วิทยากรที่ดีต้องไม่มีตัวตน โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ


วันนี้ ผู้เขียนขอพักเรื่อง Coaching มาเขียนเรื่องการเป็นวิทยากรกันบ้าง เพราะหันไปทางไหนก็เจอคนสนใจอยากเป็นวิทยากร น้องๆหลายคนทำงานประจำอยู่ก็อยากจะลาออกมาเป็นวิทยากร และถามว่าอาจารย์บีพอจะช่วยอย่างไรได้บ้าง การเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จ ความอยากอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญคือ ความรัก ความมุ่งมั่น และการอุทิศตน ความรักคือรักในสิ่งที่ทำ และรักผู้เข้าอบรม ให้ผู้เข้าอบรมเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ตนเอง วิทยากรที่ดีจะวิเคราะห์ผู้เข้าอบรม ทั้งในแง่ของประสบการณ์ พื้นฐาน ความต้องการ ความคาดหวัง การวางโครงสร้างเนื้อหา และกิจกรรมที่ใช้ต้องตอบสนองต่อความต้องการของผู้เข้าอบรม รวมถึงบรรลุวัตถุประสงค์การฝึกอบรมที่ได้กำหนดไว้ สำหรับผู้เขียน หากผู้เขียนต้องฝึกอบรมหลักสูตรเดิมให้แก่ผู้เข้าอบรมที่มีความแตกต่างกัน เช่น ระดับตำแหน่ง บทบาทความรับผิดชอบ ความท้าทายในงาน ลักษณะงาน ผู้เขียนจะปรับบางส่วนของเนื้อหา และกิจกรรม รวมถึง การพูดจาของผู้เขียนให้เหมาะสม สอดคล้องกับกลุ่มผู้เข้าอบรม เช่น ผู้เขียนสอนหลักสูตรการโค้ชให้แก่กลุ่มหัวหน้างาน กับกลุ่มผู้อำนวยการ ผู้เขียนจะเลือกใช้เกมส์ ตัวอย่าง และกรณีศึกษาต่างๆแตกต่างกัน

โดยสรุปแล้ว ผู้เขียนจะวางโครงสร้างเนื้อหาและกิจกรรมการฝึกอบรม ตามแนวทางดังต่อไปนี้

• ใช้วัตถุประสงค์การฝึกอบรม ความคาดหวังขององค์กร และผู้เข้ารับการอบรมเป็นหลักยึด

• ออกแบบเนื้อหาและกิจกรรมที่สร้างผลกระทบสูงสุดให้แก่ผู้เข้าอบรม ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด

• ไม่พยายามยัดเยียดความรู้มากมายให้แก่ผู้เข้าอบรม ควรคำนึงถึงความคาดหวัง และผลกระทบในการฝึกอบรม บางครั้งอาจต้องใช้แนวคิด ‘Less is More’ ให้น้อยแต่ได้มาก ผู้เข้าอบรมจะสามารถจดจำ และนำไปใช้ได้มากกว่า

• ทุกกิจกรรมที่ใช้ต้องมีวัตถุประสงค์กำกับว่าทำเพื่ออะไร ถ้าทำแล้ว เพื่อให้สนุกอย่างเดียว แต่ไม่ส่งผลต่อการเรียนรู้ใดๆเลย ผู้เขียนจะลองมองหากิจกรรมใหม่ๆที่เหมาะสม และวางจังหวะการทำกิจกรรมแต่ละอย่างให้สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ และวัตถุประสงค์ในการอบรม เช่น ควรทำ Role Play หลังจากทำการสาธิตการใช้ทักษะการขาย หรือหลังจากทำกรณีศึกษา เพราะวิทยากรควรช่วยให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจก่อนการลงมือปฏิบัติ

• การออกแบบกิจกรรมควรคำนึงถึงสไตล์การเรียนรู้ และความชอบของผู้เข้าอบรมแต่ละกลุ่ม กิจกรรมจึงควรมีความหลากหลาย เช่น การสอน Coaching ผู้เขียนใช้กิจกรรม เกมส์ อภิปราย สาธิต ระดมสมอง กรณีศึกษา Role Play เรื่องเล่า โดยผู้เขียนดำเนินกิจกรรมต่างๆในจังหวะการฝึกอบรมที่แตกต่างๆกัน เช่น ใช้เกมส์ เรื่องเล่า เพื่อเปิดประเด็นหรือนำผู้เข้าอบรมเข้าสู่โปรแกรม ใช้กรณีศึกษาเพื่อฝึกความเข้าใจ การทำ Role Play เพื่อฝึกปฏิบัติการนำทักษะไปใช้ในสถานการณ์จริง

• ประยุกต์ใช้ทักษะ Coaching และ Facilitating ในการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม โดยการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นการใช้ความคิดของผู้เข้าอบรม โดยใช้การบรรยายอย่างจำกัด เพราะผู้เขียนเชื่อมั่นว่าการตระหนักรู้ด้วยตนเองย่อมดีกว่าผู้อื่นบอกให้ อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาเนื้อหา วัตถุประสงค์การอบรม และจำนวนผู้เข้าอบรมด้วย เช่น ถ้าจำนวนผู้เข้าอบรม 60 คนขึ้นไป อาจต้องเน้นบรรยาย การทำกิจกรรมกลุ่ม หรือใช้เกมส์ช่วย มากกว่าใช้การโค้ช

• ยืดหยุ่นและพร้อมปรับเนื้อหาและกิจกรรมให้เหมาะสม เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ท้าทาย โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้เข้าอบรมโดยรวม บางครั้งสิ่งที่เตรียมมา เมื่อพิจารณาดูแล้ว ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ ก็ตัดสินใจที่จะไม่ใช้ หรือพิจารณาความสนใจของผู้เข้าอบรมในช่วงเวลานั้น เช่น ในการสัมมนาครั้งหนึ่ง ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่สนใจอยากอภิปราย (Discuss) กันต่อมากกว่าทำกิจกรรมอื่น เพราะประเด็นที่พวกเขาอภิปรายร่วมกันนั้นอยู่ในความสนใจอย่างสูงของพวกเขาส่วนใหญ่

• เนื้อหา และกิจกรรมในการฝึกอบรมที่ออกแบบควรทำให้ผู้เข้าอบรมรู้สึกเหมือนตนเองกำลังผจญภัย โดยมีวิทยากรเป็นไกด์นำทาง ค่อยๆกระตุ้นให้พวกเขาสนใจมากขึ้นๆเรื่อยๆ ดึงพวกเขาเข้าสู่โปรแกรมอย่างช้าๆแต่มั่นคง ทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนกำลังผ่านด่านต่างๆที่ท้าทาย ที่พวกเขาต้องเอาชนะให้ได้

โดยสรุปแล้ว วิทยากรที่ดีพึงทำตนให้ไร้ตัวตน ไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่กับความคิดเห็นของตนเอง ไม่ควรยึดติดอยู่กับกรอบ แนวทางเดิม ต้องให้เกียรติผู้เข้าอบรมที่เขาสละเวลามาเรียนกับเรา และรักพวกเขาให้มาก โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดที่พวกเขาจะได้รับ และออกแบบเนื้อหา และกิจกรรมต่างๆควรอยู่บนพื้นฐานความคิดนี้ การไร้ตัวตนจะทำให้วิทยากรเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ไม่มีที่สิ้นสุด และไม่หยุดในการพัฒนาตนเอง มีความสามารถในการปรับตนให้ลื่นไหลไปตามสถานการณ์ โดยไม่เสียหลักการ หากวิทยากรท่านใดทำเช่นนี้ได้ ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จ และยีนหยัดอยู่ในวงการนี้ได้อย่างยาวนาน

หมายเลขบันทึก: 552657เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2013 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2013 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สำหรับผู้บริหารระดับสูงจะจัดแบบไหนดีคะ

‘Less is More’ คุณภาพมาก่อนปริมาณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท