แลกเปลี่ยนกับทีมเบาหวานจากประเทศเวียดนาม


ข้อมูล AAR ที่ได้จากการที่ให้เขียนตอบคำถาม ทำให้เราได้รู้ว่าเขาได้เรียนรู้ตามที่ต้องการและบอกเราได้ว่ากลับไปเขาจะทำอะไรต่อ

ในเดือนตุลาคม ๒๕๔๙ เรามีทีมสหสาขาวิชาชีพจาก Hospital of Endocrinology, Hanoi ประเทศเวียดนาม มาขอเรียนรู้เรื่องของการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ๒ กลุ่ม โรงพยาบาลนี้กำลังขยายทั้งในด้านโครงสร้างและการบริการเพื่อให้ตอบสนองต่อจำนวนผู้ป่วยเบาหวานที่เพิ่มมากขึ้น และเพื่อเคลื่อนไปสู่การป้องกันโรคเบาหวาน จึงต้องมี capacity building อย่างรวดเร็ว วิธีการหนึ่งคือการส่งบุคลากรปัจจุบันให้มาเรียนรู้ model of services ที่ รพ.เทพธารินทร์

คุณธัญญา หิมะทองคำ เป็นผู้ประสานงาน ดิฉันเสนอให้จัดกิจกรรมในรูปแบบของ Peer Assist และวางแผนจะใช้เวลา ๕ วัน โดยจะพาไปเยี่ยมชมการทำงานของสมาชิกเครือข่ายเราที่ต่างจังหวัดด้วย แต่ปรากฏว่าเขามีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ จึงต้องงดกิจกรรมส่วนนี้ไป เหลือเพียงการแลกเปลี่ยนกับทีมของ รพ.เทพธารินทร์กลุ่มละ ๓ วันคือจันทร์ อังคาร และศุกร์ ที่ว่างระหว่างนั้นทีมเวียดนามพากันไปเที่ยวที่พัทยาแทน

ก่อนหน้านี้เราส่งเอกสารที่อธิบายเรื่องของ Peer Assist แบบสั้นๆ สิ่งที่เขาต้องเตรียมตัวล่วงหน้า หัวเรื่องของการแลกเปลี่ยนและกำหนดการไปให้ ทีมเวียดนามต้องเตรียมมาเล่าให้เรารู้ด้วยว่าเขาทำงานในแต่ละเรื่องอย่างไร

กลุ่มแรกที่มามีจำนวน ๙ คน ประกอบด้วยอายุรแพทย์ ๓ คน ศัลยแพทย์ ๒ คน Lab technician ๒ คนและผู้บริหาร ๑ คน กิจกรรมจัดขึ้นในวันที่ ๙, ๑๐ และ ๑๓ ตุลาคม ส่วนกลุ่มที่ ๒ มี ๙ คน เป็นอายุรแพทย์ ๓ คน ศัลยแพทย์ ๑ คน แพทย์ด้าน nuclear medicine ๑ คน พยาบาล ๒ คน นักบัญชี ๑ คนและผู้บริหาร ๑ คน

วันแรกของกิจกรรมเรากะว่าจะเริ่มจาก BAR แต่พอเจอหน้ากันก็ต้องเปลี่ยนใจเพราะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ต้องอาศัยคนแปลเป็นภาษาเวียดนาม และสำเนียงภาษาอังกฤษของเขาฟังยากมากๆ และดูหลายคนในทีมของเขาค่อนข้างตื่นเต้น ดิฉันจึงเพียงแต่ให้มีการแนะนำตัวกันสั้นๆ

หัวข้อของการแลกเปลี่ยนเริ่มจากภาพรวมของการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน การสร้างทีมและการให้บริการ การดูแลด้านอาหารและโภชนาการ การดูแลเท้าและเรื่องของรองเท้า ทีมเวียดนามกลุ่มแรกเตรียมข้อมูลงานของเขามานำเสนอตามหัวข้อที่กำหนดให้ด้วย ส่วนกลุ่มที่สองที่มาในสัปดาห์ถัดไปบอกข้อมูลเหมือนกลุ่มแรก เพราะมาจากที่เดียวกัน

ทีมเวียดนามกลุ่มที่ ๑ ถ่ายภพากับเราในวันที่สาม

ทีมเวียดนามมีความเอาจริงเอาจังมาก ผู้ที่รับหน้าที่แปลของกลุ่มแรกพก dictionary มาด้วย แปลด้วยเสียงดังฟังชัด ดิฉันเข้าใจว่าผู้ร่วมทีมอ่านภาษาอังกฤษจาก slide ใน PowerPoint ที่ฝ่ายเรานำเสนอได้ จึงมีการ discussion และคำถาม บรรยากาศจึงค่อนข้างคึกคัก กิจกรรมวันแรกเริ่มตั้งแต่เช้า ๐๘.๓๐ น.วันนี้เป็นหัวข้อเรื่องภาพรวมของการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและการสร้างทีมดูแล รับผิดชอบโดย ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ ภาคบ่ายเป็นบทบาทของ diabetes care team และการให้บริการ โดย พญ.สิริเนตร กฤติยาวงศ์ และการทำงานของ diabetes educator โดยคุณสุนทรี นาคะเสถียร

ในวันที่สองเป็นเรื่องของอาหารและโภชนาการ การทำงานของนักกำหนดอาหาร ซึ่งอาจารย์ศัลยา คงสมบูรณ์เวช รับผิดชอบ เริ่มกิจกรรมตอน ๐๙.๐๐ น. ทีมเวียดนามรีบบอกเราก่อนว่าวันนี้ขอเลิกเร็วหน่อยเพราะเขาเหนื่อยและต้องการจะไป shopping คุยกันภายหลังจึงรู้ว่าตามปกติเขาพักกลางวัน ๒ ชม.และมีการนอนพักด้วย เราจึงปรับโปรแกรมให้เหลือเพียงครึ่งวันและเป็นการ “ให้ความรู้” มากกว่าแลกเปลี่ยน เนื่องจากทีมเวียดนามบอกว่าเขาเพิ่งตั้ง department of nutrition ได้เพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น ยังไม่มี specialist ทางด้านนี้ แพทย์เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและยังเล่าว่าผู้ป่วยเบาหวานของเขาส่วนใหญ่จะผอม BMI เฉลี่ยประมาณ ๒๐ ไม่ค่อยมีคนอ้วน ผู้ป่วยของเขาส่วนใหญ่เป็น farmer กินข้าวเยอะ เนื้อสัตว์น้อย และไม่ได้ดื่มนม

การให้ข้อมูลเรื่องอาหารนี้ดำเนินไปอย่างช้าๆ คุณธัญญา หิมะทองคำ ช่วย take note บนกระดาน โดยบันทึกคำที่เป็น key word ต่างๆ ที่เขาจะสามารถไปค้นต่อทางอินเตอร์เน็ตได้ เราได้รู้ว่ามีคำภาษาเวียดนามหลายคำที่ออกเสียงคล้ายภาษาไทย เช่น มังคุด เต้าหู้

วันที่สามของกิจกรรม ช่วงเช้าเป็นเรื่องของ Foot Care ที่รับผิดชอบโดย พญ.ศรีอุไร ปรมาธิกุล และ นพ.ทวีศักดิ์ ศรีคำมุล ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม มีแพทย์ ๒ คนและพยาบาลอีก ๒ คนจาก Medical University Hospital of Hochimin City มาร่วมสมทบด้วย ทีมนี้มีประสบการณ์มาระดับหนึ่งแล้ว ข้อมูลที่เตรียมมาแลกเปลี่ยนกับเรามีเนื้อหาตรงตามที่เราอยากรู้มากที่สุด บรรยากาศจึงคึกคักและมีการแลกเปลี่ยนมากขึ้น คุณหมอทวีศักดิ์ไปถามภาษาเวียดนามจากเพื่อนคำว่า “ขอบคุณ” มาใช้ด้วย

ทีมจาก Medical University Hospital of Hochimin City

 สองหมอชาวไทยนำเสนอปัญหาต่างๆ ของผู้ป่วยที่พบบ่อยและวิธีการดูแลรักษาด้วยภาพ จึงทำความเข้าใจกันได้ง่าย คุณหมอทวีศักดิ์นำเทคนิค vacuum dressing มาเล่า ซึ่งทีมจากเวียดนามบอกว่าไม่เคยได้ยินและอยากจะนำไปใช้ต่อ ดิฉันรับปากจะประสานให้ได้ติดต่อกับ ผศ.ดร.นิโรบล กนกสุนทรรัตน์ ช่วงบ่ายของวันที่สามเราส่งทีมเวียดนามไปพบอาจารย์สมเกียรติ มหาอุดมพรที่สถาบันราชประชาสมาสัย เพื่อเรียนรู้เรื่องรองเท้า มีคุณยอดขวัญ เศวตรักต นำทาง

ทีมเวียดนามชุดที่ ๒ น่าจะมีปัญหาด้านภาษามากกว่ากลุ่มแรก Translator ซึ่งเป็นอายุรแพทย์รับภาระหนักที่ต้องแปล slide by slide แปลแต่ละครั้งเหมือนจะยาวกว่าที่ฝ่ายเราพูด บรรยากาศของกลุ่มนี้ดูจะ serious มากกว่ากลุ่มแรก เพราะมีเพียงคนสองคนที่คุยภาษาอังกฤษกับเราได้ ดูเขาต้องการจะรู้เรื่องอื่นนอกเหนือจากที่เราจัดให้ แพทย์ด้าน Nuclear Medicine ซักถามเรื่องการรักษาโรคไทรอยด์ ต้องการดูห้องเกี่ยวกับ isotopeศัลยแพทย์ท่านหนึ่งต้องการไปดู case จริงๆ ด้วย และทั้งกลุ่มยังขอดูจุดบริการต่างๆ ของโรงพยาบาลเพิ่มเติมด้วย

บรรยากาศความตั้งใจของทีมเวียดนามกลุ่มที่สอง

ข้อมูล AAR ที่ได้จากการที่ให้เขียนตอบคำถาม ทำให้เราได้รู้ว่าเขาได้เรียนรู้ตามที่ต้องการและบอกเราได้ว่ากลับไปเขาจะทำอะไรต่อ เราต่างก็ได้เรียนรู้จากกันและกัน แม้ฝ่ายเราอาจจะไม่ได้เรียนรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยเบาหวานจากเขามากนัก แต่ก็ได้เห็นความเอาจริงเอาจัง ความตั้งใจ ความรับผิดชอบของทีมเวียดนาม ได้เห็นว่าการมาดูงานของเขาไม่ใช่การมาดูเพียงผิวเผิน แต่ต้องการเอาความรู้กลับไปพัฒนางานของตนจริงๆ แม้ภาษาจะเป็นอุปสรรค แต่เขาก็ช่วยกันแปลให้ทุกคนได้รู้เหมือนๆ กัน

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๙

 

 

หมายเลขบันทึก: 55551เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2006 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท