พระสมเด็จวัดระฆัง....."พระไตรปิฎก" บนก้อนปูนเปลือกหอย


สุดยอดของงานศิลปะ ที่ถ่ายทอดศิลปะที่สุดยอดความงามของดินแดนสุวรรณภูมิ เข้ามาผสานกันอย่างลงตัว และงดงาม และ สามารถนำแผนผังคำสอนจาก "พระไตรปิฎก" มาต่อกัน จนดูผิวเผิน คล้ายๆ จะเป็น......พระพุทธรูป "ปางสมาธิ" ประทับบนอาสน์ ฐาน 3 ชั้น ในซุ้มครอบแก้ว

เมื่อวานระหว่างไปรดน้ำผักที่นา ผมได้โทรศัพท์หาท่านพระอาจารย์ที่สอนพระอภิธรรม ที่จังหวัดลพบุรี

และได้กราบเรียนท่านว่า........

หลังจากผมศึกษาพระอภิธรรมแล้ว ก็มาลองอ่าน "ปริศนาธรรม" ที่สร้างอย่าง "วิจิตร" บรรจงในพระสมเด็จวัดระฆังแล้ว
ผมรู้สึก ปิติ และยังมีคำถามเกี่ยวเนื่องที่ยังไม่ชัด และ หรือ ยังสงสัย

พระอาจารย์ท่านก็แสดงความยินดีกับผม และให้คำอรรถาธิบายเพิ่มเติมในข้อที่ผมสงสัยได้อย่างชัดแจ้งทุกประการ

ท่านเห็นตรงกับผม (ทั้งๆที่ยังไม่กราบเรียนท่าน) ว่า....

พิมพ์ทรงเจดีย์ น่าจะเป็นพิมพ์ต้นแบบ และพิมพ์ปรกโพธิ์น่าจะเป็นพิมพ์สุดท้าย

ท่านเห็นด้วยว่า ใครที่ทำได้ขนาดนี้ก็ต้องระดับอัจฉริยะทั้งทางด้าน ธรรมะ ศิลปะ และ มวลสาร 
แบบสามด้านของอัจฉริยะ มารวมกันเป็นหนึ่ง

ที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน

โดยเฉพาะ "หลักธรรม 4" ที่กลายมาเป็น สี่เหลี่ยมชิ้นฟักนี้ เป็นปริศนาธรรม 4 ทั้งอริยสัจ อิทธิบาท พรหมวิหาร สติปัฏฐาน ฯลฯ ที่เป็นองค์ประกอบของ "โพธิปักขิยธรรม" ที่ล้ำลึก

และการย่อรวม "ไตรสรณาคม" (ศีล สมาธิ ปัญญา) มาเชื่อมกับ "ไตรสิกขา" (ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ) จนถึงขั้น "นิพพพาน" 3 ระดับ .......

อันประกอบด้วย
1. "พระโพธิสัตว์ และอริยะบุคล 7" เกศไม่ชนซุ้ม
2. พระอรหันต์ เกศชนซุ้ม
3. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกศทะลุซุ้ม



และสุดยอดของงานศิลปะ ที่ถ่ายทอดศิลปะที่สุดยอดความงามของดินแดนสุวรรณภูมิ เข้ามาผสานกันอย่างลงตัว และงดงาม
และ สามารถนำแผนผังคำสอนจาก "พระไตรปิฎก" มาต่อกัน จนดูผิวเผิน คล้ายๆ จะเป็น......พระพุทธรูป "ปางสมาธิ" ประทับบนอาสน์ ฐาน 3 ชั้น ในซุ้มครอบแก้ว 

ผสมผสานด้วยภูมิปัญญาการนำปูนเปลือกหอยมาบด เผาบางส่วน ผสมกันใหม่ทำให้สามารถพัฒนาตัวเอง กลายเป็นหินปูน 
ที่จะแข็งแกร่ง ใช้เป็นตำรา ได้อีกนานเท่านาน ยิ่งนานยิ่งแกร่ง ยิ่งงดงาม
มีความแกร่งฉ่ำเด่นขององค์พระ ความนวลแบบ "ฉัพพรรณรังสี" ความเหลืองอมฝาดแบบสีจีวร ฉาบทั้งองค์

และสามารถใช้เป็นเครื่องเตือนตน สำหรับ "ผู้ประพฤติธรรม" ได้เป็นอย่างดี

จึงนับว่าเป็น "ยอดอัจฉริยะ" สามประสาน ของการถ่ายทอดพระไตรปิฎก ลงในพระเครื่องชิ้นเดียว 

ที่ทั้งชัดเจน สวยงามน่าพกพา และคงทนไปอีกนานทีเดียว

เท่าที่ผมศึกษาพระเครื่อง (มาเป็นพันๆ ชิ้น) และธรรมะระดับ "พระไตรปิฎก" มาก็ยังไม่มีใครที่ทำได้ระดับนี้ครับ

ผมขอแสดงความคารวะ และความเคารพอย่างสูง 
มายังท่านผู้สร้างทั้งสามฝ่าย มา ณ ที่นี้ ด้วย เทอญฯ

หมายเลขบันทึก: 559182เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2014 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2014 08:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

สำหรับคนห่างวัดอย่างผม อยากจะแย้งเรื่องพิมพ์ทรงว่าถ้าสังเกตุดีๆจะเห็นว่าแบ่งเป็น 4 ลักษณะครับ

1.เกศไม่จรดซุ้ม

2.เกศจรดซุ้มด้านล่าง

3.เกศจรดซุ้มเลยด้านล่างแต่ไม่ทะลุซุ้ม

4.เกศทะลุซุ้ม

ถ้าจากสมมติฐานของท่านอาจารย์แล้วแบ่งเป็น 3 ลำดับ คือ พระอริยบุคคล,พระอรหันต์และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับผมเห็นแย้งนะครับเพราะลักษณะพระที่พบนั้นมี 4 แบบ แล้วตามความคิดของผมว่าน่าจะเป็นแบบนี้มากกว่า

1.เกศไม่จรดซุ้ม = พระโสดาบัน

2.เกศจรดซุ้มล่าง = สกทาคามี

3.เกศจรดซุ้มเลยด้านล่างแต่ไม่ทะลุซุ้ม = อนาคามี

4.เกศทะลุซุ้ม = พระอรหันต์ ,พระปัจเจกพุทธ,พระพุทธเจ้า

ส่วนซุ้มครอบแก้วสำหรับผมนั้นหมายถึง สังสารวัฏหรือวัฏฏสงสารครับ ท่านใดเห็นต่างก็สามารถแย้งได้ครับเพราะคิดและเดาเอาเหมือนกัน.....และเหมือนเดิมอย่าสร้างความวุ่นวายให้แผ่นดินเพราะจะเป็นกรรมติดตัวไปในภพหน้าแม้นว่าจะมีเจตนาดีก็ตาม อุเบกขาพาจิตให้ผ่องใส.....โชคดีมีธรรมะเยอะๆครับท่าน...สวัสดี

ขอบคุณครับที่มาแสดงความเห็นต่าง เพื่อความรอบคอบในการวิพากษ์ครับ

มี 3 สาเหตุ ที่ผมตีความ "ซุ้ม" ว่าเป็น โลก หรือ โลกียะ เพราะ

1. การทะลุซุ้ม น่าจะหมายถึง โลกุตระ (เหนือโลก) ที่น่าจะสื่อมากกว่า สังสารวัฏ ที่การทะลุซุ้ม แปลว่า หลุดพ้น สังสารวัฏ ก็พอฟังได้ แต่ การหลุดไปจาก โลกียะ น่าจะกินความได้ลึกกว่า

2. มีเส้นเชื่อมจากกรอบโลก มาหาศีล ที่ผมตีความว่า "การอยู่ในโลกได้ดีต้องมีศีล" ถ้าตีเป็นสังสารวัฏ ก็พอได้ แต่ผมว่าไม่เนียนเท่าไหร่

และ

3. รูปพระเอียงมาทางขวา ที่เส้นเชื่อมอยู่ ผมตีความว่า "ท่านยังคงเป็นห่วงโลก" จึงหันมา แลัวท่านจะตีความว่าอย่างไรครับ

ในเรื่องเกศชนด้านล่าง หรือชนเข้าไปในซุ้ม ผมตีความว่าเป็นแค่เทคนิคการแกะแม่พิมพ์ มากกว่าเจตนา

และการจรด หรือชนซุ้มนี้น่าจะมีความหมายเดียวกันคือ โลกะวิทู (รู้แจ้งใน "โลก" และไม่ใช่รู้แจ้งในสังสารวัฏ นะครับ) ถ้าท่านจะแยกเป็น 2 แบบ นั้น ท่านจะตีความว่าอย่างไร เพราะอริยะบุคคลที่ท่านพยายามแยกนั้น ก็ยังไม่ถึง โลกะวิทู ทั้งหมด ยังไม่น่าจะแยกจากกันได้

จากพระอภิธรรม ก็ชัดเจนว่า อริยะบุคคลทั้ง 7 ยังไม่พ้น "โลก" จึงยังไม่ถึงขั้น "โลกะวิทู" จึงควรยังอยู่ในโลก

ที่พ้นไปก็น่าจะเป็น "อรหันต์" ขึ้นไป ที่เป็นอริยะ 3 อันรวมถึงปัจเจกพระพุทธเจ้า และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นอกจากนี้ ผมขออ้างมาจากพระสูตร ที่ พระโพธิสัตว์ยังมิปรารถนาจะพ้นไปจากโลก ก็เพื่อต้องการช่วยเหลือสัตว์โลกให้มีทุกข์น้อยลง จึงยังไม่ถึงขั้น โลกะวิทู จึงยังรวมอยู่ในอริยะบุคคลทั้ง 7 ท่านจะอยู่ระดับใดก็แล้วแต่ความสามารถของท่าน

นี่คือคำอธิบายเพิ่มเติมครับ ยังมิได้เห็นคล้อยตามท่านทั้งสองประเด็นครับ

สวัสดีครับอาจารย์ มาอ่านบทความนี้ของอาจารย์ เห็นว่ามีอาจารย์สอน พระอภิธรรม ที่ลพบุรี ผมดีใจมากเพราะกำลังหาอาจารย์ดีๆที่มีความรู้อยู่ครับ พอดีผมเองเป็นคนลพบรึ อยากเรียนถามอาจารย์ว่า พระอาจารย์ที่ว่านั้น ชื่ออะไร และอยู่วัดไหนครับ จะได้ไปกราบครับ ผมเป็นศิษย์ใหม่ พยายามศึกษาวิชาดูพระจากอาจารย์อยู่พูดก็พูดเถอะนะครับ อ่านตำรา 100 ปีเห็นจะเก่งยากครับถ้าไม่ได้เห็นของจริงและสนทนาหาความรู้และคำแนะนำสั่งสอนจากอาจารย์ท่านผู้รู้ แต่ก็จะพยายามอ่านทำความเข้าใจละครับ อยากให้อาจารย์วิจารณืพระสมเด็จองค์นี้ด้วยครับ ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

ผมต้องเรียนถามพระอาจารย์ท่านก่อน แล้วจะแจ้งให้ทราบครับ

สวัสดีท่านอาจารย์สำหรับคนที่ไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งอย่างผม มีความเห็นตามแบบอย่างดังนี้

1.กรอบสี่เหลี่ยมชิ้นฟักหมายถึง ญาณ 4 เท่านั้น ไม่ต้องไปต่อในญาณขั้นต่อไป

2.กรอบครอบแก้วเสมือนวัฏฏะที่สัตว์โลกเวียนว่ายตายเกิดอยู่

3.ฐานทั้ง 3 หมายถึง ชั้นบน อนิจจัง ฐานก็จะไม่เที่ยง ไม่แข็งทื่อ ชั้นกลาง ทุกขัง สังเกตุว่ามีลักษณะคล้ายหัวเรือ ที่ล่องลอยอยู่ในทะเลทุกข์ ก็มีความอ่อนช้อยในศิลปไม่แข็งกระด้าง ชั้นล่าง อนัตตา การไม่มีตัวตน ไม่อาจบังคับได้ ถ้าสังเกตุจะเห็นว่าบางองค์จะมีลักษณะยุบในกลางฐานบ่งบอกความว่างและ เส้นเชื่อมกับครอบแก้วจึงมีอยู่ในฐานชั้นล่างเท่านั้น เพราะตามความเข้าใจของผมแล้วหากฝึกจิตชำระใจได้ในเรื่องนี้ ก็สามารถเห็นหนทางหลุดพ้นจากวัฏฏะนี้ได้

4.ลักษณะองค์พระเอียงไปทางขวาบ่งบอกการใช้สติปัญญาในการพิจราณามากกว่าการใช้อิทธิฤทธิ์ในการหลุดพ้นจากวัฏฏะ เพื่อจะได้ไม่หลงในฤทธาในญาณชั้นที่สูงกว่าชั้นที่ 4

5.ลักษณะพระเกศบ่งบอกถึงชั้นขั้นตอนการหลุดพ้นว่ามีภูมิธรรมในขั้นใด หากยังไม่ทะลุซุ้มขึ้นมาก็ยังเวียนว่ายในวัฏฏะเพียงแต่ไปเกิดในภพภูมิที่สูงขึ้น แต่ก็ยังเวียนว่ายอยู่นั่นเอง

6.เส้นบังคับพิมพ์ชนซุ้มครอบแก้วอยู่ระหว่างช่วงแขน บ่งบอกถึงตัวตนอาตมัน ทำให้การหลุดพ้นจากวัฏฏะยากขึ้นเพราะถูกบังคับด้วยตัวตน

การเชื่อมโยงพิมพ์พระกับหลักธรรมนั้นโดยส่วนตัวของผมนั้น เข้าใจเอาว่าน่าจะใช้หลักไตรลักษณ์ ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าในทุกชนชั้นแม้แต่ผู้ที่อ่านหนังสือไม่ออก เพราะเป็นหลักการแห่งความจริง เพราะไม่ต้องไปหลงกับคำภีร์หรือตำรับตำรา เพียงแต่ใช้สติปัญญาในการไตร่ตรองเท่านั้น หากมีข้อผิดพลาดใดโปรดอภัยให้ด้วย เพราะกระผมไม่นิยมอ่าน(ไม่เคยอ่านพระไตรปิฎกหรือศึกษาธรรมะโดยตรงจากที่ใด)ตำรับตำราใด คิดเองเออเองเอาเท่านั้น และก็คิดแบบหยาบๆเท่าที่สติปัญญาอันน้อยนิดจะคิดได้ ไม่ได้หวังว่าความคิดจะถูกต้อง หากแต่เหมาะสมตามภูมิที่มีอยู่เท่านั้น หากท่านอาจารย์จะกรุณาแก้ไขให้เพื่อชักจูงให้ภูมิธรรมของกระผมสูงขึ้นก็จักเป็นพระคุณยิ่ง เขียนมากมากเรื่องแต่เพื่อการศึกษาแม้จะแสดงความด้อยทางปัญญาก็ยังดีกว่าไม่คิดจะศึกษาเลย โชคดีมีวิจารณาญาณทุกท่าน ...สวัสดี

ก็ชักจูงอยู่นี่ครับ ผมก็รู้เล็กๆน้อยๆเท่านั้นครับ

อิอิอิอิอิอิอิอิอิอิอิอิ

แล้วพิมพ์อื่นๆเล่าครับ ก็น่าจะมีการเชื่อมโยงกับหลักธรรมตามจินตนาการของแต่ละท่าน เรียนรู้วิธีดูพระอย่างเดียวคงไม่เหมาะถ้าจะให้ดีต้องมีธรรมะแทรกอยู่เป็นกระสายา ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป การสอนธรรมย่อมใช้อุบายที่แตกต่างกัน บ้างใช้อิทธิฤทธิ์ บ้างใช้โวหาร บ้างใช้กิเลสหลอกล่อ แต่เป้าหมายก็คือการเรียนธรรมะแบบธรรมชาติ ผู้ใดเข้าใจธรรมชาติผู้นั้นเข้าใจธรรม ธรรมะไม่ใช่ตำราท่องอ่าน ธรรมะไม่ใช่สิ่งของที่ต้องซื้อหา แค่คิดแค่มีสติระลึกรู้อยู่ตลอดเวลาก็สามารถศึกษาธรรมะได้แล้ว ไม่มีเวลา ไม่มีข้อจำกัดใดๆทั้งสิ้น ก็คงต้องขอให้ท่านอาจารย์เปิดประเด็นใหม่ๆเพื่อการศึกษา เพื่อให้ทานทางปัญญาแก่นักศึกษาทุกท่าน......สวัสดี โชคดีมีความรู้ใหม่ๆทุกท่าน

ผมยังอ่านไม่ออก จะลองดูไปเรื่อยๆครับ

วันนี้มาเพิ่มความเห็นในพิมพ์ 7 ชั้น วัดเกศไชโย ตามแบบแนวความคิดของนักนิยมพระเครื่องรุ่นคุณปู่ที่เผอิญไปอ่านเจอในหนังสือพระรุ่นเก่ามากๆเล่มหนึ่งว่า ฐาน 7 ชั้น นั้นหมายถึง คาถาหัวใจอภิธรรม ได้แก่ สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ ซึ่งเป็นพระคาถาป้องกันสิ่งอัปมงคลและภูติผี เป็นบทสวดพระอภิธรรมหรือพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ โดยหัวใจพระอภิธรรมจะกล่าวถึง จิต เจตสิก รูปและนิพพาน สว่นรายละเอียดอื่นๆในพิมพ์ทรงไม่ได้พูดถึงครับ คงต้องรอให้ท่านๆทั้งหลายคิดจินตนาการเอาเองบ้าง ผิดถูกคงไม่สำคัญครับ เพราะผิดเป็นครูอยู่แล้ว จะมีครูเพิ่มอีกหลายครั้งก็คงไม่เป็นไร ...สวัสดีมีความคิดเห็นมากๆครับ

ก็ฟังมีเหตุผลครับ

และ 6 ชั้นละครับงั้น

คือ มีคนโยงไปหาอายุของท่านเจ้าคุณสมเด็จ ที่ผมก็ไม่อยากเชื่อเท่าไหร่นะครับ

ในความเห็น 6 ชั้น ของผม หมายถึงอายตนะ 6 ครับ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส วิญญาณ มนุษย์เราส่วนใหญ่มักยึดติดกับความคิดของตนเองเท่านั้น ตัดสินถูกผิดจากมุมมองของตน หากมองความคิดที่แตกต่างกัน ถ้ามองให้ดีๆแล้ว ก็ล้วนถูกต้องเสียส่วนใหญ่ ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้มองนั้นๆ หากเราไม่ถอดความคิดและปูมหลังด้านความรู้เราออก และถอยออกมาดูความคิดของผู้อื่น ก็คงมองไม่ออกหรอกครับ เรายึดติดกับความรู้ทางโลก หากมองให้เป็นธรรมชาติ ก็จะพบว่าสิ่งที่ค้นหาอยู่ที่ข้างหน้านี่เอง ตื้นเขินก็คือลึกซึ้ง ลึกซึ้งก็ไม่เกินที่เห็น แต่จะเห็นได้ต้อง "ถอดและถอย" ยอมรับมุมมองที่หลากหลายก่อน และพิจารณาดูก็คงค้นพบปริศนาธรรมที่เป็นสัจธรรมจากใจตนเอง ......ธรรมะอยู่ในธรรมชาติ..สวัสดี

อยากจะไปเยี่ยมที่ร้าน ถ้าจะกรูณาส่งที่อยู่มาทางเมล์ก็จะขอบคุณมากครับ

อันว่าอายตนะทั้ง 6 นั้น แบ่งเป็นอายตนะภายใน 6 และอายตนะภายนอก 6 ซึ่งก็สอดคล้องกับพิมพ์ 6 ชั้นที่มี 2 ลักษณะใหญ่คือ พิมพ์อกตัน และพิมพ์อกตลอด ตามความเห็นพิมพ์อกตันนั้นน่าจะเป็นอายตนะภายนอก ส่วนพิมพ์อกตลอดน่าจะเป็นอายตนะภายใน และน่าจะใกล้เคียงกว่าการอนุมาณของเซียนรุ่นเก่าว่าสร้างถวายโยมมารดาเพราะท่านให้น้ำนมจนผ่ายผอมไป ส่วน 7 ชั้นนั้นโดยส่วนตัวก็ยังไม่ปักใจเชื่อในเรื่องคาถาหัวใจอภิธรรม หากแต่สติปัญญายังไม่สามารถขบคิดจนระลึกรู้ได้ หากสามารถระลึกรู้ได้เมื่อไหร่ ก็คงจะเขียนมาแสดงความเห็นประสาคนห่างวัด แต่ไม่ห่างวัตร ความเห็นเป็นเพียงสิ่งสมมติหากแต่ให้ใช้สติพิจารณาดูก็จะพบความจริงที่กระจ่างได้ในใจ ....โชคดีมีวิจารณญาณทุกท่าน....สวัสดี

ครับ ก็น่าคิดนะครับ ว่ามีภายนอกภายใน อาจจะใช่ก็ได้ครับ

แต่ก็อาจจะเป็นยุคลธรรมคู่ ทั้งหก ก็ได้นะครับ

สำหรับหมวด 7 ถ้าจะให้เดา ก็อาจจะ ธรรมะ หมวด 7 ก็ได้ครับ

เช่น โพธิปักขิยธรรม 7 โพชฌงค์ 7 หรือ สตสมาธิ ก็ได้

สำหรับหมวด 5 ก็อาจจะเป็น อินทรีย์ 5 พละ 5 ก็ได้

ส่วน หมวด 9 ก็อาจจะเป็นในกลุ่มขององค์ฌาน 9 ก็ได้ครับ

เดาล้วนๆเลยครับ

จิตสงบธรรมข้อไหนก็เหมือนกัน ไม่มีถูกผิด ไม่มีเห็นชอบไม่เห็นชอบ ไม่มีทุกสรรพสิ่ง ไม่ไปยึดติดว่ามีหรือไม่มี มีแต่ความว่าง เมื่อกิเลสหรืออารมณ์เข้าครอบงำ ก็ใช้สติพิจารณาดูไปเรื่อยๆจนถึงที่สุดก็คือความว่าง มิใช่กำหนดจิตให้ว่าง หากแต่เมื่อมีอะไรมากระทบจิต ให้ขุ่นมัว ก็พิจารณาด้วยปัญญาว่าสุดท้ายก็คือสุญญตานั่นเอง 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น 9 ชั้น สุดท้ายก็กลับไปสู่ความไม่มี.......................................สิ่งสำคัญคือระลึกรู้....สวัสดี

อีกหมวดของ 9 ชั้น คือ โลกุตรธรรม 9 คือ มรรค 4 ผล 4 และนิพพาน 1 รวมเป็น 9 ก็ได้ครับ

แนวความคิดนี้ เคยมีผู้นิยมสะสมพระเครื่องรุ่นก่อนๆได้แสดงความคิดเห็นมาแล้วครับ หากแต่ว่าสำหรับกระผมเองเห็นว่ายังต้องพิจารณาอีกหลายด้านจึงยังไม่ได้แสดงความเห็นด้านนี้มา เนื่องจากยังไม่มีพระเครื่องที่น่าจะแท้มามากพอที่จะเทียบเคียงและผูกโยงให้เรื่องราวสอดคล้องสมบูรณ์ได้ หากเป็นดั่งข้อสันนิฐานดังกล่าว เกศขององค์พระก็ควรจะทะลุซุ้มขึ้นไป แต่กระผมยังไม่มีตัวอย่างพระในลักษณะนั้น หากแต่มีลักษณะใกล้เคียง คล้ายทะลุคล้ายไม่ทะลุ(ตามสภาพพระที่ได้มาแค่องค์เดียวและก็ยังไม่ได้ส่องขยายด้วยแว่นที่มีกำลังขยายเกิน 10 เท่า) ศึกษาสะสมสุดท้ายคงเหลืออะไร? คล้ายมีคล้ายไม่มี คล้ายรู้คล้ายไม่รู้ พิจารณาดูแล้วใช่ ไม่ใช่ ก็ไม่ได้สลักสำคัญอะไรเลย ไม่มีอะไรให้เรียนรู้ ไม่มีอะไรให้สำเร็จ ไม่มีอะไรเลย มีเพียงอย่างเดียวที่จริงแท้แน่นอนคือ นิพพาน ธรรมอยู่รอบกายเราเอง.......สำหรับปถุชนแล้วรู้มากดีกว่าไม่รู้ สำหรับผู้ฝึกจิต รุ้ตามจริตของตนย่อมพบหนทาง.....โชคดีมีสติไตร่ตรองที่ดีทุกท่าน.....สวัสดีมีชัยให้มีสันติทุกท่าน

น่าจะใช่ครับ "โลกวิทู" ก็ระดับรู้แจ้งในโลก

การที่เกศวนซ้าย (มือเรา หรือขวาของพระ -ทักขินาวัตร-ส่วนใหญ่) หรือขวา(มือเรา-บางพิมพ์) เข้าประกบชนซุ้มไม่ทะลุ น่าจะสื่อในมิตินี้นะครับ

ท่านเป็นคนรอบคอบจริงๆครับ

นับถือ นับถือ

น่าจะใช่ครับ "โลกวิทู" ก็ระดับรู้แจ้งในโลก

การที่เกศวนซ้าย (มือเรา หรือขวาของพระ -ทักษิณาวัตร-ส่วนใหญ่) หรือขวา(มือเรา-บางพิมพ์) เข้าประกบชนซุ้มไม่ทะลุ น่าจะสื่อในมิตินี้นะครับ

ท่านเป็นคนรอบคอบจริงๆครับ

นับถือ นับถือ

อ่านด้วยความระลึกรู้

ชื่นชมอาจารย์ทั้งสองท่านมาก ๆ

ไมมีอะไรครับ....แค่อยากกดไลท์...อิอิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท