ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

โรงเรียนชาวนา กับการเป็นภาคี KM ตอนที่ 1


ถอดเทปการบรรยาย ของคุณเดชา ศิริภัทร โรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นภาคีเครือข่าย KM กับ สคส.ที่มีศักยภาพในกระบวนการจัดการความรู้ในเรื่องของกระบวนการทำนาที่น่าทึ่ง
ถอดเทปการประชุมภาคีเครือข่าย KM  โดยคุณเดชา   ศิริภัทร  โรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรีวันที่ 19  ตุลาคม  2549  The Tide Resort  อำเภอบางแสน จังหวัดชลบุรี

คุณเดชา ศิริภัทร เริ่มสาธยายในลำดับที่ 7 ต่อจาก ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ด้วยการทักทายพันธมิตรภาคีเครือข่ายการจัดการความรู้ (KM) อย่างเป็นทางการ ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นกันเองด้วยน้ำเสียงที่มาตรฐานตามสไตล์คุณเดชา

 

Storytelling  คุณเดชาเล่าว่า จริงๆแล้วโรงเรียนชาวนาเพิ่งทำ KM อย่างจริงจังมาได้ประมาณ 2 ปี แต่สำหรับในเรื่องของการพัฒนาอาชีพการทำนานั้นเราทำมาตั้งแต่ปี 2532 เนื่องจากเกษตรกรทำนามาก โดยเฉพาะจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวมากที่สุดของประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันชาวนาจะมีปัญหามาก โดยเฉพาะปัญหาด้านหนี้สินและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และชาวนาเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ และปัญหาของชาวนาจัดได้ว่าเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าชาวนานั้นยากจน เนื่องจากชาวนานั้นมีทุกอย่าง แม้กระทั่งที่ผมไม่มี แต่ชาวนาเขามี ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ จักรยานยนต์ ทีวี โทรศัพท์มือถือ แต่สุดท้ายก็คงเหมือนผู้ใหญ่วิบูลย์ ได้กล่าวไว้คือไปเป็นหนี้มา และเอาหนี้มาใช้ ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่ก็คือหนี้สินที่รัฐบาลเลี้ยงเอาไว้ ซึ่งเจ้าหนี้รายใหญ่คือ ธกส. และสหกรณ์ แต่รัฐบาลก็รู้ว่าเป็นหนี้ที่ชาวนาไม่สามารถที่จะนำเงินมาชำระได้  แต่ก็จะเปิดโอกาสให้ชาวนามีหนี้อยู่ตลอด โดยเฉพาะ ธกส. ก็จะให้ชาวนานำเงินมาใช้หนี้ทุกปี แล้วก็กู้ใหม่ ภายในวันเดียวกันนั่นแหละ ซึ่งชาวนาก็จะต้องไปกู้เงินจากที่อื่นมาให้ โดยยอมเสียดอกเบี้ย ร้อยละ 4  ต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นดกเบี้ยที่แพงมาก แต่ก็จ่ายเพียงวันเดียวซึ่งกู้ไปเท่าไหร่ก็กู้จาก ธกส. มาจ่ายให้เท่านั้นแล้วหนี้สินก็จะเพิ่มขึ้นตามทุกปี    อาจกล่าวได้ว่ากู้ตามความต้องการหรือเราอาจะกล่าวตลกๆ ได้ว่า ชาวบ้านใช้จ่ายตามความสามารถ  แต่หาได้ตามที่ตัวเองมีหรือตามที่นา หมายความว่าเขาจะมีนาอยู่เท่าไหร่ เขาก็จะใช้เครดิตเต็มที่นา หรือหลักทรัพย์ แล้วเขาก็จะใช้เงินก้อนนั้นเต็มความสามารถ ซึ่งเอาไปใช้เพื่อการลงทุน แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเอาไปลงทุนเท่าไหร่หรอก  ส่วนใหญ่เอาไปใช้เพื่อการบริโภคจึงทำให้เกิดเศรษฐกิจไม่พอเพียงตามมาจึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านไม่มีทางรอด

 

ความไม่เข้าใจในระบบการคิด  ในด้านปัจจัยการผลิตสำหรับการทำนาจริงๆ แล้วปัจจัยการผลิตในการทำนานั้นถูกกำหนดไว้เรียบร้อยแล้วว่าจะใช้อะไรบ้าง  ซึ่งเทคนิคการทำนาได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นหลายสิบปีแล้ว ชาวบ้านไม่มีองค์ความรู้เลยเกี่ยวกับการผลิตเลย ซึ่งเป็นอาชีพเดียวที่คนทำอาชีพไม่มีความรู้ในเรื่องที่ตนเองทำ แต่ก็สามารถอยู่ได้ ซึ่งเป็นเพียงอาชีพเดียวเท่านั้น หากเป็นอาชีพอื่นก็คงอยู่ไม่ได้ไม่ว่าจะอาชีพครูหรืออาชีพอื่นๆ คงมีเพียงอาชีพทำนาอย่างเดียวที่สามารถอยู่ได้ เพราะมีคนอยากให้อยู่ แล้วชาวนารู้อะไร พันธุ์ข้าวก็ไม่รู้จัก ไม่รู้ว่ามาจากไหน เป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ซื้อเอาอย่างเดียว ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ก็ไม่รู้จักแต่นำมาใช้  แม้กระทั่งตลาดก็ไม่รู้จักว่าจะขายให้ใคร ขายอย่างไร  รู้อย่างเดียวว่าจะกู้เงินย่างไรเท่านั้น ทุกวันนี้ทำนาสะดวกสบายมีโทรศัพท์มือถือสามารถโทรศัพท์สั่งได้เลยให้เขามาส่งถึงที่ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ข้าว รถไถเพื่อเตรียมดิน ซึ่งสะดวกสบายมากแม้กระทั่งการซื้อปุ๋ย และสารเคมีก็จะมีของแถมมากมายเพื่อดึงดูดใจไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ หรือจักรยาน ทั้งนี้แล้วแต่ชาวนาจะเลือกเอา ซึ่งระบบของชาวนาจะมีความซับซ้อนมาก แม้กระทั่งคนที่เราทำงานด้วยก็ไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก

 

            ขอแค่เป็นอิสระในการผลิต  คุณเดชากล่าวว่า จากปัญหาที่ซับซ้อนดังกล่าวก็ไม่รู้ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไร  ซึ่งก็หวังแต่เพียงว่าเราจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านเป็นอิสระในการผลิต สามารถทำปัจจัยผลิตได้เอง ให้ผลผลิตดีกว่าเดิม ต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งระบบการผลิตทั้งหมดนี้เป็นตัวตั้งต้น ซึ่งที่ผ่านมาระบบดังการผลิต การจัดการการจำหน่าย การบริโภคดังกล่าวถูกควบคุมไว้ทั้งหมดเลย แล้วในการจะแก้ไขนั้นเราต้องแก้ไขที่ต้นตอ กล่าวคือทำอย่างไรที่จะให้ชาวนาผลิตข้าวโดยปลอดจากการพึ่งพาจากข้างนอกได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ปัจจัยได้แก่ การจัดการด้านวัชพืช โรคแมลง ปุ๋ยเคมี พันธุ์ข้าว ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือว่าเป็นเทคนิคทั้งหมด ซึ่งโรงเรียนชาวนาเราทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532   เราพบว่าเทคนิคต่างๆ เหล่านี้สถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยต่างๆ เขาไม่ได้ทำ ไม่ว่าจะเป็น เกษตรศาสตร์ ขอนแก่น และแม่โจ้ ก็ไม่ได้ทำเพราะว่ากลุ่มนี้เขาเรียนมาอีกแบบหนึ่ง เขาเรียนมาเป็นผู้รู้เพื่อที่จะไปเป็นผู้สอนชาวนา ไม่ให้ชาวนารู้ เสร็จแล้วส่งบัณฑิตไปรับใช้พวกบริษัทเพื่อเป็น Salesman นักวิชาการ ซึ่งเขาจะทำงานร่วมกันหมดแต่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม ซึ่งถือว่าเป็นวงจรการผลิตที่ทำกันมานาน พร้อมมีคำถามที่ท้าทายว่า การใช้เมล็ดพันธุ์ถ้าคุณไม่ใช้พันธุ์ข้าวของเราคุณจะใช้พันธุ์อะไรจึงจะให้ผลผลิตสูงกว่า ต้านทานโรคดีกว่า ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีคุณจะใช้ปุ๋ยอะไร เพราะปุ๋ยหมักก็มีราคาแพง อีกทั้งวัตถุดิบก็หายาก แถมยังต้องแย่งกันอีก ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง และสารเคมีแล้วคุณจะทำอย่างไรในขณะที่โรคแมลงระบาดทุกวัน ถ้าไม่ใช้รถไถคุณจะใช้อะไรนี่เป็นคำถามที่นักวิชาการโยนลงมา ซึ่งเป็นคำถามเทคนิคที่ชาวนาไม่มีปัญญาในการตอบหรอก เพราะเทคนิคต่างๆ เหล่านี้มันเป็น Know - how  ดังนั้นถ้าไม่มีใครทำชาวนาไม่มีทางรอดหรอก เพราะนี่เป็นปัญหาที่เราร่วมกันแก้ไขมาโดยตลอด ณ เวลานี้เราสามารถทำได้หมดแล้วโดยเฉพาะเรื่องพันธุ์ข้าวที่ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุด (โปรดติดตามตอนที่ 2 )

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์

24 ตุลาคม 2549

หมายเลขบันทึก: 55552เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2006 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อาจารย์อุทัยค่ะ ถ้าทำนาแล้วไม่อยากซื้อปุ๋ยให้เปลืองตังค์ต้องเลี้ยงโคควบคู่กันไปเพราะโคจะกินหญ้าในนาและให้มูลเป็นปู๋ย  และตอนนี้นาที่ทำอยู่ ข้าวเป็นหนอนกอจำนวนมาก จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเผาซังข้าวทิ้ง เพราะเสียดายปุ๋ยบำรุงดิน มีวิธีแก้อย่างอื่นไหมค่ะ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท