บนย่างก้าวที่พ้นไปจากเงาของตัวเอง


บนย่างก้าวที่่พ้นไปจากเงาของตัวเอง

 

เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

 

          หากมีผู้ใดผู้หนึ่งหลงไหลในงานครูแล้ว  ผู้หนึ่งผู้นั้น  ก็คงจะหลงไหลในการที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เป็นแน่นอนที่สุด  ผู้ที่ชื่นชอบและฝังใจไว้กับงานครู เมื่อเห็นผู้เรียนพัฒนา หรือเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองได้สอน ก็ย่อมเกิดความชุ่มชื่นเบิกบานใจขึ้นโดยทันที  เหมือนแผ่นผืนทะเลทรายที่แห้งผาก ได้รับละอองไออัน   ชื้นเย็นและบอบบางของสายฝน เมื่อแรกที่ทั้งสองฝ่ายได้สัมผัสกันฉะนั้น 

 

           ข้าพเจ้าเขียนเรียงความเรื่องนี้ ด้วยหวังจะให้เป็นอนุสรณ์ถึงการก้าวย่างบนเส้นทางงานครู ซึ่งบัดนี้ หลังจากที่ได้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญามหาบัณฑิต ก็ล่วงมาเป็นเวลาเกือบ 6 ปีแล้ว  หลังจากที่ได้ทบทวนความต้องการของตนเองสักพักว่า  จะดีมากขึ้นเพียงใด หากเราได้ศึกษาไปถึงขั้นสูงสุดของความเป็นวิชาครู และนำสิ่งที่ได้เรียนนั้น มาสอนนักเรียน คงจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย  ความคิดเช่นว่านี้เอง ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เมื่อภาคต้น ปีการศึกษา 2553 เมื่อข้าพเจ้าสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาไทยจากคณะเดียวกันนั้นได้แล้ว 2 ปี และมีอายุได้  27 ปีบริบูรณ์ 

 

          งานวิจัยในระดับดุษฎีบัณฑิต คือ งานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ใหม่  เป็นองค์ความรู้อันไม่มีผู้ใดคิดค้นขึ้นมาก่อน หรือหากมีคิดแล้ว ก็ต้องต่อยอดให้มีคุณค่าและก้าวไปมากกว่าเดิม  ข้าพเจ้าสนใจที่จะพัฒนาความสามารถในการเขียนของนักเรียน เพราะเห็นว่า ทักษะการสื่อความด้วยภาษาเขียนนั้น โดยกระบวนการย่อมเป็นเครื่องมือของการพัฒนาปัญญาความคิด  และเห็นว่า ไม่มีอย่างอื่นที่จะมีคุณยิ่งกว่า เพราะการเขียนเป็นผลมาจากการคิด ขณะเดียวกันกับที่เขียน เราก็สร้างความคิดใหม่ ๆ ขึ้นไปในขณะเดียวกัน  ศิลปะของ   การเขียน  จึงไม่ใช่เพียงแต่การจับความคิดเลื่อนลอยมาร้อยให้เป็นอักษร คำ  หรือประโยค พอให้สื่อความ  ดาด ๆ ไป  แต่เป็นการขัดเกลาความคิดให้เฉียบแหลม ชัดเจน และแจ่มกระจ่างอยู่เสมอ  คุณประเสริฐของการเขียนดังกล่าวมา จึงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าสนใจที่จะศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการเขียนของผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษา โดยมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมประสิทธิภาพของกลไกทางปัญญาที่เกิดขึ้นภายในบุคคลเป็นพื้นฐาน ซึ่งนับว่า เป็นงานวิจัยที่มีความใหม่ในสังคมไทยพอสมควร 

 

          คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะกรรมการบริหารคณะครุศาสตร์ ได้อนุมัติหัวข้อวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้าเป็นลำดับที่ 93   เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.  2556 อันเป็นการอนุมัติในภาคการศึกษาปลาย   ปีการศึกษา 2555  โดยมีคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ประกอบด้วย 

 

          ประธานกรรมการ                             รศ.ดร.อัมพร ม้าคนอง

          อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์                ผศ.ดร.อลิศรา ชูชาติ

          อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม          อ.ดร.วิภาวรรณ วงษ์สุวรรณ์ คงเผ่า

          กรรมการ                                     อ.ดร.ฤดีรัตน์ ชุษณะโชติ

                                                          อ.ดร.ชาริณี ตรีวรัญญู

                                                          ผศ.ดร.สมชาย สำเนียงงาม

 

          หลังจากขั้นตอนของการอนุมัติข้างต้น  ณ ขณะนี้ การวิจัยหายังได้แล้วเสร็จไม่ เพราะข้าพเจ้ายังคงต้องดำเนินการศึกษาเพื่อค้นคว้า และรวบรวมข้อมูลในการดำเนินการวิจัยในด้านต่าง ๆ  ต่อไป   แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าว จะมีช่วงระยะเวลาที่ทำให้ต้องชะลอออกไปบ้าง อันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพ และภาระงานประจำที่ค่อนข้างมาก สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเงาที่ผูกติดตัวและพันรัดใจของข้าพเจ้าไว้แน่น จนบางครั้งก็เห็นว่า ยากที่จะทำให้ดำเนินการวิจัยต่อไปได้  หลายครั้งหลายครา ข้าพเจ้าจึงคิดท้อถอยกับการเรียน      และเห็นว่า ควรหยุดพักเสียแต่บัดนี้  คงถึงคราวที่พอได้เสียที

 

          ยามที่ท้อในคราวนั้น ซึ่งไม่ไกลจากที่เขียนเรียงความนี้ ข้าพเจ้าพลันนึกถึงเป้าหมายในชีวิตของตนเอง  ข้าพเจ้าปรารถนาอะไรบนเส้นทางของการศึกษาในระดับดุษฎีบัณฑิต ชื่อเสียงหรือ คำนำหน้าใหม่หรือ หน้าที่การงานใหม่หรือ เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นหรือ...ข้าพเจ้าตอบทั้งหมดว่า ไม่ใช่ ก็แล้วอะไรกันเล่าคือเป้าหมายของ   การเรียนในครั้งนี้ 

 

          การศึกษาเป็นงานที่แปลกสำหรับผู้ที่รัก  หมายความว่า  เมื่อผู้ใดรักที่จะเรียน รักที่จะศึกษาแล้ว  การเรียนย่อมไม่ปลายทางอันเป็นที่สิ้นสุด  บนเส้นทางของการเรียนปริญญาดุษฎีบัณฑิตนี้  ข้าพเจ้าตอบได้แล้วว่า ตนเองมิได้คาดหวังในผลดังที่คนทั่วไปมอง แต่ข้าพเจ้ากลับคาดหวังในสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียน    นั่นก็คือ  การได้ศึกษา ได้ลงมือค้นคว้า  ได้แก้ปัญหาที่ท้าทาย ได้วิเคราะห์ประเด็นทางหลักสูตรและการสอนที่เกิดขึ้น ได้หาแนวทางใหม่ที่จะพัฒนาผู้เรียนด้านต่าง  ๆ สรุปได้ว่า เป้าหมายของการเรียนคือ เพื่อสนุกในการเรียนรู้  ความสนุกบันดาลให้เกิดความสุขในชีวิต การเรียนในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต จึงเป็นสิ่งมีคุณค่าอันประเสริฐ  สิ่งนี้เองที่ทำให้ข้าพเจ้าตอบตนเองว่า  เป้าหมายของ การเรียนก็คือ เพื่อท้าทายและสร้างความสนุกให้กับการเรียนรู้ของตนเอง  ดังนั้น ถ้าเรารู้แล้วว่า เป้าหมายนั้นก็คือความสุข สิ่งที่ควรเลิกทำเป็นอันดับแรก คือการคิดว่าการเรียนนั้นเป็นทุกข์ เพราะถ้าตลอดเวลาที่เรียน  เรามีแต่ทุกข์  ความสุขก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ แต่การเรียนนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือ  การทำให้เราเกิดความเข้าใจ และเมื่อใดที่เราเข้าใจแล้ว ความสุขย่อมเกิดขึ้น เพราะปัญหาต่าง ๆ ได้คลี่คลายลง 

 

          ข้าพเจ้าเชื่อเหลือเกินว่า คนเราทุกคนเกิดมามีเงาเป็นของตน เงาดำมืดนี้ เปรียบได้กับด้านลบบางอย่างของคนเรา ที่ยึดรั้ง เหนี่ยวโน้มมิให้เราก้าวออกไปจากเงานี้ได้  ตราบใดที่เรายังคงอยู่ภายใต้เงาของเราและไม่ก้าวออกไป  เห็นว่าเงาดำนั้นเป็นธรรมชาติ ไม่ต่อสู้กับธรรมชาติอันหยาบร้ายของตัวเองแล้วไซร้ เราก็จะหลงระเริง กระโดดโลดเต้นไปบนเงานั้น  ทั้งที่มันหาสาระประโยชน์ใดมิได้  ข้าพเจ้าเห็นว่า เราต้องสู้กับเงา และเครื่องมือที่จะทำให้เราเอาชนะเงานั้นได้ก็คือ การศึกษาที่มุ่งสร้างความเข้าใจ และกลายเป็นปัญญาที่จะผลักดันเรา ให้ก้าวพ้นไปจากอำนาจแห่งความมืดนั้นเสีย  การเรียนและการศึกษา จึงมิได้แต่เพียงการตีค่าการันตีด้วยกระดาษใบปริญญา  แต่เป็นการใช้ตราแห่งปัญญา ประทับไปจนจิตใจที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ที่สุดแล้ว  เราสามารถเอาชนะตนเอง และศึกษาเรียนรู้ได้จนถึงขั้นเกิดความเข้าใจในชีวิต เข้าใจในศาสตร์ที่เราศึกษาและเข้าใจว่า เราเป็นเราได้อย่างไร 

 

          เรียงความนี้ หาได้มีบนสรุปเป็นคำประพันธ์กินใจที่ไพเราะ แต่สรุปลงด้วยคำพูดง่าย ๆ  อันเกิดจากใจของข้าพเจ้าว่า  การศึกษาในชั้นปริญญา หรือในชั้นใด ๆ ก็ตาม ก็คือการเรียนรู้ที่จะเข้าใจตนเอง ผู้อื่น  และโลกที่เราอยู่ ให้ชัดเจน กระจ่างแจ้ง แจ่มใส  และงดงาม นี่เป็นเป้าหมายที่ดีที่สุด ที่การศึกษาจะมอบให้แก่เราในฐานะมนุษยชาติ   

 

__________________________________________________________

           

         

         

หมายเลขบันทึก: 556093เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2013 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2013 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชายหนีเงา..ผู้หนึ่ง..เขาวิ่งหนีๆๆๆ..มาจนเหนื่อย..เงานั้น..หายไป..เมื่อเขา..วิ่ง..มาหลบ..อยู่ใต้ต้นไม้..ต้นหนึ่ง.....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท