น้ำท่วมกับมรดกโลก/ มรดกปัญญาชาวพระนครศรีอยุธยา


เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 ถูกใช้ให้ไปร่วมประชุมแทนในเรื่องที่ฟังดูใหญ่ จนคนเล็กๆอย่างผู้เขียนไม่อยากยุ่ง นั่นคือ การประชุมเพื่อปรึกษาหารือ แบบที่เรียกว่า Consultation Meeting โครงการพัฒนาแผนป้องกันและรองรับอุทกภัยสำหรับแหล่งมรดกโลกอยุธยา โดย UNESCO กรุงเทพ และ UNESCO – IHE (Institute for Water Education) พิจารณากำหนดการดูแล้วก็คงเป็นการให้ไปนั่งฟังและมีคนพูดที่วางตัวไว้พูดเป็นผู้พูดส่วนใหญ่ จัดเพียงครึ่งวัน ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ ในตัวเมืองอยุธยา

ผู้ใช้คือคนข้างกาย ที่ได้รับเรื่องมาอีกที่ในฐานะที่ปรึกษากองบรรณาธิการนิตยสารคู่สร้างคู่สม และตัวเขาได้เขียนบทความเรื่องการปรับวิธีคิดและวิถีชีวิตให้อยู่กับน้ำได้อย่างชาวอยุธยาลงนิตยสารฯนี้ คิดว่าทางผู้จัดการประชุมคงเล็งเห็นว่านิตยสารฯให้ความสำคัญเรื่องนี้และยังเป็นสื่อมวลชนที่เข้าถึงคนจำนวนมาก จึงเชิญผู้แทนจากนิตยสารฯ เรื่องเลยตกมาถึงต้นตอ และเลยมายังผู้เขียน ตามน้ำจริงๆ

ผู้เขียนคิดว่าไม่ได้หนักหนาอะไร ไปฟังคนอื่นบ้าง จะได้รู้ว่าเขาคิดอะไร ทำอะไร ทำอย่างไร รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม เลิกจากประชุมเจอกัน คนข้างกายถาม ผู้เขียนได้พูดสรุปความ และความคิดตัวเองให้เขาฟัง เห็นว่ามีสาระที่น่าสนใจ และคนส่วนมากก็คงไม่ค่อยได้รับรู้ข่าวสารในส่วนนี้นัก เอามาฝากกันสักนิดก็คงดีนะคะ

 http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2011/10/28/images/news_img_416364_1.jpg

 

ที่มาที่ไปก็คือหลังจากมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 น้ำได้ท่วมขังภายในเกาะเมืองอยุธยาอยู่นานร่วมๆ 2 เดือน และพื้นที่มรดกโลกอยุธยาก็อยู่ภายในเกาะเมืองนี้แหละค่ะ ผลกระทบต่อโบราณสถาน โบราณวัตถุจึงนับว่ามหาศาล สถาบันการศึกษาอุทกศาสตร์ของยูเนสโก ที่มีชื่อย่อว่าUNESCO –  IHE ตั้งอยู่ที่เมืองเดลฟ์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ จึงได้เข้ามาช่วยเหลือซึ่งโดยทั่วไปแล้วน้ำท่วมที่ไหนที่เป็นพื้นที่มรดกโลกสถาบันนี้ก็จะเข้าไปศึกษา วิจัย ให้คำแนะนำเพื่อการป้องกันในโอกาสต่อๆไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่เวนิซ ประเทศอิตาลี หรือที่ ฮอยอัน เว้ ประเทศเวียดนาม รวมทั้งในปากีสถาน

http://www.thaiwhic.go.th/images/ayudhaya/koh_ayu.jpg

สำหรับของประเทศไทยนั้น UNESCO –  IHE ได้ร่วมมือกับ องค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และมีหน่วยงานของไทยที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา คือ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร และ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย โดยที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงิน ในโครงการพัฒนาแผนป้องกันและรองรับอุทกภัยสำหรับแหล่งมรดกโลกอยุธยา มีทีมผู้เชี่ยวชาญทั้งระดับชาติและนานาชาติลงพื้นที่ประเมินสถานการณ์ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2554 และมีการศึกษาวิจัยต่อเนื่องเพราะโครงการนี้เป็นโครงการระยะเวลา 2 ปี

กว่าจะเท้าความให้เห็นภาพที่มาที่ไปก็ดูชุลมุนเอาเรื่อง นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรงๆในระดับพื้นที่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การประชุมเพื่อปรึกษาหารือครั้งนี้กล่าวโดยสรุปก็เพื่อเชื้อเชิญคนที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดที่ต้องไปทำงานเกี่ยวกับคนทุกอำเภอของอยุธยาได้ทราบว่ามีโครงการนี้อยู่ และมีการนำเสนอความคืบหน้าของโครงการว่าไปทำอะไร ได้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร

โครงการนี้มี 2 ระยะ

ระยะแรก คือ การเก็บข้อมูลและการประเมินความเสี่ยงต่ออุทกภัยแบบบูรณาการ

ระยะที่สอง คือ การพัฒนาแผนรองรับภัยพิบัติบนพื้นฐานของผลวิเคราะห์จากระยะที่หนึ่ง

ผู้เขียนฟังไปมึนตึ้บ เพราะเป็นเรื่องนโยบาย มาตรการ แผนงาน ข้อมูล สถิติจากฝ่ายไทย และแบบจำลองอุทกวิทยาเบื้องต้นและการนำเสนอของ ศาสตราจารย์ โซราน วูยิโนวิค แห่ง UNESCO –  IHE เรื่องการประเมินความเสี่ยงต่ออุทกภัยของแหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา จากนั้นมีช่วงอภิปรายหารือ 1 ชั่วโมง มีคนขึ้นเวที 7-8 คน ตรงนี้น่าจะเป็นจุดสำคัญแต่เวลารวบรัดทั้งจากผู้ขึ้นเวที และ เวลาที่จะให้มีการถาม-ตอบ อภิปรายอะไร

ฟังตั้งนานจนจบ จึงเพิ่งพอเห็นเป็นรูปเป็นร่าง ว่าตอนนี้คงเป็นระยะแรกที่เขากำลังอยู่ในช่วงประเมินความเสี่ยงว่าน้ำท่วมนั้นจะสร้างความเสียหายให้กับแหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยาเริ่มจากจุดไหน น้ำต้องมีปริมาณเท่าใดจึงเริ่มก่อความเสียหาย ต้องใช้หลักการมาตรการอะไรที่มีประสิทธิภาพ เช่น ต้องสร้างคันกั้น สร้างเขื่อนประเภทไหน  ยกถนนสูงเท่าไร ทำตรงไหนที่เป็นจุดวิกฤตแรกก่อน ซึ่งเป็นการศึกษาโดยใช้แบบจำลองว่าหากเกิดน้ำท่วมใหญ่ๆเช่นปี2554 อีกทุก 50 ปี ทุก 100 ปี ควรต้องเตรียมตัวทำอย่างไร

การประชุมนี้เขาเชิญตัวแทนชุมชนเข้าร่วมด้วยแต่ผู้เขียนไม่ทราบใครเป็นใคร การบรรยายสามช่วงเป็นภาษาอังกฤษ เขามีล่ามแปลซึ่งทำหน้าที่ได้ดีทีเดียว แต่เวลาที่รวบรัด รีบเร่ง ทำให้ฟังแล้วย่อยให้เข้าใจเชื่อมต่อกับความคิด ความรู้เดิมของตัวเอง(ที่มีน้อยนิด)แทบไม่ทัน

ช่องว่างแห่งการไร้ความคิดในสิ่งที่ได้ฟัง เพราะเกินสติปัญญา ก็ได้จดโน้ตสั้นว่าตนเองรู้สึกและมองเห็นอะไร

·        สาระที่เขาทำการศึกษาในโครงการพัฒนาแผนป้องกันและรองรับอุทกภัยสำหรับแหล่งมรดกโลกอยุธยา มีความสำคัญในระยะยาว และน่าจะเป็นประโยชน์มากเพราะ UNESCO –  IHE มีความรู้ความชำนาญมาก ดูที่ตั้งสถาบันเสียก่อน อยู่ในเนเธอร์แลนด์ที่พื้นทีประเทศส่วนใหญ่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จึงมีระบบการจัดการอุทกศาสตร์ได้ยอดเยี่ยม สนามบินนานาชาติ Schiphol อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลตั้งหลายเมตรยังไม่มีปัญหา...

 

โครงการนี้ยังมีความสำคัญอีกประการ คือ เขาใช้มรดกโลกอยุธยาเป็นพื้นที่ในการศึกษา เป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมีความคาดหวังสูง ว่า เมื่อสำเร็จลุล่วงจะเป็นแผนแม่แบบให้กับแหล่งมรดกโลกอื่นๆไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่จะเป็นแผนแม่แบบในภูมิภาคเลยทีเดียว

 

อย่างไรก็ตามผู้เขียนรู้สึกว่าโครงการฯที่เข้าใจยากว่าทำอะไร อย่างไร เช่นนี้น่าจะมีการสื่อสารที่ดี ต่อเนื่อง สร้างความเข้าใจ ความร่วมมือ กับคนกลุ่มต่างๆที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนคนอยุธยาเดิม เกษตรกรชาวนา ชาวสวน และคนที่เข้าไปทำมาหากินเช่นพวกนิคมอุตสาหกรรม  ผู้เขียนสารภาพตรงๆว่าฟังแล้วคนธรรมดาที่พอมีความรู้อยู่บ้างเช่นตัวเองยังเข้าใจเรื่องนี้ได้ยากทั้งสาระ และ การที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม

 

ผู้เขียนไม่เชื่อว่าการป้องกันอุทกภัยให้กับแหล่งมรดกโลกจะสำเร็จได้จากการใช้วิชาการ ใช้เทคนิค เทคโนโลยีจากคนที่มีความรู้วิชาการมากๆเท่านั้น

 

·         ระลึกถึงคำวิจารณ์ของอาจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม ที่กล่าวว่าส่วนใหญ่หน่วยงานรัฐซึ่งมีหน้าที่ดูแลโบราณสถานและมรดกโลกมักมองไม่เห็น คน-ชุมชน การดำเนินการใดๆไม่อยู่บนพื้นฐานของการฟังความคิดเห็นกันและกัน  จึงมักมีความขัดแย้งระหว่างการอนุรักษ์โบราณสถานกับคนที่อยู่หรือหากินโดยรอบโบราณสถานเสมอ 

 

ผู้เขียนคิดว่าโครงการใหญ่และสำคัญเช่นนี้ควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งความรู้และความรู้สึกกันให้มากๆ

 

โชคดีที่ผู้แทนจาก ADB ผู้ให้เงินสนับสนุนโครงการฯกล่าวตอนท้ายการประชุมว่า ทั้ง UNESCO –  IHE และ ADB เห็นว่าการป้องกันอุทกภัยแหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และจะไม่ทำแค่เพียงเรื่องเทคนิคแต่จะให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับมิติทางสังคม และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ของคนอยุธยาด้วย ยังจะมีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการอีกหลายครั้งเพื่อประสานความเข้าใจ ความร่วมมือและสร้างแนวทางการปฏิบัติร่วมกันกับ ชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐท้องถิ่น(local communities, local authorities)  เขาพูดว่า...All voices should actually been heard.  น่าดีใจจริงๆหากทำได้ตามคำพูด

 

·         การศึกษาทางเทคนิคเช่นนี้คงมีระยะเวลา ระยะทางอีกยาวไกล แม้ว่าจะระบุว่า เพื่อเตรียมแผนหากเกิดมหาอุทกภัยเป็นรอบ เช่น 50, 100 ปี ก็ต้องศึกษาไป

 

แต่...ระหว่างศึกษาอยู่... พ่อแม่พี่น้อง...ไม่มีหลักประกันอะไรว่าน้ำจะมามากน้อยเพียงใดในแต่ละปี

 

มรดกโลก ก็ต้องช่วยกันรักษา (ไม่ให้เขาเอาเกียรติยศคืน...เกือบไปแล้ว)

ชีวิต ทรัพย์สิน ของตนก็ต้องรักษา ไม่มีหนทางใดที่เราจะอยู่กับน้ำอย่างมีความสุขได้หากเราไม่ปรับท่าที กระบวนทัศน์ของเรา หากน้ำท่วมทุกปี ทุกข์ทุกปี จะอยู่อย่างเดิมหรือไร ...มรดกปัญญา ของบรรพชนอยุธยาต้องค้นหาและฟื้นฟู เพื่ออยู่กับน้ำอย่างมีความสุขให้ได้ ไม่ใช่เอาแต่กั้น เอาแต่กันเพียงอย่างเดียว

 

 

หากคน(ที่อยู่)อยุธยาสามารถอยู่กับน้ำอย่างมีความสุขได้ สมเป็นชาวเมืองน้ำ จะกลายเป็นพลเมือง เป็น กำลัง สำคัญ ในการปกป้องมรดกโลกที่มีอยู่ได้อย่างยิ่งยวด ไม่เฉพาะป้องกันอุทกภัยเท่านั้น ทว่ายังจะส่งเสริมให้มรดกโลกพระนครศรีอยุธยา โดดเด่นด้วยผู้คนที่มีมรดกปัญญา อยู่อย่างมีวัฒนธรรม มีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับผืนดิน สิ่งแวดล้อมที่ตนดำรงชีวิตอยู่ควรค่าแก่การมีมรดกโลกอยู่ในจังหวัดของตน

หมายเลขบันทึก: 550623เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2013 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2013 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

อาการน่าเป็นห่วงครับ ท่าน นุช

เป็นกำลังใจให้นะคะ อาจารย์ ชอบแนวคิดนี้ค่ะ

มรดกปัญญา ของบรรพชนอยุธยาต้องค้นหาและฟื้นฟู เพื่ออยู่กับน้ำอย่างมีความสุขให้ได้ ไม่ใช่เอาแต่กั้น เอาแต่กันเพียงอย่างเดียว 

ขอบคุณบันทึกแห่งองค์ความรู้นี้นะคะ

ทำไมหนอ.......น้ำท่วมเป็นเรื่องที่พยากรณ์กันล่วงหน้าได้

                   ทุกปีท่วมทุกปี ทำไมแก้ไม่ได้จริงจัง

มรดกทางวัฒนธรรม มรดกทางศิลปกรรม สร้างกันมาเป็นร้อยเป็นพันปี ........ น่าเสียดายหากจะเสียหายไปเพราะเรื่องธรรมชาติค่ะ

 

ขอบคุณอีกครั้งนะคะ 

ท่าบ้านพี่นุชท่วมเท่าๆเดิมเลยนะครับ

สงสัยพี่ใช้จัดกิจกรรมกับคุณหมอจากโคราชไม่ทันแล้วครับ

ถ้าป้องกันและฟังชาวบ้าน จัดแบบบูรณาการน่าจะช่วยได้นะครับ

จังหวัดพระนครศรีอยุธยาพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงอยู่แล้วนะคะ...เป็นกำลังใจค่ะ...

ดีใจที่มีผู้คนให้ความสำคัญ และห่วงใยความสำเร็จ สำคัญที่การสื่อสารและความต่อเนื่อง อย่างที่อาจารย์นุชว่า ^ ^

ผังเมืองอยุธยาใหม่..คงจะต้องเหมือนเดิม..(กระมัง)...บ้านเรือนแพริมน้ำ..ช่างสมัย โบราณ..(ทำถอดได้ทั้งหลังแถมทำด้วยไม้สัก)..

บ้านเรือนใต้ถุนสูง..(แต่สมัยนี้..คง..ต้องสูงกว่าเดิม..สองเท่า..อ้ะะ..แต่..คงลำบาก..ที่จะแก้ไข..เพราะ..บ้านสมัยใหม่..มันแคระ..ติดดิน..อ้ะ..ดีดขึ้นไม่ได้...ระดับน้ำ..ในร้อยปีข้างหน้า..กว่าสองเมตรแน่นอน...อยุธยา..อีก..ร้อยปี..เหลือแต่ยอดเจดีย์..(มั้ง)....

ชอบที่อาจารย์เอามาย่อยให้ฟังง่ายขึ้นนะคะ  ได้ความรู้เพิ่มเติม  จากที่อ่านในคู่สร้างคู่สม

ขอบพระคุณพี่นุชที่ช่วยเขียนบันทึกให้ความรู้นี้ ค่ะ

ดีใจที่ได้พบพี่นุช

มาเขียนบันทึกบ่อยๆนะครับ

คิดถึงๆๆ

พี่นุชสวยมากกว่าเดิม

ส่งความสุขให้พี่นุช และครอบครัว ในเทศกาลวันแห่งความอบอุ่น วันครอบครัวนี้ นะครับ

ด้วยความเคารพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท