นักเขียนในดวงใจ : พนมเทียน


พนมเทียนทำให้ฉันรู้สึกว่า ชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติเป็นชีวิตที่น่ารื่นรมย์ ชีวิตในป่าเป็นชีวิตที่น่าค้นหา หากก็น่ายำเกรง ฉันอยากหาโอกาสไป “เดินป่า” จริงๆ จังๆ บ้าง แต่ “รพินทร์ ไพรวัลย์” เล่า ไปอยู่เสียที่ไหน

  นักเขียนในดวงใจ : พนมเทียน

เกศินี จุฑาวิจิตร

ชุมชน 100 เล่มเกวียนเปลี่ยนชีวิต

        

            บันทึก“หนังสือเปลี่ยนชีวิต” วันนี้ ขอแวะเวียนไปที่ประเด็น “นักเขียนในดวงใจ” กันบ้าง

          ฉันว่านักอ่านทุกคนต่างก็มีนักเขียนในดวงใจด้วยกันทั้งนั้นและอาจจะมีหลายคน  สำหรับฉัน ขอเอ่ยถึงบุคคลคนนี้กันก่อนเป็นปฐมฤกษ์ เขาคือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ประจำปี พ.ศ.2540  

          เงียบ!! อาจจะไม่มีใครรู้จักสักเท่าไร

          แต่ถ้าบอกว่า “พนมเทียน” ล่ะก้อ เชื่อว่านักอ่านรุ่นใหญ่ รุ่นเยาว์น่าจะคุ้นเคย เขานี่ล่ะ รพินทร์ ไพรวัลย์ ตัวจริงใน เพชรพระอุมา

          วรรณกรรมขนาดยาวมากถึงมากที่สุดเรื่องนี้ ทำให้ฉัน “หลง” รักป่า หลงรักรพินทร์จนเผลอๆ คิดว่าตัวเองเป็น “ดาริน” ราชนิกูลสาวนักมานุษยวิทยา ไปด้วย

          ความรู้ชนิดที่เรียกว่า “จัดเจน” ในเรื่องของป่าและปืน ทำให้พนมเทียน “เล่า” เรื่องได้อย่างมีอรรถรส ลำพังเรื่องของป่า มันก็ดูลึกลับและมีมนต์ขลังอยู่แล้ว    ยิ่งเมื่อถูกเรียงร้อยและสอดแทรกด้วยความรักของสองหนุ่มสาวประเภท “คู่กัด” และการผจญภัยอันน่าตื่นเต้นตลอดเรื่อง ก็ยิ่งทำให้เพชรพระอุมามี “เสน่ห์” และเร้าใจมากขึ้น

          ทว่าสิ่งที่ฉันไม่ชอบและติดจะรำคาญมากๆ ก็คือ ฉากที่มีบุหรี่ของทั้งรพินทร์และดาริน

          พิจารณาในแง่ประวัติศาสตร์สังคม “บุหรี่” น่าจะเป็น สัญญะที่สื่อถึง “ชาติตระกูล” และ “การศึกษา” และ “ความอึดอัดคับข้องใจ”

          ทั้งสองคนถือได้ว่าเป็นตัวแทนของผู้มีการศึกษาสูง จบต่างประเทศ

          ความมีชาติตระกูล ... หม่อมราชวงศ์หญิงดารินสูบบุหรี่ เป็นปกติวิสัย ..แต่คนรอบข้างแม้กระทั่งพี่ชายก็ไม่ได้รู้สึกตำหนิหรือมีท่าทีทักท้วงแต่อย่างใด

          ความอึดอัดคับข้องใจ ... จะเห็นได้ว่าในอารมณ์ประเภทนี้ ทั้งสองคนไม่วายที่จะต้องคว้าบุหรี่ขึ้นจุดสูบพร้อมกับอัดแรงๆ

          ซึ่งนอกจากบุหรี่แล้ว คณะพรรคเดินป่าเพื่อตามหา ม.ร.ว. อนุชา วราฤทธิ์ ก็จะมีกาแฟและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ข้างกายเกือบตลอด

         อย่างไรก็ตาม เรื่องราวระทึกใจในไพรกว้างนี้ก็ชวนให้ติดตามได้ตั้งแต่ต้นจนจบอย่างไม่รู้หน่าย ซ้ำยังทำให้รู้สึก “อิน” จนอยากจะตามไปพบกับคุณอำพลที่สถานีกักสัตว์ เพื่อบอกเขาว่า..เลิกอาชีพนี้เถอะ

          อยากไปหนองน้ำแห้ง เพื่อดูความเป็นอยู่ของรพินทร์ พรานใหญ่ผู้มีวิถีชีวิตเรียบง่าย

          อยากไปมรกตนคร เยี่ยมเยียน “แงซาย” คนใช้ผู้ลึกลับของนายหญิงที่บัดนี้ได้กลายเป็นผู้ครองนครตัวจริง

          พนมเทียนทำให้ฉันรู้สึกว่า ชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติเป็นชีวิตที่น่ารื่นรมย์ ชีวิตในป่าเป็นชีวิตที่น่าค้นหา หากก็น่ายำเกรง

          ฉันอยากหาโอกาสไป “เดินป่า” จริงๆ จังๆ บ้าง แต่ “รพินทร์ ไพรวัลย์” เล่า ไปอยู่เสียที่ไหน

 

 

 

 ที่มาภาพ : mamaiplangthai

 

หมายเลขบันทึก: 556123เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2013 06:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2013 06:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ท่านยังมีชีวิตอยู่ อยู่บ้านย่าน พัฒนาการ กรุงเทพฯ ลูกสาวขอไม่รับแขกแล้ว พ่อแก่มากแล้ว ไม่ค่อยสะดวก

พนมเทียน ....ชอบเช่นกันค่ะ

ขอบคุณดอกไม้ทุกดอกค่ะ สำหรับกำลังใจ

ขอบคุณ คุณหมอเปิ้ลและคุณ Bright Lily ด้วยค่ะ สำหรับ comment

เพชรพระอุมาเป็นวรรณกรรมที่อยู่ในใจตั้งแต่เด็กๆ เลยครับ..ติดตั้งแต่อ่านครั้งแรก..ทุกวันนี้หานักเขียนที่เขียนเรื่องยาวๆ แล้วสนุกวางไม่อย่างอย่างเพชรพระอุมายังไม่เจอเลยครับ ก็เลยต้องอาศัยนิยายจีนกำลังภายในเป็นหลัก :)

ผมก็ชอบอ่านหนังสือของพนมเทียนมากครับ โดยได้รับอิทธิพลมากจากพ่อ
พ่อชอบไปเช่าหนังสือของพนมเทียนและคนอื่น ๆ จากร้านเช่ามาอ่านประจำ
และรับบางกอกด้วยก็เลยได้อ่านนิยาย อ่านความรู้อ่านทุกอย่างที่อยู่ในบางกอกครับ
กล่าวสำหรับพนมเทียนแล้ว สำหรับผม ที่ประทับใจ และอ่านได้เรื่อย ๆ คือ ศิวาราตรี ครับ
ผมชอบเรื่องนี้ แบบว่าสนุก ตื่นเต้นดี เนื้อหาแปลกประหลาดดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท