รอยยิ้ม ก่อนสิ้นลม


          “สวัสดีค่ะ หนูชื่อกิทิมา คงขำ ชื่อเล่นป๊อน ป๊อนเป็นนักสังคมสงเคราะห์มาจากหน่วยการุณรักษ์นะคะ หน่วยของเราทำงานดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในระยะประคับประคอง” ฉันกล่าวทักทายเพียนและพี่บาดูเหมือนเพียนกับพี่บาจะทำหน้างงๆ แต่ฉันแอบเห็นรอยยิ้มที่มุมปาก ส่วนเพียนได้แต่พยักหน้าตอบรับ เพราะไม่สามารถสื่อสารด้วยการพูดได้จากเหตุผลของการรักษาทำให้ต้องเจาะคอ เพียนต้องนอนพักรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลานานนับเดือน การรักษาตัวโรคสำหรับเพียนนั้นเป็นไปได้ยาก ดังนั้นการรักษาแบบประคับประคองจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดเพื่อให้เพียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ไม่มากนักเพียน หนุ่มรูปร่างผอมวัย สี่สิบ ต้นๆ เป็นลูกคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมดเจ็ดคน ผ่านการแต่งงานมาแล้วสองครั้งแต่ชีวิตรักก็ไม่ประสบความสำเร็จ ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วเพียนต้องสูญเสียภรรยาพร้อมกับลูกน้อยขณะภรรยาครรภ์แก่ใกล้จะคลอดด้วยอุบัติเหตุ เป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ และสร้างความเสียใจและเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสให้กับเพียน เวลาผ่านไปเพียนมีรักใหม่ และมีลูกเมื่อยังไม่พร้อม หลังลูกชายลืมตาดูโลกได้เพียงสองเดือน ภรรยาก็หายไป ทิ้งภาระอันยิ่งใหญ่ไว้ให้เพียนผู้เป็นพ่อ เพียนเฝ้า ฟูมฟักทะนุถนอมลูกชายแต่เพียงลำพัง จนกระทั่งปัจจุบันลูกชายเติบโตเป็นหนุ่มน้อย หลังชีวิตการแต่งงานล้มเหลว เพียนดื่มเหล้าและทำงานหนักมาตลอดสิบกว่าปี

           เมื่อล้มป่วยลง การรักษาเพียนขณะนี้คือการฉายรังสีรักษาและต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจึงจะครบ ทำให้พี่บาผู้เป็นพี่สาวขาดรายได้ เงินที่ใช้จ่ายทุกวันเริ่มร่อยหรอ เดิมพี่บามีอาชีพปลูกมัน เลี้ยงวัว ทำนาร่วมกับสามี การมาดูแลเพียนครั้งนี้จึงทำให้พี่บากังวลกับค่าใช้จ่ายมากกว่าสิ่งอื่นใด บางครั้งถึงกับร้องไห้ “ พี่จะเอาเงินจากไหนกินและส่งให้ลูกเรียนดีละคุณป๊อน ” ฉันนั่งฟังเรื่องราวที่พี่บาวิตกกังวลอยู่ในขณะนี้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ และซึมซับรับรู้ความทุกข์ที่เกิดกับครอบครัวนี้ เมื่อมีโอกาสเจอเพียนฉันจึงยิงคำถามนี้ขึ้นทันที “ ถ้าให้พี่บากลับไปทำงานแต่เพียนฉายแสงอยู่ที่โรงพยาบาลกับคุณหมอ เพียนคิดยังไง” ทันทีที่ฉันพูดจบ สีหน้าของเพียนดูเปลี่ยนไป แต่ก็พยักหน้าตอบรับแบบช้าๆ และเขียนตอบบนกระดาษว่า “ได้แต่ไม่อยากให้ไปนาน” ส่วนพี่บาบอกว่า “ไม่อยากทิ้งน้องไปเลย สงสารน้อง”

            ฉันจึงนำเรื่องราวของเพียนเข้าประชุมร่วมกับ พยาบาลเจ้าของไข้คือพี่เป็ดและทีมสหสาขาวิชาชีพ หน่วยการุณรักษ์ เพื่อวางแผนให้การช่วยเหลือปัญหาด้านจิตใจ จิตสังคม ซึ่งฉันได้เล็งเห็นถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจเรื่องปากท้องค่าใช้จ่ายในทุกวันของญาติผู้ป่วย จึงประสานงานเครือข่ายภายในองค์กรกับนักสังคมสงเคราะห์ผู้ป่วยในและนักโภชนาการเรื่องการขอสงเคราะห์อาหารให้แก่ญาติผู้ป่วยทุกมื้อจนกว่าผู้ป่วยจะออกจากโรงพยาบาล ซึ่งได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดี พี่บาได้อาหารครบทุกวันวันละสามมื้อ ต่อมาได้ประสานงานกับองค์กรภายนอกเพื่อสร้างอาชีพระหว่างรับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อลดความกังวลใจในเรื่องตัวโรคแก่เพียน และให้พี่บาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยติดต่อคุณครูเปิ้ลซึ่งเป็นจิตอาสาจากบ้านชีวาศิลป์ เข้ามาสอนการร้อยลูกปัดเป็นเครื่องประดับตกแต่ง เช่น สร้อยข้อมือ ต่างหู แหวน กำไลข้อมือ จากข้อมูลที่ได้พบว่าเพียนเป็นคนประณีตและเจ้าระเบียบ ฉันจึงนัดครูเปิ้ลมาสอนผู้ป่วยและญาติในช่วงเย็นใช้เวลาสอนประมาณสามครั้ง เพียนและพี่บาเรียนรู้งานได้เร็วสามารถผลิตชิ้นงานได้หลากหลายจนสามารถสร้างรายได้ถึงหลักพัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการ ลงทุนจากหน่วยการุณรักษ์และทีมการพยาบาลหอผู้ป่วย 5ก งานสังคมสงเคราะห์และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลต่างคนต่างร่วมซื้อเป็นแรงใจให้แก่เพียนและพี่บา เมื่อผลิตภัณฑ์มีปริมาณเพิ่มขึ้น ฉันจึงมีความคิดที่จะการกระจายสินค้าออกไปภายนอกโดยประสานงาน คุณจงชัย ผู้ดูแลเว็บไซด์ขอนแก่นลิงค์ในการโฆษณาสินค้าและหาตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย มีผู้คนสั่งสินค้ามากมายหลายท่านจากกรุงเทพฯบ้าง ภูเก็ตบ้างเป็นจำนวนมากน้อยคละกันไป นอกจากขายในสื่ออิเล็กทรอนิคส์แล้ว ฉันได้ติดต่อคุณเศกสันต์ ผู้จัดการบ้านชีวาศิลป์ เพื่อขอเข้าร่วมกิจกรรมขายผลิตภัณฑ์ผู้ป่วยที่ถนนคนเดินในวันเสาร์ ซึ่งฉันและนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นจิตอาสาช่วยกันขายมีดนตรีบรรเลงควบคู่กันอย่างสนุกสนาน จากการขายในครั้งนั้นกำไรที่ได้ประมานสองพันกว่าบาท เมื่อฉันนำเงินที่ได้ไปให้เพียนและพี่บาทั้งคู่ต่างแสดงอาการดีใจ มีใบหน้าเบิกบาน เพียนยิ้มให้ฉันพร้อมพยักหน้าขอบคุณแล้วก้มหน้าตั้งใจร้อยลูกปัดต่อ พี่บานั้นยิ้มพลางหัวเราะแสดงอาการดีใจและถามฉันว่า “พี่บาอยากโอนเงินไปให้ลูกกับหลานใช้สักห้าร้อยฉันจะทำยังไงดี” เพื่อนข้างๆเตียงได้ยินจึงตะโกนบอกมาว่า “เดี๋ยวฉันจะพาเปิดบัญชีมันไม่ยากเลยพี่” พี่บาจึงยิ้มให้เพื่อนข้างเตียงอย่างสบายใจ ฉันก็พลอยสุขใจไปด้วยเมื่อได้ช่วยแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและด้านจิตใจให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นระหว่างเฝ้าเพียนรับการรักษา กระทั่งพยาบาลหอผู้ป่วย 5ก อดไม่ไหวที่จะแซวเพียนว่า “โอ๊ย!เพียนรวยใหญ่แล้ว อย่าทำงานจนลืมพักผ่อนล่ะ” เพียนพยักหน้ารับคำพลางอมยิ้มไปด้วยถึงแม้ว่าจะป่วยแต่เพียนก็ไม่ลืมที่จะนึกถึงน้องโอ๊ต ลูกชายวัย 12 ขวบเพียงคนเดียวของเขา และโอ๊ตเองก็ทราบว่าเพียนป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เขาจึงบอกกับพี่บาว่า “ผมอยากบวชเรียนให้พ่อ พ่อจะได้จับชายผ้าเหลืองผมขึ้นสวรรค์” ขณะที่เพียนป่วยไม่สามารถทำงานหนักได้ โอ๊ตก็ช่วยพ่อด้วยการไปชกมวยแพ้บ้างชนะบ้าง เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือครอบครัวและค่ารักษาพยาบาลให้แก่เพียน จนกระทั่งพี่บาสงสารหลานจึงบอกให้หลานหยุดชกมวย

           เมื่อเพียนและพี่บากลับถึงบ้าน ฉันโทรติดตามอาการเพียนอยู่เรื่อยๆ ทั้งคู่ยังคงร้อยลูกปัดและนำมาส่งให้ฉันได้ไปขายอยู่ตลอด จนครั้งสุดท้ายที่ฉันเจอเพียนที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ อาการเขาหนักขึ้นเขา บอกกับพี่บาว่า “ผมอยากพบหน้าลูก” เมื่อเณรเดินทางมาถึงโรงพยาบาลเพียนได้ตักบาตรกับเณรและขอขมาแก่กันข้างๆเตียง ครบสองวันเณรต้องกลับไปเรียนหนังสือ เพียนจึงรู้สึกสบายใจและมีความสุขที่ได้พบหน้าลูก ต่อมาเพียนถูกส่งตัวไปอยู่โรงพยาบาลใกล้บ้านที่มีแพทย์ พยาบาล ดูแลอย่างดี เมื่อใกล้วินาทีสุดท้ายของเพียน เพียนบอกพี่บาว่า “ผมอยากกลับบ้าน” รถโรงพยาบาลจึงได้นำเพียนไปส่งที่บ้าน ญาติๆเฝ้ารอการกลับบ้านของเพียนมีการจัดเตรียมที่นอนที่เขาคุ้นเคย รูปภาพเณรห่มจีวรให้เขาได้ดูต่างหน้าและร่วมกันประกอบพิธีกรรมขอขมา เพื่อให้เพียนได้ขอขมาแม่และญาติพี่น้องทุกคนก่อนที่เพียนจะค่อยๆหมดลมหายใจไปอย่างสงบ

            นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของนักสังคมสงเคราะห์และทีมสหสาขาวิชาชีพ ที่หลอมรวมกาย ใจทุ่มเท ให้กับงานการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายร่วมกันภายใต้หน่วยงานที่มีชื่อว่า หน่วยการุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดยรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงศรีเวียง ไพโรจน์กุล ผู้เป็นต้นแบบของหมอผู้เสียสละ และทุ่มเทกายใจให้กับงาน การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย อย่างเต็มกำลัง งานในบทบาทหน้าที่ที่ทุกคนได้รับมอบหมายนั้นเรามีเป้าหมายเดียวกัน คือคนไข้ระยะท้ายที่อยู่ในโปรแกรมของทีมมีคุณภาพชีวิตที่ดีในเวลาที่เหลือเพียงน้อยนิดให้มีโอกาสได้ “ตายดี” และหนึ่งในนั้นก็คือ เพียน

 

                                                                      กิทิมา คงขำ นักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์

หมายเลขบันทึก: 552653เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2013 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2013 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชื่นชมสำหรับการเยียวยาของทีมนะครับ

และแสดงความเสียใจกับ เพียน ด้วยครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท