Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

สถานการณ์ด้านข้อกฎหมายและประเพณีปกครองของรัฐไทย : น่าจะไม่มีแนวคิดว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิดในประเทศไทยก่อน พ.ศ.๒๔๕๒ กล่าวคือ ก่อนการก่อนตั้งรัฐสมัยใหม่ในประเทศไทย


หากเราจะเรียกร้องในมนุษย์ที่เกิดในยุคก่อนที่รัฐไทยจะกำหนดกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ต้องมี "สูติบัตรที่ออกโดยอำเภอ" การเรียกร้องนั้นก็จะเป็นการกระทำที่ไร้ความตระหนักรู้ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์ชาติ

                 จะต้องสังเกตว่า แนวคิดเรื่อง สิทธิในทะเบียนการเกิดของมนุษย์ต่อรัฐเจ้าของดินแดนนั้นเพิ่งเริ่มต้นก็เพียงเมื่อเกิดแนวคิดว่าด้วยรัฐชาติสมัยใหม่ (Modorn Nation State) ในประชาคมโลก ทั้งนี้ เพราะหากเมื่อยังไม่มีแนวคิดเรื่องรัฐชาติสมัยใหม่ ก็ยังไม่มีแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและประชากร และก็จะยังไม่มีแนวคิดเรื่องการจัดสรรเอกชนโดยสัญชาติและโดยภูมิลำเนา

            ดังนั้น มนุษย์หนึ่งที่เกิดนอกประเทศไทยย่อมจะไม่ถูกจำแนกว่า เป็น คนอื่น หรือ คนนอก หรือ คนต่างด้าว เพียงเพราะเกิดนอกอาณาเขตแห่งรัฐ ความเป็นต่างด้าว ก็คือ ความเป็นคนต่างชาติพันธุ์ ในขณะที่ความเป็นคนนอก ก็คือ ความเป็นคนต่างศาสนา

             เมื่อเราสังเกตจากประวัติศาสตร์ของหลายประเทศ เราพบว่า รัฐสมัยเก่ามักแสดงอำนาจปกครองเหนือตัวบุคคลโดยผ่านการสืบเชื้อสายหรือการสืบสายโลหิตของตัวบุคคลนั้นๆ กล่าวกันว่า รัฐในสมัยดั้งเดิมเป็นรัฐในรูปแบบที่มีแนวคิดหลักแบบบุคคลนิยม (Personalism) มากกว่าดินแดนนิยม (Territirialism) รัฐจึงมีลักษณะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) มากกว่ารัฐเจ้าของดินแดน (Territorial State) ทั้งนี้ เพราะการสู้รบระหว่างรัฐเพื่อแย่งชิงดินแดนระหว่างกัน ทำให้ขอบเขตแห่งดินแดนนั้นมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กฎหมายจึงมีลักษณะเป็นกฎหมายที่เกาะติดตัวบุคคล (Personal Law) มากกว่ากฎหมายที่เกาะติดดินแดน (Territorial Law)

              ดังนั้น รัฐที่ยังไม่มีแนวคิดที่จะแสดงอำนาจด้านนิติบัญญัติโดยผ่านดินแดน จึงยังไม่คิดที่จะกำหนดสิทธิหน้าที่ของมนุษย์ไปผูกติดกับดินแดน การจดทะเบียนการเกิดจึงยังไม่ส่อเค้ารางของปัญหาที่ก่อให้บุคคลตกหล่นจากทะเบียนของรัฐ ซึ่งรัฐในที่นี้ก็คือรัฐสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญเป็นประการแรกต่อการออกกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการแสดงอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน[1]  ทั้งนี้ เพราะเมื่อยังไม่มีแนวคิดเรื่องรัฐสมัยใหม่ ก็ยังไม่มีแนวคิดเรื่องการทะเบียนเพื่อบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับประชากรที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตแห่งรัฐ[2]

              ในยุคแรกของทุกประเทศนั้น ความเป็นรัฐยังไม่ขึ้นอยู่กับความมีอยู่ของข้อเท็จจริงทางจิตใจที่เรียกว่า อำนาจอธิปไตย เหนือข้อเท็จจริงทางกายภาพที่เกิดจากทับซ้อนระหว่าง ดินแดน และ ประชากร ดังนั้น หากเราจะเรียกร้องในมนุษย์ที่เกิดในยุคก่อนที่รัฐไทยจะกำหนดกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ต้องมี สูติบัตรที่ออกโดยอำเภอ การเรียกร้องนั้นก็จะเป็นการกระทำที่ไร้ความตระหนักรู้ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์ชาติ

             ดังนั้น ในการพิจารณาสถานการณ์ด้านข้อกฎหมายและประเพณีปกครองของรัฐไทย จึงอยากจะสรุปว่า น่าจะไม่มีแนวคิดว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิดในประเทศไทยก่อน พ.ศ.๒๔๕๒ กล่าวคือ ก่อนการก่อนตั้งรัฐสมัยใหม่ในประเทศไทย


[1] อย่าลืมเลยว่า โดยองค์ประกอบประการแรกของความเป็นรัฐสมัยใหม่ ก็คือ การมีอยู่ของดินแดนของรัฐ
[2] อย่าลืมเลยว่า โดยองค์ประกอบประการที่สองของความเป็นรัฐสมัยใหม่ ก็คือ การมีอยู่ซึ่งประชากรในดินแดนของรัฐ

-------------------------------------------

สถานการณ์ด้านข้อกฎหมายและประเพณีปกครองของรัฐไทย

: น่าจะไม่มีแนวคิดว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิดในประเทศไทยก่อน พ.ศ.๒๔๕๒ กล่าวคือ ก่อนการก่อนตั้งรัฐสมัยใหม่ในประเทศไทย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

วันอังคารที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

-------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 55536เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2006 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 12:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท