หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

รวมเรียนรู้ป่า (๙)


แปลกใจตัวเองที่ไม่เคยเฉลียวว่าอุทัยธานีเป็นเมืองโบราณ มองจากสะพานลงมาที่วัดโบสถ์ก็ไม่ได้นึกว่าวัดนี้จะเก่ากว่าวัดท่าซุง ที่ไม่นึกก็เพราะสิ่งก่อสร้างที่เห็นดูใหม่จัง ดูจากสินค้าที่ชาวบ้านขายอยู่หน้าวัดรู้สึกว่าวัดนี้เป็นวัดของชาวบ้านมากกว่า บรรยากาศร่มรื่น สงบ เงียบสมเป็นวัดทั้งๆที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและตั้งอยู่ในกลางเมือง

ริมแม่น้ำสะแกกรังฝั่งเทศบาล

วัดอยู่ติดแม่น้ำแต่ไม่เห็นท่าน้ำ มีสิ่งก่อสร้างอยู่ติดฝั่งแม่น้ำสะแกกรังด้วย ภาพเขียนในโบสถ์โบราณเล่าชีวิตชาวบ้านไว้ด้วย สนใจเรื่องแพโบสถ์น้ำ แต่ดูไม่ออกว่าเป็นหลังไหน หรือจะเป็นศาลาหลังที่มีต้นมะกอกน้ำยืนต้นอยู่เคียงข้าง ชอบใจกับหอระฆังอายุร้อยปีที่ยังใหม่มากๆ

ชีวิตใกล้วัด

เห็นตัววิหารแล้วแปลกใจกับสิ่งที่ขัดแย้งกัน ผนังโบสถ์มีภาพวาดโบราณที่เกิดตั้งแต่สมัย ร.๕ แต่ไหงมีป้ายปูนติดป้ายบริจาคไว้เป็นปี พ.ศ. ๒๕๒๐ แสดงว่าสิ่งที่เห็นไม่ใช่ของเดิมทั้งหมดซิน่า เข้าไปในวิหารก็ไม่เห็นพระพุทธรูปที่สลักจากไม้สักที่มีประวัติเล่าไว้ เห็นบานหน้าต่างวิหารมีลูกกรงกันขโมยด้วย

 

ในวัดมีบ่อเลี้ยงเต่า ในแม่น้ำสะแกกรังก็มีเต่า มีรอยเท้าทิ้งไว้ต่างหน้าบนรอยดินริมน้ำมากมาย ไม่เห็นตัวก็จะเชื่อว่าเป็นรอยเท้าเป็ด น้ำในแม่น้ำสะแกกรังเคยเสียจนกระทั่งเต่าตายเป็นเบือ วันนี้น้ำในแม่น้ำดูดี ฝั่งแม่น้ำฝั่งเทศบาลกำลังปรับปรุง ดินที่พูนไว้สูงกว่าฝั่งวัดมากมาย คล้ายๆกำลังสร้างคันกั้นน้ำ ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมแม่น้ำนี้มีเต่าเยอะ เต่าที่เห็นในวัดเป็นเต่านา ตัวขนาดฝ่ามือ

  เรือโบราณ เต่านา ภาพโบราณ เรือนไม้สักที่วัดโบสถ์

พี่บู๊ดนำทางต่อไปยังยอดเขาสะแกกรัง หวังให้เห็นหลักหมุดแผนที่ สาวๆจำต้องหาห้องสุขาโดยด่วน ลงจากรถก็ตรงรี่ถามทาง สบายตัวแล้วพาเพลินกับวิวมองจากมุมสูง เดินท่องไปจนเห็นพระสังกัจจายองค์เบ้อเริ่ม จากนั้นวิญญาณนักทอยเริ่มตื่น ประมือทอยเหรียญ เสียงเหรียญหล่นดังก๊องแก๊งเพลินดี

มองจากเขาลงมา เห็นตึกรามบ้านช่องเมืองอุทัยธานีเหมือนบ้านตุ๊กตา แปลกใจกับความแรงลม สูงแค่นี้แต่ลมไม่จัด อากาศไม่เย็น แดดส่องเต็มๆ ไม่ร้อน ไม่เหนอะตัว เห็นพระอาทิตย์ตกด้วย

ฟ้าสวย วิวสวย

ใกล้พระสังกัจจายมีวิหาร ในวิหารมีองค์พระ ยกมือสักการะเบื้องนอก ไม่เข้าไปจึงไม่รู้ว่ามีรอยพระพุทธบาทอยู่ในวิหาร ตั้งจิตสำรวมสัมผัสความสงบรอบตัว ยืนรับอากาศบริสุทธิ์บนยอดเขา ด้อมๆมองๆระฆังใบใหญ่ใกล้วิหาร โอ้โห อายุมากกว่าตัวเราอีก ขอตีหน่อยเหอะดังแค่ไหน เหง่ง หว่าง เหง่ง หง่าง เหง่ง หง่าง

สักครู่ได้ยินเสียงเรียกรวมพล ตามกันไปจึงรู้ว่าอีกฟากมีอนุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมราชชนกแห่งร.๑ ประดิษฐานไว้ ถวายสักการะพร้อมอธิษฐานขอบารมีท่านปกปักรักษาบ้านเมือง แล้วแอบหนีพี่บู๊ดลุยดงหญ้าไปตามหาหมุดแผนที่โลกโดยมีน้องมะเดี่ยวเดินนำ อุ๊ยสร้อยเดินตาม

เสน่ห์สถานที่สร้างอิริยาบถที่แตกต่าง

ประเทศไทยเป็น ๑ ใน ๓ ประเทศของทวีปเอเซียที่มีหมุดแผนที่โลกปักไว้บนแผ่นดิน อีก ๒ ประเทศที่ปักหมุดนี้ไว้ คือ อินเดียและเวียดนาม  หมุดนี้สำคัญกับการจัดทำแผนที่ดาวเทียมที่ใช้กันอยู่วันนี้  หมุดประเทศไทยปักในปี พ.ศ. ๒๔๕๗

๓ ชีวิตเดินกันไปท่ามกลางแสงสลัวราง เห็นเงาหญ้าและต้นไม้ไหวๆเป็นเงาดำ ดวงอาทิตย์ลาลับโลกแล้วเหลือแต่แสงสะท้อนมัวๆส่องทางให้ เดินไปพักไปดูแลกันและกัน กว่าจะไปถึงหมุดโลกใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาที  เดินไปได้ครึ่งทางเสียงเจี๊ยวจ๊าวก็ดังแทรกความเงียบขึ้นมา ลูกหลานชาวเฮฮาศาสตร์ที่เดินย้อนออกมาส่งเสียงเชียร์ "อีกนิดเดียวก็ถึงแล้ว" นิดเดียวของหลานๆทำเอาป้าหัวใจเต้นตึกตึก หายใจเร็วๆ รู้ป่ะ...อิอิ

ถึงหมุดโลกแสงริบหรี่ เห็นเสาหินรูปสี่เหลี่ยมตั้งตระหง่านบนฐานหิน เดาว่าจะมีเลขหมุดจารึกอยู่แต่มืดจนมองรายละเอียดไม่ออก จึงได้แต่ถ่ายภาพมาเป็นที่ระลึก แอ๊คท่าให้ได้ภาพมาอวด แล้วชวนกันกลับ

แสงสลัวขนาดนี้ตอนลุยไปดูหมุดแผนที่ดาวเทียม

เดินตามทางชันบนยอดเขายาว ๕๐๐ เมตร พิสูจน์สุขภาพของคน ๓ คนที่เดินไปด้วยกันทั้งไปและกลับได้ดี ขาไปทดสอบความสามัคคีของหัวใจและปอด ขากลับทดสอบความฝ้าฟางของหูตาและภาวะขาดวิตามินเอ หลานๆช่วยกันไชโยหน่อยที่สุขภาพป้าๆผ่านฉลุย

ลมฟ้าเป็นใจให้จุดโคมลอย

กลับออกมาจากดงหญ้า เห็นคนหลายคนชุลมุนอยู่กับการจุดโคมลอย สนุกกันทั้งขาเชียร์ขาลุ้น โชคดีไม่มีฝน จึงได้ลมพัดโคมที่ลอยเรี่ยสิ่งก่อสร้างให้ลอยสูงขึ้นไป ได้เวลาก็ไปต่อ จุดหมายปลายทางคือร้าน to sit 

บนยอดเขางามยังงี้นี่เอง

เจอพี่ตึ๋งกับแม่นุที่ร้านนี้ กินข้าวร่วมกัน อิ่มแล้วเก็บโต๊ะ เปิดฉากทำความรู้จักพี่ขาใหญ่ห้วยขาแข้ง คุณพี่สมพงษ์ สุทธิวงศ์ ผู้ใหญ่ใจดี เลขานุการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เจ้าภาพใหญ่ รวมถึงผู้ใหญ่อีก ๒ ท่านจากสำนักงานปฏิรูปที่ดิน ๒ จังหวัด ท่านหนึ่งเป็นเขยคนอุทัยธานี เคยมาอยู่กระบี่ด้วย

หลังแนะนำตัวให้คุ้นกัน กิจกรรมเล่าสู่กันฟังก็ดำเนินต่อ เรื่องเล่าจากพี่ขาใหญ่มีมุมคิดมากมาย พีี่เชิญชวนให้พวกเราร่วมด้วยช่วยกันส่งเสริมข้าวปลูกเอง ผลิตเองจากมือชาวบ้าน และร่วมด้วยช่วยกันนับหนึ่งกับความฝันเรื่องขายตรงข้าวปลอดเคมี

๗ ธันวาคม ๒๕๕๖

หมายเหตุ

 - ปี พ.ศ.๒๕๑๘ องค์การแผนที่ กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา (Defense Mapping Agency Hydrographic/Topographic Center : DMAHTC) ปรับแก้และย้ายศูนย์กำเนิดของพื้นหลักฐานจากเขากะเลียนเปอร์ ประเทศอินเดีย มาเป็นที่เขาสะแกกรัง จ.อุทัยธานี

- การรังวัดพึ่งพาดาวเทียมดอปเปลอร์ ๙ สถานีเปรียบเทียบตำแหน่งสัมพัทธ์ เทคนิคที่พึ่งพาดาวเทียมดอปเปลอร์ถูกต้องกว่าเทคนิคเดิมในงานโครงข่ายสามเหลี่ยม

-  เป็นหมุดจุดที่ ๒ ของเอเซีย หลักหมุดที่ ๙๑ ที่หลักมีการวงกลมสลักบนหิน

-  จุดที่ ๑ จากจุดศูนย์กำเนิด หลักหมุดที่ ๙๐ อยู่ที่เขากาเรียนเปอร์ ประเทศอินเดีย จุดที่ ๒ หลักหมุดที่ ๙๑ อยู่ที่เขาสะแกกรัง อำเภอเมืองอุทัยธานี จุดที่ ๓ หลักหมุดที่ ๙๒ อยู่ที่ประเทศเวียตนาม

-  ใช้ประโยชน์สำหรับคำนวณและแบ่งแนวเขตเพื่อลงพิกัดแผนที่โลก เป็นหลักฐานสำคัญในการสำรวจแผนที่ทางการทหาร

-  มีลักษณะ เป็นแท่งคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยม เป็นกรอบคร่อมทับจุดของที่ตั้งหมุดแผนที่

-  ค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่กรมแผนที่ทหาร ใช้ในการกำหนดตำแหน่งของหมุดหลักฐานเขาสะแกกรัง คือ ละติจูด ๑๕ องศา ๒๒ ลิปดา ๕๖.๐๔๘๗ ฟิลิปดาเหนือ ลองติจูด ๑๐๐ องศา ๐ ลิปดา ๕๙.๑๙๐๖ ฟิลิปดาตะวันออก มีกำหนดสูง ๑๔๐.๙๘ เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง

หมายเลขบันทึก: 556871เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2013 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2013 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Good to see เมือง อู่ไทย again. I (can't remember the references but) recall a hypothesis that Uthaithani was a junction of trase between Siam (Sukkhothai) and the West (at the time: India, Persia and African nations) on an interesting "Traders Road" (in the same tone as "the Silk Road") from Sukkhothai to Tavoy and the Indian Ocean.

How about the bush mosquitoes?

ยังไม่เคยคนป่วยจากยุงนี้เลยค่ะ หมอไม่รู้ค่ะว่าในเมืองไทยมียุงนี้หรือเปล่า คุณ sr



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท