มีผัก ถั่ว ผลไม้ เมล็ดพืช ข้าวกล้อง หรือธัญพืชไม่ขัดสี หลายอย่างปนกันในมื้อเดียว

ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ

.

อย่าลืมว่า สมองเสื่อม โดยเฉพาะอัลไซเมอร์

ป้องกันได้ด้วยการออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ, ไม่สูบบุหรี่ และกินอาหารหลากหลาย รวมทั้งกินขมิ้น แกงกะหรี่ตามโอกาส

และขอกราบเรียน เรียนเชิญความสุข ความสงบ สันติ มิตรภาพ...

โปรดแวะกลับมาประเทศไทยโดยเร็ว

.

                                              

Thank Reuters & source by Reuters > http://www.reuters.com/article/2014/01/22/us-omega-3-intake-idUSBREA0L21N20140122 > SOURCE: .Neurology, online January 22, 2014.

หมายเลขบันทึก: 559994เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2014 06:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มกราคม 2014 06:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท