สร้างกองทัพจุลินทรีย์ชนิดดี สู่ผืนดิน


การเพาะปลูกพืชผัก พืชไร่ ไม้ผลต่างๆ ลงบนผืนดิน มักจะประสบความสำเร็จและได้ผลดีในรอบการผลิตแรกๆ  หลังจากนั้นก็จะค่อยเริ่ม ๆ ประสบปัญหานานาชนิด ให้พี่น้องเกษตรกรได้เกิดความท้าทาย ทั้งด้านปริมาณผลผลิต การเจริญเติบโตที่ค่อยๆลดน้อยถอยลง เนื่องด้วยแร่ธาตุและสารอาหารในดินถูกใช้ให้หมดไปในรอบการผลิตแรกนั้น ยิ่งดินที่มีสภาพความสมบูรณ์น้อยด้วยแล้ว ยิ่งจะเกิดผลกระทบด้านลบนี้เร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยเคมีแต่เพียงอย่างเดียว จะยิ่งทำให้คุณภาพดินนั้นเสื่อมทรามลง แน่นแข็ง สะสมความเป็นกรด จับตรึง ยึดปุ๋ยไว้ ทำให้พืชไม่สามารถดูดกินหรือตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ยได้ทำให้พืชที่ปลูกบนพื้นดินที่ใส่แต่เพียงปุ๋ยเคมีอย่างเดียวจะอ่อนแอ ง่ายต่อการเข้าทำลายต่อโรคและแมลง

อีกปัจจัยหนึ่งที่มักจะได้รับผลกระทบไม่แพ้กันก็คือ การสะสมอมเชื้อโรคนานาชนิดไว้ในพื้นที่ ยิ่งปลูกนาน เชื้อโรคก็ยิ่งมาก เนื่องด้วยสิ่งมีชีวิตต่างๆ ล้วนมีสัณชาตญาณในการที่จะดำรงชีวิตให้อยู่รอดตลอดไปตราบนานเท่านาน พื้นที่แห่งหนตำบลใดมีแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา เชื้อโรคก็มักจะเข้ามาอาศัยหลบซ่อนรอวันเวลาที่เหมาะสมออกมาทำลาย ทำร้ายให้พืชได้รับผลกระทบ เนื่องด้วยส่วนใหญ่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซ้ำที่  โดยเฉพาะการปลูกหอม และผักชี จะสังเกตได้ง่ายมาก เพราะจะเกิดการเน่ายุบ ล้มตาย อย่างง่ายดาย เกษตรกรส่วนใหญ่จะไม่ปลูกหอม กระเทียม ผักชี ซ้ำที่กันบ่อยนัก

ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องด้วยประชากรของจุลินทรีย์ชนิดเลว มีการสะสมบ่มเพาะอยู่ในแปลงอย่างหนาแน่นมากเกินไป ทั้งในรูปแบบเซลล์และแบบสปอร์ที่รอวันเจริญเติบโตงอกงามเมื่อได้รับน้ำและอาหารที่เหมาะสม สปอร์ของเชื้อโรคจะทนทานต่อสภาพภูมิอากาศที่โหดร้ายได้ค่อนข้างดี จึงทำให้เมื่อยังไม่ปลูกพืช ก็จะพักตัวไม่แสดงอาการ แต่เมื่อใดก็ตามที่เริ่มเพาะปลูก สปอร์ของเชื้อราโรคพืชต่างๆ เหล่านี้ก็จะค่อยเจริญเติบโตออกมาสร้างปัญหา ทำให้เกิดโรคกล้าเน่ายุบ (บางพื้นที่เรียกโรคหมานอน) โรครากเน่าโคนเน่า, โรคเน่าคอดิน ฯลฯ แต่ถ้าเราสามารถสร้างความสมดุลด้วยการเติมจุลินทรีย์ชนิดดีที่ไม่ทำร้ายพืชอย่างเช่น จุลินทรีย์ไตรโคเดอร์ม่า (Tricoderma spp.) ให้อยู่อาศัยร่วมกันในแปลงในปริมาณที่สอดคล้องสัมพันธ์กับพืชที่ปลูกเชิงเดียวเป็นจำนวนมาก (แต่ไม่เพิ่มจุลินทรีย์ชนิดดีให้สมดุล) ฉะนั้นการใช้จุลินทรีย์ไตรโคเดอร์ม่าในอัตรา 1 กิโลกรัม ขยายเชื้อผสมร่วมกับปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกอีก 50 กิโลกรัม พรมน้ำพอชุ่มชื้น หมักทิ้งไว้ 2 – 3 วัน แล้วนำไปหว่านโรยในแปลง ก็จะช่วยทำมีกองทัพจุลินทรีย์ชนิดดีมีอยู่ทั่วไปในแปลงเพาะปลูก เมื่อเชื้อโรคเจริญเติบโตหรือถูกกระแสลมพัดพามาตก ก็จะถูกจุลินทรีย์ไตรโคเดอร์ม่า ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเชื้อราด้วยกัน เป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่ไม่ทำร้ายพืช แต่ทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อโรคพืชให้อ่อนแอ ล้มตายลง เชื้อโรคจะถูกแย่งอาหาร แย่งที่อยูอาศัย และสุดท้ายจะถูกไตรโคเดอร์ม่าทำลาย ช่วยทำให้แปลงเพาะปลูกปลอดโรคร้ายทำลายพืช อีกทั้งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยไร้สารพิษ

 

มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 555670เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 18:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท