หินแร่ภูเขาไฟ ช่วยให้ดินมีชีวิต เพราะผลิตออกซิเจนเพิ่มลงไปในดิน


การกำเนิดเกิดขึ้นของภูเขาไฟที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อ 75,000 ปีที่ผ่านมานั้น ถือเป็นภูเขาไฟยุคแรกๆ ที่ว่ากันว่าก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศทำให้เป็นสาเหตุของการ เกิดยุคน้ำแข็งยุคใหม่ของโลก โดยเฉพาะภูเขาไฟลูกแรกที่ชื่อว่า “โทบา” นั้น นำมาซึ่งฝุ่นผงละอองปลิวคละคลุ้งฟุ้งไปในท้องฟ้ามากกว่าหนึ่งปีกว่าที่จะค่อยๆ ตกหล่นลงมา ทำให้พื้นดินมืดมิดยาวนานกว่าหนึ่งปี สรรพสิ่งบนพื้นโลกโดยเฉพาะที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงต่างก็ได้รับผลกระทบกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งใกล้และไกล  จะว่าไปประเทศเพื่อนบ้านของเรานี่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังคงพบแต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ  เถ้า  ฝุ่น ควัน ละอองอยู่เสมอเหมือนกันนะ ในอดีตก็เป็นเถ้า ฝุ่น ควันจากภูเขาไฟ ปัจจุบันก็เป็นเรื่องของเถ้า ฝุ่นควันจากไฟป่าที่เรามักจะได้ข่าวเป็นระยะ ๆ ส่วนบ้านเราปัญหาและอุปสรรคที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองยังไปไม่ถึงไหนก็เพราะ ยังติดอยู่กับ เถ้า ฝุ่น ควัน ผงละอองของการเมืองอยู่นั่นเอง

แผ่นเปลือกโลกที่ไม่ต่อเนื่องและส่วนใหญ่เป็นแผ่นหิน อีกทั้งมีความหนากว่า 40 -50 กิโลเมตร เกิดเป็นแผ่นทวีปต่างๆ เมื่อมาเกยเสยหนุนกันทำให้แผ่นที่ถูกกดดันให้มุดลงไปที่พื้นโลกนั้น ก็ขยับเขยื้อนเคลื่อนตัวเข้าใกล้แกนโลก ทุกๆความลึกที่ 60 ฟุตอุณหภูมิก็จะสูงเพิ่มขึ้น 1 องศาฟาเรนไฮด์ ซึ่งความร้อนจากแก่นโลกเมื่อแผ่ขยายออกมา ทำให้แผ่นหินนั้นหลอมละลายกลายเป็นแมกมาหลอมเหลวเป็นหินข้นหินหนืด ผ่านการเคลื่อนย้ายถ่ายเทไปยังจุดต่างๆ จนเจอกับรอยต่อ (Sub duction Zone) หรือจุดที่เปราะบาง ก็จะผลักดันจนแตกทะละออกมาเป็นปากปล่องภูเขาไฟ

แมกมา ที่ผ่านแรงกดแรงบีบมหาศาลใต้ชั้นเปลือกโลกเมื่อระเบิดโผล่พ้นปากปล่องภูเขาไฟออกมาสู่ชั้นบรรยากาศของเปลือกโลกที่บางเบากว่า จึงทำให้เกิดการเดือด พองตัว อากาศและก๊าซก็ระเหยออกไป กลายเป็นหินชั้นภูเขาไฟในรูปแบบต่างๆ บ้างเป็นแท่งเป็นก้อน บางครั้งก็ใหญ่โตเท่าตึกเท่าบ้านก็มี บ้างก็เป็นลักษณะของหินบอมบ์มีรูปแบบต่างๆที่หลากหลาย บ้างก็เป็นรูปพรุนเท่าๆกันคล้ายรังผึ้ง บ้างรูพรุนมีขนาดเล็ก มีขนาดใหญ่ไม่เท่ากัน บ้างก็เป็นก้อนเท่าเม็ดถั่ว บ้างก็เป็นผงฝุ่น เถ้าธุลี  ปลิวคละคลุ้งและตกสะสมเป็นชั้นหินแร่ภูเขาไฟ หรือเถ้าภูเขาไฟ

หินแร่ภูเขาไฟต่างๆ เหล่านี้เมื่อเย็นตัวพักหมักหมมเป็นเวลาหลายล้านปีก็จะเกิดเป็นผลึกแร่ชนิดต่างๆ เยอะแยะมากมายหลายชนิด เมื่อนำมาบดป่นให้ละเอียดแตกตัว รูปพรุนต่างๆ ก็จะยังคงตัวและสร้างพื้นที่ผิวเพิ่มขึ้น คือยังรักษาโครงสร้างที่เป็นรูพรุนและมีค่าความสามารถในการจับตรึงประจุบวกและประจุลบต่างๆ ที่มีอยู่ในดิน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นแร่ธาตุสารอาหารที่พืชต้องการ อีกทั้งตัวของเขาเองที่เป็นหินสุกหรือหินเดือดแล้ว เมื่ออยู่ในดินก็จะถูกย่อยสลายจากสภาวะการณ์ทางธรรมชาติและจุลินทรีย์ค่อยปลดปล่อยตัวเองออกมาให้กลายเป็นอาหารของพืชทีละน้อย ทีละน้อย โครงสร้างที่โปร่งพรุนช่วยทำให้เป็นแหล่งที่พักอาศัยของจุลินทรีย์ต่างๆ อีกทั้งทำให้โครงสร้างดินโปร่ง พรุน ร่วน ซุย ทำให้การระบายถ่ายเทอากาศทำได้อย่างสะดวกสบาย ช่วยให้ออกซิเจนลงไปในดินได้อย่างมากมายเพียงพอต่อการที่รากพืชและสัตว์นำไปใช้ในการดำรงชีวิตหรือสร้างการเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี

 

มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 555679เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 18:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท