วิวัฒน์การสหกรณ์ไทย ส่วนที่ 1 พ.ศ. 2457 - 2495


วิวัฒนาการสหกรณ์ไทย

วิวัฒน์การสหกรณ์ไทย ส่วนที่ 1 พ.ศ. 2457 - 2495
พีระพงศ์ วาระเสน (Peeraphong Varasen) รวบรวม 24 ตุลาคม 2556

สหกรณ์เป็นองค์การอิสระของบุคคลซึ่งรวมกันด้วยความสมัครใจเพื่อสนองความต้องการอันจำเป็น และความมุ่งหมายร่วมกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยการดำเนินวิสาหกิจที่เป็นเจ้าของร่วมกัน และควบคุม ตามแนวทางประชาธิปไตย

การสหกรณ์ในประเทศไทยเริ่มต้นเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยได้เริ่มมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจของชนบทก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง มาสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเพื่อการค้า โดยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตแบบพอเพียงเพื่อยังชีพ และแบ่งปัน ไปเป็นการผลิตแบบขนานใหญ่เพื่อจำหน่าย และแข่งขัน นิยมทุน ความต้องการเงินทุนจึงสูงขึ้นเพื่อขยายการผลิตและเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน จากการประหยัดเนื่องจากระดับขนาด (Mass production) ความต้องการใช้เงินทุนสูงขึ้น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นไปได้ยาก เกษตรกรแย่งกันกู้เงินทำให้ราคา(ดอกเบี้ย) ของเงินทุนมีสูงขึ้น ต้องใช้ผลผลิต หรือที่ดินแปลงเกษตรค้ำประกัน ด้วยที่เป็นเกษตรแบบขนานใหญ่ทำให้ต้นทุนความหลากหลายทางชีวภาพสูญสิ้นไปมากมาย ผลผลิตได้น้อย ไม่พอชำระหนี้ หรือบางคราว ถึงกับต้องเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ต้องเร่ร่อนออกรับจ้างเพาะปลูกแทน
จากสภาพปัญหาขาดแคลนเงินทุนเพื่อที่จะนำไปทำการผลิตแบบขนานใหญ่ เพื่อรองรับระบบตลาดการค้า ทำให้รัฐบาลในสมัยนั้นคิดหาวิธีแก้ปัญหาวิธีแก้ปัญหาขาดแคลนเงินทุนของเกษตรกร ด้วยวิธีการสหกรณ์หาทุนขึ้นเพื่อพัฒนาประเทศให้เกษตรกรก้าวข้ามสภาพปัญหาการขาดแคลนเงินทุน

พ.ศ. 2457

ประเทศไทยเริ่มศึกษาวิธีการสหกรณ์ เป็นระยะแรกตั้งสหกรณ์ยังอยู่ในระยะทดลอง จึงใช้พระราชบัญญัติ สมาคม พ.ศ.2457 เป็นกฎหมายคุ้มครองไปก่อน

พ.ศ. 2458

เหตุการณ์ที่ 1 
ในการประชุม สมุหเทศาภิบาล ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 เป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินงานเพื่อชักนำการสหกรณ์มาสู่ประเทศไทย กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจึงได้เชิญบรรดาอุปราชและสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลต่าง ๆ มาปรึกษาหารือและชี้แจงถึงข้อดำรินี้ว่า จะมีทางจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นได้เป็นผลสำเร็จในท้องที่มณฑลนั้น ๆ ในภายหน้าบ้างหรือไม่ประการใด ความประสงค์ในขั้นต้นก็เพียงแต่จะจัดทดลองดูในท้องที่ที่สะดวกและมีช่องทางสำเร็จมากที่สุดสัก 2 แห่งก่อน เมื่อเห็นลู่ทางว่าเป็นผลดีจึงจะขายให้กว้างขวางออกไปและเพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้มีความเข้าใจเรื่องสหกรณ์ กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์จึงได้ทำหนังสือชื่อ "สหกรณ์" แก่ผู้ที่มาประชุมและแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ด้วย

เหตุการณ์ที่ 2
มีการเปลี่ยนกรมสถิติและพยากรณ์ เป็นกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ประกอบด้วยส่วนราชการ 3 ส่วนคือ แผนกการพาณิชย์ แผนกสถิติพยากรณ์ และแผนกการสหกรณ์ นับเป็นครั้งแรกที่มีส่วนงานสหกรณ์ คือ แผนกการสหกรณ์ กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

พ.ศ. 2459

เหตุการณ์ที่ 1
เมื่อรัฐบาลได้แต่งตั้งอธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ เป็นนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อให้มีอำนาจดำเนินการจัดตั้งและรับจดทะเบียนสหกรณ์แล้วปัญหาต่อไปก็คือ จะเริ่มจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นในจังหวัดใดก่อนจึงจะเหมาะสม และมีลู่ทางที่จะขยายงานให้แพร่หลายต่อไปได้ ซึ่งในที่สุดก็ตกลงว่าจะจัดตั้งสหกรณ์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรบางตำบลในท้องที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นการทดลองก่อน
เหตุที่เลือกจังหวัดพิษณุโลก เป็นที่ทดลองจัดตั้งสหกรณ์แห่งแรกก็เพราะปรากฎจากการสำรวจในขณะนั้นว่า ฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรค่อนข้างยากจน ทั้งยังมีราษฎรพึ่งมาก่อร่างสร้างตนทำมาหากินใหม่ เพราะทางภาคเหนือยังมีที่ว่างพอจับจองทำนาได้อีกมาก ถ้าหากพวกนี้มีทุนในการประกอบอาชีพก็จะตั้งเนื้อตั้งตัวได้เร็วขึ้น และจะได้ช่วยชักนำราษฎรจังหวัดอื่นที่อยู่หนาแน่นให้ออกไปทำการหักร้างถางพงทำกินต่อไปด้วย ประการสำคัญที่สุดคือได้รับการสนับสนุนสนใจ จากฝ่ายบ้านเมืองเป็นอย่างมาก ซึ่งพระประกาศสหกรณ์ได้เขียนไว้ในประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดสหกรณ์ในหนังสือ 50 ปีของการจัดสหกรณ์ไว้ตอนหนึ่งว่า "การริเริ่มจัดตั้งสหกรณ์หาทุนในจังหวัดพิษณุโลก เป็นแห่งแรกนั้น พระยาสุรบดินทร์ สุรินทร์ฤาไชย (พร จารุจินดา) สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก เป็นผู้สนใจในงานสหกรณ์และได้ร้องให้จัดตั้งเป็นตัวอย่างในจังหวัดพิษณุโลกก่อน จึงได้ทดลองจัดตั้งสหกรณ์หาทุนขึ้น ณ ท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นแห่งแรกใช้ชื่อว่า "สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้" โดยจดทะเบียน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 มีพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เป็นนายทะเบียนสหกรณ์พระองค์แรก นับเป็นการเริ่มต้นแห่งการสหกรณ์ในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์

เหตุการณ์ที่ 2

ได้มีการตราพระราชบัญญัติสมาคมเพิ่มเติม พ.ศ.2459 ใช้สำหรับจดทะเบียนสหกรณ์ไปก่อนเป็นการชั่วคราว

พ.ศ. 2463

กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ เดิมสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ตั้งเป็นกระทรวงพาณิชย์
แผนกการสหกรณ์ ขึ้นเป็นกรมสหกรณ์ สังกัดกระทรวงพาณิชย์

พ.ศ. 2469

กระทรวงพาณิชย์เปลี่ยนเป็น กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม กรมสหกรณ์ สังกัด กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม

พ.ศ. 2471

มีการตราพระราชบัญญัติขึ้นมาคุ้มครองการสหกรณ์โดยเฉพาะ พระราชบัญญัติสหกรณ์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 ได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 เป็นพระราชบัญญัติสหกรณ์ฉบับแรก ที่ส่งเสริมให้สหกรณ์ร่วมกลุ่ม กันก่อตั้ง ชุมนุมสหกรณ์ สันนิบาตสหกรณ์ ก็ได้เกิดขึ้นโดยการรวมกลุ่มกันของสหกรณ์ท้องถิ่น ได้จดทะเบียนเป็นประเภทชุมชนสหกรณ์

พ.ศ. 2475 

กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงเกษตรและพาณิชยการ
กรมสหกรณ์ สังกัด กระทรวงเกษตรและพาณิชยการ

พ.ศ. 2476

กระทรวงเกษตรและพาณิชยการ เปลี่ยนเป็น กระทรวงเศรษฐการ มี 2 ทบวงคือ ทบวงเกษตราธิการ และทบวงพาณิชย์และคมนาคม กรมสหกรณ์ สังกัด ทบวงเกษตราธิการ กระทรวงเศรษฐการ

พ.ศ. 2477

เหตุการณ์ที่ 1

มีการปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมเพิ่มเติม ยกฐานะ ทบวงเกษตราธิการ เป็นกระทรวงเกษตราธิการ

เหตุการณ์ที่ 2

มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสหกรณ์ อีกในปี พ.ศ.2477 เพื่อจะได้เปิดทางให้สามารถ รับจดทะเบียนสหกรณ์ได้ทุกประเภทไม่เพียงแต่สหกรณ์หาทุนเท่านั้น

พ.ศ. 2478

เหตุการณ์ที่ 1

1 เมษายน 2478 กรมสหกรณ์ สังกัด กระทรวงเกษตราธิการ

เหตุการณ์ที่ 2

มีการริเริ่มจัดตั้งสหกรณ์เช่าซื้อที่ดินในจังหวัดปทุมธานี และได้จัดตั้งสหกรณ์ใหม่ ๆ ขึ้นอีกหลายประเภท เช่นสหกรณ์บำรุงที่ดิน สหกรณ์การขาย สหกรณ์นิคมฝ้าย สหกรณ์หาทุนและบำรุงที่ดิน สหกรณ์นิคมได้เริ่มดำเนินการเป็นแห่งแรกในรูปของสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดิน ที่ อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยดำเนินการจัดซื้อที่นาราชพัสดุจากกระทรวงการคลัง เนื้อที่ 4,109 ไร่เศษ มาจัดสรรให้สมาชิก 69 ครอบครัว

พ.ศ. 2480

มีการจัดตั้งร้านสหกรณ์แห่งแรกขึ้นที่ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชื่อว่า ร้านสหกรณ์บ้านเกาะ จำกัดสินใช้ มีสมาชิกแรกตั้ง 279 คน

พ.ศ. 2481

มีการจัดตั้งนิคมสหกรณ์ในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 7,913 ไร่

พ.ศ. 2482

มีการจัดตั้งร้านสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด 
จดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2482 เป็นร้านสหกรณ์ของคนเมืองหลวง แห่งแรกในกรุงเทพมหานคร 
และเป็นร้านสหกรณ์แห่งที่ 19 ในประเทศไทย มีสมาชิกเมื่อแรกตั้ง 493 คน มีเงินค่าหุ้น แรกตั้ง 15,780 บาท 

พ.ศ.2483

รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณให้ไว้เป็นทุนช่วยเหลือสหกรณ์ประเภทต่างๆ เช่น สหกรณ์ขายข้าวและพืชผลร้านสหกรณ์และสหกรณ์นิคมกสิกรรม ฯลฯ โดยมอบให้กรมสหกรณ์ กระทรวงเกษตราธิการเป็นผู้พิจารณาจัดสรรให้สหกรณ์ประเภทต่างๆ กู้เพื่อเป็นทุน เรียกว่า“ทุนส่งเสริมการสหกรณ์” โดยให้สหกรณ์ประเภทต่างๆ นอกจากสหกรณ์ประเภทหาทุนกู้ไปขยายกิจการให้กว้างขวางยิ่งขึ้น สหกรณ์ที่ได้รับความช่วยเหลือนี้ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ที่ดินและสหกรณ์พาณิชย์ 

พ.ศ. 2484

จัดตั้งสหกรณ์บริการแห่งแรก เป็นการรวมตัวกันในกลุ่มผู้มีอาชีพทำร่ม ชื่อ สหกรณ์ผู้ทำร่มบ่อสร้าง จำกัดสินใช้ อยู่ที่ตำบลตันเปา อำเภอ สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
 

พ.ศ. 2486

มีการเรียนการสอนวิชาสหกรณ์ในมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งคณะสหกรณ์ เป็น 1 ใน 4 คณะก่อตั้งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย คณะเกษตร คณะประมง คณะวนศาสตร์ และคณะสหกรณ์

พ.ศ. 2490

รัฐบาลได้อนุญาตให้เปิด “ธนาคารเพื่อการสหกรณ์” ขึ้น ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2490 เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนของสหกรณ์ โดยรัฐบาลมีหุ้นส่วนในธนาคารด้วยเพื่อเป็นการแก้ปัญหาด้านเงินทุน และยัง มีสหกรณ์รูปต่างๆ เกิดขึ้นอีกด้วย

พ.ศ. 2493
กระทรวงการคลัง ได้เห็นชอบให้รวมเงินทุนส่งเสริมการสหกรณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับจากเงินงบประมาณปี 2491 และปี 2492 เข้าด้วยกัน ซึ่งขณะนั้นมีจำนวนเงินทั้งสิ้น 25.768 ล้านบาทจัดตั้งเป็น "เงินทุนส่งเสริมการสหกรณ์" เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2493 


พ.ศ. 2495

เหตุการณ์ที่ 1

ยกฐานะของกรมสหกรณ์ เป็นกระทรวงการสหกรณ์ ประกอบด้วยส่วนราชการ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมสหกรณ์ธนกิจ กรมสหกรณ์พาณิชย์ และสำนักงานปลัดกระทรวงการสหกรณ์ มีการกำหนดประเภทสหกรณ์ครั้งที่ 1 โดยกฎกระทรวง ระหว่างปี 2495-2511 ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 มีสหกรณ์ 22 ประเภทคือ 
1. สหกรณ์หาทุน ขึ้นกับสำนักงานปลัดกระทรวง
2. สหกรณ์เช่าซื้อที่ดิน ขึ้นกับกรมสหกรณ์ที่ดิน
3. สหกรณ์นิคมกสิกรรม ขึ้นกับกรมสหกรณ์ที่ดิน
4. สหกรณ์นิคมเกลือ ขึ้นกับกรมสหกรณ์ที่ดิน
5. สหกรณ์หาทุน และบำรุงที่ดิน ขึ้นกับกรมสหกรณ์ที่ดิน
6. สหกรณ์บำรุงที่ดิน ขึ้นกับกรมสหกรณ์ที่ดิน
7. ร้านสหกรณ์ ขึ้นกับกรมสหกรณ์พาณิชย์
8. สหกรณ์ขายข้าวและพืชผล ขึ้นกับกรมสหกรณ์พาณิชย์
9. สหกรณ์ขายน้ำตาลโตนด ขึ้นกับกรมสหกรณ์พาณิชย์
10. สหกรณ์ขายเกลือ ขึ้นกับกรมสหกรณ์พาณิชย์
11. ร้านสหกรณ์กลาง ขึ้นกับกรมสหกรณ์พาณิชย์
12. สหกรณ์อุตสาหกรรม ขึ้นกับกรมสหกรณ์พาณิชย์
13. สหกรณ์ผู้เดินรถ ขึ้นกับกรมสหกรณ์พาณิชย์
14. สหกรณ์การประมง ขึ้นกับกรมสหกรณ์พาณิชย์
15. ธนาคารสหกรณ์จังหวัด ขึ้นกับกรมสหกรณ์ธนกิจ
16. ชุมนุมสหกรณ์ ขึ้นกับกรมสหกรณ์ธนกิจ
17. สหกรณ์การไฟฟ้า ขึ้นกับกรมสหกรณ์พาณิชย์
18. สหกรณ์บำรุงและค้าสัตว์ ขึ้นกับกรมสหกรณ์พาณิชย์
19. สหกรณ์หาทุนและขายเกลือ ขึ้นกับกรมสหกรณ์พาณิชย์
20. สหกรณ์ผู้เช่าที่ดิน ขึ้นกับกรมสหกรณ์ที่ดิน
21. สหกรณ์ขายพืชผลและผลผลิต ขึ้นกับกรมสหกรณ์พาณิชย์
22. สหกรณ์ออมทรัพย์ ขึ้นกับกรมสหกรณ์ธนกิจ

เหตุการณ์ที่ 2

30 พฤษภาคม 2495 ได้มีการตั้ง “สหกรณ์ขายส่งแห่งประเทศไทย จำกัดสินใช้” มีสำนักงานตั้งอยู่ในตำบลลุมพินี อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2471 “สหกรณ์ ขายส่งแห่งประเทศไทย จำกัดสินใช้” จัดได้ว่าเป็นสหกรณ์ระดับสูงหรือเป็นศูนย์กลางของสหกรณ์ทั่วประเทศ ทำหน้าที่ซื้อขายสินค้า เครื่องอุปโภคบริโภคส่งให้แก่สหกรณ์ในอำเภอและจังหวัดต่างๆ ซึ่งมีสหกรณ์ที่จดทะเบียนเป็นจำนวนมากในสมัยนั้น (พ.ศ.2497 มีสหกรณ์ได้รับการจดทะเบียนถึง 10,338สหกรณ์ เป็นสหกรณ์ประเภทต่างๆ ถึง 22 ประเภท ตั้งอยู่ในท้องที่ 65 จังหวัด)

 




 

หมายเลขบันทึก: 551320เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2013 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2022 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท