บทตีความการ์ตูนเรื่อง "ครูเพ็ญศรี ใจกล้า จากห้องเรียนสู่ชุมชน เส้นทางการเรียนรู้ของครูและศิษย์"


    ผมได้รับอีเมล์ให้เขียนบทตีความ การ์ตูนเรื่องครูเพ็ญศรี ใจกล้า ที่ทางมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ กำลังจะทำออกมาเผยแพร่  ในฐานที่เป็นคนเชิญชวนให้ครูเพ็ญศรีไปร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสอนแบบใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ ของมูลนิธิฯ  ผมเขียนเกี่ยวกับครูเพ็ญศรี ใจกล้า ไว้บ้างแล้วที่นี่ครับ ผมอ่านการ์ตูนเรื่องนี้แล้ว ผมตีความว่า ทางมูลนิธิฯ ต้องการนำเสนอเทคนิคการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ โดยใช้ประสบการณ์บางส่วนของครูเพ็ญศรีเป็นตัวละคร นี่เป็นก้าวแรกๆ ของคนในสังคมที่ลุกขึ้นมาส่งเสริมแรงใจครูเพื่อศิษย์ที่คิดและทำเพื่อเด็กๆ จริง .... จึงขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

 

            ประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการใหม่ของครูเพ็ญศรี ใจกล้า จัดเป็นการเรียนรู้แบบรู้จริง (Mastery Learning) ที่ทั้งครูและนักเรียนต่างได้เรียนรู้และร่วมกันสร้างคุณค่าจากกิจกรรมจิตอาสาที่จะพัฒนาชุมชนในท้องถิ่น การส่งเสริมให้นักเรียนทำโครงงานเกี่ยวข้องกับปัญหาหรือสถานการณ์จริงๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในชีวิตและชุมชน เป็นการฝึกให้นักเรียนเรียนอย่างเข้าใจความหมายและรู้เป้าหมายของการเรียนรู้ของตนเอง กอปรกับบทบาทใหม่ของครูเพ็ญศรีที่ไม่เน้นบอกป้อนสอนความรู้ มาเป็นผู้ตั้งคำถามและติดตามดูแลให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จึงเกิดบรรยากาศของการเรียนรู้อย่างจริงจัง ทั้งสนุก ได้ลองผิดลองถูก และมีความสุขจากความภาคภูมิใจที่ได้แก้ปัญหาของชุมชน และที่สำคัญ กระบวนการที่เน้นการปฏิบัติและเน้นให้นักเรียนได้คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเองของครูเพ็ญศรี ทำให้นักเรียนแต่ละคนได้ฝึกทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ อย่างเต็มที่ ส่งผลให้นักเรียนมีพัฒนาการตามสมรรถนะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลาง ๒๕๕๑ อย่างดี

           จากประสบการณ์การลงพื้นที่และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูในเขตพื้นที่จังหวัดมหาสารคามมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ พบว่า ครูที่ยังไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ของตน ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าเพราะห่วงเนื้อหาสาระที่กำหนดไว้ในหลักสูตรฯ ถ้าสอนบูรณาการผ่านการทำโครงงานจะไม่ได้เนื้อหาครบตามถ้วนสาระเป้าหมายของรายวิชาที่กำหนด ผู้บริหารส่วนใหญ่กลัวว่าหากครูสอนไม่ครบจะทำให้นักเรียนสอบตก O-Net เป็นต้นเหตุให้โรงเรียนไม่ผ่านการประเมินประกันคุณภาพการศึกษา โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคมมีปัญหานี้เหมือนๆ ที่โรงเรียนอื่นๆ แต่แทนที่จะสอนแบบเดิมต่อไป ครูเพ็ญศรีกลับตั้งคำถามว่า “มีวิธีการจัดการเรียนรู้แบบใดไหมที่ทำให้นักเรียนได้ทั้งทักษะและเนื้อหาที่ครบถ้วน” และเริ่มทดลองนำการเรียนรู้ผ่านโครงงาน (Project-based Learning) หรือ PBL มาใช้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้การคำถามเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้นักเรียนได้ฝึกคิดฝึกทำ ฝึกทำงานร่วมกันเป็นทีม ไม่เข้าไปแทรกแซงการลองผิดลองถูกของนักเรียนโดยไม่จำเป็น ชวนคิด ชวนถอดบทเรียน พาให้นักเรียนแต่ละคนได้สะท้อน(Reflect) และเรียนรู้จากกความผิดพลาดของตนเอง ดังที่เห็นในตอนที่นักเรียนพยายามสร้างเรือจากขวดน้ำ โดยครูเฝ้าสังเกตกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนในแต่ละกลุ่ม อุปนิสัยใฝ่เรียนรู้และความเป็นครูเพื่อศิษย์ที่คิดและทำโดยเอาผลลัพธ์ที่จะเกิดกับนักเรียนเป็นตัวตั้ง ทำให้ครูเพ็ญศรีพัฒนาตนเองและคอยสร้างสถานการณ์หรือโอกาสที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ จนนำมาสู่การเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูเพื่อศิษย์ที่จัดโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ของครูเพ็ญศรี และการเข้าร่วมโครงการปลูกใจรักษ์โลกของมูลนิธิกองทุนไทยของนักเรียนแกนนำ ดังที่ได้นำเสนอในหนังสือเล่มนี้

           โครงการลดมลพิษฟื้นชีวิตดินของนักเรียนแกนนำกลุ่มฮักนะเชียงยืน เป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการเรียนรู้แบบ PBL บนฐานปัญหาจากชีวิตจริงในชุมชน ทุกคนเห็นประโยชน์และคุณค่าจึงส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วม การเน้นการมีส่วนร่วมด้วยการนำกระบวนการกลุ่มมาใช้ในการพัฒนาข้อเสนอโครงการฯ เช่น การระดมปัญหา การวิเคราะห์ปัญหา และกระตุ้นให้นักเรียนอภิปรายอย่างเป็นเหตุเป็นผล ทำให้นักเรียนได้ฝึกการคิดวิเคราะห์และวางแผนการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ นักเรียนได้ฝึกทักษะการสื่อสารไม่เฉพาะกับเพื่อนนักเรียนหรือครู แต่ได้ติดต่อกับชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และหลายคนที่เกี่ยวข้อง ได้ฝึกทักษะการเรียนรู้ไม่เฉพาะอ่านเขียนหรือแก้โจทย์ในตำรา แต่ได้ฝึกทักษะการแก้ปัญหาด้วยการสืบหาค้นคว้าจากหลายแหล่ง รวมถึงการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากสนามจริง และที่สำคัญ การเรียนรู้จากปัญหาจริงในชีวิต ทำให้นักเรียนได้ฝึกทักษะชีวิตโดยไม่รู้ตัว

           การจัดการเรียนรู้แบบ PBL ของครูเพ็ญศรี สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้สมัยใหม่ที่เน้นให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism) อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ (Meta-cognitive) โดยนำเครื่องมือจัดการความรู้ (Knowledge Management) มาใช้ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ครูมองนักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้จริงๆ ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดกับนักเรียนแกนนำได้ยืนยันแล้วว่า นักเรียนได้ทั้งเนื้อหาและทักษะในศตวรรษที่ ๒๑

หมายเลขบันทึก: 556869เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2013 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ธันวาคม 2013 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ต้องขอบคุณ อ.ต๋อย

ขอบคุณLLENมหาสารคาม

ขอบคุณเพื่อนๆในทีมLLEN

ขอบคุณน้องดาว น้องเบส

ล้วนเป็นส่วนผลักดันให้มีวันนี้

อยากอ่านจังเลยค่ะการ์ตูนเล่มนี้ เป็นรูปวาดน่าสนใจมากเลยค่ะ 

ปล. หน้าแรก GotoKnow ปรับใหม่แล้วนะคะ ใหม่! ส่วนตั๊ว ส่วนตัว กับหน้าแรกของ GotoKnow

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท