จดหมายถึงแม่ ฉบับที่ ๗


                                                          

                                                                                                             เมืองเชนไน, ประเทศอินเดีย

                                                                  23 มกราคม  2551

กราบเท้ามายังคุณแม่ที่เคารพอย่างสูง

          คุณแม่เป็นอย่างไรบ้างครับ  สบายดีหรือเปล่า  ส่วนผมอยู่ทางนี้ก็สบายดีเช่นเดิม  คุณแม่ไม่ต้องเป็นห่วง พี่ ๆ และหลานทุกคนคงสบายดีกันนะครับ  ผมขอฝากความคิดถึงไปยังทุก ๆ คนด้วย  สำหรับเรื่องการเรียนนั้นตอนนี้ผมกำลังเร่งเขียนวิทยานิพนธ์บทที่ 3 อยู่ ซึ่งเป็นเรื่องสัจธรรมในพระพุทธศาสนา คือ เรื่องไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท และเรื่องกฎแห่งกรรม ส่วนบทที่ 2 ที่ผมเขียนจบไปนั้นเป็นเรื่องขันธ์ 5 และอาจารย์ที่ปรึกษาก็ตรวจให้ผมเรียบร้อยแล้ว  และท่านยังถามผมอีกว่า เมื่อไหร่จะเขียนบทที่ ๓ เสร็จ แล้วเอามาให้ท่านตรวจอีก  ผมก็บอกท่านไปว่า ประมาณอีก 3 เดือนก็คงจะเสร็จ  เพราะฉนั้นตอนนี้ผมจึงเร่งเขียนวิทยานิพนธ์อย่างหนัก  ส่วนเรื่องงานช่วยเหลือสังคมนั้นจะพยายามตัดออกไปให้หมด  เพื่อจะได้มีเวลาทำงานของตัวเองให้เต็มที่  อีกอย่างตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าผมได้ทำงานช่วยเหลือสังคมที่นี้มากพอสมควร ทั้งงานของสถานกงศุลไทยประจำเมืองเชนไน ทั้งงานของชมรมนักศึกษาไทยศิษย์เก่ามหาจุฬาฯ เมืองมัทราส  โดยผมได้ช่วยเหลือรุ่นน้องให้ได้เข้าศึกษาปริญญาเอก 3 คน ปริญญาโท 1 คน และช่วยนักศึกษาปริญญาเอกให้ได้สอบป้องกันวิทยานิพนธ์จบปริญญาเอกอีก 3 คน  สิ่งเหล่านี้ผมถือว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณของสังคม ที่สังคมได้หยิบยื่นโอกาสให้ผมมายืนตรงจุดนี้  ตลอดทั้งพระพุทธศาสนาและมหาจุฬาฯ ที่มีส่วนให้ผมมาถึงจุดนี้ด้วย  และการทำงานช่วยเหลือสังคมตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ผมทำโดยไม่คาดหวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น  เป็นการช่วยเหลือโดยความบริสุทธิ์ใจอย่างเต็มที่ เพราะฉนั้นหนึ่งปีต่อจากนี้ไปผมจะทุ่มเทสติปัญญากำลังความสามารถและเวลาให้กับการเขียนวิทยานิพนธ์ของตัวเองให้เสร็จโดยสมบูรณ์  เพื่อที่จะได้ยื่นงานวิทยานิพนธ์ต่อมหาวิทยาลัย  และจะได้สอบป้องกันวิทยานิพนธ์จบการศึกษาตามกำหนดเวลาในหลักสูตร 3 ปี ที่มหาวิทยาลัยได้กำหนดไว้  ผมจึงอยากให้คุณแม่สวดมนต์ไหว้พระอธิษฐานให้ผมประสบความสำเร็จดังที่ตั้งความหวังเอาไว้  และที่สำคัญที่สุคือกำลังใจจากทุกคนที่บ้าน เพราะผมถือว่ากำลังใจจากคุณแม่และทุกคนที่บ้านนั้นเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุดที่จะช่วยให้ผมทำงานใหญ่ชิ้นนี้ให้สำเร็จได้

         นอกจากนี้แล้ว ผมมีเรื่องอีกสองเรื่องที่จะเล่าให้คุณแม่ฟัง  เรื่องแรกคือ เมื่อวันที่  21 มกราคมที่ผ่านมาท่านดะไลลามะ ผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณของชาวธิเบตได้รับเชิญมาแสดงธรรมที่มหาวิทยาลัยมัทราส  ท่านดะไลลามะเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับโลก เพราะท่านเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ  และมีลูกศิษย์อยู่ทั่วโลก  เป็นผู้ที่ชาวธิเบตเชื่อกันว่าเป็นองค์อวตารของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์  พูดง่าย ๆ คือพระโพธิสัตว์มาเกิดเป็นท่าน  ท่านจึงเป็นทั้งประมุขของประเทศและผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณด้วย  สรุปคือท่านเป็นทั้งพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระสังราชของธิเบต  ซึ่งวันนั้นพวกเรานักศึกษาไทยรวมทั้งนักศึกษาอินเดียทั้งหมดได้เข้าร่วมฟังการบรรยายของท่านด้วย  มีตอนหนึ่งที่ผมประทับใจมากคือตอนที่ท่านกล่าวว่า  สิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์เราคือความรักความเมตตาของแม่ที่มีต่อลูก  ท่านเล่าว่าตอนที่ทหารจีนบุกยึดธิเบต ทิ้งระเบิดใส่ประชาชน ทุกคนวิ่งหนีเอาตัวรอดกัน  ส่วนเด็กเล็ก ๆ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็มีเพียงแม่เท่านั้นที่ปกป้องดูแลรักษาชีวิตลูกของตัวเอง  ท่านบอกว่าท่านจำภาพที่แม่อุ้มลูกของตัวเองหนีลูกระเบิดได้ติดตา  ท่านสอนว่าความรักความอบอุ่นของแม่ที่มีต่อลูกเป็นสิ่งประเสริฐที่สุดของมนุษย์

           อีกเรื่องหนึ่งก็คือมีพระนักศึกษาเมืองไมซอร์จะเดินทางไปกราบสักการะสังเวชนียสถาน สถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานที่ภาคเหนือของอินเดีย  โดยจะเดินทางด้วยรถไฟไปที่เมืองเดลีก่อน  บังเอิญว่าตั๋วรถไฟที่ท่านซื้อได้เป็นตั๋วสำรอง  ไม่มีที่นั่ง  ซึ่งเป็นเรื่องลำบากมากเพราะการเดินทางโดยรถไฟไปเดลีต้องใช้เวลา 2 วัน 2 คืน  ท่านจึงโทรมาให้ผมช่วยจองตั่วที่เมืองเชนไนให้  เพราะที่เชนไนจะมีแผนกบริการนักท่องเที่ยวต่างประเทศ  ซึ่งผมก็ไปจองให้ท่านได้ตั๋วปกติมีที่นั่นและนอนได้  ท่านจึงจะแวะมาพักกับผมก่อนหนึ่งวันแล้วจึงค่อยเดินทางไปกราบสังเวชนียสถาน  ผมคิดว่าจะฝากปัจจัยไปทำบุญและให้ท่านซื้อดอกไม้ธูปเทียนไปสักการะบูชาสถานที่ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า (ผมเคยไปสักการะแล้วตอนสมัยเรียนปริญญาโท) ซึ่งผมเล่าเรื่องนี้ให้คุณแม่ฟังเพื่อคุณแม่จะได้ร่วมอนุโมทนาบุญด้วย

            สุดท้ายนี้ผมขออ้างอิงเอาคุณพระศรีรัตนตรัย คือ คือ คุณพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ขอจงช่วยอภิบาลรักษาให้คุณแม่มีแต่ความสุขกาย สุขใจ  มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง  และขออวยพรให้พี่และหลานทุกคน  จงมีแต่ความสุข  ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปราถนาทุกประการ

 

                                                          ด้วยความรักและความเคารพอย่างสูง

                                                                      บรรพต    แคไธสง

หมายเลขบันทึก: 551286เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2013 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2019 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณค่ะ อ่นบันทึกนี้แล้วทำให้คิดถึงคุณพ่อคุณแม่ เมื่อครั้้งเป็นเด็กๆดิฉันก็เคยเขียนจดหมายถึงคุณพ่อคุณแม่

เวลากลับขึ้นมาอยู่กับคุณพ่อ ก็เขียนจดหมายถึงคุณแม่และน้องๆ

เวลาอยู่กับคุณแม่ก็เขียนจดหมายถึงคุณพ่อ

จนงานราชการนำพาให้คุณพ่อและคุณแม่ได้มาอยู่ร่วมกันไม่ต้องวิ่งลงวิ่งขึ้นระหว่างภาคกลางและนครศรีฯ

จนคุณแม่กลับบ้านเกิดที่กรุงเทพฯ ดิฉันก็ไม่ได่เขียนจดหมายถึงใคร นอกจากน้องสาวที่ประเทศสวิสฯ

ตอนนี้ก็ไม่ได้เขียนแล้วด้วยวิทยาการโลก IT นั้นทันสมัยจนตามไม่ทัน

ขอบคุณสาระความรูปในบันทึกนี้นะคะ

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณมาครับ จดหมายเหล่านี้ผมเขียนตอนเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมัทราสถึงคุณแม่ของผมที่บุรีรัมย์  ผมเขียนเพราะอยากเล่าเรื่องราวที่ผมพบเห็นให้ท่านฟังโดยลืมนึกไปว่าท่านไม่ค่อยเข้าใจเรื่องที่ผมเขียนหรอกเพราะเป็นเรื่องห่างไกลตัวท่าน  แต่ท่านก็ดีใจที่ทราบความเป็นอยู่ของผมและเก็บจดหมายเหล่านี้เอาไว้ทั้งหมด   พอกลับมาทำงานที่เมืองไทยผมได้อ่านจดหมายที่ตนเองเขียนอีกครั้งจึงเข้าใจ  และทุกครั้งที่ประสบปัญหาไม่สบายใจผมก็จะเอาจดหมายเหล่านี้มาอ่าน มันทำให้ผมมีความสุขและนึกถึงภาพที่ตัวเองเคยโลดแล่นอยู่ที่อินเดีย  มันเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ผมคงหาไม่ได้อีกแล้ว  เป็นชีวิตที่มีรสชาติและสีสันมาก แม้ว่ามันจะเป็นช่วงชีวิตที่ผมต้องต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคมากที่สุด แต่มันมีความสุขเมื่อคิดย้อนกลับไป ใช่ครับเป็นอะไรที่ลืมไม่ลง  และผมก็คิดว่าเรื่องราวเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นบ้าง  จึงตัดสินใจเขียนบันทึกลงในgotoknow ผมจึงขอขอบคุณที่มองเห็นสาระและคุณค่าของมัน

...สวัสดีค่ะ.ดร. บรรพต ... อ่านแล้วเข้าใจว่าในอนาคตอาจารย์อยากจะกลับไปอินเดียอีกนะคะ...เป็นกำลังใจให้...เส้นทางชีวิตเราเลือกและกำหนดเองได้นะคะ

ขอบคุณมากครับ สำหรับกำลังใจ   แน่นอนครับผมอยากกลับไปสัมผัสอินเดียอีก  และผมก็เสียดายแทนคนไทยส่วนใหญ่ที่เดินทางไปอินเดียแล้วได้รับความรู้สึกแย่ ๆ กลับมา  เกิดความรังเกียจหรือดูถูกไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสกปรก ขอทานหรือความเห็นแก่ตัวของแขก  ตอนผมไปอินเดียใหม่ ๆ เพื่อเรียนปริญญาโทก็เป็นเหมือนกัน  ปีแรกรู้สึกไม่ดีมากแทบอยากจะกลับเมืองไทย  พอปีที่สองเริ่มเข้าใจ  หลังจากนั้นตอนไปทำปริญญาเอก  นอกจากจะเข้าใจอินเดียแล้วยังเกิดความชื่นชมในความเป็นอินเดียหรือความเป็นอารยัน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูมิปัญญา ภูมิธรรม ความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน  สรุปก็คือถ้าเรามองด้วยสายตาแบบไทย ๆ ที่ยึดตะวันตกเป็นมาตรฐานความเจริญ เราก็จะเกิดความรู้สึกไม่ดี  แต่ถ้าเรามองให้ข้ามพ้นเปลือกนอกและมองด้วยสายตาด้วยความคิดความรู้สึกแบบอินเดียจริง ๆ เราก็จะเห็นถึงความงดงามและความยิ่งใหญ่ของอินเดียครับ

เจริญพร  เมื่ออ่านแล้ว  คิดถึง ผู้มีพระคุณจัง  อยากมีโกาสจังเลย  ปัจจัยน้อยแท้

นมัสการครับ พระอาจารย์ 

รู้สึกดีใจมากครับที่จดหมายของกระผมช่วยให้หลายคนหวนระลึกถึงผู้มีพระคุณ  ความรู้สึกนี้เป็นสิ่งสากล ทุกศาสนาทุกอารยธรรมต่างเทิดทูนคุณธรรมนี้  อย่างที่องค์ดะไลลามะกล่าวไว้ว่า ความรักของแม่ที่มีต่อลูกนั้น เป็นสิ่งประเสริฐที่สุดของมนุษย์  ในขณะเดียวกันความกตัญญูที่ลูกมีต่อพ่อแม่นั้นก็เป็นสิ่งยิ่งใหญ่ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท