หลักไมล์เล็กๆ :  ชั้นเรียนภูมิปัญญาภาษาไทยที่เปลี่ยนไป (๒)


 

 

เมื่อคุณครูจอย – อนุสรา เล่าเรื่องของปอจบแล้ว คุณครูเจน – ญานิสา คำแสน คุณครูหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ระดับชั้น ๕ ก็สะท้อนว่า “คนเป็นครูจะรู้สึกดีที่ได้เห็นพัฒนาการของเด็ก”  แล้วครูเจนก็เล่าวิธีการสร้างแรงบันดาลใจในชั้นเรียนของตนให้ฟังเป็นการแลกเปลี่ยน

 

ครูเจนเล่าถึง เบล - ด.ญ. ปัณฑิตา  ธูปกระแจะ ว่าโดยปกติแล้วมักจะทำงานช้า จนเพื่อนๆ พากันเรียกเบลด้วยความเอ็นดูว่า อิสซาเบลล่า(...ช้า)  เธอชอบวาดภาพ และชอบที่จะเหม่อ เพราะสนุกที่จะคิดเรื่องต่างๆ เบลจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการคิดฝัน ไม่เว้นแม้ในชั่วโมงของครูเจน

 

วันหนึ่งเบลถามครูเจนว่าขอวาดภาพประกอบได้ไหม ครูตอบว่าอนุญาตให้วาดภาพประกอบได้ตอนเขียนโคลง ๔ บรรยายนิทานเรื่องแพะน้อยเสร็จแล้ว 

 

คำตอบของครูทำให้เบลหันกลับไปทำชิ้นงานที่ครูให้โจทย์ไว้อย่างตั้งใจ และเบลก็สามารถทำให้เสร็จสมบูรณ์ได้โดยใช้เวลาเพียง ๕ นาที !

 

 

 

 

ยิ่งไปกว่านั้น เบลยังย้อนกลับไปวาดภาพประกอบให้กับชิ้นงานที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ จนเกือบครบทุกหน้า  เมื่อลองสังเกตภาพประกอบที่เบลวาด ครูก็ได้พบว่าเบลมีแนวโน้มที่จะใช้ภาษาภาพได้ดีกว่าภาษาเขียน ทั้งเส้นและสีของภาพที่เบลวาดฉายความมั่นใจ ความสุข ที่เกิดจากการได้สร้างสรรค์ชิ้นงานออกมาอย่างชัดเจน 

 

ในขณะที่วาดรูป เป็นขณะที่สมองของเบลได้ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านการเขียนอย่างผ่อนคลาย  และสมองก็ได้เรียนรู้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเบลแปลงเรื่องที่เขียนไปแล้วออกมาเป็นภาพประกอบ

 

อีก ๔ วันถัดมา นับจากวันที่เบลวาดภาพประกอบให้กับคำโคลงแพะน้อย เมื่อครูให้นักเรียนเขียนคำโคลงสี่สุภาพจากนิทานเวตาล  เบลมีอาการงอแง และพึมพำออกมาให้ได้ยินว่าไม่อยากทำ

 

ครูเจนจึงถามเบลว่า “ชื่อหนูแปลว่าอะไรนะ”

 

เบลตอบว่า “ปัณฑิตา แปลว่า บัณฑิตค่ะ”

 

ครูเจนบอกกับเบลว่า  “บัณฑิตต้องฝึกฝนตนเอง...  คราวที่แล้วหนูทำงานเสร็จได้ภายใน ๕ นาที  ครูจะคอยดูว่าครั้งนี้หนูจะลบสถิติเดิมได้ไหม”

 

เสียงเบลดังมาให้ได้ยินว่า  “จริงเหรอคะ !”

 

และในที่สุดเบลก็สามารถรักษาสถิติไว้ได้ด้วยการเขียนงานให้เสร็จสมบูรณ์ได้ภายใน ๕ นาที เช่นเดิม

 

 

 

 

 

เสียงอุทานของเบล สะท้อนให้เห็นได้ชัดว่าความสำเร็จในการเขียนคำโคลงของเบล ได้รับแรงกระตุ้นจากงานวาดภาพประกอบซึ่งเป็นทั้งเครื่องจูงใจในการทำงาน และเป็นทั้งเครื่องมือในการสรุปความคิดออกมาเป็นภาพ กระบวนการที่เกิดขึ้นนี้ช่วยให้เบลจัดการกับความคิดของตัวเองได้ดีขึ้น อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เจ้าตัวได้พบกับศักยภาพในการใช้ภาษาที่มีอยู่  แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามี  

 

 

ในขณะที่เบลทำการแบ่งภาพเล่าเรื่องออกเป็นตอนๆ ในลักษณะของการ์ตูนช่อง  เบลกำลังอยู่ในกระบวนการของการย้อนกลับมาทำความเข้าใจกับชิ้นงานที่ตนเองเขียนขึ้นซ้ำอีกครั้งอย่างเพลิดเพลิน  เพื่อคิดหาวิธีการถ่ายทอดอย่างสร้างสรรค์ออกมาเป็นภาพ และกำลังสร้างถ้อยคำอีกชุดหนึ่งขึ้นมาถ่ายทอดเนื้อหาเดิม ด้วยสำนวนใหม่ในความเข้าใจของตัวเอง

 

 และชิ้นงานที่เบลสร้างขึ้นจึงเป็นงาน ๓ ภาษา ที่ประกอบไปด้วย ภาษาพูด (ผ่านความเข้าใจของตัวละครที่ได้สร้างขึ้น)  ภาษากวี (คำโคลง) และภาษาภาพ (ประกอบ)

 

 

 

 

 

แม้ว่าตอนนี้เบลจะถ่ายทอดความเข้าใจออกมาด้วยภาพได้ดีกว่าการถ่ายทอดออกมาเป็นถ้อยคำ แต่หากเบลพัฒนาการเขียนของตัวเองไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเบลก็จะสามารถสื่อสารผ่านการเขียน และการวาดออกมาได้ในคุณภาพที่เสมอกัน

 

ครูเจนสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของตัวเองว่า...

 

“ก่อนนี้ก็ตรวจสมุดตามหน้าที่ แต่พอเด็กวาดภาพประกอบมา รู้สึกการตรวจสมุดงานเริ่มกลายเป็นความสุข  สมุดจดงานไม่ใช่แค่สมุดบันทึกความรู้  แต่ยังบันทึกความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะที่เรียนรู้ด้วย...คำชื่นชมของครูมีผลกับเด็กมากจริงๆ  ไม่ว่าใครก็ต้องการคำชื่นชม  ถ้าหากมีอาการขี้เกียจทำงานเมื่อไหร่ เจนจะชวนให้ย้อนกลับไปดูงานเก่าของตัวเอง กลับไปดูที่ความสำเร็จเล็กๆ ของตัวเอง เพื่อให้เขาเกิดพลังที่จะทำงานชิ้นใหม่”

 

 

 

 

โคลงนานาสำนวน จากห้อง ๕/๓

โจทย์  “ให้เล่านิทานเรื่องแพะ เป็นโคลงสุภาพ ๑ บท ที่มีสัมผัส”

 

จ้า – ด.ญ. เจ้าพระยา  วงศ์หนองเตย 

ชื่อเรื่อง  แพะในฤดูหนาว

 

          ฤดูนี้นั้นหนาวเหน็บ               เยือกเย็น

แพะเดินไปมาเห็น                          หนังเสือ

ห่มหนังเสือแล้วเห็น                        หมาป่า

โดนกินคงไม่เหลือ                         กระโดดหายไป

 

 

เป๊ป –  ด.ช. พนธกร  ประเสริฐสุข 

ชื่อเรื่อง  แพะกับหนังเสือ

 

          แพะน้อยหนาวสั่นกาย              ลมหนาว  พัดมา

เห็นหนังเสือแพรวพราว                       ห่มหลัง

เจอหมาป่าถึงคราว                             ตกใจ

รู้ตัวห่มแค่หนัง                                  เผ่นหนีใจหาย

 

 

หมายเลขบันทึก: 557081เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2013 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2014 10:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ภาษาไทยสร้างชีวิต ชีวิตสร้างค่าภาษาไทย ชื่นชมกิจกรรมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท