ความแตกต่างของการโค้ชกับการให้คำปรึกษา โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ


บทความฉบับก่อนๆของผู้เขียนพูดถึงความแตกต่างของการโค้ชกับการให้คำปรึกษาแนะนำ / พี่เลี้ยง (Mentoring) บทความฉบับนี้ผู้เขียนขอนำท่านผู้อ่านมาทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างการโค้ชกับการให้คำปรึกษา (Consulting) กันบ้างนะคะ

การให้คำปรึกษา (Consulting) คือ กระบวนการ และทักษะในการให้ความช่วยเหลือบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร เพื่อให้บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรประสบความสำเร็จ ปรับปรุงผลการปฏิบัติงาน หรือสามารถจัดการแก้ไขปัญหา ป้องกันปัญหา หรือวางแผนดำเนินการเพื่อจัดการกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ได้อย่างมีประสิทธิผล ตอบสนองต่อความต้องการ หรือความคาดหวังที่ได้ตกลงกันไว้

การโค้ช (Coaching) สหพันธ์โค้ชนานาชาติ (International Coach Federation) ได้นิยามการโค้ชไว้ดังนี้

การโค้ช คือ การเป็นพันธมิตรกับลูกค้าในกระบวนการกระตุ้นและสรรค์สร้างความคิด ซึ่งช่วยผลักดันให้เกิดการใช้ศักยภาพสูงสุดทั้งในด้านส่วนตัว และวิชาชีพ ซึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอนและซับซ้อนในปัจจุบัน โค้ชจะให้เกียรติลูกค้าว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในชีวิตของตนเอง และเชื่อว่าลูกค้าทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ รอบรู้ และสมบูรณ์ในตนเอง บนรากฐานดังกล่าวนี้ โค้ชจึงมีความรับผิดชอบในการ:

• เปิดเผย สร้างความกระจ่างแจ้ง และปรับให้สอดคล้องกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการบรรลุ

• กระตุ้นการค้นพบตนเองของลูกค้า

• ช่วยให้ลูกค้าพัฒนาวิธีแก้ปัญหาและกลยุทธ์

• ถือว่าความรับผิดชอบนั้นเป็นของลูกค้า

ความแตกต่างระหว่างการโค้ชกับการให้คำปรึกษา สามารถสรุปได้เป็น 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

1) บทบาท ที่ปรึกษากับโค้ชนั้นมีบทบาทแตกต่างกันมาก ที่ปรึกษามีความรับผิดชอบในการช่วยให้ลูกค้าประสบความสำเร็จ จัดการกับสถานการณ์ หรือแก้ไขปัญหาบางอย่างได้ ขณะที่โค้ชมีความรับผิดชอบในการช่วยให้โค้ชชี่เติบโตจากภายในตนเอง พัฒนาตนเอง สามารถปลดปล่อยศักยภาพของตนเองในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่ชีวิตของตนเอง

2) ทักษะที่ใช้ ที่ปรึกษาใช้ทักษะการตั้งคำถาม (Probing) โดยมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจปัญหา / สถานการณ์ และเจาะลึกลงไปถึงสาเหตุของปัญหา ความเป็นมาใน ‘อดีต’ ในกรณีเป็นที่ปรึกษาให้แก่องค์กร ที่ปรึกษามักเริ่มต้นกระบวนการให้คำปรึกษาด้วยการสอบถามเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมาย ความต้องการ และความคาดหวังขององค์กร ศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ โครงสร้าง และกระบวนการทำงานขององค์กร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับโจทย์ที่ที่ปรึกษาได้รับจากองค์กร ที่ปรึกษามักให้ความสำคัญกับการศึกษาที่มาหรือสาเหตุของปัญหาขององค์กร หลังจากนั้น ที่ปรึกษาจะนำเสนอทางเลือก หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาต่อผู้บริหารขององค์กร สำหรับการโค้ช โค้ชจะใช้ทักษะการตั้งคำถาม (Asking Questions) ที่มุ่งเน้นไปที่วิธีแก้ปัญหา (Solution-Focused) บนพื้นฐานของความเข้าใจ ‘ปัจจุบัน’ โค้ชจะกระตุ้นให้โค้ชชี่คิดเพื่อทำความเข้าใจความเป็นจริงของสถานการณ์ และวิธีคิดที่มีต่อสถานการณ์นั้น และกระตุ้นให้โค้ชชี่สร้างสรรค์ทางเลือก หรือวิธีการจัดการกับสถานการณ์ด้วยตนเอง หรืออีกนัยหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า การให้คำปรึกษาจะมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจอดีต เพื่อหาวิธีแก้ไขหรือป้องกันปัญหา หรือนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ขณะที่การโค้ชจะมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจปัจจุบัน เพื่อแสวงหาทางออกสำหรับอนาคต

3) ผู้คิดวิธีแก้ปัญหา ในการให้คำปรึกษา ที่ปรึกษาจะเป็นผู้คิดค้นวิธีแก้ปัญหา ขณะที่การโค้ช โค้ชชี่หรือลูกค้าเป็นผู้พัฒนากลยุทธ์และวิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยมีโค้ชเป็นผู้กระตุ้น ส่งเสริม และให้กำลังใจเนื่องจากการโค้ชมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาความสามารถของโค้ชชี่ หรือช่วยให้โค้ชชี่สามารถปลดปล่อยศักยภาพของตนเอง โค้ชชี่จึงต้องเป็นผู้แสวงหา และคิดค้นทางออกหรือคำตอบด้วยตนเอง เพราะการค้นพบด้วยตนเอง ทำให้เกิดการเติบโตจากภายในตนเอง ซึ่งมีความยั่งยืนมากกว่าผู้อื่นมาบอกให้

หมายเลขบันทึก: 552660เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2013 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2013 11:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณ เรื่องราวข้อแตกต่าง  ระหว่าง  Consulting  ......  Coaching ..... นะคะ

 

             

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท