งานสอนก็เหมือนการแสดง


เมื่อปีก่อนผม tweet ไว้อย่างนี้ครับ

 

 

จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ผมขบคิดมาหลายปี ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนปริญญาเอก เคยมีความคิดว่างานสอนมันก็ไม่ต่างจากงานแสดงเพราะเราในฐานะคนสอนต้องไปยืนอยู่ท่ามกลางคนดูคนฟังมากมาย จะทำอย่างไรให้ผู้ฟังสนุก รู้สึกสนใจ และได้สาระ

แต่ถ้าจะเปรียบเทียบให้ชัดกว่านั้น ผมว่างานสอนเหมือนการแสดงละครเวทีครับ

การแสดงละครเวทีนั้นต่างจากภาพยนตร์ตรงที่แต่ละครั้งที่ชมละคร นักแสดงก็เปลี่ยนไปตามวาระ บางคณะละครมีผู้เล่นบทสำคัญมากกว่าหนึ่งคน ดังนั้นดูละครคนละรอบก็จะพบเจอนักแสดงที่ต่างกัน อรรถรสก็ต่างกัน ยิ่งเป็นละครคนละคณะ คนละเวลาและโอกาส บทละครก็ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยหรือความตั้งใจและการตีความของผู้จัดทำ ดู Phantom of the Opera แบบมิวสิคัลของคุณบอย ถกลเกียรติกับแบบของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็คงได้อรรถรสต่างกันมาก

ว่ากันว่าการแสดงละครเป็นการแสดงที่ใช้พลังมากกว่าการแสดงภาพยนตร์ เพราะไม่มีเทคนิคช่วยเหลือมากนัก ไม่มีกล้องซูมให้เห็นแววตา สีหน้า ความรู้สึก ไม่มี Special Effect ช่วยให้คนดูตื่นเต้น การส่งอารมณ์ความรู้สึกจึงขึ้นอยู่กับน้ำเสียง (ที่ต้องดังชัดเจน) และท่าทางของนักแสดงเป็นหลัก ซึ่งผมเดาเอาเองว่านักแสดงแต่ละคนต้องมีเทคนิคในการรวบรวมสมาธิ กลั่นพลังเข้ามาไว้ในตัวให้มากที่สุดเพื่อที่จะปลดปล่อยออกมาในการแสดงเป็นแน่

ความคิดนี้วนเวียนอยู่ในหัวนานครับ จนได้กลับมาสอนอีก ก็พยายามเตือนตัวเองเสมอก่อนที่จะเปิดประตูเข้าไปในห้องบรรยายว่าเราต้องรวบรวมสมาธิ กลั่นพลังเข้ามาไว้ในตัวให้มากที่สุดเพื่อที่จะปลดปล่อยออกมาในการบรรยายครั้งนี้ พูดง่ายๆ คือต้องบิวท์อารมณ์ตัวเองให้คึกคัก ตื่นเต้น ไฮเปอร์ไว้ก่อน เพื่อเตรียมส่งต่ออารมณ์เหล่านี้สู่ผู้ฟัง

เมื่อกลางปีที่ผ่านมามีบทความจาก KQED MindShift ในชื่อ "Why Teachers Should be Trained Like Actors" ซึ่งนอกจากจะนำเสนอแนวคิดที่ตรงกับไอเดียที่ผมกล่าวมาข้างต้นแล้วเขายังเสนอแนวทางปฏิบัติด้วย โดยอ้างถึงแนวคิดของ Doug Lemov ผู้แต่งหนังสือ Teach Like a Champion: 49 Techniques that Put Students on the Path to College

ใจความสำคัญของบทความนี้คือการกล่าวถึงการอบรมผู้สอนว่ามักจะเน้นด้านเทคนิคและเครื่องมือในการสอน แต่ก็ไม่ได้มีการให้ลงมือปฏิบัติ ต่างกับการฝึกนักแสดงที่เน้นการแบ่งซอยการแสดงออกเป็นส่วนย่อย ค่อยๆ ฝึกไปทีละท่อน เริ่มจากง่ายไปยาก และการฝึกของง่ายนั้นก็ต้องทำบ่อยๆ จนขึ้นใจ คล้ายกับนักฟุตบอลที่ต้องซ้อมพื้นฐานอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการส่งบอล การจับบอล เหตุผลที่ต้องฝึกทักษะเบื้องต้นบ่อยๆ ก็เพราะยิ่งฝึกมันก็ยิ่งฝังเข้าไปในตัวตนของเรา อย่างที่ Doug Lemov บอกว่า "Practice makes permanent" ไม่ใช่ "Practice makes perfect" เหมือนที่เราเข้าใจ

เทคนิคการฝึกแบบย้ำไปย้ำมา (repetition exercise) ในโรงเรียนการแสดงนั้นเป็นเทคนิคสำคัญของปรมาจารย์การแสดงที่ชื่อ Sanford Meisner นักแสดงที่ฝึกด้วยแนวทางนี้จะเริ่มด้วยการพูดตอบโต้ย้ำไปย้ำมากับคู่แสดงของตน ด้วยคำพูดเดิมๆ จนกลายเป็นปฏิกริยาตอบสนองแบบอัตโนมัติ ประมาณว่าพอได้ยินประโยคหนึ่ง ประสาทจะสั่งให้ตอบกลับอีกประโยคหนึ่งเลยทันที

ซึ่งเทคนิคนี้ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง พอเรื่องพื้นฐานเหล่านี้เข้าที่เข้าทางก็เริ่มให้นักแสดงฝึกบทที่ยากขึ้น สถานการณ์ที่ยาวขึ้น

ในด้านการสอนก็เช่นกัน การฝึกเทคนิคการสอนพื้นฐานก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องทำให้เป็นอัตโนมัติ ต้องฝึกฝนบ่อยๆ เรื่องที่ผมพอจะนึกถึงคือ ผู้สอนต้องสามารถพูดเป็นลำดับขั้นตอนที่ชัดเจนได้ ต้องเริ่มการสอนด้วยการทบทวนและจบแต่ละหัวข้อด้วยการทบทวนเช่นกัน ในระหว่างสอนก็ต้องคอยถาม คอยตรวจสอบความเข้าใจอยู่ตลอด ถ้าทำบ่อยๆ จนเป็นนิสัย พฤติกรรมเหล่านี้ก็จะฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกเลยว่าพอจบการบรรยายในหัวข้อหนึ่งแล้วจะต้องถามผู้ฟังทันที ส่วนในหนังสือ Teach Like a Champion เขามีเทคนิคที่ยิบย่อยลงไปอีกมากมายอย่างเช่น cold calling, wait time (ผมมีเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ที่นี่ครับ), positive framing, precise praise และ tight transitions

เทคนิคยิบย่อยเหล่านี้เมื่อทำจนคล่องและไม่อ่อนซ้อมแล้ว ถึงจะมีการพูดคุยเรื่องการจัดการปัญหาต่างๆ ในชั้นเรียน เริ่มจากปัญหาเล็กก่อน แล้วค่อยๆ ขยายไปปัญหาที่ใหญ่ขึ้น ยากขึ้น

ใครสนใจเทคนิคการสอนต่างๆ ลองศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือออนไลน์เล่มนี้นะครับ เขามีวิดีโอคลิปให้ดูด้วย

หมายเลขบันทึก: 552447เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2013 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2013 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นด้วยที่สุดค่ะ ต้องมีชีวิตชีวา ลำดับความได้อย่างเข้าใจ สื่อสารอย่างชัดเจนค่ะ

...โลกนี้คือละคร...เล่นกันไปตามสถานภาพ และบทบาทนะคะ

ถ้าจะจริง

ถ้าสอนแบบสนุกสนาน

นักเรียน นักศึกษาก้สนุกไปด้วย

สอนให้นักเรียนคิด ครูก้ได้คิดไปด้วย

ขอบคุณอาจารย์มากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท