สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

เดินหน้าพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัวระดับตำบล กับเวทีการอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชน ครั้งที่ 7 ณ จ.สุรินทร์ และจ.สุพรรณบุรี


เดินหน้าพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัวระดับตำบล

กับเวทีการอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชน ครั้งที่ 7 ณ จ.สุรินทร์ และจ.สุพรรณบุรี

 

 

 

เมื่อไม่นานมานี้ดิฉันได้มีโอกาสได้เข้าไปสังเกตการณ์ ในเวทีการอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชน ภายใต้ "โครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค" ครั้งที่ 7 โดยได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.)

ซึ่งหลักสูตรนักถักทอชุมชนครั้งที่ 7 นี้ จัดขึ้นที่ภาคอีสาน เมื่อวันที่ 24-26 ตุลาคม 56 ณ องค์การบริหารส่วนตำบล  เมืองลีง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ และภาคกลางจัดขึ้น ณ องค์การบริหารส่วนตำบล วัดดาว จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 28-30 ตุลาคม 56 ที่ผ่านมา บรรยากาศทั้ง 2 ภาค เป็นไปอย่างสนุกสนาน นักถักทอฯเจ้าบ้านให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ทั้งอาหารการกิน และการบริการที่ดีเยี่ยม

ส่วนประเด็นของการเรียนรู้ในครั้งนี้เป็นการอบรมจากทีมวิชาการ คือ อาจารย์ปรีชา  สังข์เพ็ชร (จ.สุรินทร์)ภาควิชาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์ปาริชาต  วลัยสเถียรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  (จ.สุพรรณบุรี) ในหัวข้อการติดตามงานและการประเมินผลแบบมีส่วนร่วม โดยเน้นแนวคิดและหลักการเบื้องต้นในการติดตามประเมินผลงาน ร่วมกับอาจารย์ทรงพล เจตนาวาณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.)ได้ให้เครื่องมือในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของคุณอำนวยการเรียนรู้แก่นักถักทอชุมชน พร้อมพร้อมหนังสือและสื่อประกอบการจัดการเรียนรู้ของคุณอำนวยการเรียน

จากการอบรมในครั้งนี้ นางกัญญาพัชญ์  บัวมี รองปลัด อบต.ไผ่กองดิน จ.สุพรรณบุรี ได้เล่าถึงการมาอบรมในหัวข้อการติดตามและประเมินผลแบบมีส่วนร่วมว่า “การอบรมครั้งนี้ทำให้เข้าใจมากขึ้น ว่าบางทีเราทำงาน เราไม่ค่อยได้ติดตามประเมินผล เราจึงไม่ค่อยรู้ว่าโครงการที่เราทำดี หรือไม่ดีแค่ไหน ซึ่งจริงๆ แล้วการติดตามประเมินผลก็มีอยู่ในระเบียบอยู่แล้ว อยู่ที่เราไม่เคยนำมาใช้อย่างจริงจังสักที ส่วนหนึ่งเพราะไม่รู้จักวิธีใช้อย่างชัดเจน และถูกต้อง และเมื่อได้มาฟัง ทำให้รู้ว่าการติดตามต้องทำอย่างไรบ้าง ทำช่วงไหน ใช้อะไรเป็นเครื่องมือ ต้องมีการวางแผนก่อนการติดตาม ซึ่งเมื่อก่อนที่ผ่านมาก็ไม่เคยได้มีการวางแผนติดตามเลย

ส่วน นายวรินทร  กุรดเพ็ชร นักพัฒนาชุมชน อบต.หนองสาหร่าย จ.สุพรรณบุรี ได้นำความรู้เรื่องคุณอำนวยไปปรับใช้กับชุมชนตนเอง “ก่อนหน้าที่ยังไม่รู้เรื่องคุณอำนวย ทีมนักนักทอฯได้ประสานเพื่อที่จะหาคณะกรรมการ แต่คณะกรรมการเป็นชุดใหญ่ที่คุมทั้งหมด ไม่ได้เจาะลงไปในตัวของโครงการ แต่พอได้มาอบรมในเวทีครั้งที่ 7 ทำให้เราต้องลงไปแบ่งคุณอำนวย(คณะกรรมการ) เข้ามาช่วยตรงนี้ให้เป็นรูปแบบชัดเจนมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ครูศูนย์ ตัวแทนผู้ปกครอง คณะกรรมศูนย์ที่ต้องเป็นคุณอำนวยเพื่อลงมาขับเคลื่อนเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก และโครงการพัฒนาแกนนำเด็กก็ต้องมีคุณอำนวยดูแลอีกคนหนึ่ง”

ทั้งนี้การอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชนในครั้งที่ 7 นี้ เพื่อต่อยอดไปเวทีครั้งที่ 8 ในเดือนพฤศจิกายน 2556 ณ ค่ายเยาวชนสุรัสวดี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา วิทยากรโดย รศ.ปาริชาติ วลัยเสถียร ละทีมงาน ภาควิชาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในเรื่องการติดตาม ประเมินผล และการสร้างตัวชี้วัดอย่างมีส่วนร่วม และเรื่อง “ผู้นำที่แท้กับการรู้จักตัวตน” วิทยากรโดย สถาบันยุวโพธิชน นายประชา  หุตานุวัตร และนางสาววราภรณ์  หลวงมณีผู้สนใจสามารถเข้าไปดูความเคลื่อนไหวของหลักสูตรฯ เพิ่มเติมได้ที่ หน้าแฟนเพจ “หลักสูตรนักถักทอชุมชน” https://www.facebook.com/For.Youth.In.Community?fref=ts) หรือแฟนเพจ “มูลนิธิสยามกัมมาจล” (https://www.facebook.com/SCBFOUNDATION?fref=ts)

 

///////////////////////////////////////////////////////////

หมายเลขบันทึก: 552654เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2013 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2013 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาเป็นกำลังใจให้ค่ะ...“ผู้นำที่แท้กับการรู้จักตัวตน”

ชื่นชมกิจกรรมที่ดีมีประโยชน์นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท