สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

"การศึกษาไทย" เปลี่ยนได้ด้วยตัว "ครู"


"การศึกษาไทย" เปลี่ยนได้ด้วยตัว "ครู"
 


 

  • ผลการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ล่าสุดพบว่า เด็กไทยชั้น ป.6 กว่า 3.2 หมื่นคนจากนักเรียนชั้น ป. 6 ทั่วประเทศ 8 แสนคนอยู่ในภาวะ “อ่านไม่ออก – เขียนไม่ได้”
     
  • ผลสำรวจของ PISA พบว่าภาพรวมเด็กไทยที่จบการศึกษาภาคบังคับชั้น ม. 3 ยังขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ และทักษะการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น “จริง” ในชีวิต อยู่ในอันดับรั้งท้ายเพื่อนบ้านในเอเชียที่ส่วนใหญ่เกาะกลุ่มอันดับต้นๆ
     
  • ผลการจัดอันดับของ “World Economic Forum” พบว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของเด็กประถมฯ ถึงชั้นมหาวิทยาลัยของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างลาวและกัมพูชา อยู่ในอันดับที่ 8 จากการจัดอันดับ 8 ประเทศ 

จากข้อมูลดังกล่าวที่เผยแพร่สู่คนไทยทำให้เกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับ “การศึกษาไทย” ในปัจจุบัน กลายเป็นความหวั่นวิตกและเกิดความห่วงใย “อนาคตประเทศไทย” ถ้าการศึกษาไทยถูกวิจัยออกมาและมีมาตรฐานแบบนี้“อนาคตลูกหลานไทย” จะเป็นอย่างไร หน่วยงานที่รับผิดชอบจะหา “ทางออก” หรือมี “วิธีการแก้” กันอย่างไร

ในภาวการณ์เช่นนี้ที่บีบคั้นให้ครูไทยส่วนหนึ่งที่มองเห็นปัญหา “การศึกษา”ในปัจจุบัน ต้อง “เปลี่ยน” วิธีการจัดการเรียนการสอนใหม่ เพื่อให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ได้ลุกขึ้นมาทบทวนจุดยืน“ปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่การเป็นครู”เสาะหา“องค์ความรู้”ใหม่ๆ และ“เครื่องมือ”ที่หลากหลายมาจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาลูกศิษย์ให้เป็นเด็กไทยที่มีคุณภาพโดยไม่ต้องรอหลักสูตรใหม่แต่อย่างไร จนเกิดเป็นผลสำเร็จให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว

 


"ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด หรือการประเมินสมรรถนะ ล้วนเปิดช่องให้ครูคิดนอกกรอบได้มากขึ้น เพื่อที่ครูจะสอนให้เด็กคิดนอกกรอบได้ตามตัวชี้วัด เพราะจะเน้นการสอนให้เด็กคิดมากกว่าที่จะเป็นตัวหนังสือให้ท่องจำเหมือนในอดีต สิ่งนี้เองทำให้รู้สึกว่าตัวเราจะต้องเปลี่ยนเปลี่ยนทั้งวิธีการสอน กระบวนการสอน การจัดการเรียนรู้ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น"

เสียงสะท้อนจากครูภาษาไทย ชั้น ม. 4 ครูจรวยพรรณ เย่าเฉื้อง หรือ ครูหนุ่ย ในวัย 54 ปี จากโรงเรียนห้วยยอด จังหวัดตรัง ที่นำวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่มาใช้กับวิชาภาษาไทยของตน และเล่าวิธีการสอนว่าได้นำวรรณคดีที่นักเรียนชั้น ม. 4 ต้องเรียนอยู่แล้วมาเป็นสื่อเรียนรู้ กระตุ้นให้เด็กเกิดกระบวนการคิด วรรณคดีทั้งสามเรื่องได้แก่ คัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์, อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง, และวรรณคดีเรื่องหัวใจชายหนุ่ม แต่ละเรื่องต่างให้ข้อคิดและคติคำสอนให้เด็กนำไปคิดต่อยอดได้แตกต่างกัน

ขณะที่สอนยังสอดแทรก “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเครื่องมือ “กำกับ” และ “ยกระดับ” วิธีการคิดของเด็ก ชวนคิดชวนคุยให้เขารู้ว่าไม่ว่าจะทำอะไรต้องคำนึงถึงเหตุและผล ความพอประมาณ และการมีภูมิคุ้มกันป้องกันความเสี่ยง บนเงื่อนไขการใช้ความรู้คู่คุณธรรม แต่ลำพังการสอนในห้องสี่เหลี่ยมไม่อาจทำให้เด็กเกิดทักษะที่หลากหลาย รวมทั้งไม่อาจทำให้เกิดความรู้ที่ฝังลึกอันต้องเกิดจากการลงมือปฏิบัติ จึงให้นักเรียนนำสาระที่เรียนรู้ไปจัดทำ “โครงงานจิตอาสา” สืบค้นของดีในบ้านและในท้องถิ่น เชื่อมโยงการเรียนรู้ในห้องเรียนกับนอกห้องเรียนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน

ผลของการเรียนรู้จากการลงมือทำ ทำให้เด็กได้ทั้ง วิชาการ วิชาชีวิต วิชาชุมชน อีกทั้งสามารถเชื่อมใช้เป็น วิชาชีพ ในอนาคต เด็กบางคนไม่ทราบว่าคุณแม่ตัวเองมีฝีมือในการทำขนมกระทั่งได้มาสืบค้นภูมิปัญญาขนมไทย หรือ “ยาดองตะขาบรักษาแผลสด” ความรู้ที่เด็กน้อยกลับไปเรียนรู้จากพ่อที่บ้าน ที่วันนี้กลายเป็นภูมิปัญญาที่น่าภูมิใจของเด็กใต้ เมื่อเด็กๆ ดำเนินกิจกรรมเสร็จสิ้น ครูและศิษย์จึงมานั่งล้อมวง ถอดบทเรียน สิ่งที่แต่ละคนได้เรียนรู้ เป็นกระบวนการชวนคิดชวนคุย แบ่งปัน และต่อยอดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้ได้ “องค์ความรู้” ที่เป็นประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป 

 

แม้ว่ากระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ออกแบบมาจะใช้ได้ผลตามต้องการแล้ว แต่ต้องมีการปรับให้เข้ากับลูกศิษย์ในแต่ละรุ่นอีกด้วยทุกวันนี้ยังคงมุ่งมั่นกับการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของตัวเองให้ดีขึ้น “บทบาทครูจึงต้อง “มากกว่า” การเปิดตำราสอนในห้องเรียน” ครูจรวยพรรณ กล่าว

 

 

 อีกตัวอย่างการ “เปลี่ยน” มาจากครูรุ่นใหม่ไฟแรงในวัย 26 ปี อดีตประธานสภาเด็กคนแรกของจังหวัดตรังครูสถาพร พันธุ์ประดิษฐ หรือ ครูปาล์มโรงเรียนรัษฎา เล่าว่ารับผิดชอบสอน“วิชารัษฎาศึกษา” หรือ “วิชาบูรณาการกับชุมชน”เพิ่งมีการบรรจุลงในแผนการสอนของโรงเรียนเป็นปีแรก ในระดับชั้น ม.1

วิชาดังกล่าวทำหน้าที่คล้ายวิชาสหวิทยาการในมหาวิทยาลัย วัตถุประสงค์เพื่อปรับมุมมองและพื้นฐานวิธีคิดของนักเรียนที่เข้ามาใหม่ให้เปิดใจพร้อมรับการเรียนรู้ทำให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจ และค้นพบตัวเองว่าอยากจะมีชีวิตเป็นอย่างไรในวันข้างหน้า วิชานี้แบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 6 หน่วย ได้แก่ รู้จักตนเอง เสริมสร้างแรงบันดาลใจ เรียนรู้โรงเรียน เรียนรู้ชุมชน สร้างสรรค์ชิ้นงาน และนำเสนอสู่สังคมอย่างมีจิตอาสา

ด้วยประสบการณ์ที่ทำงานด้านเด็ก เยาวชน และชุมชนมาอย่างต่อเนื่องประกอบกับแรงหนุนเสริมจากผู้บริหารและคณะครูในโรงเรียน ทำให้ครูสถาพร เลือกใช้ประสบการณ์เมื่อครั้งเป็นเยาวชนนำสื่อและกิจกรรมหลายชนิดมาออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กๆ เช่น การวาดภาพเล่าเรื่องอาชีพที่ใฝ่ฝัน การสำรวจนิสัยตนเอง การชมวิดีโอพระราชกรณียกิจ การเล่นเกมเศรษฐกิจพอเพียง การเรียนรู้จากเหตุการณ์สมมติ การศึกษาประวัติและข้อมูลด้านต่างๆ ของโรงเรียน การสำรวจทุนในชุมชน และการทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อผู้อื่น

ผ่านไปแค่เทอมแรกได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กได้อย่างชัดเจน จากตัวอย่างหนึ่ง เมื่อเด็กนักเรียนชายกลุ่มหนึ่งที่ทำตัวเป็นเด็กหลังห้องยอมรับเพื่อนนักเรียนหญิงคนหนึ่งที่มีปัญหาทางบ้านทำให้ไม่มีเพื่อนคนไหนให้เข้ากลุ่ม ยอมให้มาร่วมกลุ่มด้วย ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายต่างก็มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ช่วยกันทำงานส่งครูเพราะต่างไม่อยากให้เพื่อนถูกลงโทษ จนสุดท้ายได้ผลงานดีกว่าเพื่อนกลุ่มอื่นๆ ในห้อง “มันเป็นความภูมิใจเล็กๆ นะว่าเราช่วยให้เด็กเขาเกิดการเปลี่ยนแปลง และเด็กๆ ก็ช่วยเหลือกัน เป็นการที่เด็กมองก้าวข้ามตัวเองแล้วมองไปยังการทำเพื่อผู้อื่น ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นเรื่องที่เราต้องใช้ความอดทน และให้เวลากับเขาด้วย"                                                                   

 

 “เมื่อก่อนคนเป็นครูอาจจะทำเพราะเป็นอาชีพ เขาเรียกว่า อาชีพครู แต่ปัจจุบันเราต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นครูอาชีพ เหตุที่เปลี่ยน สิ่งสำคัญที่สุดคือนักเรียนของเรา ถ้าเราเห็นเขาประสบความสำเร็จมีอนาคตที่ดี และเป็นคนดีของสังคม ความสุขของคนเป็นครูก็มาจากตรงนั้น” ครูจรวยพรรณกล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ครูสถาพรฝากข้อคิดว่า“ครูยุคใหม่ในปัจจุบันอาจไม่ได้หมายถึงครูที่เพิ่งบรรจุใหม่ หากแต่หมายถึงครูทุกคน ในจำนวนนั้นอาจเป็นครูที่ผ่านงานสอนมาหลายสิบปีที่ลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเองให้เท่าทันกับโลก และพัฒนางานสอนของตนให้พัฒนาลูกศิษย์เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพของประเทศ เพราะถึงแม้อนาคตอันใกล้นี้คุณอาจจะเกษียณอายุจากการเป็นครู ไม่มีลูกศิษย์อีกแล้วแต่คุณยังมีลูกหลานที่จะฝากอนาคตของประเทศไทยไว้ให้ดูแล”

นี่เป็นเพียง 2 ตัวอย่างเล็กๆ ของคุณครูทั้งสองท่าน  ที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนของตนจนเกิดผลต่อศิษย์อย่างเห็นเป็นรูปธรรม วิธีการสอนนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่ง “เครื่องมือ” ที่จะเกิดประโยชน์แก่ “ครู”ทั่วประเทศที่กำลังมองหา “ทางออก” ในการจัดเรียนการสอนของตน

หมายเลขบันทึก: 552651เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2013 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2013 11:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท