คำที่ผู้เรียนใหม่ๆ มักสับสน-- "พิมพ์" "ศิลปะ" และ "ตำหนิ" ในพระเครื่อง และ พระกรุโบราณ


สมัยที่ผมเข้ามาในวงการพระเครื่องใหม่ๆ ผมได้ยินคำว่า "พิมพ์" "ศิลปะ" และ "ตำหนิ"  สามคำนี้อย่างสับสนมากๆ

ดูเหมือนจะเข้าใจ แต่ส่วนใหญ่จะงงตลอด เพราะแต่ละคนพูดไปคนละทิศละทาง

ทั้งในตลาด และในตำราดูพระ

ผมต้องมาคิดทบทวน แยกแยะด้วยตัวเองจึงพอเข้าใจมากขึ้นนิดหน่อย ไม่หลง หรืองงตามคำพูดของคนว่าเขาหมายถึงอะไรกันแน่

ดังนั้นผมจึงขออธิบายตามที่ผมเข้าใจนะครับ

 

คำแรก "พิมพ์" น่าจะหมายถึง "ภาพรวมๆ" ที่มองเห็น ว่ามีลักษณะรวมๆแบบไหน

เช่นเดียวกับเค้าหน้า ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก หลาน บางคนในครอบครัวจะมี "เค้า" หน้าเหมือนกัน ที่เรียกว่า "พิมพ์" เดียวกัน

โดยรายละเอียดไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

ในทางพระเครื่องยังไปอนุมาน และสับสนกัน ของคำว่า "พิมพ์" กับ "แม่พิมพ์" หรือ "บล็อก" ที่มีลักษณะเฉพาะ 

เป็น พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก ฯลฯ

ที่จะทำให้เกิด "สิ่งที่กดพิมพ์ออกมาคล้ายคลึงกัน" เรียกว่า "พิมพ์เดียวกัน" แต่ไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียดที่เหมือนกัน

แต่บางคนยังเชื่อว่า "พิมพ์" เดียวกันนั้น ต้องมีตำหนิตรงกัน ที่อาจจะใช่ แต่เป็นอีกระดับหนึ่งของความเหมือน

เพราะตำหนินั้น มาได้จากทั้ง "พ่อพิมพ์" (องค์ต้นแบบที่ใช้กดเป็นแม่พิมพ์) และ แม่พิมพ์

จึงทำให้ "ตำหนิ" สามารถพบได้ "เหมือนกัน" แม้จะต่างแม่พิมพ์กัน

ดังเช่นตำหนิต่างๆที่พบในพระรอดมหาวันนั้น

  • บางจุด (เช่นลักษณะรายละเอียดของใบโพธิ์และเส้นแตกข้างพระกรรณซ้าย)จะพบในทุกบล็อก และทุกพิมพ์
  • บางจุด (เช่นเนื้อเกินต่างๆ) จะพบในบางบล็อกเท่านั้น

จึงไม่ควรสับสนในเรื่องนี้

 

คำที่สอง "ศิลปะ" น่าจะหมายถึง "ตระกูลช่าง" หรือ "ลักษณะของลวดลายที่ปรากฏ

เช่นว่าไกลๆไปเลย ให้เข้าใจ

ก็คือ ศิลปะแบบจีน ศิลปะแบบไทย ศิลปะแบบตะวันตก จะเข้าใจง่ายขึ้น แตกต่างกันแน่นอน สับสนยากหน่อย

หรือถ้าจะลงลายละเอียด

ก็แบบเดียวกับลายมือเขียนของเรา ลายเซ็นเบิกเงินของเรา ที่ธนาคารถือเป็นหลักฐานการเบิกเงินได้

แม้จะมีการปลอมลายเซ็น ก็คือการเลียนแบบ "ศิลปะ" การเขียนของเรา

ที่ไม่เกี่ยวกับสีน้ำหมึก ความหนาของเส้น หรือการขาดของเส้นน้ำหมึกในแต่ละลายเซ็น

แต่เป็นลักษณะอาการของลวดลาย และการจัดวางองค์ประกอบที่มีให้ครบถ้วน ถูกลักษณะ ถูกที่ ถูกสัดส่วน

ที่รวมๆ เรียกว่า "ศิลปะถูกต้อง" 

 

คำที่สาม "ตำหนิ" ตามรากศัพท์แท้ๆ น่าจะหมายถึงสิ่งที่เกิดโดยมิได้ตั้งใจ

อันได้แก่ จุด เส้น รอยแตก เนื้อเกิน ฯลฯ ที่ไม่ใช่ลักษณะของ "ศิลปะ" หรือความ "ตั้งใจ" ให้เกิดขึ้น

ที่จะพบว่าเกิดในทุกขั้นตอน

ตั้งแต่การแกะพ่อพิมพ์ การกดแม่พิมพ์ จนกระทั่งการเสื่อมสลายของพ่อพิมพ์ และแม่พิมพ์ 

ที่จะทำให้เกิด "ตำหนิมากขึ้นมากมายอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพิ่มขึ้น หรือหายไป

ดังนั้นพระพิมพ์เดียวกัน พ่อพิมพ์เดียวกัน แม่พิมพ์เดียวกัน มักจะมีตำหนิร่วมเหมือนกัน แต่ไม่จำเป็นต้องมีทุกตำหนิเหมือนกัน

ขึ้นอยู่กับความ "ใกล้เคียง" ของลำดับการสร้าง ที่จะทำให้ตำหนินั้นๆยังคงพบได้

 

จากการแจงแบบ "สี่เบี้ย" มานี้ หวังว่าจะทำให้ช่วยลดความสับสน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง และเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นนะครับ

 

ขอให้โชคดี มีพระแท้ๆกันทุกท่านครับ

หมายเลขบันทึก: 553872เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2013 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2013 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท