ถึงเวลาหยุด!...........การใช้ยาฆ่าแมลงในพืชผักผลไม้


ในเกือบทุกๆทศวรรษ จะมีระเบียบกฎเกณฑ์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาอย่างมากมายให้เราได้สัมผัสเกี่ยวข้องและต้องปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิตให้สอดคล้องสัมพันธ์กันไปตามสภาพความเป็นจริงของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น มีรูปแบบที่ยากบ้างง่ายบ้างผสมปนเปกันไป... และไม่เว้นแม้แต่ภาคการเกษตรของไทยก็เฉกเช่นเดียวกัน มีการออกมาตรการกฎเกณฑ์ต่างๆจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ, เอกชนหรือแม้แต่กฎของโลกที่เป็นสากลโดยมีประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการสร้างกฎและทฤษฎีต่างๆ เหล่านี้เสียเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้เกษตรกรหรือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศกำลังหรือด้อยพัฒนาปฏิบัติตาม เป็นมาอย่างนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ตั้งแต่เริ่มแรกที่รณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรต้องใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตให้มาก   ทั้งให้เกษตรกรฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อให้ผักใบสวย และต่อมาให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อให้สารพิษตกค้างในพืชผักลดน้อยลง ต่อมาให้เกษตรกรหยุดฉีดพ่นสารเคมีก่อนเก็บเกี่ยว 7 -15 วันเพื่อให้ผักปลอดภัยจากสารพิษ และสุดท้ายพยายามให้เกษตรกรหยุดฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิดเพื่อให้เป็นผักที่ปลอดภัยไร้สารพิษ และหยุดการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อให้ผลผลิตออกมาเป็นผักอินทรีย์ตอบสนองต่อผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศที่ต้องการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงปลอดภัย อายุขัยยั่งยืน

มองในอีกมุมหนึ่งการปรับเปลี่ยนในแต่ละครั้งนั้นจะส่งผลไปยังพี่น้องเกษตรกรที่ค่อนข้างห่างไกลข้อมูลและเทคโนโลยี จึงทำให้การปรับเปลี่ยนแต่ละครั้งล่าช้า และผลผลิตที่ออกมาก็จะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดที่ส่งออก สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ทำให้ประเทศชาติสูญเสียโอกาสในการส่งออกไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องด้วยไม่ผ่านกฎเกณฑ์ที่ประเทศพัฒนาผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงนั้นกำหนดออกมา การปรับเปลี่ยนนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีแต่ละครั้งที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานจนกว่าที่เกษตรกรทั้งประเทศหรือทั้งระบบจะปรับตัวได้ ส่งผลให้สูญเสียโอกาสของเงินทองรายได้จากผลิตผลที่ได้จากภาคเกษตร ประเทศสูญเสียรายได้จากการส่งออกเพราะมาตรฐานผิดแผกแตกต่างไปจากเดิมในเกือบจะทุกสิบปี ที่ทำให้ประเทศเล็กๆอย่างเราไม่มีสินค้าตามมาตรฐานที่ประเทศเจริญแล้วต้องการได้ การตอบสนองต่อผู้บริโภคที่นักการตลาดเปรียบเปรยว่าเป็นเดอะคิงส์ หรือ Customers is the King คือต้องทำให้ถูกใจพระราชา หรือมองอีกมุมหนึ่งนั่นอาจเป็นอาวุธที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้ทำลายประเทศด้อยหรือกำลังพัฒนาทั้งหลายหรือไม่? อันนี้ต้องขออนุญาตฝากทุกๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและไตร่ตรองเลือกเอาแต่สิ่งที่เกิดประโยชน์โดยรวมมาปรับใช้ให้เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องทำตามกฎเกณฑ์ของเขาทุกเรื่องไป!!!

แต่ถึงอย่างไรก็ตามถ้ามองในระยะยาวและโฟกัสเฉพาะเจาะจงไปที่ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็ถือว่าส่งผลดีต่อประชาชนและประเทศโดยรวม เพราะช่วยให้พืชผักผลไม้ที่เกษตรกรผลิตออกมานั้น มีความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค ในระยะยาวยิ่งเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ ความชำนาญมากขึ้นเกี่ยวกับระบบการผลิตหรือปลูกพืชผักแบบปลอดสารพิษ ก็ยิ่งทำให้ผู้บริโภคปลอดภัยไม่ต้องรับสารพิษ สารก่อมะเร็ง และสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เข้ามาในร่างกาย ซึ่งอาจจะเป็นผลร้ายในการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ในอนาคตได้

โดยส่วนตัวการเปลี่ยนแปลงในด้านการหยุดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ถือว่าเป็นมาตรการที่ดีและมีประโยชน์เพราะช่วยให้ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลายหรือถูกทำร้ายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าแมลงรวมทั้งยาฆ่าเชื้อราด้วย อีกทั้งช่วยให้ไม่เกิดสารตกค้างในพืชผักผลไม้ที่จะส่งตรงเพื่อแปรเป็นอาหารไปยังผู้บริโภค (from farm to table) ในมุมนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่เรื่องการหยุดการใช้ปุ๋ยเคมีโดยทันทีทันใด พี่น้องเกษตรกรต้องหยุดคิดสักนิด ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ จะเป็นการสูญเสียโอกาสของรายได้จากผลผลิตที่อาจจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการที่พืชได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เพราะดินนั้นมีการดำเนินกิจกรรมทางด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่องยาวนานไม่ได้หยุดพัก  สารอาหารและอินทรียวัตถุในดินขาดการดูแลเอาใจใส่ไม่มีการสะสมเป็นเสบียงเหมือนในป่าเขาลำเนาไพร ที่ชาวม้งชาวแม้วขุดป่าถางหญ้าหยอดเมล็ดพันธุ์โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยแม้แต่เม็ดเดียวก็งอกงามและให้ผลผลิตได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าดินที่ถูกใช้มาอย่างยาวนาน แล้วหยุดการให้ปุ๋ยเคมีอย่างทันทีทันใดจะได้ผลผลิตดีดังเดิมหรือไม่ ประเทศจะสูญเสียโอกาสจาการส่งออกหรือไม่ อันนี้ก็เป็นแง่คิดในเชิงธุรกิจการเกษตรที่น่าคิดไม่น้อย แต่ถ้าปลูกเพื่อไว้บริโภคกันเองในครัวเรือนก็สมควรที่จะหยุดการใช้ปุ๋ยเคมีเสียทันที แล้วรีบสร้างธนาคารปุ๋ยหมัก (หาอ่านได้ใน http://www.thaigreenagro.com/Aticle.aspx?id=8252)ให้เพียงพอรองรับต่อการขยายเป็นธุรกิจเกษตรเพื่อมีไว้จำหน่ายเลี้ยงปากท้องในครัวเรือน ถ้าเตรียมดินและสะสมปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกให้เพียงพอก็สามารถที่จะทำการเกษตรแบบไม่ใช้ปุ๋ยเคมีการเกษตรแบบยั่งยืนได้

การปรับปรุงบำรุงดินด้วยการเศษไม้ใบหญ้าหรือปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกอยู่ตลอดเวลาจะช่วยให้มีอินทรียวัตถุสะสมอยู่ในดินเพิ่มขึ้นเรื่อยเมื่อมากถึง 5 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมีเพราะดินจะมีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชอยู่แล้ว (ปฐพีวิทยาเบื้องต้น, --พิมพ์ครั้งที่ 8. –กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2541. 547 หน้า.) อีกทั้งยังช่วยให้พืชเจริญเติบโตงอกงามให้ผลผลิตออกมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โรคแมลงรบกวนน้อยลงให้ผลผลิตออกมาแบบไม่ขาดๆ หล่นๆ การดูแลบำรุงรักษาก็ง่ายเพราะพืชมีความแข็งแรงและภูมิคุ้มกันจากสารอาหารที่ได้รับอย่างครบถ้วนสมบูรณ์และที่สำคัญการใช้อินทรีย์วัตถุทำให้โครงสร้างดินดี ไส้เดือนเยอะ แมงมุมแยะ จุลินทรีย์ดีมีประโยชน์ก็เข้ามาอยู่อาศัยอย่างมากมาย ยิ่งเสริมกับการใช้หินแร่ภูเขาไฟจากธรรมชาติ ซึ่งมีแร่ธาตุซิลิก้า (Sio2) ที่ละลายน้ำได้มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ก็จะยิ่งช่วยทำให้เซลล์พืชแข็งแกร่ง ต้านโรคแมลง และสามารถงดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าแมลงได้ทันที  และเปลี่ยนมาใช้เพียงน้ำหมักสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร ตะไคร้หอม สาบเสือ ขมิ้นชัน ไพล กานพลู หรือจุลินทรีย์ชีวภาพที่ใช้ในการป้องกันกำจัดโรคแมลงจากหน่วยงานต่างๆ จากภาครัฐและเอกชนก็มีให้เลือกมากมาย โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอีกต่อไป

มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 555667เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 18:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท