ปัญหากุ้งลอยและตาย ในระยะฝนตก?


ในอดีตประเทศยักษ์ใหญ่ที่รับซื้อกุ้งจากประเทศไทยเราคือ ญี่ปุ่นและอเมริกา  หลังจากอเมริกาโดนก่อการร้ายถล่มตึกเวิลด์เทรดในปี 2001 ก็ทำให้ตลาดกุ้งจากประเทศไทยเราก็พลอยซบเซาลงไปด้วย ยิ่งมีการฟ้องร้องจากเกษตรกรของอเมริกาเองเกี่ยวกับเรื่องการทุ่มตลาด (Anti and Dumping) จากฝั่งเราก็ยิ่งทำให้เกิดการต่อรองฟ้องร้องกันวุ่นวาย จึงทำให้ราคากุ้งกุลาดำตกต่ำประกอบกับผลกระทบจากการเลี้ยงที่มีการปล่อยน้ำจากบ่อเลี้ยงกุ้งสู่แปลงนาข้าวของเกษตรกรเกิดการทะเลาะเบาะแว้งในยุคของรัฐบาลบรรหาร ศิลปะอาชา ซึ่งเกี่ยวดองข้องเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วยจึงทำให้อาชีพเลี้ยงกุ้งหลังจากปี 2544 ไม่ค่อยสดใสมากนัก  แต่ก็ยังพอมีกุ้งขาวแวนาไมด์ ที่เลี้ยงง่ายโตเร็วเข้ามาทดแทนไปพลางๆ ราคาสูงบ้างต่ำบ้าง แต่ก็ยังพอไปได้

แต่เดิมอเมริกาและญี่ปุ่นนั้นไม่ได้รับซื้อกุ้งจากประเทศไทยเรา แต่ได้ซื้อกุ้งจากประเทศอินเดียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องด้วยวิธีการเลี้ยงของทางอินเดียนั้นปล่อยกุ้งที่ไม่หนาแน่นมาก ประมาณ 50,000 ตัวต่อไร่ สามารถเลี้ยงได้นานมากกว่า 4 เดือน กุ้งตัวใหญ่ได้น้ำหนัก สุขภาพแข็งแรง คุณภาพดี จึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดไปโดยปริยาย แต่หลังจากที่อินเดียได้ทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจแก่ญี่ปุ่นและอเมริกา และคว่ำบาตรอินเดียไม่รับซื้อกุ้ง วิกฤตของประเทศอินเดียส่งผลทำให้ตลาดการซื้อขายกุ้งของไทยเราดีขึ้นเป็นลำดับ หรือนับว่าบูมมากๆในปี 2538 – 2541 ซึ่งเรียกว่าเป็นยุคทองของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั้งภาคตะวันออก, ภาคใต้, ภาคตะวันตก และภาคอีสานอย่างถ้วนหน้า

มูลค่าการส่งออกในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ปีละประมาณ 48,000 ล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าเป็นมูลค่าที่สูงอยู่มิใช่น้อย จึงยังทำให้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกระจัดกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มนายทุนใหญ่เสียเป็นส่วนมาก ซึ่งมีกำลังความสามารถในการบริหารจัดการฟาร์มให้ดำรงคงอยู่ได้อย่างยาวนาน ส่วนเกษตรกรรายย่อยนั้นก็ต้องหมั่นขยันขันแข็งในการดูแลรักษาบ่อให้สะอาด และระแวดระวังโรคภัยที่จะเข้ามากร้ำกราย  การป้องกันแก้ไขอย่างหนึ่งก็คือการปล่อยลูกกุ้งที่ไม่หนาแน่นมากเกินไป ดูแลทำความสะอาดบ่อด้วยการเพิ่มจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายขี้กุ้ง อาหารกุ้งโดยตรง ไม่ควรใช้จุลินทรีย์ที่หลากหลายสายพันธุ์ ควรใช้จุลินทรีย์ที่เฉพาะเจาะจง หรือได้รับการคัดเลือกมาโดยเฉพาะ การเลี้ยงที่มีกุ้งอยู่อาศัยจำนวนมาก ก็จะมีขี้กุ้งมากตามมา เมื่อจำนวนเดือนเพิ่มขึ้น กุ้งโตขึ้น ของเสียและก๊าซแอมโมเนีย, ไนไตรท์ และไฮโดรเจนซัลไฟด์ก็เพิ่มขึ้น ควรใช้หินแร่ภูเขาไฟ ซึ่งมีค่าความสามารถในการจับหรือแลกเปลี่ยนประจุบวก (C.E.C. = Cation Exchange Capacity) เข้ามาช่วยจับตรึงก๊าซพิษเหล่านี้ ก็จะช่วยให้ออกซิเจนเพิ่มขึ้น แต่ในระยะหน้าฝน ฟ้าหลัว อากาศปิด กุ้งจะกินอาหารน้อย น้ำแยกชั้น ควรกดใบพัดตีผิวน้าให้ลึกลงไปด้วยการใช้ก้อนหินหรืออิฐบล็อควางทับบนทุ่น เพื่อให้ใบพัดวักอากาศลงไปปล่อยด้านล่างได้ลึกขึ้น ควรลดการให้อาหารให้พอเหมาะพอดีด้วยการเช็คยอ หากเหลือมากก็ควรงดลดน้อยลงกว่าเดิม เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้กุ้งไม่เครียด ลดการตายก่อนจับ ลงไปได้มาก

 

มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 555672เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท