เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช กับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516


       เนื่องในโอกาสมหามงคลที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ฉลองพระชนมายุ 100 พรรษา 3 ตุลาคม 2556  และโอกาสครบรอบ 40 ปี 14 ตุลาคม 2516 จึงเป็นโอกาสที่จะได้นำเรื่องราวที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เมื่อครั้งทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่สมเด็จพระญาณสังวร และเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น  เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงเคยออกแถลงการณ์ในนามคณะสงฆ์ไทย ทำเป็นใบปลิวเรื่อง “สัมมาสติ” ให้ลูกศิษย์นำไปแจกในที่ชุมนุม เพื่อเตือนสติทุกฝ่ายให้มีสัมมาสติ ดังที่ปรากฏในหนังสือ “99 คำถามเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช” ซึ่งจัดพิมพ์น้อมถวายเจ้าพระคุณสมเด็จฯ  ในงานบำเพ็ญพระกุศลคล้ายวันประสูติ เจริญพระชันษา 99 ปี วันที่ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2555, หน้า 89-91 ความว่า

          “จากคณะสงฆ์ไทย

          สัมมาสติ แปลว่า ความระลึกชอบ อันความระลึกนั้น มักพูดกันเช่นว่า ระลึกถึง คือนึกขึ้นมาได้ถึงบุคคล เหตุการณ์ หรือแม้วัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง บางทีความระลึกถึงเป็นไปในทางไม่สงบต่างๆ เพราะก่อให้เกิดภาวะเป็นต้นว่า ความโกรธแค้นขึ้งเคียดจนถึงใช้กำลังประหัตประหารกันให้ย่อยยับลงไป บางทีความระลึกถึงเป็นไปในทางสงบต่างๆ เพราะก่อให้เกิดภาวะ เป็นต้นว่า ความมีมิตรภาพไมตรีจิตความประนีประนอมผ่อนปรนกันและกัน ความช่วยเหลือกันและกันให้เกิดความสุขความเจริญ ความระลึกถึงอย่างแรกมิใช่เป็นสัมมาสติแต่เป็นมิจฉาสติ  ส่วนความระลึกถึงอย่างหลังเป็นสัมมาสติ ความระลึกชอบ ในฐานที่เราทั้งหลาย ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ต่างก็เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์โลกชนิดที่มีปัญญาสูงมาโดยกำเนิด ทั้งยังได้รับการศึกษาส่งเสริมปัญญาให้เจริญเติบโตยิ่งขึ้นไปอีก ก็ควรที่จะมีความระลึกชอบ คือใช้ปัญญาระลึกโดยรอบคอบ ไม่ลุอำนาจหรือดึงดันไปด้วยอำนาจความโกรธ หลง ซึ่งจะเป็นเหตุให้พบเหตุผลเป็นเครื่องแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นส่วนตัวทั้งที่เป็นส่วนรวมได้ดียิ่ง ความพบเหตุผลที่ถูกต้องดังนี้และเป็นตัวปัญญา ซึ่งเป็นผลที่มุ่งหมายสำหรับแก้เหตุการณ์ทั้งหลายตามที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า สัมมาสติและปัญญา ต่างก็ต้องอาศัยกันและกัน ในที่นี้ยกสัมมาสติขึ้นเป็นประธาน เพราะมุ่งหมายว่าเป็นข้อสำคัญในหน้าที่เตือนใจให้ใช้ปัญญาแทนที่จะใช้อารมณ์และกิเลสแก่กันและกัน ทุกๆ คนต่างก็มีปัญญาอยู่ด้วยกันแล้ว แต่อาจยังเผลอปัญญาไปบ้างเพราะขาดสัมมาสติเท่านั้น จะควรระลึกอย่างไรจึงจะเป็นสัมมาสติ และจะระลึกอย่างนั้นได้หรือ

ขอแถลงข้อหลังก่อนว่า ทุกคนระลึกให้เป็นสัมมาสติได้ เพราะเป็นเรื่องของจิตใจที่อาจน้อมจิตใจให้คิดไปได้ จึงขอแต่เพียงว่า ขอให้น้อมจิตใจคิดไปในทางสงบเท่านั้น โดยพยายามระงับดับจิตใจเร่าร้อนไม่สงบลงเสีย ดังจะลงแนะแนวคิดดู ที่จะนำไปสู่สัมมาสติ

1.     เราทั้งหลายเป็นอะไรกัน  ถ้าคิดด้วยความโกรธ ก็จะได้คำตอบว่า เป็นศัตรูกัน โกรธเกลียดกัน ซึ่งจะต้องเอาชนะกันให้ได้แม้ด้วยการใช้กำลังประหัตประหารกัน ถ้าคิดด้วยจิตใจที่สงบก็จะได้คำตอบว่า เราเป็นพี่น้องกัน ร่วมชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เดียวกัน หรือแม้ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน บรรพบุรุษสตรีของเราได้เสียสละทุกอย่างรักษาสถาบันต่างๆ ของชาติไทยไว้ให้แก่เรา เราทั้งหลายจึงเหมือนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ก็เป็นเหมือนเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นตา เป็นยาย เป็นปู่ เป็นย่า เป็นน้า เป็นอา ผู้ที่เป็นเด็กกว่าก็เหมือนอย่างเป็นลูกเป็นหลาน ที่เป็นชั้นเดียวกันก็เป็นเหมือนอย่างเป็นพี่เป็นน้องกันทั้งนั้น ไม่ใช่ใครที่ไหน ความระลึกได้อย่างนี้จะทำให้จิตใจอ่อนโยนลง จะทำให้เกิดความคิดที่จะปรองดองกัน สมัครสมานกันขึ้น

2.    เราทั้งหลายกำลังจะทำอะไรให้แก่กัน  ถ้าตอบด้วยความโกรธก็จะได้คำตอบว่าเราจะต้องไม่ยอมกันเด็ดขาด จะต้องบังคับเอาสิ่งที่เราต้องการ หรือไม่ยอมให้ทุกอย่างตามที่ได้รับการเรียกร้อง แม้ด้วยการใช้กำลัง แต่ถ้าคิดด้วยใจที่สงบ ก็จะมองเห็นว่า เราทั้งหลายต่างก็เป็นญาติกันทั้งหมด มิใช่ใครอื่นที่ไหน ควรที่จะผ่อนปรนกัน สมมุติว่าผ่อนความต้องการของตนบ้าง เหมือนอย่างว่าคนละครึ่งหนึ่ง ทุกฝ่ายต่างได้ต่างเสียด้วยกัน เพราะการที่ดึงดันเอาแต่ใจของตนฝ่ายเดียวนั้นยากที่จะตกลงกันได้ หลักของความสามัคคีประการหนึ่งก็คือ ความที่รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือเอาใจเราไปใส่ใจเขา แต่จะต้องทำใจให้สงบเสียก่อนจึงจะเกิดความคิดผ่อนปรนประนีประนอมดังกล่าวได้

3.    เราทั้งหลายกำลังมุ่งอะไรเพื่ออะไร  สิ่งที่มุ่งนั้น ถ้าไม่ขัดกันก็ไม่เกิดปัญหาขัดแย้ง แต่ถ้าขัดกันก็เกิดปัญหาขัดแย้ง แต่ก็จะต้องมีจุดที่มุ่งหมายว่าเพื่ออะไร เมื่อมีจุดที่มุ่งหมายเป็นอันเดียวกัน เช่นเพื่อชาติ ก็น่าที่ทุกฝ่ายจะพากันเสียประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อส่วนรวมคือชาติ อันหมายถึงประชาชนทั้งหมดพร้อมทั้งสถาบันทั้งหลายของชาติ ด้วยสันติวิธี พยายามหาทางปฏิบัติโดยสันติที่จะให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายทุกๆ คนย่อมรวมอยู่ในชาติ ต่างเป็นกำลังของชาติดังที่เรียกกันว่า “พลเมือง” จึงต้องรักษาตนเองไว้ให้ดีด้วยกัน การที่จะมาทำลายกันเองลงไป เท่ากับเป็นการทำลายกำลังของชาตินั้นเอง ทำให้ชาติอ่อนกำลังลง และเราทั้งหลายต่างก็มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นประมุขของชาติ ผู้ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมเป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงสุด ปรากฏว่าพระองค์มีพระราชวิตกห่วงใยเป็นอันมาก มีพระมหากรุณาแผ่ไปอย่างยิ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นเพียงใด ความทุกข์อย่างหนักก็ย่อมจะเกิดขึ้นในพระราชหฤทัยเพียงนั้น จึงน่าที่ทุกๆ ฝ่ายจะรำลึกถึงพระมหากรุณา และปฏิบัติอย่างผ่อนปรนแก้กันด้วยมุ่งประโยชน์แก่ประเทศชาติอันเป็นส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และรำลึกถึงพระศาสนาซึ่งสอนให้ใช้สัมมาสติ กล่าวได้ว่า ทุกศาสนาย่อมสอนให้ใช้สัมมาสติทั้งนั้น

แนวคิดทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นแนวคิดที่ขอเสนอแนะแก่ทุกๆ คน ทุกๆ ฝ่าย ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายพากันยังยั้ง คิดรำลึก ถึงจะต้องใช้เวลาสักหน่อย ก็ยังดีกว่าการทำอะไรลงไปด้วยความผลุนผลันพอให้อารมณ์ที่ตึงเครียดผ่อนคลาย พอให้จิตใจสงบและคิดรำลึกตามแนวที่เสนอแนะ หรือแม้แนวอื่นที่จะนำไปสู่ความพบเหตุผลที่ดีกว่าย่อมจะได้สัมมาสติและปัญญา ในอันที่จะแก้ไขผ่อนปรนนำไปสู่วัตถุประสงค์ที่ต้องการร่วมกัน โดยสวัสดี.

16 ตุลาคม 2516”

ดังที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ  ได้กล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิตกห่วงใยเป็นอันมาก...เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นเพียงใด ความทุกข์อย่างหนักก็ย่อมจะเกิดขึ้นในพระราชหฤทัยเพียงนั้น ปรากฏรายละเอียดตามที่ พลตำรวจตรี สุชาติ  เผือกสกนธ์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ย้อนอดีตการสื่อสารไทย” (กรุงเทพฯ : การสื่อสารแห่งประเทศไทย, 2533. หน้า 66-67) ความว่าในเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516  “...ในวันนั้นได้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายระหว่างเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกับนิสิตนักศึกษาและประชาชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับตรับฟังติดตามข่าวคราวเหตุการณ์ ความเคลื่อนไหวอยู่ทุกระยะทางข่ายการสื่อสารทางวิทยุของตำรวจและทหาร และเมื่อเหตุการณ์ได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จนถึงขั้นมีการสูญเสียชีวิตนิสิตนักศึกษาและประชาชนขึ้น พระองค์ท่านได้ทรงมีพระราชกระแสให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการใช้มาตรการในการระงับเหตุการณ์ลุกลามด้วยวิธีการผ่อนหนักผ่อนเบาละมุนละไม เพื่อป้องกันมิให้มีการสูญเสียเลือดเนื้อชีวิตคนไทยด้วยกันมากไปกว่านั้น พระองค์ท่านได้ทรงเป็นห่วงใยในเรื่องนี้ เป็นอย่างยิ่ง ทรงเฝ้าฟังการติดต่อวิทยุอยู่ในห้องทรงงานตลอดคืน มิได้เสด็จเข้าห้องบรรทมคงประทับกับพื้นบรรทมหลับๆ ตื่นๆ อยู่ในห้องทรงงานนั้นเองและในที่สุด พระองค์ท่านก็ได้ทรงตัดสินพระทัยเข้ายุติเหตุการณ์ด้วยพระองค์เองโดยทรงปรากฏพระองค์และพระราชทานกระแสพระราชดำรัสทางโทรทัศน์ เหตุการณ์ร้ายจึงได้คลี่คลายและสงบลงอย่างรวดเร็ว...”

นอกจากนี้พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ได้เล่าไว้ในหนังสือ “บันทึกความทรงจำ เรื่อง การสื่อสารของในหลวง(กรุงเทพฯ : จูปิตัส, 2542. หน้า 140-142) ทำให้ทราบว่าในหลวงไม่ได้บรรทมมาถึง 3 วัน จากเหตุการณ์ดังกล่าว  ความตอนหนึ่งว่า “ด้วยความห่วงใยในความทุกข์เดือดร้อน และภัยพิบัติที่จะบังเกิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนคนไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประทับอยู่ในห้องทรงงานอยู่ตลอดเวลาเพื่อสดับตรับฟังข่าวเหตุการณ์ผ่านข่ายการสื่อสารทางวิทยุของหน่วยปฏิบัติการต่างๆ และข่าวจากศูนย์ปทุมวันซึ่งส่งมาให้ผม (พลตำรวจตรีสุชาติฯ) เพื่อส่งไปถวายทางเทเล็กซ์เป็นระยะๆ ... ศูนย์รวมข่าวของตำรวจนครบาล หรือศูนย์ผ่านฟ้า ซึ่งตั้งอยู่ที่สะพานผ่านฟ้า (ในขณะนั้น) ตำรวจที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ประจำหน่วยงานนี้อยู่ในลักษณะขวัญกระเจิง สอบถามกันทางวิทยุข่ายผ่านฟ้าว่า ควรจะปฏิบัติอย่างไรในสถานการณ์ขั้นวิกฤติเช่นนี้ แต่ก็ไม่มีผู้บังคับบัญชาคนใดสั่งการ ผม (พลตำรวจตรีสุชาติฯ) จึงได้ตัดสินใจนำเอาเครื่องรับ-ส่งวิทยุมือถือในข่ายผ่านฟ้ามาต่อเข้ากับสายอากาศภายนอกบ้านพักของท่านในบริเวณกองการสื่อสารตำรวจ บางเขน ติดต่อให้กำลังใจ เช่นเดียวกับศูนย์การสื่อสารของหน่วยตำรวจอื่น อาทิ ตำรวจดับเพลิง ตำรวจทางหลวง เป็นต้น ซึ่งอยู่ในข่ายปทุมวัน เมื่อเห็นว่า สุดวิสัยที่จะประคับประคองอีกต่อไป ในที่สุดผม (พลตำรวจตรีสุชาติฯ) จึงได้สั่งการทางวิทยุโดยใช้โค้ด ว-19 ให้สละสถานี (ศัพท์ทหารเรือ หมายถึง สละเรือใหญ่เมื่อใกล้จะอับปาง) คือ ศูนย์ผ่านฟ้า และศูนย์สื่อสารของหน่วยตำรวจเหล่านั้น เป็นการใช้โค้ด ว-19 ครั้งแรก นับตั้งแต่วันที่ท่านได้กำหนดโค้ด ว ขึ้น มาใช้ในราชการสื่อสารของกรมตำรวจ และคงจะเป็นครั้งสุดท้าย

การสั่งการดังกล่าวเป็นเรื่องค่อนข้างเสี่ยงอยู่มาก จึงทำให้เกิดความเครียดซึ่งเมื่อผสมกับความอิดโรยอ่อนเพลียเนื่องจากได้ปฏิบัติงานตรากตรำมาโดยตลอด ผม (พลตำรวจตรีสุชาติฯ) ถึงกับหลับผลอยในลักษณะนั่งหลับนกอยู่หน้าเครื่องวิทยุ โทรศัพท์ และเทเล็กซ์ในห้องปฏิบัติการสื่อสารที่บ้านพักของผม (พลตำรวจตรีสุชาติฯ) ไปหลายครั้ง ถึงแม้ว่าจะไม่มีผู้ใดรับรู้ผลงานของผม (พลตำรวจตรีสุชาติฯ) ในครั้งนี้ก็ตาม แต่ผม (พลตำรวจตรีสุชาติฯ) ก็เชื่อมั่นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบการสั่งการทางวิทยุของผม (พลตำรวจตรีสุชาติฯ) อยู่ทุกระยะ เนื่องจากได้ทรงเปิดเครื่องวิทยุสดับตรับฟังข่าวเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา ภายหลังเหตุการณ์ต่างๆ ได้สงบเรียบร้อยแล้ว ไม่นาน พระองค์ได้รับสั่งทบทวนเหตุการณ์นี้กับผม (พลตำรวจตรี สุชาติฯ) จึงได้รับทราบว่า ไม่ได้บรรทมมาถึง 3 วัน...”

 

พระเมตตาคุณ พระกรุณาธิคุณของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นข้อเตือนใจ เป็นแนวคิดการดำรงอยู่ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองมีการแตกแยกความคิด ทางการเมือง จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งเช่นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ หากทุกฝ่ายน้อมนำคติธรรมดังกล่าว ไปพิจารณา ไตร่ตรอง และปฏิบัติตามแล้ว ย่อมจะนำมาสู่การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยให้เจริญวัฒนาสถาพรสืบไป...ฑีฆายุโก โหตุ สังฆราชา.

หมายเลขบันทึก: 550859เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2013 01:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2013 01:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ฑีฆายุโก โหตุ สังฆราชา...นะคะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่ดีมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท