บทเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน


บทเรียนซ้ำซาก

จากกรณีข่าวที่กำลังเป็นที่สนใจของสังคมมาหลายสัปดาห์ โอ๊ะๆๆๆไม่ต้องตกใจ ไม่ใช่กรณีเขาพระวิหาร ไม่ใช่สถานการณ์ประท้วงคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่มันเป็นกรณีการฆาตกรรมอดีตนักกีฬาทีมชาติคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะเคยมีปมอะไรเกิดขึ้นในใจในอดีตจนน่าจะส่งผลต่อพฤติกรรมในปัจจุบัน ข้าพเจ้าไม่ได้รับรู้ถึงคุณงามความดีที่มีต่อครอบครัวว่าเขาจะเคยมีอยู่บ้างหรือไม่อย่างไร นอกจากลมปากที่แสดงบทบาทต่อหน้าสื่อมวลชนเท่านั้น จึงมิบังอาจวิจารณ์หรือเชิดชูได้

ในฐานะผู้รับสื่อคนหนึ่งข้าพเจ้ารับรู้เพียงก่อนการเสียชีวิต เขาคือผู้ใช้ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ใช้มาเป็นเวลานาน จนภรรยาลุกขึ้นมาดำเนินคดีในความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำการควบคุมตัวผู้ตายไว้ตามกฎหมายโดยไม่ให้ประกันตัว และสื่อมวลชนก็รีบพากันนำเสนอกรณีนี้ต่อสังคม กันอย่างครึกโครมราวกับว่าผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงต่อครอบครัวต่อผู้หญิงและถูกดำเนินคดีนั้นถูกกระทำโดยไม่ได้รับความยุติธรรมเสียเต็มประดา ฮือ!อนิจจา สังคมไทย เมื่อไรจะเปิดหูเปิดตารับรู้กันนะ ว่าผู้หญิงก็คน มีเลือดเนื้อเจ็บปวดเป็น ไม่ได้มีความสามารถพิเศษ หนังเหนียวทนมือทนเท้า ของเพศ ที่โดยสรีระแล้วมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงกว่ามาก หรือเขาคิดว่าผู้หญิงทุกคนสักยันต์คงกะพันหนังเหนียวกันไปหมดอย่างนั้นหรือ  

แต่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเช่นนี้ ไม่ใช่ปัญหาที่ควรจะใช้กฎหมายอาญาที่ใช้กับการกระทำความผิดโดยทั่วไปเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา เพราะความสัมพันธ์ของคู่กรณีมันมีความแตกต่าง อย่างน้อยๆก็ความรู้สึกที่มีต่อกันระหว่างคู่กรณีความสัมพันธ์ที่อาจมีความรู้สึกของหัวใจเข้ามาเจือปน หลายครั้งที่พบว่าผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรง ไม่ได้ต้องการให้สามีและพ่อของลูกต้องติดคุกติดตาราง เพียงแต่ต้องการให้สามียุติการใช้ความรุนแรง มีผู้หญิงหลายคนที่ต้องทนกับการใช้ความรุนแรงของสามีเป็นเวลานาน นานมาก และในหลายๆคนยิ่งอดทนความรุนแรงยิ่งเพิ่มขึ้น ยิ่งนานวันมากขึ้นความรุนแรงยิ่งมากขึ้นๆตามเวลาไปด้วย แต่ไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้เพราะอยู่ในภาวะพึ่งพิงทางเศรษฐกิจจากฝ่ายผู้ใช้ความรุนแรง

และการดำเนินคดีอาญากับสามีตามแนวทางคดีอาญาภาคปกติส่งผลให้เมื่อสามีถูกดำเนินคดี ติดคุกติดตาราง คนที่เป็นฝ่ายประสบปัญหารุนแรงยิ่งขึ้นกลับเป็นฝ่ายหญิงที่อาจไม่ได้ประกอบอาชีพเพราะมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตร ต้องแบกรับภาระทางเศรษฐกิจ และอุปการะเลี้ยงดูบุตรเพียงลำพัง จึงยิ่งยากลำบากมากขึ้นเป็นทวีคูณ เมื่อประสบการณ์ที่ได้รับเป็นเช่นนี้ ผู้ประสบปัญหาความรุนแรง จำนวนมากจึงจำต้องเลือกที่จะอดทนและจำยอมต่อปัญหาต่อไปโดยไม่เห็นจุดสิ้นสุด ท้ายที่สุดมักจบลงด้วยการสูญเสียชีวิต ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง บางกรณีผู้ถูกใช้ความรุนแรงต่อสู้กลับ จนฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงเสียชีวิต บางกรณีฝ่ายที่ถูกใช้ความรุนแรงถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ก่อนหน้ากรณีนี้หากท่านทั้งหลายสนใจ คงพอจำกรณีไม้กอล์ฟพิฆาตกันได้ หลังจากนั้นอีกหลายปี ก็ปรากฏกรณีหมอนักหั่นขึ้นมาฮือฮาและเลือนหายกันอีกครั้งหนึ่ง ทั้ง 2 เรื่องที่กล่าวมารวมถึงเรื่องที่กำลังกล่าวถึง มาแต่ต้นสาเหตุล้วนเกิดมาจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งแน่นอนมีมิติความคิดเรื่องหญิงชายซ่อนลึกอยู่ภายในปัญหาด้วย

จากสภาพปัญหาที่มีความละเอียดอ่อน จนไม่เหมาะสมที่จะนำเอากระบวนการทางกฎหมาย ที่แข็งกระด้างมาบังคับใช้ พัฒนาการของกฎหมายก็เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น คือพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ที่กำหนดกระบวนการทั้งทางคดีความ ที่เป็นการเอาผิดทางอาญากับผู้ที่ทำร้ายร่างกายผู้อื่น กระบวนการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหายจากความรุนแรง กระบวนการเยียวยาทางจิตใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้ความรุนแรง ตลอดจนกระบวนการในการรักษาหรือคงสภาพของความเป็นครอบครัว ตามความหมายที่เป็นที่ยอมรับและนิยมยิ่งของสังคมทั่วไป

คือต้องมีพ่อ แม่ ลูก จึงจะครบองค์ประกอบ (จำเป็นมั๊ย) ถ้ามีแต่แม่กับลูกละหรือมีแต่พ่อกับลูกละ เรียกว่าอะไรถ้าไม่ใช่ครอบครัว (ความจริงมันมีกรณีเช่นนี้ด้วยนะ) กระบวนการตามพระราชบัญญัตินั้นกำหนดศูนย์กลางของการแก้ไขเยียวยาไว้ที่ตัวผู้ประสบปัญหา ซึ่งย่อมหมายถึงผู้หญิง หรือผู้ชาย ที่เป็นผู้ประสบปัญหา มิใช่ ผู้ให้ความช่วยเหลือ หรือแม้แต่ค่านิยมของสังคม ที่จะกำหนดทิศทางของการดำเนินการสำหรับปัญหาในครอบครัวที่ตนกำลังประสบ โดยกฎหมายและ ผู้ให้ความช่วยเหลือทั้งหลายเป็นเพียงเครื่องมือ หรือผู้อำนวยความสะดวกในการเข้าสู่กระบวนการต่างๆของกฎหมายเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ตัดสินใจหลัก (ท่านที่สนใจกรุณาอ่านเพิ่มเติมในพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวพ.ศ.2550สืบค้นได้จากเว็บไซต์ของคณะกรรมการกฤษฎีกา)

หากทว่ากรณีนี้ ที่เกิดขึ้นภายหลังพระราชบัญญัติประกาศใช้และมีผลบังคับแล้ว นั้น ได้ผ่านกลไกการตัดสินใจของผู้ประสบปัญหา และได้พยายามใช้มาตรการต่างๆตามพ.ร.บ. แล้วหรือไม่เพียงไหน ในข้อเท็จจริงอย่างละเอียดข้าพเจ้าไม่อาจทราบได้ เพียงแต่สันนิษฐานจากระยะเวลาที่ได้รับรู้ตามข่าวที่เกาะติดและเสนออย่างต่อเนื่องนั้นเชื่อว่ากรณีนี้ไม่ได้ผ่านกระบวนการต่างๆ ตามพระราชบัญญัติ ก่อนนำไปสู่การคืนดีและคงสภาพความเป็นครอบครัวที่ต้องมีองค์ประกอบครบเอาไว้ตามข่าว และเท่าที่ทราบจากข่าวหลังการมอบดอกไม้ต่อหน้าสื่อในวันนั้นแล้ว ความรุนแรงไม่ได้ยุติลงแต่ยังคงดำเนินต่อไป จนในที่สุดความตายก็เกิดขึ้นกับฝ่ายผู้ใช้ความรุนแรงในครอบครัวนั้นเอง และไม่ว่าสิ่งที่พนักงานสอบสวนกล่าวหาและคำให้สัมภาษณ์เบื้องต้นของมารดาผู้ถูกใช้ความรุนแรงจะเป็นความจริงแค่ไหนอย่างไร เวลาและการพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุดเท่านั้นที่อาจตอบได้

ประเด็นของข้าพเจ้ามิได้อยู่ตรงนั้น แต่อยู่ที่ว่า จากกรณีนี้ เจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ทำหน้าที่เข้าไปไกล่เกลี่ยให้คู่กรณีคืนดีกันด้วยความปรารถนาดีนั้น ได้รับรู้แล้วหรือไม่ว่ามีกระบวนการอีกจำนวนมากมาย ก่อนการไกล่เกลี่ยเพื่อให้กลับไปคืนดีกัน ประการแรกที่สุดและสำคัญที่สุด คือสำรวจความต้องการของผู้ประสบปัญหาอย่างเป็นกลางก่อน ว่าจริงแท้แล้วเขาต้องการอะไร ถ้าเขาต้องการการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดก็ปล่อยให้กระบวนการทางคดีอาญาดำเนินไป

ถ้าเขาไม่ได้ต้องการสิ่งนั้นเพียงแต่ต้องการให้ผู้ใช้ความรุนแรงยุติความรุนแรง แต่ไม่ได้อยากดำเนินคดี ก็หยิบเอากระบวนการตาม พระราชบัญญัติออกมาใช้ตามลำดับขั้นตอนกระบวนการ ซึ่งสามารถชะลอการฟ้องออกไปได้ตามพระราชบัญญัติ แต่หากเขาต้องการยุติสถานะความเป็นสามีภรรยาก็ให้เขายุติ เพราะท้ายที่สุดแล้วผู้ให้ความช่วยเหลือก็เป็นเพียงคนนอก เราไม่อาจเข้าไปรับรู้ความทุกทรมานในชีวิตประจำวันของเขาหรอก บางทีหากท่านได้ดำเนินการไปตามกระบวนการของพระราชบัญญัติเช่นนั้น การกระทำซ้ำซากที่เกิดขึ้นภายหลังการมอบดอกไม้ต่อหน้าสื่ออาจจะไม่เกิดขึ้น ความตายที่อาจเกิดจากความเหลืออดของคนที่รักผู้ถูกกระทำความรุนแรงก็อาจไม่เกิด

ที่น่าคิดที่สุดคือ ทำไมผู้ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการรักษาการพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวพ.ศ.2550 ซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ด้วยจึงไม่ใช้กระบวนการตามกฎหมาย หรือว่าไม่รู้ว่ามันมีอยู่   และแน่นอนตราบใดที่ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีกฎหมายที่ดี ที่ทันสมัยจำนวนมากมาย ครอบคลุมและคุ้มครองสิทธิแทบเรียกได้ว่าตามมาตรฐานสากลแต่กระบวนการบังคับใช้กฎหมายไม่ทำงานแทบทุกฉบับ เหตุการณ์น่าเศร้านี้ ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรก ย่อมไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน เพียงแต่ครั้งต่อไปจะเป็นความซ้ำซากของเรื่องอะไรเท่านั้นเอง

หมายเลขบันทึก: 553875เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2013 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2013 10:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มันยังจะเกิดอีกหลายครั้ง แล้วจะหาคนแก้ไขได้อย่างไรในเมื่อรัฐบาลก็คิดแต่กอบโกย

  • สวัสดีครับ
  • เจ้าหน้าที่ชอบพูดว่า "เรื่องของครอบครัว เคลียร์กันก่อนดีกว่า"
  • แล้วปัญหาก็ยังคงไม่ยุติสักที

พบว่า

พอเรื่องดังก็สนใจ

พอเรื่องเงียบไป ก็หายไปอีกเซ็งจิต

เห็นด้วยกับภาพนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท