แรงจูงใจไตรนิยมในสังคมปัจจุบัน


            มนุษย์กับการดำเนินชีวิตมีหลากหลายปัจจัยที่มีความจำเป็นที่เกื้อหนุนจุนเจือบนเส้นทางแห่งการดำรงไว้ซึ่งความเป็นมนุษย์ การที่จะศึกษาเพื่อให้เข้าใจมนุษย์อย่างถึงรากเหง้าและถึงแก่นแท้นั้นเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนแยบยลเป็นอย่างมาก เนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่เข้าไปมีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ย่อมแสดงออกไปแตกต่างกันทั้งทางด้านกาลและเทศะ และมีปัจจัยเหตุอีกหลายประการที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์เช่น ระดับองค์ความรู้ สภาวะแวดล้อม เพศ วัย เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหตุทั้งหมดทั้งมวลที่เป็นรากฐานกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ในภาวการณ์ต่าง ๆ นั้นทุกรูปแบบล้วนแล้วเกิดจากแรงจูงใจของตัวเองเป็นสำคัญ แรงจูงใจแตกต่างกันย่อมทำให้พฤติกรรมของมนุษย์แตกต่างกันออกไปด้วย...

 

             ทฤษฎีลำดับขั้นของแรงจูงใจ เป็นทฤษฎีอันเอกอุของ อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow : ๑๙๐๘ ๑๙๗๐) นักจิตวิทยาชื่อกระฉ่อน หนังสือที่มีชื่อเสียงของเขาคือ “Motivation and Personality” (แรงจูงใจและบุคลิกภาพ) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ๑๙๗๐ โดยมาจากรากเหง้าที่มีหลักแนวคิดสำคัญที่ว่า การจะศึกษาเพื่อให้เข้าใจมนุษย์อย่างถ่องแท้ต้องศึกษาจาก

                - บุคคลที่มีสุขภาพจิตที่ดี มีอารมณ์ จิตใจและบุคลิกภาพที่มั่นคง ซึ่งการค้นคว้ากฎเกณฑ์ทางจิตวิทยาและบุคลิกภาพที่แล้ว ๆ มา เป็นการศึกษาจากข้อมูลในคนที่บุคลิกภาพบกพร่องในแง่ใดแง่หนึ่ง ซึ่งเท่ากับเป็นการศึกษาจิตวิทยาพิการ (crippled psychology) เขาแสดงทัศนะว่า ควรศึกษาจิตวิทยาจากบุคคลผู้ที่มีสุขภาพจิตดี บุคลิกภาพมั่นคง ประสบความสำเร็จและความสุขในชีวิต เพื่อค้นหาว่าคุณลักษณะของบุคลิกภาพที่ดีนั้นต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง มีแนวทางพัฒนามาอย่างไร

                - ต้องศึกษาคนทั้งคน มาสโลว์แสดงทัศนะว่า วงการจิตวิทยา สังคมจิตวิทยาและจิตแพทย์ มักโน้มเอียงศึกษาคนและวินิจฉัยปัญหาของคนโดยแยกเป็นชิ้นเป็นส่วนแล้วนำมาวิเคราะห์สรุปเป็นกฎเกณฑ์หรือบำบัดรักษา วิธีการเช่นนั้นเสี่ยงต่อความผิดพลาดได้มาก เพราะคนเราประกอบด้วยกาย, อารมณ์, ความคิด ฯลฯ ผสมผสานกัน

            ทฤษฎีลำดับขั้นของแรงจูงใจ อธิบายถึงแรงจูงใจของมนุษย์มีลำดับขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงมีทั้งหมด ๕ ขั้นตอน โดยแรงจูงใจในลำดับต้นต้องได้รับการตอบสนองก่อน แรงจูงใจลำดับสูงจึงจะสามารถพัฒนาเป็นลำดับต่อมา

                แรงจูงใจลำดับที่หนึ่ง มาสโลว์อธิบายว่า มนุษย์ต้องได้รับการสนองตอบทางสรีรวิทยาเป็นปฐมฐานก่อน เช่น มีองค์ประกอบของปัจจัย ๔ คือ มีอาหารรับประทาน มีที่อยู่อาศัย มียารักษาโรค และมีเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น จึงจะพัฒนาความต้องการประเภทอื่น ๆ ตามมาได้ ถ้าหากความต้องการอันดับแรกยังไม่ได้รับการตอบสนองอย่างพอเพียง แรงจูงใจประเภทอื่น ๆ ก็ยากที่จะเกิดขึ้นตามมาได้

               แรงจูงใจลำดับที่สอง เป็นแรงจูงใจเพื่อความปลอดภัยแห่งตนเองและทรัพย์สิน เมื่อความต้องการอันดับแรกได้รับการตอบสนองแล้ว ต่อมาก็เกิดความต้องการที่จะรักษาชีวิตตนเอง ทรัพย์สินของตนเอง เป็นต้น ให้มั่นคงปลอดภัย ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการตอบสนองมนุษย์ก็จะเกิดอาการหวาดผวา เขาเชื่อว่า ความกลัวหลาย ๆ อย่างตั้งแต่ระดับสามัญจนถึงระดับผิดปรกตินั้น เกิดจากการไม่ได้รับการตอบสนองต่อความรู้สึกที่มั่นคงปลอดภัยเพียงพอ

               แรงจูงใจลำดับที่สาม คือแรงจูงใจเพื่อเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ เช่น ความรู้สึกว่าตนเองมีชาติตระกูล มีครอบครัว มีสถาบัน มีหน้าที่การงาน เป็นต้น กับความต้องการถูกรักและได้รักคนอื่น เช่น ต้องการให้มีผู้มาเป็นห่วงเป็นใยตน และตนก็ต้องการห่วงใยอาทรผู้อื่นด้วย

               แรงจูงใจลำดับที่สี่ เป็นแรงจูงใจที่แสวงหาและรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีเกียรติยศทั้งโดยตนเองสำนึกและผู้อื่นกล่าวขวัญยกย่องเชิดชู เช่น ความต้องการมีเกียรติ มีหน้ามีตา ความต้องการมีชื่อเสียงเป็นที่ยกย่องยอมรับนับถือ ความรู้สึกนับถือและเชิดชูตัวเอง เป็นต้น มาสโลว์กล่าวว่า ศักดิ์ศรีที่สำคัญต่อความมีสุขภาพจิตที่ดีคือ ความรู้สึกนับถือและเคารพตนเอง กับการได้รับการนับถือและเคารพจากผู้อื่นที่ไม่ใช่ลักษณะฉาบฉวยและไม่จริงใจ

               แรงจูงใจลำดับที่ห้า เป็นแรงจูงใจเพื่อตระหนักรู้ความสามารถของตนเองกับการประพฤติปฏิบัติตนตามความสามารถ และสุดความสามารถ โดยการเพ่งเล็งประโยชน์ของบุคคลอื่นและของสังคมส่วนรวมเป็นสำคัญ มาสโลว์เชื่อว่า คนทุกคนมีความมุ่งหมายในชีวิต เพื่อจะบรรลุถึงความสมปรารถนาระดับนี้ด้วยกันทั้งนั้นเพื่อที่จะเป็นคนเต็มโดยสมบูรณ์ (Self-actualized person) ซึ่งคนทุกคนสามารถที่จะพัฒนาเป็นคนเต็มโดยสมบูรณ์ได้และบุคคลเหล่านี้ก็เป็นบุคคลสามัญเยี่ยงท่าน หาใช่เทพเจ้าไม่ แต่การที่คนเราจะบรรลุถึงความสมปรารถนาได้ในระดับนี้นั้น ก็จะต้องได้สมความมุ่งหมายของความต้องการในลำดับขั้นต่าง ๆ ทั้ง ๔ ลำดับขั้นในเบื้องแรกอย่างเพียงพอก่อน

         ทฤษฎีลำดับขั้นของแรงจูงใจ ถึงแม้ว่าจะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่มาสโลว์ยอมรับว่า ทฤษฎีดังกล่าวของเขามีข้อยกเว้นอยู่บ้าง บุคคลที่มีบุคลิกภาพเข้มแข็ง มีคุณสมบัติสร้างสรรค์สูงและมีแรงจูงใจใฝ่เป็นคนโดยสมบูรณ์ บุคคลเหล่านี้ แม้ว่าจะได้รับการตอบสนองความพึงพอใจระดับเบื้องต้น ๆ ไม่เพียงพอ เช่น อาจต้องเผชิญกับการถูกเหยียดหยามดูถูก เหยียบย่ำศักดิ์ศรี หรือแม้กระทั่งไม่ได้รับความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น แต่บุคคลเหล่านี้ก็สามารถที่จะมีพฤติกรรมประเภท Self-actualization ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ตัวอย่างเช่น ท่านมหาตมะคานธี ประธานาธิบดีลินคอล์น เป็นต้น

 

            ลำดับขั้นตามธรรมชาติแห่งความจำเป็นของมนุษย์ : แรงจูงใจไตรนิยม

            ทฤษฎีลำดับขั้นของแรงจูงใจในความจำเป็น ๕ ขั้น ของมาสโลว์นั้น เมื่อมองเป็นองค์รวมแล้วในทัศนะของผู้เขียนสามารถแบ่งได้เป็น ๓ ลักษณะ คือ แรงจูงใจมิติกายนิยม  แรงจูงใจมิติจิตนิยม และแรงจูงใจมิติคุณธรรมนิยม หรืออาจเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “แรงจูงใจไตรนิยม”  กล่าวคือ

 

             แรงจูงใจมิติกายนิยม เป็นความจำเป็นพื้นฐาน (basic needs) หรือเป็นความจำเป็นที่เน้นทางวัตถุ (material needs) เพื่อสนองตอบต่อความต้องการในการดำเนินชีวิต อันได้แก่ องค์ประกอบของปัจจัย ๔ ความมั่นคงปลอดภัยทางกาย เป็นต้น ซึ่งความจำเป็นเหล่านี้จำต้องได้รับการตอบสนองจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับความพึงพอใจหรือระดับมาตรฐานของความพอเพียงในแต่ละคน ซึ่งกายนิยมสะท้อนออกมาในทฤษฎีลำดับขั้นของแรงจูงใจของมาสโลว์ในลำดับที่หนึ่งและสอง

 

            แรงจูงใจมิติจิตนิยม เป็นความจำเป็นที่บุคคลต้องการได้รับการตอบสนองทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงปลอดภัยทางจิต (ไม่ถูกคุกคามและทำร้ายทางจิตใจ) การให้เกียรติ ความมีศักดิ์ศรี การได้รับยกย่องนับหน้าถือตา เป็นต้น ซึ่งความจำเป็นและความต้องการเหล่านี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความพอใจหรือระดับมาตรฐานของความเพียงพอในแต่ละคน จิตนิยมสะท้อนออกมาในทฤษฎีลำดับขั้นของแรงจูงใจของมาสโลว์ในลำดับที่สอง สาม และสี่

 

            แรงจูงใจมิติคุณธรรมนิยม เป็นความจำเป็นที่ปัจเจกชนและสังคมพึงปรารถนาเพื่อสร้างความสงบและสันติสุขให้เกิดขึ้นกับสังคม ซึ่งเป็นความจำเป็นที่สำคัญของสังคมในปัจจุบัน แต่กลับมีการผลิตคุณธรรมเข้าสู่ระบบที่น้อยมาก คุณธรรมนิยมสะท้อนออกมาในทฤษฎีลำดับขั้นของแรงจูงใจของมาสโลว์ในลำดับที่ห้า การที่จะก้าวข้ามพ้นผ่านความจำเป็นมาถึงระดับนี้มาสโลว์เชื่อว่าทุกคนต้องได้รับการตอบสนองในลำดับขั้นที่หนึ่งถึงสี่ก่อน แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางคนที่มีกายและจิตมั่นคงและเข้มแข็ง ซึ่งสามารถก้าวข้ามพ้นผ่านสู่ลำดับขั้นที่ห้าได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอจากลำดับขั้นที่หนึ่งถึงสี่ก่อน เช่น ท่านมหาตมะคานธี ประธานาธิบดีลินคอล์น เป็นต้น

 

             หากพิจารณาในสังคมปัจจุบันจะเห็นได้ว่าแรงจูงใจในมิติกายนิยมจะถูกผลิตเข้าสู่ระบบของสังคมเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตของระดับปัจเจกชนจนถึงสังคมโดยรวม จึงอุดมไปด้วยสังคมที่เน้นความเจริญและศิวิไลซ์ทางด้านวัตถุมากกว่าจิตใจและคุณธรรม กลายพันธุ์เป็นสังคมที่ถูกครอบงำโดยกิเลส (ความอยาก) ก่อกำเนิดเป็นลัทธิบริโภคนิยม นำไปสู่จุดเสื่อมถอยทางศีลธรรมและคุณธรรม ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการสร้างความจำเป็นเทียมขึ้นมาในสังคม สร้างมายาคติในทัศนะที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำลายจุดสมดุลของมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดที่อันตรายและเป็นมูลเหตุทำให้เกิดความหายนะที่รุนแรงในสังคม ของมวลมนุษยชาติตามมา...

 

           สิ่งสำคัญในปัจจุบัน สังคมต้องเร่งผลิตคุณธรรมนิยมเข้าสู่ระบบสังคมให้มาก ๆ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนและผลักดันแรงจูงใจทางด้านกายนิยมให้เหลืออย่างพอประมาณ สมเหตุสมผลและสมดุลในสังคม ถึงแม้ว่าองค์ประกอบและส่วนผสมที่จะผลิตคุณธรรมนั้นจะเป็นปัจจัยที่สร้างขึ้นยากและมีแรงเสียดทานทางสังคมเป็นอย่างมาก รวมทั้งต้องใช้องค์ความรู้อย่างมากก็ตามที ไม่เหมือนกับแรงจูงใจทางกายนิยมที่ถูกสร้างขึ้นด้วยองค์ประกอบและปัจจัยการผลิตที่หาได้ง่ายหลากหลายช่องทางการตลาดที่แยบยลในสังคมปัจจุบันเพื่อตอบสนองความอยาก (กิเลส) ของสังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด...

 

 

หมายเลขบันทึก: 554047เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2013 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2013 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

จริงครับ...ปัจจุบันหลักสูตรการเรียนการสอนหายไปหมดแล้ว แรงจูงใจมิติคุณธรรมนิยม เป็นความจำเป็นที่ปัจเจกชนและสังคมพึงปรารถนาเพื่อสร้างความสงบและสันติสุขให้เกิดขึ้นกับสังคม ซึ่งเป็นความจำเป็นที่สำคัญของสังคมในปัจจุบัน แต่กลับมีการผลิตคุณธรรมเข้าสู่ระบบที่น้อยมาก เราจึงได้เห็นภาพในสังคมที่เกิดขึ้นในขณะนี้...เฮอ..เหนื่อย

ขอบคุณที่ช่วยกันรณรงค์แนวคิดดีๆเช่นนี้ อยากเห็นการสร้างบุคคลที่เป็นแบบอย่าง ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เพื่อเป็นแรงจูงใจดีๆให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายค่ะ

คุณธรรมนิยม เริ่มทำที่ตัวเราก่อน ในงาน ในชีวิตเรา ขอบคุณค่ะ

แรงจุงใจสำคัญสำหรับการทำงาน การดำรงชีวิตนะครับ

ขอบคุณมากๆๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท