น้าหลวง(อา)ผู้ให้โอกาส


น้าหลวง(อา)ผู้ให้โอกาส

 ผู้เขียนยังมีโชคดีในชีวิตวัยเด็ก   หลังจากที่พ่อแม่ไม่มีเงินส่งให้เรียนต่อ  เมื่อถึงวันสงกรานต์ซึ่งเป็นวันประเพณีทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงไปแล้ว ชาวบ้านมักเรียกว่า ทำบุญวันว่างหรือบางคนเรียกว่าวันชุมนุมญาติหรือรวมญาติ คือ ญาติพี่น้องจะมาพร้อมกันในวันทำบุญที่เปลว(สุสาน)หรือป่าช้า เผอิญคุณอายังพอมองเห็นอนาคตว่าผู้เขียนว่าสามารถที่เรียนต่อได้แม้พ่อแม่ไม่มีเงินส่งให้เรียน ท่านจึงขออนุญาตกับครอบครัวของผู้เขียนว่าจะรับไปเลี้ยงดูส่งเสียให้เรียนต่อระดับมัธยมศึกษาด้วยรายได้จากอาชีพเป็นช่างตัดผมที่อยู่ในตัวเมืองสงขลา รายได้ก็ไม่มากนักกอปรกับท่านยังไม่มีครอบครัว ผู้เขียนจึงได้มาใช้ชีวิตอยู่กับท่าน เมื่อเข้าเมืองโรงเรียนต่างๆ ก็เปิดภาคเรียนกันหมดแล้ว ท่านก็พยายามติดต่อขอร้องกับครูใหญ่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งให้รับผู้เขียนเข้าเรียนโดยครูใหญ่บอกว่า“…ถ้าอยากจะให้หลานเรียนก็ต้องซื้อโต๊ะและม้านั่งมาเรียนเองเพราะทุกห้องที่นั่งเต็มหมดแล้ว...ในที่สุดท่านก็ซื้อโต๊ะให้โรงเรียนหนึ่งชุดพร้อมกับให้ข้อแม้ว่า“…จะส่งให้เรียนเพียง ๓ ปีจนจบมัธยมศึกษาปีที่ ๓ หลังจากนั้นจะต้องสอบเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ในโรงเรียนของรัฐบาลให้ได้ถ้าสอบไม่ได้ก็ต้องกลับไปชนบททำอาชีพเป็นเกษตรกรเช่นเดียวกับบรรพบุรุษ...

 

ผู้เขียนจึงถูกฝึกให้เป็นคนมีความอดทนขยันทำงาน โดยถูกปลุกให้ตื่นตั้งแต่ห้านาฬิกาทุกวันเพื่อขนน้ำใส่ตุ่มไว้ใช้โดยลงไปตักน้ำจากบ่อที่อยู่นอกตัวบ้าน โดยการหิ้วถังใส่น้ำเดินขึ้นบันไดมาเก็บไว้ในตุ่มน้ำบนบ้าน ซึ่งเป็นบ้านเรือนไทยยกพื้น และหุงข้าวเพื่อเป็นอาหารเช้ารับประทานก่อนไปโรงเรียน หลังจากทำกิจกรรมดังกล่าวเสร็จแล้ว ฟ้าก็ยังไม่สว่างผู้เขียนมักจะอ่านหนังสือเรียนเป็นการฆ่าเวลาตลอดระยะเวลา ๓ ปี จนทำให้กลายเป็นคนชอบอ่านหนังสือ บางครั้งในยามว่าง ท่านก็จะสอนให้วาดภาพลายไทย จนที่สุดก็จบระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และได้สมัครสอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนรัฐบาลประจำอำเภอหาดใหญ่ได้สำเร็จทำให้ความหวังของผู้เขียนเป็นจริงได้เข้าเรียนต่อไปในแผนกวิทยาศาสตร์พร้อมกับได้กลับสู่อ้อมอกของพ่อและแม่อีกครั้ง แต่ก็ไม่เคยลืมบุญคุณของคุณอาที่ได้ส่งเสียเลี้ยงดูให้ได้ศึกษาเล่าเรียน ให้โอกาส ฝึกให้เป็นคนสู้กับชีวิต ทุกปีผู้เขียนยังคงไปเยี่ยมท่านพร้อมด้วยของฝากติดไม้ติดมือกับเงินอีกจำนวนหนึ่งไปเคารพท่านเสมอ เพราะในใจคิดอยู่เสมอว่าถ้าไม่มีน้าหลวง(อา) ในวันนั้น ผู้เขียนก็คงไม่มีวันนี้ สิ่งที่ดีที่สุด นอกจากตอบแทนคุณพ่อแม่แล้ว รองลงมาก็คือ ตอบแทนน้าหลวง(อา) เป็นการ กตัญญูกตเวทิตา ต่อผู้มีพระคุณ

หมายเลขบันทึก: 551315เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2013 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2013 08:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วซึ้งใจน้าหลวงมากนะคะ...แล้วตอนนี้ท่านเป็นอย่างไร?บ้างค่ะ

ตอนนี้ ท่านอายุมากแล้วครับ ตัดผมไม่ได้แล้วเพราะสายตาไม่ดี เวลาผมไปส่งขนมที่ สงขลา ก็จะแวะไปเยี่ยมเยียนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท